วิรัตน์ แสงทองคำ : ซีพี : ว่าด้วยธุรกิจครอบครัว (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ซีรี่ส์ว่าด้วย ธุรกิจครอบครัวไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มองผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเครือไทยเจริญ (ทีซีซี)

โมเดลธุรกิจครอบครัว ว่าด้วยโครงสร้างการบริหาร กรณีซีพี กับทีซีซี มีบริบทและบุคลิกแตกต่างกันมาก

ไม่เพียงเฉพาะ ซีพีเอฟ-ซีพีออลล์ (ซีพี) และไทยเบฟเวอเรจ (ทีซีซี) เท่านั้น ถือเป็นธุรกิจครอบครัว ตามนิยามของ Global Family Business Index (การจัดอันดับบริษัทในระดับโลกซึ่งถือเป็นธุรกิจครอบครัว 500 อันดับ โดย Center for Family Business at the University of St.Gallen, Switzerland และ EY”s Global Family Business Center of Excellence เครือข่าย Ernst & Young แห่งอังกฤษ)

หากในภาพรวม ทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี) ย่อมเป็นเครือข่ายธุรกิจครอบครัวด้วยอย่างมิพักสงสัย แม้ในบางกรณีไม่ปรากฏข้อมูลการถือหุ้นอย่างเปิดเผย แต่ให้ภาพชัดเจนเมื่อพิจารณาโครงสร้างและอำนาจการบริหาร เป็นภาพต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อตั้งเลยทีเดียว

เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี (http://cpgroupglobal.com) ในฐานะโฮลดิ้งคัมปะนี นำเสนอคณะผู้บริหารไว้อย่างตั้งใจและให้เกียรติ โดยทั้งหมดเป็นผู้ชายในตระกูลเจียรวนนท์ ผู้ร่วมสายโลหิต และเรียงตามอาวุโส

“ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ จรัญ เจียรวนนท์ และ มนตรี เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร สุเมธ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร ธนินท์ เจียรวนนท์”

ส่วนทีซีซี (http://www.tccholding.com/) นำเสนอภาพรวมกิจการไว้อย่างแตกต่าง “กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ TCC Group เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของคนไทย ซึ่งได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพื้นฐานความตั้งใจของคุณเจริญ และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี”

มีอีกบางตอนกล่าวถึง เจริญ สิริวัฒนภักดี อย่างเจาะจงไว้ด้วยว่า “ต่อมาได้สมรสกับ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จากนั้นได้ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่” โดยระบุจุดเริ่มต้นไว้ “TCC Group เริ่มจากกิจการขนาดเล็กเมื่อปีพุทธศักราช 2503…”

เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า ปัจจุบันบริษัทหลักๆ ในกลุ่มทีซีซี ล้วนมี เจริญ สิริวัฒนภักดี (สามี) เป็นประธานกรรมการ และ วรรณา สิริวัฒนภักดี (ภรรยา) เป็นรองประธานกรรมการ

 

ผู้นำ

ธนินท์ เจียรวนนท์ (2482) ผู้นำซีพี และ เจริญ สิริวัฒนภักดี (2487) ผู้นำทีซีซี ถือเป็นคนรุ่นเดียวกันก็ย่อมได้ แต่การเข้าสู่เส้นทางธุรกิจอย่างเป็นจริงเป็นจัง ค่อนข้างแตกต่างและอยู่ในช่วงเวลาห่างกัน

ซีพีเริ่มต้นธุรกิจในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2463 เมื่อเปิดร้าน “เจียไต๋จึง” โดยบิดาของเขา (เจี่ย เอ็กชอ) หากเทียบเคียงกับข้อมูลทีซีซีข้างต้น “เริ่มจากกิจการขนาดเล็กเมื่อปีพุทธศักราช 2503” นับว่าห่างกันมากถึง 4 ทศวรรษเลยทีเดียว

“หลังจากที่ท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรีเรียนจบจากเสฉวน ก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อช่วยกิจการของที่บ้าน ในปี พ.ศ.2496 ท่านประธานจรัญได้เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ โดยท่านตั้งใจขยายกิจการออกไปเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก และตั้งชื่อบริษัทว่า “เจริญโภคภัณฑ์” หรือเรียกย่อๆ ภาษาอังกฤษว่า CP” (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ตีพิมพ์ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น–http://www.nikkei.com/และภาษาอังกฤษ–http://asia.nikkei.com/

แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย ภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ หวง เหวย เหว่ย ปรากฏใน https://www.facebook.com/cpgroupnews.) เรื่องเล่าตอนหนึ่ง กล่าวถึงการเริ่มต้นรุ่นที่สองของธุรกิจครอบครัว

“1953 (ปี พ.ศ.2496) เริ่มขยายสู่ธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศไทย โดยได้บุกเบิกธุรกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ขึ้น ด้วยการเปิดร้านเจริญโภคภัณฑ์ขึ้นมาเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของตระกูลเจียรวนนท์ และเป็นต้นน้ำของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมโดยมี นายจรัญ เจียรวนนท์ บุตรชายคนโตของ นายเจี่ย เอ็กชอ เป็นผู้บริหารงาน… 1958 (ปี พ.ศ.2501) จากร้านค้าเมล็ดพันธุ์ผักเล็กๆ ขยายเติบโตสู่ธุรกิจเกษตรกรรมที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ปุ๋ย อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะปลูก และเพื่อรองรับการเติบโตนั้นจึงได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เจียไต๋ จำกัด ขึ้น” ข้อมูลประวัติทางการ (http://cpgroupglobal.com/) ให้ภาพชัดขึ้นอีก

“ช่วงปลายทศวรรษ พ.ศ.2500 ร้านเจริญโภคภัณฑ์ ได้ขยายกิจการไปเป็นธุรกิจขนาดกลาง ผมเริ่มช่วยพี่ชายบริหารส่วนงานอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ที่บริษัทขายในตอนนั้นเน้นขายอาหารเลี้ยงไก่ หมู มีทั้งข้าวโพด แป้งถั่ว รำข้าว ปลาป่น เป็นต้น ยุคนั้นเรามีโรงแปรรูปเล็กๆ อยู่ แต่ผมไม่ได้รับผิดชอบเรื่องสูตรอาหารสัตว์” เรื่องเล่า (“บันทึกความทรงจำ”) อีกตอนหนึ่ง ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเขาในการทำงานธุรกิจครอบครัว

หลังจากผ่านประสบการณ์การบริหารกิจการของรัฐ (สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์) มาช่วงหนึ่ง “ผมกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านอีกครั้งในปี พ.ศ.2507 ขณะนั้นท่านจรัญเป็นประธานบริษัท และท่านมนตรี พี่ชายคนที่สองของผม เป็นผู้จัดการทั่วไปดูแลธุรกิจอาหารสัตว์”

และแล้วซีพีได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ธนินท์ เจียรวนนท์ เข้ามามีบทบาทครั้งสำคัญในฐานะผู้บริหารซีพีอย่างเต็มที่ แม้ว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นคนรุ่น (Generation) ที่ 2 แต่เขามักจะเรียกช่วงเวลาตนเองขึ้นเป็นผู้บริหารว่าเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งพิจารณาในเชิงพัฒนาการ ควรเป็นเช่นนั้น ถือว่าซีพีก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 อย่างแท้จริง

“ในปี พ.ศ.2512 ตอนที่ผมอายุได้ 30 ปี ท่านประธานจรัญซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของผม แต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผมจึงเข้ามารับช่วงการบริหารธุรกิจอย่างเต็มตัว” (อ้างแล้ว)

 

คงจะพอกล่าวได้ว่า เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กรณี เจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มต้นบทบาทสำคัญ หากเป็นบทบาทในฐานะรุ่นที่ 1 หรือรุ่นบุกเบิก

ที่ว่าเขาเริ่มต้นการค้าขนาดเล็กปี 2503 นั้น เชื่อกันว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ กึ้งจู แซ่จิว “ผู้เก็บตัวเงียบ และรวยเงียบๆ ย่านทรงวาด ด้วยมีกิจการร้ายโชห่วยขายของ โรงงานสุราบางยี่ขันผู้ผลิตสุราแม่โขงเป็นลูกค้ารายใหญ่” ต่อมา กึ้งจู แซ่จิว ได้กลายเป็นพ่อตา (บิดาของ วรรณา สิริวัฒนภักดี) และเป็นบุคคลสำคัญในฐานะ “ผู้อุ้มชูเขาเข้าสู่แวดวงธุรกิจ จุดเริ่มต้นให้เขาเข้าไปสัมผัสโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา” (จากหนังสือ The Fall of Thai Banking โดย วิรัตน์ แสงทองคำ, แมเนเจอร์คลาสสิก ปี 2548)

ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เองด้วย ถือว่าเป็นช่วงเวลาสอดคล้องกัน “ผู้รู้จักท่านผู้อำนวยการเมื่อปี 2505 จากการเข้าไปขายของให้โรงงานสุราบางยี่ขัน” (เจริญ สิริวัฒนภักดี เขียนคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพ จุล กาญจนลักษณ์ (นักปรุงสุราในตำนาน) มิถุนายน 2530

“ในปี 2515 กึ้งจู ร่วมกับโคโร่ (คำรณ เตชะไพบูลย์) ก่อตั้งบริษัทธนพัฒน์ทรัสต์ และต่อมาในปี 2522 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่โคโร่กำลังจะเปลี่ยนฐานะจากผู้จัดการธนาคารศรีนคร สาขาประตูน้ำ ไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้จัดการใหญ่ธนาคารมหานคร” (หนังสือ The Fall of Thai Banking ซึ่งกล่าวถึงตำนานกรณีธนาคารมหานครไว้อย่างพิสดาร) ขณะที่พ่อตากำลังขยายอาณาจักรธุรกิจ เจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มมีกิจการอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นรากฐาน ซึ่งมักจะกล่าวไว้ในลำดับเหตุการณ์สำคัญ (ข้อมูลองค์กร) ของประวัติกลุ่มทีซีซี

“แสงโสมขวดแรก ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2520 โดยฝีมือการปรุงของ นายจุล กาญจนลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญการปรุงสุรามือหนึ่งของเมืองไทย จากโรงงานสุราแสงโสม จังหวัดนครปฐม ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดบริษัท แสงโสม จำกัด” บริษัทแสงโสม มักถูกยกเป็นกิจการสำคัญแห่งแรกของกลุ่มทีซีซีเลยทีเดียว (จาก http://www.thaibev.com/)


ผู้สืบทอด

ซีพี-ทีซีซี ยังคงยึดมั่นในโมเดลธุรกิจครอบครัวอย่างเข้มข้นต่อไป แม้ว่ากำลังจะผ่านยุคผู้นำปัจจุบันไปแล้ว

“สำหรับแนวทางการสืบทอดธุรกิจ ผมได้ปรึกษากับพี่ชายทั้งสามคนแล้ว และกำหนดแนวทางคร่าวๆ ไว้ว่า ขั้นตอนแรก ผมจะดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สุภกิตดำรงตำแหน่งประธาน และศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอ โดยระหว่าง 10 ปีที่ถัดจากนี้ไป เราต้องสร้างว่าที่ซีอีโอคนใหม่ของเครือขึ้นมารับช่วงต่อ ผมคิดว่าผู้บริหารระดับสูงควรมีวาระการบริหารงานที่ระยะเวลา 10 ปีจะเหมาะสมที่สุด เพราะ 5 ปีนั้นอาจสั้นเกินไป แต่หลังจาก 10 ปี ผมก็จะลงจากตำแหน่งประธานอาวุโส สุภกิตซึ่งเป็นลูกชายคนที่หนึ่งก็จะมารับตำแหน่งประธานอาวุโสแทนผม ส่วนศุภชัยลูกชายคนที่สาม ก็จะมาดำรงตำแหน่งประธานของเครือ ตำแหน่งซีอีโอที่ว่างลงหลังจากศุภชัยพ้นวาระ ก็จะมีผู้บริหารคนใหม่มาดำรงตำแหน่งต่อไป” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวอย่างเปิดเผยอย่างเป็นจริงเป็นจังไว้ครั้งแรก (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History โดย ธนินท์ เจียรวนนท์) เจาะจงไปยังบุตรคนโต (สุภกิต เจียรวนนท์) และคนสุดท้อง (ศุภชัย เจียรวนนท์)

ส่วนกลุ่มทีซีซี ปรากฏปรากฏการณ์สำคัญในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อผ่านช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 มาพักหนึ่ง มีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เป็นหลายกลุ่ม นอกจากให้ภาพอาณาจักรธุรกิจที่สำคัญในสังคมไทยแล้ว อีกด้านหนึ่งมีภาพสำคัญซ้อนอยู่ คือการจัดสรร จัดแบ่งทรัพย์สิน และอำนาจการบริหารกลุ่มธุรกิจต่างๆ ให้กับบรรดาบุตร-ธิดา

ที่น่าสนใจ บุตรชายคนแรก–ฐาปน สิริวัฒนภักดี ดูแลกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม บุตรคนสุดท้อง–ปณต สิริวัฒนภักดี ดูแลกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

ส่วนบุตรีนั้นมีสูตรที่น่าสนใจ ว่ากันว่าด้วยยึดตามโมเดล “เจริญ-วรรณา” อย่างเคร่งครัด ภาพที่เป็นไปบรรดาบุตรเขย (ของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี) มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจ

โดยมีบุตรีอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ประกบอยู่อย่างน่าสนใจ โดยครอบครัวคนโต–อาทินันท์ พีชานนท์ ดูแลกลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน คนรอง–วัลลภา ไตรโสรัส ดูแลกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอีกคน–ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล ดูแลกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า

ควรอรรถาธิบายเพิ่มเติมอีกสักตอน