บทวิเคราะห์ : 1 ปี ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ชีวิตในกรงขังของชาวโรฮิงญา

ผ่านพ้นไป 1 ปี สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า

ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 หลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีสถานีตำรวจพม่าหลายแห่งในรัฐยะไข่ และสังหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปหลายนาย

และในวันที่ 25 สิงหาคม ทหารพม่าและม็อบชาวพุทธก็เริ่มเดินหน้าจัดการกับชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องหนีภัยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ไปยังประเทศบังกลาเทศ เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว

โดยตัวเลขของชาวโรฮิงญาที่หนีไปบังกลาเทศในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 700,000 คน

และมีอีกหลายพันคนที่ต้องตายลงเพราะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

ชาวโรฮิงญาอพยพจึงได้รวมตัวกันภายในค่ายผู้อพยพบริเวณเทือกเขาที่คูตูปาลองในบังกลาเทศ รำลึกครบรอบ 1 ปีของเหตุรุนแรง พร้อมกับป้ายข้อความว่า “25 สิงหาคม วันแห่งความมืดมิด”

โดยการชุมนุมเต็มไปด้วยความหมองหม่น มีผู้ประท้วงทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ที่ต้องเดินย่ำอยู่บนดินโคลน พร้อมกับร้องตะโกนขอความยุติธรรมให้แก่ชาวโรฮิงญา

และคำถามที่ว่า “เราคือใคร” ก่อนจะมีเสียงตะโกนตอบว่า “โรฮิงญา”

 

อีกมุมหนึ่งของบังกลาเทศ มีกลุ่มผู้ชุมนุมราว 100 คนจากเอ็นจีโอ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนรวมตัวกันในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศมาเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ เดินหน้ากดดันรัฐบาลพม่าให้รับผิดชอบต่อการเข่นฆ่า ข่มขืน และการใช้อาวุธกับชาวโรฮิงญา

ในช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในรัฐยะไข่

รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลพม่า ที่ถือว่าเป็นผู้นำตัวจริงของพม่า ถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติให้รับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งกับชาวโรฮิงญาที่ต้องลี้ภัยสงครามไปอยู่ที่บังกลาเทศ และการเข่นฆ่าผู้คนที่ถูกสหประชาชาติเรียกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาของรัฐบาลพม่า

แต่รัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวตลอด

และยืนยันว่า ในการตอบโต้การโจมตีของกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอารกัน หรือกลุ่มอาร์ซา ทหารพม่าไม่เคยก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

จนนำไปสู่กระบวนการเดินหน้า นำชาวโรฮิงญากลับสู่ประเทศพม่า

มีการตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษายะไข่ ที่นำโดยนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อหาทางยุติเหตุขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมโรฮิงญา และนำไปสู่การจัดตั้งคณะที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อพิจารณาข้อแนะนำของนายโคฟี่ อันนัน ที่นำโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาดังกล่าว

กระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าและบังกลาเทศได้ทำข้อตกลงที่จะเริ่มดำเนินการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศพม่า หากแต่ก็มีเพียงแต่ชาวโรฮิงญาไม่กี่คนที่ได้เดินทางกลับประเทศพม่าไป

และหลายฝ่ายเชื่อว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการจัดฉากเท่านั้น

และจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีชาวโรฮิงญาที่ได้กลับไปยังรัฐยะไข่อีกเลย

 

ขณะที่จำนวนชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ จนถึงขณะนี้มีอย่างน้อย 6,700 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อายุไม่ถึง 5 ขวบถึง 730 คนที่ถูกสังหารในช่วงเดือนแรกๆ ของเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่

มองกลับไปที่ในรัฐยะไข่ ที่ยังมีชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ ไม่ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่บังกลาเทศเหมือนกับชาวโรฮิงญาอีกหลายแสนคน แต่ทนที่จะอยู่ในบ้านของตัวเองในพม่าแทน แม้รู้ดีว่าไม่ปลอดภัย และไม่สะดวกสบาย

เดอะการ์เดียนรายงานเอาไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ยังคงถูกจำกัดเอาไว้ ทั้งด้านสาธารณสุข การทำงาน การศึกษา

และที่สำคัญคือ ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางการพม่าให้ได้รับบัตรประชาชนเหมือนชาวพม่าทั่วไป

แต่จะต้องยื่นเรื่องขอจากรัฐบาลพม่าหากต้องการเดินทางไปไหนมาไหน และต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในทุกๆ วัน

ออง จ่อ โม ผู้นำชาวโรฮิงญา ซึ่งทำงานให้กับกลุ่มเอ็นจีโอ บอกว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของชาวโรฮิงญาในพม่าคือ ไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง ไม่ว่าจะไปชุมชนอื่น ไปตลาด หรือเล่นอยู่ตามกลางแจ้ง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องต้องห้าม “เหมือนอยู่ภายในกรงขังที่ไม่ได้ใฝ่ฝันไว้”

โดยการจำกัดการเดินทางนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว หากแต่เพิ่งเริ่มมีการจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 12 เดือนที่ผ่านมา ที่กำหนดให้ชาวโรฮิงญาห้ามเดินทางเข้าไปในรัฐยะไข่โดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ ที่รัฐบาลพม่าเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่จากยูเอ็นเข้าไปเยี่ยมชมตอนเหนือของรัฐยะไข่ ศูนย์กลางของความรุนแรง ก็พบว่ามีหมู่บ้านหลายแห่งในรัฐยะไข่ที่ถูกเผาไหม้ และมีเพียงผืนดินเปล่าๆ

ออง จ่อ โม บอกด้วยว่า วันครบรอบ 1 ปีของเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ ทำให้เกิดความหวาดกลัวและข่าวลือว่าจะเกิดการปราบปรามใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

หากแต่ตอนนี้ สิ่งที่ออง จ่อ โม ต้องการคือ การให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ มีความปลอดภัย การไม่ปล่อยให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนอ่านออกเขียนได้หรือได้รับการศึกษา ก็เหมือนเทน้ำลงบนความเสี่ยงขนาดใหญ่ที่จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน