เพลงสิบสองภาษา ดนตรีไทยแบบฉบับ : สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทุกประเทศสิบสองภาษาŽ มีเรือแพนาวา ขนส่งบรรทุกสินค้าซื้อขายวายล่องอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพเขียนจาก Journal of An Embassy to the Courts of Siam And Cochin China. John Crawfurd. Oxford University Press, 1967.)

เพลงสิบสองภาษา

ดนตรีไทยแบบฉบับ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เพลงสิบสองภาษาในดนตรีไทย เป็นงานสร้างใหม่หลังรับแบบแผนตะวันตกแล้วปรับปรุงเป็นดนตรีไทยแบบฉบับ เมื่อเรือน พ.ศ. 2400 แต่มีต้นตอจากเล่นออกภาษาของสวดคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นการละเล่นในงานศพ (สืบเนื่องจากยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว)
เพลงสิบสองภาษา ร้องเนื้อเต็มŽ เนื้อหาคำร้องแสดงความด้อยกว่าของคนอื่น และอวดความเหนือกว่าของชาวสยาม (หรือ ยกตนข่มท่านŽ)
ทำนองง่ายๆ สั้นๆ สนุกๆ ส่วนหนี่งได้จากทำนองเพลงเก่าของคนหลายเผ่าพันธุ์บนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ แต่บางส่วนทำเลียนแบบสำเนียงอื่นๆ เพิ่มได้ตามต้องการ เช่น ฝรั่ง, ญี่ปุ่น, เกาหลี เป็นต้น
ดนตรีไทยแบบฉบับŽ เป็นดนตรีไทยแบบใหม่ ประสมวงใหม่ เมื่อเรือน พ.ศ. 2400 (ต่างจากสมัยอยุธยา) ยกย่องร้องเพลงเถา เอื้อนมากลากยาวŽ และต่อต้านวัฒนธรรมป๊อป

สิบสองภาษานานาชาติ

สิบสองภาษา หมายถึง นานาประเทศ, นานาชาติ หรือประเทศ (ชาติ) ต่างๆ จำนวนมาก มีใช้ทั่วไปในภาษาพูดตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น
แต่พบเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุดในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาว่า ทุกประเทศสิบสองภาษาŽ (แต่งราวเรือน พ.ศ. 2200 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์)
ยุคแรกมีขอบเขตจำเพาะบ้านเมืองรอบๆ เช่น ลาว, เขมร, มอญ, พม่า, เวียดนาม, ชวา, มลายู ฯลฯ ยุคหลังขยายถึงโลกตะวันตก เช่น ยุโรป, อเมริกา

สิบสอง หมายถึงจำนวนมาก ซึ่งมีมากกว่าสิบสอง ไม่แค่สิบสองจริงๆ จะมากกว่าเท่าไรก็ได้ ไม่จำกัด แต่ยกคำว่าสิบสองเป็นจำนวนได้จากปีนักษัตร (ชวด, ฉลู, ขาล ฯลฯ) มี 12 นักษัตร ถือเป็นจำนวนศักดิ์สิทธิ์ จึงใช้เรียกจำนวนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีความหมายทางดี เช่น สิบสองท้องพระคลัง, สิบสองสนมนางกำนัล, นางสิบสอง (ในนิทานเรื่องพระรถ นางเมรี เป็นนิทานบรรพชนมาจากลาว ถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์)
ภาษา หมายถึง ภาษาพูดเป็นสำเนียงต่างๆ ถ้าพูดสำเนียงเดียวกันนับเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสำเนียงต่างกันก็ไม่เป็นพวกเดียวกัน มีชาติกำเนิดต่างถิ่นกันถือเป็นคนละชาติภาษา เช่น คนพูดสำเนียงลาวลื้อเป็นชาต

ภาษาหนึ่ง คนพูดสำเนียงลาวเงี้ยวก็เป็นชาติภาษาหนึ่ง คนพูดสำเนียงลาวทรงดำก็เป็นอีกชาติภาษาหนึ่ง (มีในเรื่องนางนพมาศ แต่งสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์)

การละเล่นออกภาษา

เมื่อคุ้นเคยชาติภาษาต่างๆ นานเข้าก็สร้างสรรค์เป็นการละเล่น เช่น สวดคฤหัสถ์ ออกภาษา ฯลฯ

สวดคฤหัสถ์ หมายถึง การละเล่นของชาวบ้านในงานศพ ล้อเลียนพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โดยเฉพาะสวดพระมาลัยเป็นทำนองแขก, จีน, ญวน, มอญ, ฝรั่ง มีเป็นที่นิยมแล้วครั้งอยุธยา แต่เล่นเลยเถิด จึงมีกฎพระสงฆ์ห้ามเล่นสมัย ร.1 พ.ศ. 2344
งานศพยุคดั้งเดิมมีที่บ้านคนตาย แล้วนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดอภิธรรมตอนกลางคืนที่บ้านศพ เมื่อสวดเสร็จพระสงฆ์ก็กลับวัด จากนั้นชาวบ้านที่ตั้งตนเป็นนักสวดคฤหัสถ์ 4 คน เข้านั่งประจำที่ของพระสงฆ์ แล้วสวดเป็นถ้อยคำพื้นบ้านพื้นเมืองตลกคะนอง ด้วยทำนองท้องถิ่นที่เคยทำตกทอดในพิธีต่างๆ โดยมีกินเหล้าเมายาจนสว่าง
นักสวดคฤหัสถ์มี 4 คน เรียกชื่อต่างๆ ได้แก่ (1) ตัวตุ๊ย (2) คอหนึ่ง (3) คอสอง (4) ตัวภาษา ทั้งหมดร่วมกันขับลำทำเพลงเป็นทำนองล้อเลียนสำเนียงต่างๆ ตามต้องการ
อย่างตลกคะนอง และอย่างดูถูกดูแคลน

ออกภาษา หมายถึง การละเล่นเพลงสำเนียงภาษาต่างๆ อย่างเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ เรียกเพลงลูกบท (ไม่เป็นแม่บท หรือต้นแบบหลัก) แรกมีในประเพณีสวดคฤหัสถ์ในงานศพชาวบ้าน
บางทีเรียกเพลงลูกบทเหล่านี้ว่าสิบสองภาษา ดังนั้น ออกภาษากับสิบสองภาษาใช้แทนกันได้
สมัย ร.5 ละครพันทางนิยมเล่นออกภาษาต่างๆ แล้วแต่งการเลียนแบบกลุ่มคนชาติเหล่านั้น เพราะคนดูชอบมาก เช่น พงศาวดารจีน, พงศาวดารมอญ, ขยายไปพม่า, เขมร, ลาว, แขก, ฝรั่ง ฯลฯ

ปี่พาทย์ออกภาษา
ครั้นสวดคฤหัสถ์นานไป พวกชาวปี่พาทย์ประโคมศพอยู่ในบ้านงานเดียวกัน เลยทำเพลงรับแต่ละภาษาเข้าผสมโรงด้วย
ในที่สุดเป็นเพลงออกภาษา หรือเพลงสิบสองภาษาอย่างที่รู้จักคุ้นเคยทุกวันนี้ น่าจะมีเก่าสุดราว ร.4 (ไม่เก่าถึงสมัยอยุธยา ตามที่ครูดนตรีไทยเคยอธิบายไว้นานแล้ว) ตามลักษณะการเมืองและเศรษฐกิจการค้าที่เปลี่ยนจากเดิม ขณะเดียวกันก็เกิดสำนึกเหยียดชาติพันธุ์เพื่อนบ้านหนักข้อกว่ายุคก่อนๆ

ยกตนข่มคนอื่น ชื่อเพลงดนตรีไทยขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์ เริ่มนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ราว ร.4 หลัง พ.ศ. 2400 ตามความนิยมการละเล่นออกภาษายกตนข่มท่านเพื่อแสดงความเป็นอื่นที่ด้อยกว่า และอวดความเป็นไทยที่เหนือกว่า
[มีคำอธิบายละเอียดและตัวอย่างอื่นอยู่ในหนังสือคนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 หน้า 73-103]

แต่อีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติของไทยกับเพื่อนบ้านโดยรอบตามที่ระบุชื่อชาติพันธุ์ เช่น เขมรพายเรือ, พม่าแทงกบ, มอญดูดาว, ลาวกระทบไม้, ญวนทอดแห, จีนขิมเล็ก, แขกต่อยหม้อ ฯลฯ
ความเป็นอื่นที่ด้อยกว่า กับความเป็นสยามที่เหนือกว่า ไม่จำเป็นต้องมีจริงในโลก เช่น ฝรั่งไม่ด้อยกว่าสยาม และสยามไม่เหนือกว่าฝรั่ง แต่ในโลกลวงๆ ของสยามแล้ว ความเป็นอื่นต้องด้อยกว่าทั้งนั้น ไม่ว่าในโลกจริงจะเป็นอย่างไร
มีตัวอย่างสำคัญอยู่ในโคลงภาพคนต่างภาษา สมัย ร.3 ในวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) แต่งโคลงพรรณนาวัฒนธรรมคนต่างภาษาจำนวนหนึ่งที่มีจริงในโลก และคนชั้นนำยุคนั้นรู้จักดี
แต่โคลงพรรณนาชาติภาษาต่างๆ สร้างให้ดูต่ำต้อย, ตลกคะนอง, ถึงหยาบช้าก็มี สอดคล้องกับการละเล่นเป็นที่นิยมของชาวสยามในยุคนั้น เช่น จำอวดคฤหัสถ์ในงาน ศพ, เพลงออกภาษา, สิบสองภาษา, เป็นต้น
ชื่อเพลงยุคกรุงเก่าเอาชื่อเดิมของชาติพันธุ์นั้นๆ เรียกอย่าง ทับศัพท์Ž หรือยกคำของชาติพันธุ์นั้นตั้งชื่อเพลงแล้วเพี้ยนเสียงบ้างไม่เพี้ยนบ้างสืบต่อๆ มา เช่น เนียรปาตี, อรุ่ม, ปะตงพัน, สระบุหร่ง, กะระนะ, ยิกินใหญ่, ยิกินหน้าศพ, บ้าระบุ่น, เนระคันโยค, มุล่ง, มุใน ฯลฯ
ที่เอาชื่อชาติพันธุ์มานำหน้าชื่อเพลงมีบ้าง แต่มีน้อย (ไม่แน่ใจว่าเป็นชื่อจริงมาแต่ดั้งเดิมยุคกรุงเก่า หรือเพิ่งเรียกชื่อนี้ตอนคัดลอกยุคหลัง) ในเพลงมโหรีกรุงเก่าที่จดไว้ 197 เพลง มีชื่อชาติพันธุ์นำหน้าแค่ 11 เพลง (เท่านั้น) เช่น มอญแปลง, มอญเล็ก, ขอมแปลง, มลายูหวน, มะละกาเสียเมือง, แขกสวด, แขกกินข้าว, ฝรั่งถอนสมอ, ญี่ปุ่น, จีนหลวง, จีนเก็บดอกไม้

สวดคฤหัสถ์Ž มรดกตกค้าง จากการละเล่นใน งันเฮือนดีŽ

สวดคฤหัสถ์ มีรากเหง้าจาก งันเฮือนดีŽ เรียกขวัญส่งขวัญงานศพหลายพันปีมาแล้วของคนหลายเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์
ก่อนรับศาสนาพุทธและพราหมณ์ฮินดูจากอินเดีย คนอุษาคเนย์เชื่อเรื่องขวัญ (ไม่รู้จักวิญญาณ) จึงเชื่อว่าคนตายเพราะขวัญหาย ต้องเรียกขวัญคืนร่างแล้วคนจะฟื้น ถ้าไม่ฟื้นต้องส่งขวัญเป็นผีขวัญขึ้นเมืองฟ้า สิงร่วมกับแถนซึ่งเป็นผีขวัญบรรพชน
การเรียกขวัญส่งขวัญ ได้แก่ร้องรำทำเพลงเต้นฟ้อนสนุกสนานสัปดี้สีปดนสุดโต่ง (ไม่มีทุกข์โศก) หลักฐานเก่าสุดเป็นลายเส้นบนหน้ากลองทองมโหระทึก ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่เวียดนาม โดยคนลุ่มน้ำโขงสืบทอดประเพณีเหลือตกค้างเรียก งันเฮืนดีŽ เป็นต้นแบบงานศพมีสวดคฤหัสถ์และสวดอภิธรรม (ในอินเดียและลังกาไม่มีสวดอภิธรรมงานศพ)

ทำขวัญงันเฮือนดี ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีหมอแคนหมอขวัญสนุกสนานด้วยการละเล่นต่างๆ พบในลายสลักบนหน้ากลองทองมโหระทึก
รูปขวัญเป็นแฉกอยู่ตรงกึ่งกลางวงกลมหน้ากลอง มีลายสลักรูปนกอยู่ขอบนอก ส่วนด้านในเป็นรูปการละเล่นต่างๆ (จำลองรูปการละเล่นแผ่ตรงๆ เพื่อดูสะดวก)

[ลายเส้นจากรูปหน้ากลองทองมโหระทึก พบที่เวียดนาม ในหนังสือ Dong Son Drums in Viet Nam จัดพิมพ์โดย The Viet Nam Social Science Publishing House ค.ศ. 1990, pp. 8-9. คัดลอกลายเส้นโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ใช้ประกอบในหนังสือ ชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ บรรพชนคนไทยในอุษาคเนย์ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547 หน้า 54]

งันเฮือนดี

งันเฮือนดีŽ มีรากเหง้าจากพิธีศพหลายพันปีมาแล้วในภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นต้นทางงานศพของไทยปัจจุบัน มีมหรสพสนุกสนานหลายวันหลายคืน
งานศพตามประเพณีลาวในอีสานเรียก งันเฮือนดีŽ มีการละเล่นสนุกสนานอย่างยิ่ง เช่น เล่านิทานโดยอ่านจากหนังสือผูกใบลานเป็นทำนอง (เรียก อ่านหนังสือ), เล่นดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลง ขับลำคำกาพย์กลอน กับเล่นว่าเพลงโต้ตอบ ฯลฯ
[งันเฮือนดีŽ หมายถึง งานฉลองมีสนุกสนานอย่างยิ่งด้วยการละเล่นเป็นมโหสพคบงันอึกทึกครึกโครม (มโหสพคบงัน กลายคำจาก มหรสพ หมายถึง การละเล่นหลายอย่างในงานฉลอง) งัน หมายถึง งานฉลองสนุกสนานอย่างยิ่ง ไม่ใช่งานอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น หุงข้าว, ทำนาทำไร่ ฯลฯ เฮือนดี น่าจะกลายจาก เรือนผี หมายถึงเรือนที่มีคนตายเพราะขวัญหาย (มีอธิบายอีกมากในหนังสือ งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2560)]