อภิญญาตะวันออก : ปมสลาย-ลัทธิเสรีนิยมใหม่กัมพูชา (จบ)

แลด้านหนึ่งทรงประกาศกร้าวว่า ประเทศนี้จะไม่ยอมให้มีคนอย่างฮู ยุน เขียว สัมพัน ฮู นิม พ็วก ฌาย เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย แต่เป็นบุคคลที่จีนหนุนหลัง

เวลาเดียวกัน เมื่อออกอากาศวิทยุทั้งในและต่างประเทศ เช่น 5 ตุลาคม พ.ศ.2510 ก็ประกาศให้เข้าใจว่า “จะเล่นงานคนพวกนั้นอย่างจงหนัก จนกว่าภารกิจนี้จะบรรลุผล และถึงแม้ร่างกายฉันจะแหลกเหลวเป็นจุณ แต่ฉันก็จะสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อทำลายล้างเขมรเลวกลุ่มนี้” (*)

ต่อมา ในเดือนมกราคม พ.ศ.2511 ก็แถลงข่าวประณามทางการจีนอย่างเกรี้ยวกราด ทันทีที่พบว่ากลุ่มเขมรแดงไม่รักษาสัญญา หันมาซุ่มโจมตีและขนอาวุธยุทโธปกรณ์ เสื้อผ้า ยารักษาโรคที่ลักลอบขนถ่ายผ่านมาทางตามพรมแดน

“ตลอดจนใบปลิว สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย แล้วส่งไปตีพิมพ์ ประทับภาพประธานาธิบดีเหมา เจ๋อ ตุง ที่จีนแผ่นดินใหญ่”

 

เพื่อยืนยันเรื่องนี้ผ่านรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารของพระองค์ ตั้งแต่ พ.ศ.2509-2512 ทั้งคำปราศรัยที่ดัดแปลงแต่งเติมเพื่อยั่วเย้าสื่อมวลชนทั่วโลก ด้วยทัศนะวิธีอันผิดแผกแตกต่าง ในความพยายามเป็นเจ้าลัทธิ “ความเป็นกลาง” ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็พื่อต่อต้านประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

แต่ภายใต้สถานการณ์อันเปราะบางดังกล่าว ก็ยังเอาตัวเข้าไปใกล้ชิดเวียดนามเหนือและเวียดกงอย่างต่อเนื่อง ปฏิสัมพันธ์แบบนั้นที่ทำให้ถูกแทรกซึมตามแนวพรมแดนประเทศ มีการจัดตั้งหน่วยเคลื่อนย้าย ศูนย์พยาบาล และหน่วยเสริมอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อต่อต้านเวียดนามใต้ ซึ่งศูนย์สนับสนุนดังกล่าวยังกระจัดกระจายไปตามแนวพรมแดน ตั้งแต่รัตนคีรีไปจนจรดชายฝั่งทะเลตอนใต้

พระองค์ก็ทราบดีกระมังว่า นี่ไม่ใช่นโยบายเป็นกลางอย่างใดเลย แม้แต่ความเป็นกลางตามครรลองแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่สุด ผลลัพธ์ที่ว่า ก็บีบให้เราต้องเผชิญหน้ากับสงคราม ทั้งที่พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด

แต่การที่ประชาชนออกมาต่อต้านหน่วยดังกล่าว ที่บุกรุกถือสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ ตามที่ทรงอนุญาตในนามรัฐแขฺมร์ ทั้งเวียดนามเหนือและเวียดกงยังฉวยโอกาสเปิดฉากทำสงครามโจมตีอย่างรุนแรง เด็ดขาด อันเป็นไปตามคำเรียกร้องของพระองค์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2513 ที่เมืองคานตัน

พลันปฏิบัติการบุกรุกกัมพูชาในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2513 ก็เกิดขึ้น และพบว่า เป็นการโจมตีจากเวียดนามเหนือและเวียดกง บนบูรณภาพดินแดนของกัมพูชาจากบริเวณต่อไปนี้ :

ค่ายกองกำลังที่ 1 กองร้อยที่101-D อำเภอองกอร์บุไร จังหวัดตาแก้ว กำลังพล 2,000 นาย

ค่ายกองกำลังที่ 5: กองร้อยที่ 174, 05 และกองร้อยที่ 5 อำเภอสนวล จังหวัดกระแจะ กำลังพล 5,000 นาย

ค่ายกองกำลังที่ 7: กองร้อยที่ 141, 165 และ 209 อำเภอแม่มด จังหวัดกำปงจาม กำลังพล 6,200 นาย

กองกำลังส่วนหน้า ค่ายกองกำลังบี-3 : กองร้อยที่ 24, 28, 40 และ 66 จังหวัดรัตนคีรี, บ่อแก้ว และหน่วยตามแนวพรมแดน กำลังพลทั้งสิ้น 12,000 นาย

ด้วยกองกำลังพลท้องถิ่นเพียง 23,000 นาย ที่ต้องรับมือกับกองกำลังต่างชาติราว 65,080 นาย ที่กระจัดกระจายอยู่ตามแนวพรมแดน และเป็นเวลาร่วม 4 ปีแล้วที่เหตุการณ์นี้ได้ปลิดชีวิตผู้คนในสงครามทำลายล้างอันน่าสลดหดหู่ทุกขเวทนาเช่นนี้

ขณะที่ “สาธารณรัฐเขมร” ได้พยายามตั้งมั่นอยู่บนหลักการของกฎหมาย ดังที่ข้าพเจ้าใคร่ขอรำลึกถึงตอนหนึ่งของนิตยสาร “เลอ สังคม” ฉบับกรกฎาคม พ.ศ.2509 ที่ทรงกล่าวว่า

“สถาบันพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์ ยินดีเสมอที่จะสนับสนุนและเคียงข้าง ในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยหากว่าเป็นจุดประสงค์ของคนส่วนใหญ่แล้ว ราชบัลลังก์ก็พร้อมจะแนะนำและโน้มน้าว เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือดในเกมการเมืองนี้ โดยที่ราชบัลลังก์เองนั้นไม่มีเจตนาจะเหนี่ยวรั้ง ยึดครอง ตราบใดที่ประชาชนไม่ให้การสนับสนุน”

 

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ประชาชนกัมพูชาก็ได้รับเสรีภาพจากการต่อสู้ของตน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้ปรารถนาจะลิ้มลอง “ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ” ซึ่งสถาปนาขึ้นมาในเดือนมีนาคม 2513

ด้วยเหตุนี้ ในโอกาสของการหาทางที่จะแก้หาทางยุติปัญหาอย่างสงบสุขยังพอจะมีความหวัง จากกรณีสงครามเวียดนามและลาวที่กำลังสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าใคร่ร้องขอต่อพระองค์ว่า ได้โปรดยุติการกระทำและความพยายามใดๆ ที่จะเป็นไปอย่างไร้จิตสำนึก

โดยอีกครั้งหนึ่ง ที่เราทั้งสองควรถือเอาหลักการและเหตุผล ตลอดจนสัจจะแห่งความจริงใจที่ควรมีต่อกัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การพึงตระหนักถึงวิธีการ ที่จะไม่นำพาประเทศแห่งนี้ไปสู่ครรลองของการทำลายล้าง ซึ่งจะเห็นว่าเวียดนามเหนือและเวียดกงต่างหากที่เป็นฝ่ายผลักดันให้กลุ่มนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาขยายตัวออกไป

นอกจากนี้ ที่จะปฏิเสธไม่ได้เลย คือการที่พระองค์ได้รับเงินค่าครองชีพจากเวียดนามเหนือและทางการจีน

ด้วยวิธีที่สนองความต้องการของพระองค์ ตราบใดที่ปราศจากการสนับสนุนดังกล่าว พระองค์ก็คงไม่มีเงินทองที่นำไปใช้ในคณะ “รัฐบาลพลัดถิ่น” ที่ส่วนใหญ่อยู่ในปารีส แอฟริกา และปักกิ่ง โดยไม่มีโอกาสทราบว่าจะกลับกัมพูชาเมื่อใด

 

ไม่เลย ท่านภราดา เจ้าชายกัมพูชาผู้ที่แสนประเสริฐ สำหรับความล้มเหลวทั้งหมดที่ทรงก่อจนนำไปสู่การตกเป็นทาสของชาวต่างชาติพวกนั้น ผู้ที่พยายามสวมรอยหาผลประโยชน์ในความอยากได้ใคร่ดีในชัยชนะของพระองค์ จนตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้บงการ

และเยี่ยงนั้นเองหรือ ตัวอย่างในความรักชาติอันปราศจากอคติ และความลุ่มหลงอำนาจ ดังที่ทรงประกาศต่อชาวโลกอยู่เสมอ

เพื่อการนั้น ข้าพเจ้าขอส่งต่อจดหมายฉบับนี้ไปยังสมาชิกทุกฝ่ายในราชวงศ์ ตลอดจนผู้หวังดีที่ใคร่จะเห็นพระองค์ ทรงประพฤติปฏิบัติด้วยจิตวิญญาณแห่งความเอื้อเฟื้อและเมตตา อันยิ่งใหญ่สถาพรตลอดไป

พนมเปญ 27 สิงหาคม 2516

สีโสวัตถิ์ สิริมตะ 

 

จดหมายฉบับนี้ของสีโสวัตถิ์ สิริมตะ สะท้อนถึงความเข้มแข็งที่แปลกแยก ในระบอบเสรีนิยมแบบสาธารณรัฐเขมร ในห้วงเวลาอันระส่ำระสาย

และอีกครั้ง ที่วิถีแห่งปฏิปักษ์ทางการเมืองระหว่างศรีโสวัตถิ์-นโรดมที่มีมาแต่บรรพบุรุษได้ถูกตอกย้ำอย่างหนักแน่นในยุคสีหนุ-สิริมตะ-มรดกกรรมทางการเมืองแห่งราชวงศ์เขมร

สำหรับสิริมตะที่มองเห็นว่า ระบอบราชานิยมแบบสีหนุคือส่วนสำคัญที่นำไปสู่การทำลายชาติ โดยเฉพาะกรณีเปิดบ้านให้เป็นฐานทัพของเวียดกง

อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมาเมื่อระบอบเขมรรีพับลิกได้ถึงแก่ความสูญสิ้น ประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมดของพวกเขาก็โรยรินไปด้วย จนถูกทำให้ดูเหมือนว่า แทบจะไม่มีแก่นสารใดๆ ในยุคนี้เลย

แต่กระนั้น อย่างน้อย “บันทึกแห่งการต่อสู้กับช่วงเวลาแห่งสงครามและความเจ็บปวดในห้วง 1,000 วัน” ของกลุ่มประชาชนผู้รักสันติภาพ ตามที่นิตยสาร “แขฺมร์รีพับลิก” จดจารบางส่วน ก็พอที่จะเห็นร่องรอยคำบอกเล่าในความพยายามที่จะยืนหยัดในระบอบการเมืองของตน แม้ในช่วงเวลาอันยากลำบาก

โดยเฉพาะการต่อสู้กับระบอบเก่าอย่างราชบัลลังก์ที่มักอ้างเสมอว่า “ไม่ปรารถนาจะครอบครอง เหนี่ยวรั้ง และพร้อมจะสละอำนาจ หากเป็นความต้องการของประชาชน” แต่ทั้งหมดก็เป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อที่ตามมาด้วยการกระทำอันตรงข้าม

“บันทึกทรงจำ-สงครามที่ถูกลืม” ของซอสเทียน เฟอร์นานเดซ (Sosthine Fernandez) นายพลคนสุดท้ายในระบอบสาธารณรัฐเขมร ดูจะเป็นตัวอย่างของความจริงอันเจ็บปวดที่ถูกปกปิดไว้ ในฐานะที่พ่ายแพ้

และเป็นแค่จำเลยสังคม

—————————————————————————————————————————-
(*) สีหนุอยู่เบื้องหลังการกวาดล้าง ส.ส.พรรคประชาธิปไตย ที่หันไปซบพรรคคอมมิวนิสต์ หรือต่อมาเรียกกันในชื่อเขมรแดง