แนวร่วม (เพื่อไทย) ?

รวดเร็วสมเป็นยุคดิจิตอล

ก่อนถึงเวลานัดประชุมเปิดตัวพรรค 1 กันยายน 2561

ข้อมูลพรรคประชาชาติ

ปรากฏในวิกิพีเดีย (ไทย) เรียบร้อย

ระบุยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นลำดับที่ 6/2561

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2561

โดยมีนายสุรพล นาควานิช คนนามสกุลเดียวกับ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีตองคมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกัน

เป็นผู้ก่อตั้งพรรค

และได้ทาบทามกลุ่มวาดะห์จากพรรคเพื่อไทยมาร่วมงาน

ซึ่งกลุ่มวาดะห์ทั้งหมดได้ตัดสินใจย้ายมาสังกัดพรรคประชาชาติ

การออกจากพรรคเพื่อไทยของกลุ่มวาดะห์มาอยู่พรรคประชาชาติ

คงไม่อาจใช้คำว่า “ถูกดูด”

ด้วยถือเป็นการแตกเพื่อโตทางการเมืองมากกว่า

เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มวาดะห์

วางจุดยืนพรรค ยังอยู่ข้าง “เพื่อไทย”

และมุ่งต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในพื้นที่ภาคใต้

โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดน ซึ่งก็พอมีลุ้นอยู่หลายเก้าอี้

แม้พรรคประชาชาติจะถูกมองว่าเป็นพรรคมุสลิม

แต่กระนั้น คงต้องติดตามหลังการประชุมพรรค 1 กันยายน 2561

ที่อาจจะมีการเจือจางความเป็นพรรคมุสลิมลง

โดยมีการจับตาไปที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ยุครัฐบาลเพื่อไทย

จะเข้ามาร่วมพรรคในรูปแบบไหน

หากเข้ามาเล่นการเมืองเต็มตัว

พรรคประชาชาติอาจจะเพิ่มภาวะ “เป็นกลาง-เท่าเทียม” ไม่เอียงไปทางมุสลิมมากนัก

และขยายแนวร่วมพรรคออกไปทั่วประเทศ

ซึ่งก็อาจจะสอยที่นั่งมาเพิ่มได้ โดยเฉพาะในระบบบัญชีรายชื่อ

และที่สำคัญ หากเกิดเหตุร้ายกับพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะถึงขั้นยุบพรรค

พรรคประชาชาติอาจเป็นหนึ่งใน “พรรคสำรอง” ของเพื่อไทย

ในยามฉุกเฉินได้