สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อ จักรพรรดิอากิฮิโตะ สละราชสมบัติ สู่รัชศกใหม่ของญี่ปุ่น

การสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ที่จะมีขึ้นในปี 2562 นี้

นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นการสิ้นสุด “รัชศกเฮเซ” ขึ้นสู่ “รัชศก” ใหม่หรือยุคใหม่ตามปฏิทินญี่ปุ่นด้วย

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงใช้วิธีการนับปีปฏิทินตามแบบปฏิทินจีนในยุคจักรวรรดิ ในทุกพื้นที่ของโลกนับปีนี้เป็นปี 2018 ตามปฏิทินแบบ “เกรกอเรียน”

แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วนับเป็น “รัชศกเฮเซ” ที่ 30 หรือหมายความถึง ปีที่ 30 ที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะขึ้นครองราชย์

การนับปีในแบบ “รัชศก” ถือกำเนิดขึ้นในยุคราชวงศ์ฮั่นของจีนราว 140 ปีก่อนคริสตกาล โดยจักรพรรดิจะตั้งขึ้นด้วยพระองค์เองเป็นวลีหรือประโยคที่ประกอบขึ้นจากคำสองคำที่เป็นความหมายมงคล โดยมีความเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองในรัชสมัยนั้นๆ

โดยธรรมเนียมดังกล่าวแพร่หลายไปสู่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกรวมถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย

สำหรับรัชศกของญี่ปุ่น หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “เน็งโก” หรือ “เก็งโก” นั้นเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในรัชสมัยจักรพรรดิโคโตะกุ จักรพรรดิองค์ที่ 36 ของญี่ปุ่นนับปี “รัชศกทาอิกะ” ที่ 1 ในปี ค.ศ.645 โดยปัจจุบันรัชศกนั้นนับได้ถึง 250 รัชศก

โดยส่วนใหญ่จักรพรรดิจะทรงมีรับสั่งให้เปลี่ยนรัชศกระหว่างรัชกาลด้วยเพื่อความเป็นมงคลหลังเกิดภัยธรรมชาติหรือวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงจักรพรรดิพระองค์หลังๆ เริ่มใช้รัชศกเพียงรัชศกเดียวระหว่างรัชกาล

 

ในปี 2562 มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ จะก้าวขึ้นครองราชบัลลังก์แทนที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะในเดือนพฤษภาคม

แน่นอนว่าจะเป็นยุคใหม่ รัชศกใหม่ของญี่ปุ่น

การเปลี่ยนปีปฏิทินขึ้นสู่ยุคใหม่ ชื่อรัชศกที่เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ซึ่งจะปรากฏอยู่ในเอกสารราชการ หนังสือพิมพ์ รวมไปถึงปฏิทินอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบในประเทศไม่มากก็น้อย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปฏิทินระบุว่า การนับปีรัชศกแบบญี่ปุ่นนั้นมีข้อดีคือจะช่วยให้จดจำรายละเอียดในประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้นเมื่อยึดถือตามปีรัชศก

“ยกตัวอย่างเช่น เราจะจำได้เลยว่าช่วงต้นรัชศกเฮเซนั้นเป็นช่วงเวลาฟองสบู่แตก” คุนิโอะ โควากุชิ ประธานบริษัทโทดัน ผู้ผลิตปฏิทินรายใหญ่ของญี่ปุ่น ระบุถึงช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

รายงานข่าวยังระบุว่า การสิ้นสุดยุครัชศกเฮเซที่ใกล้จะมาถึงยังเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจประหารชีวิต 13 สมาชิกกลุ่มโอมชินริเกียว ที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยก๊าซพิษซารินในระบบรถไฟฟ้าใต้ดินญี่ปุ่นเมื่อปี 1995 ด้วย

 

สําหรับชื่อของรัชศกใหม่นั้น แน่นอนว่าตามธรรมเนียมแล้วจะยังไม่มีการประกาศมาก่อนการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะอย่างแน่นอน และจะดูเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะควรด้วยหากจะพูดถึง หรือคาดคะเนถึงชื่อของรัชศกใหม่ ที่จะมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทำงานในเรื่องนี้อยู่อย่างเงียบๆ

ด้านบริษัทผู้ผลิตปฏิทินต่างแสดงความกังวลเช่นกันว่าหากการประกาศชื่อรัชศกเกิดขึ้นหลังการสละราชสมบัติ อาจจะทำให้บริษัทต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก และเรียกร้องให้มีการประกาศชื่อรัชศกอย่างเป็นทางการก่อนเดือนมกราคมที่จะถึงเพื่อให้ผลิตปฏิทินได้ทันจำหน่ายในปี 2562 นี้

อีกผลกระทบหนึ่งสำหรับประเทศญี่ปุ่นในการเปลี่ยนรัชศกใหม่ก็คือภาคไอที ที่เป็นอีกครั้งหลังยุค “วายทูเค” ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น

คาซึโนริ อิชิอิ โฆษกไมโครซอฟท์ประเทศญี่ปุ่นระบุว่า การเปลี่ยนแปลงรัชศกครั้งนี้แตกต่างจากยุควายทูเค หรือยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเฮเซ ในปัจจุบันเนื่องจากข้อมูลต่างๆ นั้นถูกส่งผ่านอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แล้ว

โดยคาดว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบมากนัก

สําหรับการเลือกชื่อรัชศกใหม่ของญี่ปุ่นนั้น ตัวอักษรตัวแรกจะไม่ซ้ำกับ 4 รัชศกก่อนหน้าที่นับย้อนหลังไปตั้งแต่เฮเซ โชวะ ไทโช เรื่อยไปจนถึงเมจิ และเนื่องจากแต่ละชื่อนั้นถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ชื่ออื่นๆ ที่เคยเสนอแล้วไม่ได้รับเลือกก็จะไม่ถูกนำมาพิจารณาอีกเช่นกัน

สำหรับการเลือกชื่อรัชศกเฮเซในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในปี 1988 โดยชื่อที่ได้รับการเสนอมีทั้งหมด 3 ตัวเลือก และเมื่อองค์จักรพรรดิฮิโรฮิโตะสิ้นพระชนม์ในวันที่ 7 มกราคม 1989 คณะผู้เชี่ยวชาญ นักการเมือง และรัฐมนตรีต่างอนุมัติชื่อ “เฮเซ” ซึ่งมีความหมายว่า “การนำมาซึ่งสันติภาพทั้งในและนอกประเทศ” อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า รัฐบาลมีรายชื่อที่เป็นตัวเลือกสำหรับชื่อรัชศกใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทว่าตัวเลือกทั้งหมด รวมถึงกำหนดการที่จะประกาศชื่อรัชศกใหม่นั้นยังคงเป็นปริศนา