ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : สืบทอดอำนาจบนความเกลียดชัง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีคนไม่ชอบเข้าขั้นเกลียดมากเป็นอันดับต้นๆ ในสังคมไทย

แต่ขณะที่นักการเมืองอย่างคุณเฉลิม อยู่บำรุง หรือคุณเนวิน ชิดชอบ มีคนเขม่นด้วยเรื่องส่วนตัวอย่างข่าวลูกเบ่งหรือ “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” คนจำนวนมากไม่พอใจคุณสุเทพด้วยเหตุผลส่วนรวมที่คนมองว่ามีบทบาททำลายประชาธิปไตย

นอกจากคุณสุเทพจะยึดกรุงเทพฯ เพียงเพื่อล้มเลือกตั้งและยุให้คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารถึงครึ่งปี เครือข่ายคุณสุเทพที่พูดจาปราศรัยโดยมีเนื้อหาดูหมิ่นเพื่อนร่วมชาติก็มีไม่น้อย

คนที่ไปเลือกตั้งปี 2557 ราว 20 ล้าน จึงมีโอกาสไม่ชอบคุณสุเทพแน่ๆ เพราะคุณสุเทพทำให้การไปใช้สิทธิแทบเป็นการฝ่าสถานการณ์สงคราม

แม้คุณประยุทธ์จะตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ตามคำเชิญชวนของคุณสุเทพมาแล้วเกือบห้าปี คำพูดของม็อบคุณสุเทพที่ว่าคนกรุงเทพฯ 1 แสน มีคุณค่ากว่าคนชนบท 60 ล้าน ยังคงกึกก้องอยู่ในหัวคนจำนวนมาก

ไม่ต้องพูดถึงการปราศรัยประเภทไล่ยายแก่ที่สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ตกรถไฟความเร็วสูงตายไปเลย

พูดตรงๆ ทัศนคติต่อประชาชนแบบนี้เป็นแบรนด์ของ กปปส.และหลายคนในม็อบคุณสุเทพไปแล้ว ไม่ว่าปัจจุบันนี้แต่ละคนมีสถานะทางสังคมแบบไหน และไม่ว่าอำนาจรัฐหลังรัฐประหาร 2557 จะเอื้อเฟื้อให้คนเหล่านั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือสภาต่างๆ ความทรงจำว่าใครพูดอะไรก็ยากจะลืมเลือน

ต่อให้ทุกวันนี้อดีต กปปส.จะไล่ลบภาพตัวเองคล้องนกหวีดปิดถนนไปหมดแล้ว แต่คำพูดคำจาที่เซเลบ กปปส.เหยียดหยามคนส่วนใหญ่ยังโลดแล่นเป็นบันทึกมืดต่อไปในโซเชียลมีเดียของประชาชน

แม้ปัจจุบันนี้คุณสุเทพผู้เคยจัดม็อบขวางเลือกตั้งปี 2557 จะเปลี่ยนสีตัวเองเป็นผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อหนุนนายกฯ จากการรัฐประหารให้เป็นนายกฯ ต่อในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่อยู่ภายใต้อิทธิพลคุณสุเทพก็เดินหน้าหาเสียงโดยพูดถึงคนส่วนใหญ่ราวกับแปรเจตนารมณ์การล้มล้างเลือกตั้งมาเป็นปฏิญญาของพรรคการเมือง

ล่าสุด พรรครวมพลังประชาชาติไทยออกคลิปชักจูงผู้สนับสนุนให้ร่วมงานกับพรรคโดยมีเนื้อหาสาระที่โจมตีนักการเมืองจากทุกพรรคทั้งหมด โดยเฉพาะการนำเสนอผู้ใฝ่ใจให้ประชาชนเลือกเข้าสภาจากพรรคอื่นๆ ในรูปของผีดิบใส่สูทท่าทางกระหายเลือดราวอาชญากรที่ตายแล้วก็ยังไม่ละความเลว

ในโฆษณาชิ้นนี้ ตัวแทนพรรครวมพลังฯ ในสารรูป “ป้ากำนัน” เรียกนักการเมืองจากทุกพรรคว่า “ผีดิบ” พร้อมกับพูดว่า “ผีดิบกลับมาแล้ว”, “พวกนี้ฆ่าไม่ตาย”, “ผีปล้นชาติ”, “พวกโกงกินหน้าเดิม” ซึ่ง “ใช้กฎหมายหรือกติกาอะไรก็กำจัดพวกมันให้สิ้นซากไม่ได้” แล้ววางอำนาจให้ผู้ชมหยุดวงจรอุบาทว์นี้ทันที

ขณะที่พรรคคุณสุเทพนำเสนอ พรรคอื่นในรูปชายสูงวัยหัวล้านใส่สูทคล้องพวงมาลัยดาวเรืองในสภาพผีลืมหลุมจาก The Walking Dead พรรคนำเสนอตัวเองในรูปหญิงร่างท้วมใส่แว่นที่ยืนประจันหน้าผีดิบนับร้อยราวกับเป็น Joan of Arc ที่เดินหน้าสู้กองทัพอังกฤษตามบัญชาของพระเจ้าอย่างไม่หวั่นเกรงความตาย

โดยปกติแล้วเรื่องเล่าลักษณะนี้ต้องเร้าอารมณ์ให้ผู้ชมเห็นความหาญกล้าของตัวละครจนส่งใจไปช่วยให้ฟันฝ่าฝูงผีได้ในที่สุด

แต่ถึงแม้พรรครวมพลังฯ จะตอกย้ำความเป็น “ปีศาจ” ของพรรคการเมืองอื่นอย่างสุดแรง ผู้ชมกลับไม่รู้สึกว่าตัวละคร “ป้ากำนัน” กล้าหาญจนควรร่วมใจทำอะไรแม้แต่นิดเดียว

ท่ามกลางการสาดโคลนตัวแทนประชาชนจากทุกพรรคอย่างไม่มีชิ้นดี พรรครวมพลังฯ สร้างภาพตัวเองผ่านหญิงท้วมใส่แว่นวัยกลางคนที่หน้าตาเบื่อหน่ายคนทั้งโลกซึ่งโง่เง่าเลือก “ปีศาจ” เข้าสภาไม่สิ้นสุด ยิ่งกว่านั้นคือคำพูดให้ประชาชนหยุดวงจรอุบาทว์นั้นเป็นท่วงทำนองของ “คำสั่งการ” มากกว่าการเชิญชวน

ถ้าไม่ใช่คนที่เป็นพวกเดียวกันตั้งแต่ต้น ไม่มีทางที่ใครจะอยู่ข้างคนแบบนี้ในชีวิตจริงและในโฆษณา

พูดให้เห็นภาพยิ่งขึ้น โฆษณาชิ้นนี้เหมือนจำลองคุณสุเทพมาใส่ในตัวละครที่มีหน้าตาและทัศนคติราวโคลนลุงกำนันเป็นมนุษย์ป้าไม่มีเพี้ยน และสารที่ “ป้ากำนัน” บอกคือ อดีต ส.ส.ล้วนเลวทราม, ประชาชนที่เลือกพวกนี้ไม่ได้เรื่อง และทุกคนจงเชื่อฟังคำสั่งพรรครวมพลังฯ ในการกวาดล้างทุกพรรคการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น พรรครวมพลังฯ ใช้แนวคิด “วงจรอุบาทว์” สร้างวาทกรรมโจมตีพรรคอื่นอย่างบิดเบือน เพราะแนวคิดนี้ในวิชารัฐศาสตร์และวาทกรรมสาธารณะพูดถึง “วงจร” ของรัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง-ความไร้เสถียรภาพ-รัฐประหาร

ขณะที่พรรคนี้ใช้คำนี้ให้ร้ายนักการเมืองโดยไม่วิจารณ์ทหารเลย

ถ้าพรรครวมพลังฯ รู้จักคำว่า Integrity หรือการซื่อสัตย์กับตัวเอง พรรคควรพูดในโฆษณาตรงๆ ว่าทำพรรคเพื่อสนับสนุนให้นายกฯ ทหารคนปัจจุบันเป็นนายกฯ ไม่รู้จบ

ไม่ใช่ใช้คำว่า “วงจรอุบาทว์” ปลุกความเกลียดชังเพื่อปกปิดความจริงที่ตัวเองอยู่ฝ่ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองตามหลักวิชา

ต่อให้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จะเป็นหัวหน้าพรรครวมพลังฯ

สารที่พรรคนำเสนอก็สาดโคลนนักการเมืองทุกคนด้วยน้ำเสียงตำหนิคนส่วนใหญ่เหมือนม็อบคุณสุเทพ

การระดมความร่วมมือแบบนี้จึงอันตราย เพราะถึงที่สุดก็หมกมุ่นกับความเชื่อว่า “กติกาอะไรก็กำจัดพวกมันไม่ได้” จนอาจโหยหาการทำลายฝ่ายอื่นทุกวิถีทาง

ภายใต้ความแน่วแน่ที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ฝ่ายละเมิดสิทธิคนยี่สิบล้านซึ่งไปเลือกตั้งปี 2557 พรรครวมพลังฯ ปลุกปั่นวาทกรรมการเมืองที่สร้างความเกลียดชังคนส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าพอจะเอานกหวีดเป็นสัญลักษณ์ชัดๆ ว่าตัวเองคือฝ่ายที่เห็นด้วยกับการล้มเลือกตั้งและให้ประเทศเป็นแบบนี้ต่อไป

ยุทธศาสตร์พรรครวมพลังฯ ทำให้พรรคไม่มีมิตรในพรรคการเมืองและคนส่วนใหญ่ในอดีตจนปัจจุบัน

สำหรับใครที่ต้องการเป็นผู้นำประเทศโดยไม่แคร์ความยินยอมพร้อมใจของเสียงส่วนใหญ่ ความสนับสนุนของพรรครวมพลังฯ คือทางด่วนแห่งการโอบรับความไม่พอใจจากคนซึ่งถูกละเมิดโดยฝ่ายล้มเลือกตั้งในปี 2557 ได้เร็วที่สุด รวมทั้งคนที่ไม่พอใจการดูหมิ่นคนส่วนใหญ่ในสังคม

พรรคประชาชนปฏิรูป มีผู้ก่อตั้งและแนวทางคล้ายพรรครวมพลังฯ แต่ถึงแม้คุณไพบูลย์จะไม่ใช่เบอร์ใหญ่ของฝ่ายล้มเลือกตั้งปี 2557 เท่าคุณสุเทพ คนซึ่งไม่พอใจ กปปส.ย่อมไม่พอใจคุณไพบูลย์และพรรคนี้ตามไปด้วย ต่อให้คุณไพบูลย์จะแสดงความซื่อสัตย์ต่อตัวเองสูงกว่าอีกพรรคอย่างเทียบกันไม่ได้ก็ตาม

อย่างไรก็ดี พรรคคุณไพบูลย์มีวิธีพูดถึงพรรคการเมืองและประชาชนไม่เหมือนกับพรรคของคุณสุเทพ แนวทางที่คล้ายกันจึงมีเนื้อในที่จะส่งผลให้พรรคการเมืองและประชาชนกลุ่มอื่นๆ มองพรรคของคุณไพบูลย์ไม่เหมือนกับพรรคคุณสุเทพไปทุกกรณี

โดยเบื้องต้นแล้ว คุณสุเทพและคุณไพบูลย์ทำพรรคบนการโจมตีนักการเมืองจากพรรคอื่นเหมือนกัน แต่ขณะที่พรรคคุณสุเทพโจมตีนักการเมืองผ่านสัญลักษณ์นามธรรมประเภท “ผีดิบ” ใส่สูทคล้องดอกดาวเรืองเหมือนผุดจากนรก

คุณไพบูลย์กลับโจมตีนักการเมืองและพรรคในฐานะบุคคลและองค์กรตรงๆ

ในคำสัมภาษณ์ของคุณไพบูลย์วันเปิดสภาประชาชนอุดร คุณไพบูลย์ระบุว่าการที่รัฐธรรมนูญ คสช.ผ่านประชามติแสดงว่าพรรคการเมืองสู้คุณประยุทธ์ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นคือคุณไพบูลย์เรียกทุกพรรคว่า “พรรคการเมืองตกยุค” ซึ่งจะถูกประชาชนตบหน้าในการเลือกตั้ง 2562 จนไม่มีปัญญาเอาตัวรอดเข้าสภา

สำหรับคุณไพบูลย์ การที่ประชาชนโหวตรับรัฐธรรมนูญซึ่ง สนช.สอดไส้บทเฉพาะกาลเรื่องให้ คสช.ตั้ง 250 วุฒิสมาชิกไปเลือกนายกฯ เท่ากับประชาชนลงคะแนนให้คุณประยุทธ์ 250 เสียงไปแล้ว และการที่พรรคการเมืองโวยวายเรื่องระยะเวลาหาเสียง 20 วัน แสดงว่าพรรคขี้คุยเรื่องความนิยมจากประชาชน

ใครๆ ก็รู้ว่าพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ค้านร่างรัฐธรรมนูญ คสช. และวิจารณ์การให้พรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งแค่ 20 วัน

คำโจมตีของคุณไพบูลย์เรื่องผลประชามติและระยะเวลาหาเสียงจึงพุ่งเป้าไปที่สองพรรคใหญ่ของประเทศอย่างที่สุด

การเมืองของคุณไพบูลย์จึงไม่มีทางมีมิตรกับพรรคใหญ่แม้แต่นิดเดียว

สรุปสั้นๆ คุณไพบูลย์ประกาศว่าพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นที่รวมของคนเกลียดนักการเมือง ส่วนตัวคุณไพบูลย์ก็พูดถึงพรรคการเมืองอื่นด้วยท่าทีเย้ยหยันกว่าพรรคของคุณสุเทพ แต่คุณไพบูลย์ไม่มีภาพลักษณ์ของคำพูดประเภท “คนกรุงเทพฯ หนึ่งแสนควรปกครองคนต่างจังหวัดหกสิบล้าน” อย่างพรรคคุณสุเทพมี

ในแง่นี้ พรรคคุณสุเทพสาดโคลนนักการเมืองแบบกว้างๆ เพื่อสร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่าพรรครวมพลังฯ เหนือกว่าพรรคอื่น

ขณะที่พรรคคุณไพบูลย์โจมตีนักการเมืองชัดๆ เพราะเกลียดนักการเมืองทุกคนและเหยียดทุกพรรคไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ เท่าพรรคคุณไพบูลย์ที่ยังไม่เคยลงเลือกตั้งเลย

สำหรับใครที่ต้องการเป็นผู้นำประเทศโดยไม่แคร์คะแนนเสียงของพรรคการเมือง ความสนับสนุนของพรรคคุณไพบูลย์คือทางลัดที่ความไม่พอใจจากพรรคใหญ่จะทะลักไปสู่คนที่พรรคนี้ชูเป็นนายกฯ เร็วที่สุด โดยเฉพาะการเป็นพวกเดียวกับพรรคเล็กซึ่งประกาศว่าตัวเองเกลียดนักการเมืองและพรรคอื่นทั้งแผ่นดิน

พรรคพลังประชารัฐไม่โจมตีใครอย่างคุณสุเทพและคุณไพบูลย์ กระแสข่าวเรื่องการใช้เงินและอำนาจรัฐแย่งชิงอดีต ส.ส.ก็ทำให้พรรคมีชื่อเล่นที่น่ารังเกียจว่า “พลังดูด” จนมีชื่อเสียงในแง่ลบตั้งแต่ไม่เปิดตัว

ไม่ว่าผู้นำพรรคนี้จะเป็นใครระหว่างคุณสมคิดหรือลูกน้องที่คุณสมคิดดันให้เป็นรัฐมนตรี ประเด็น “พลังดูด” จะผสานกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาปากท้องจนภาพลักษณ์พรรคเสียหายไปหมด ใครที่พรรคนี้หนุนเป็นนายกฯ จึงต้องรับแบรนด์ดูดกับเศรษฐกิจย่ำแย่ไปด้วยโดยปริยาย

กลุ่มสามมิตรที่ไม่กล้าพูดตรงๆ ว่าอยู่พรรคไหนก็มีปัญหาเหมือนพลังประชารัฐจนหนุนใครก็สร้างปัญหาให้คนผู้นั้นเหมือนกัน

แม้ตอนนี้คุณประยุทธ์จะไม่ยอมประกาศอนาคตทางการเมืองของตัวเอง เส้นทางที่เป็นไปได้ก็มีสองแบบ หนึ่งคือสืบทอดอำนาจที่ได้มาด้วยกระบอกปืนตั้งแต่ปี 2557 หรือสอง คือหยุดแสวงหาอำนาจไปเลย

ภายใต้มโนคติที่คุณประยุทธ์พูดกับนักข่าวทำเนียบในวันยึดอำนาจครบหนึ่งปีว่าจะไม่ลงจากอำนาจหรือ “หลังเสือ” ถ้าหากไม่ได้ “ฆ่าเสือก่อน” โอกาสที่คุณประยุทธ์จะหาทางเป็นนายกฯ ไปเรื่อยๆ จึงมีสูงกว่าการสละอำนาจมาก

ถึงแม้คตินี้จะลดทอนให้ตำแหน่งนายกฯ เป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองของบุคคลก็ตาม

ตามกติกาและบรรยากาศทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจยุคนี้กำหนด วิถีแห่งการยึดเก้าอี้นายกฯ มีได้สี่สายเท่านั้น

แบบแรกคือ รัฐประหารตัวเอง, สองคือ ยื้อเลือกตั้งไปเรื่อยๆ, สามคือ เอาชื่อให้บางพรรคหนุนเป็นนายกฯ และสี่คือ สร้างสถานการณ์ให้สภาเลือกนายกฯ ไม่ได้จนต้องเชิญคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ในบั้นปลาย

ในสถานการณ์ที่คุณประยุทธ์หลุดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วสี่ปี การรัฐประหารตัวเองน่าจะเป็นทางเลือกที่ไม่ฉลาดที่สุด

ส่วนการยื้อเลือกตั้งนั้นทำมาจนประชาชนแทบไม่เชื่อถือคำพูดคุณประยุทธ์เรื่องนี้อีกแล้ว

หนทางแห่งการอยู่ในทำเนียบรัฐบาลต่อจึงมีแค่ทางสายที่สามหรือสี่เท่านั้นเอง

ถ้าสืบทอดอำนาจโดยให้พรรคหนุนเป็นนายกฯ ปัญหาที่ยุ่งยากคือพรรคที่หนุนเรื่องนี้ล้วนสร้างตัวตนโดยประกาศตัวเป็นศัตรูกับทุกพรรคและคนส่วนใหญ่

นายกฯ บนฐานของพลังประชารัฐ-คุณสุเทพ-ประชาชนปฏิรูป จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเผชิญหน้าและความเกลียดชังแน่ๆ แม้สามพรรคจะมีเสียงข้างมากก็ตาม

สำหรับการสร้างสถานการณ์ให้สภาเลือกนายกฯ ไม่ได้เพื่อเปิดทางให้วุฒิสมาชิกของ คสช.เชิญคุณประยุทธ์เข้ามา ตำแหน่งนายกฯ เสี่ยงที่จะถูกมองว่ามาจากการสมรู้ร่วมคิดหรือ “จัดฉาก” ซึ่งทำให้ประเทศเสียหายไปหมด ผู้ที่เป็นนายกฯ ด้วยวิธีนี้จึงมีโอกาสถูกโจมตีว่าไม่ชอบธรรมเพราะทำทุกวิถีทางเพื่อมีอำนาจการเมือง

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยไม่ได้มีแค่จะมีการเลือกตั้งวันไหน เพราะโจทย์ที่สำคัญกว่าคือทำอย่างไรที่ คสช.จะเข้าใจว่าการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งคือประตูสู่การเมืองที่อันตราย