จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน “ขุนศึกผงาด”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สถานการณ์ก่อนฮั่นจะล่มสลาย (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งข้าหลวงผู้ตรวจการนี้จะแบ่งเป็นสองสายคือ ข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นกับข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลาง โดยข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลางจะมีฐานะสูงกว่าข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น

จากความเข้าใจข้างต้น โจวหรือมณฑลทั้ง 13 หน่วยในเวลานั้นจึงมีข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น 12 หน่วย และข้าหลวงผู้ตรวจการแผ่นดินส่วนกลางหนึ่งหน่วยซึ่งจะไม่มีการระบุชื่อหน่วยปกครอง (โจว) ที่ตนปกครอง แต่ระบุเป็นชื่อตำแหน่งว่า ข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลางแล้วตามด้วยอาณาบริเวณที่ข้าหลวงผู้นี้ปกครอง

ต่อไปนี้คือชื่อหน่วยปกครองโจวทั้ง 13 หน่วยตามด้วยพื้นที่จริงในปัจจุบัน ดังนี้

(1) โยวโจว อยู่ทางเหนือของเหอเป่ย เหลียวหนิง กับบางส่วนของทางเหนือคาบสมุทรเกาหลี

(2) จี้โจว อยู่ทางใต้ของเหอเป่ย

(3) ปิ้งโจว อยู่ตรงส่วนใหญ่ของซันซีกับทางเหนือของสั่นซี

(4) เหลียงโจว อยู่บริเวณกันซู่กับหนิงเซี่ย

(5) ชิงโจว อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซันตง

(6) เอี่ยนโจว อยู่ทางตะวันตกของซันตงกับตะวันออกเฉียงเหนือของเหอหนัน

(7) อี้ว์โจว อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเหอหนันกับทางเหนือของแม่น้ำหยังจื่อในอันฮุย

(8) สีว์โจว อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของซันตงกับทางเหนือของแม่น้ำหยังจื่อในเจียงซู

(9) หยังโจว อยู่ทางใต้ของแม่น้ำหยังจื่อที่ไหลผ่านเจียงซู อันฮุย กับบางส่วนของเจียงซี เจ้อเจียง และฝูเจี้ยน

(10) จิงโจว อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเหอหนันกับบางส่วนของหูหนันและหูเป่ย

(11) อี้โจว อยู่ทางใต้ของสั่นซีกับบางส่วนของซื่อชวนและอวิ๋นหนัน

(12) เจียวโจว อยู่บริเวณกว่างตง กว่างซี และเวียดนาม

(13) เขตอำนาจของข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลาง มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเหอหนัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซันซี และภาคกลางของสั่นซี

โจวหรือมณฑลทั้ง 13 หน่วยนี้เป็นหน่วยปกครองที่จะปรากฏชื่ออยู่เสมอ ด้วยเป็นพื้นที่ที่ผู้ปกครองคือผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีบทบาทที่โดดเด่นขึ้นมา

 

เมื่อเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยปกครองที่เรียกว่าโจวนี้แล้ว เรื่องราวที่จะได้กล่าวต่อไปจะขอย้อนกลับไปที่เหตุการณ์การยึดอำนาจของต่งจว๋ออีกครั้งหนึ่ง ที่ว่าเมื่อต่งจว๋อยึดอำนาจจากราชวงศ์ฮั่นจนสร้างความไม่พอใจให้แก่ขุนนางโดยทั่วแล้ว ในที่สุดเหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่การแบ่งกลุ่มทางการเมืองออกเป็นกลุ่มต่างๆ ที่ต่างก็มุ่งจะกำจัดต่งจว๋อให้ได้

เดิมทีต่งจว๋อมาจากเมืองหลินเถาที่ปัจจุบันคืออำเภอหมิน (หมินเสี้ยน) ในมณฑลกันซู่ เมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณชายแดนที่ติดกับถิ่นฐานของชนชาติเชียงแห่งทังกุต (Tangut Qiang)

นับแต่เป็นขุนนางเรื่อยมาก็มีความก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ จนในระหว่าง ค.ศ.184-189 เขาสามารถปราบกบฏเหลียงโจวที่ก่อโดยชนชาติเชียงและหูได้สำเร็จ ทำให้เขาควบคุมพื้นที่ทางภาคเหนือของจีนเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างยิ่ง

แต่ด้วยผลงานครั้งนี้ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงผู้ตรวจการปิ้งโจว และด้วยเหตุที่ปิ้งโจวติดกับเหลียงโจวหรือซีเหลียง อำนาจของต่งจว๋อจึงกว้างไกลยิ่งขึ้น โดยตอนที่มีการกำจัดพวกสิบจางวางนั้น ต่งจว๋อกำลังเป็นข้าหลวงผู้ตรวจการปิ้งโจวอยู่ก่อนแล้ว

 

ต่งจว๋อเป็นคนที่มีพฤติกรรมหยาบกระด้างและอำมหิตผิดมนุษย์ ที่เป็นเช่นนี้มีที่มาจากภูมิหลังของเขาที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับชนชาติเชียงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เขาชื่นชอบขี่ม้ากับยิงธนูเยี่ยงอัศวิน และมีเพื่อนสนิทที่เป็นชนชาติเชียงที่กล้าหาญชาญชัยอยู่ไม่น้อย

พอเป็นหนุ่มจึงกลับไปยังบ้านเกิดแล้วทำการเกษตร อาชีพนี้ทำให้เขามีความสามารถในการใช้ของมีคม ในประวัติที่คลุมเครือของเขาเคยอ้างคำพูดของเขาว่า “จะฟันกษัตริย์ดุจตัดต้นไม้” ภูมิหลังนี้จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า ที่เขามีพฤติกรรมโหดร้ายอำมหิตนั้น บางทีอาจมาจากประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กจนโตก็ได้

หลังจากยึดอำนาจแล้ว ต่งจว๋อก็ทำการยักยอกสมบัติจากคลังหลวงมาเป็นของตน และก็ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้จีนเป็นจักรวรรดิส่วนตัว ส่วนเสนามาตย์ที่ไม่พอใจต่งจว๋อคือเสนามาตย์ที่อยู่ตามมณฑลหรือโจวและเมืองใหญ่น้อยต่างๆ แต่บุคคลที่เป็นที่คาดหวังจากเสนามาตย์ให้มากอบกู้สถานการณ์ในเวลานั้นก็คือ หยวนเส้า

หยวนเส้า (มรณะ ค.ศ.202) ถือเป็นขุนศึกที่โดดเด่นคนหนึ่งในช่วงปลายฮั่นสมัยหลัง มีบรรพชนเป็นตระกูลผู้ดีที่ครองตำแหน่งขุนนางส่วนกลางมาหลายชั่วคน ส่วนตัวเขาเคยเป็นข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลาง

แต่หลังจากที่ต่งจว๋อยึดอำนาจ หยวนเส้าได้หนีไปตั้งมั่นที่จี้โจว จากนั้นก็รวบรวมทัพพันธมิตรจากโจวและเมืองใหญ่น้อยต่างๆ รวม 18 หน่วยเพื่อโค่นล้มต่งจว๋อ

ปฏิบัติการนี้เริ่มใน ค.ศ.189 และกดดันต่งจว๋อจนต้องเผาทิ้งเมืองลว่อหยังหนีไปตั้งมั่นยังเมืองฉังอันใน ค.ศ.190 โดยมีฮั่นเสี้ยนตี้ถูกควบคุมไปด้วย

ที่ฉังอันต่งจว๋อยังคงทำตนเป็นทรราช ศัตรูของเขาจึงเพิ่มมากขึ้น เวลาออกนอกสถานที่จึงมีทหารคอยคุ้มกันมากมาย โดยมีนายทหารคนสนิทและเป็นบุตรบุญธรรมของเขาชื่อ หลี่ว์ปู้ (มรณะ ค.ศ.198) คอยอยู่เคียงข้างตลอดเวลา

จากพฤติกรรมทรราชดังกล่าวของต่งจว๋อ ทำให้เสนามาตย์กลุ่มหนึ่งร่วมกันวางแผนฆ่าเขาโดยยืมมือหลี่ว์ปู้ ด้วยว่าหลี่ว์ปู้ได้เกิดความขัดแย้งกับต่งจว๋อในเรื่องชู้สาว แผนฆ่าต่งจว๋อมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.192 ขณะที่ต่งจว๋อกำลังโดยสารรถม้าไปราชการ ระหว่างทางเขาจึงถูกหลี่ว์ปู้ฆ่าตายตามแผนที่วางเอาไว้

เมื่อสิ้นต่งจว๋อก็สิ้นศูนย์กลางอำนาจ กลุ่มอำนาจต่างๆ จึงมีอิสระมากขึ้น แต่ละกลุ่มต่างคิดตั้งตนเป็นศูนย์กลางขึ้นมาแทน จากเหตุนี้ ความขัดแย้งจึงยังไม่สิ้นสุด ซ้ำร้ายยังหนักลงกว่าเดิม เพราะคราวนี้ความขัดแย้งได้กระจายไปยังขุนศึกกลุ่มต่างๆ ที่ต่างก็ผงาดขึ้นเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่

 

การผงาดขึ้นของเหล่าขุนศึก

ขุนศึกที่ตั้งตนเป็นใหญ่ในเวลานั้นมีอยู่หลายคน แต่ที่โดดเด่นอย่างมากมีอยู่สองคน คนหนึ่งคือ หยวนเส้า อีกคนหนึ่งคือ เฉาเชา

คนแรกที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ เฉาเชา ซึ่งไม่เพียงแข็งขันในกำจัดต่งจว๋อเท่านั้น แต่ยังแข็งขันในการปราบกบฏอีกด้วย อย่างหลังนี้เขาทำได้สำเร็จที่เอี่ยนโจวกับชิงโจว และทำให้เขาได้กำลังของกบฏที่ยอมจำนนมาเข้าด้วยสามแสนนาย โดยเรียกกองกำลังของเขาว่า “กองกำลังชิงโจว”

จากนั้นก็ปกครองมณฑลทั้งสองนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางการเกษตรได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ จนทำให้ราษฎรหายอดอยาก และมีเสบียงสะสมสำหรับกองทัพได้อย่างเพียงพออีกด้วย

หลังจากสิ้นต่งจว๋อไปแล้ว ฉังอันก็หาความสงบไม่ได้ ด้วยเสนามาตย์ในเมืองนี้ต่างแย่งชิงกันไปเป็นใหญ่ จนใน ค.ศ.195 ความยุ่งยากในฉังอันก็ผลักดันให้ฮั่นเสี้ยนตี้ทรงอพยพกลับมาที่ลว่อหยัง ซึ่งเหลือแต่ซากปรักหักพังจากการเผาของต่งจว๋อ

การกลับมาที่ลว่อหยังของฮั่นเสี้ยนตี้จึงมิได้ราบรื่น

 

ฝ่ายเฉาเชาซึ่งมีกำลังกล้าแข็งขึ้นแล้วจึงยกกำลังไปช่วยฮั่นเสี้ยนตี้ ถึงตอนนี้ฮั่นเสี้ยนตี้จึงตกอยู่ในการ “ควบคุม” ของเฉาเชาไปโดยปริยาย นับแต่นั้นมา เฉาเชาที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นและไม่พอใจการใช้อำนาจของต่งจว๋อ ก็กลับมีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกับต่งจว๋อ

เฉาเชาได้นำฮั่นเสี้ยนตี้มาพำนักที่อำเภอสี่ว์ (สี่ว์เซี่ยน) ที่ปัจจุบันคือสี่ว์ชังในมณฑลเหอหนันเมื่อ ค.ศ.196 จากนั้นก็ให้เมืองนี้เป็นเมืองหลวง เช่นนี้แล้วฮั่นเสี้ยนตี้จึงได้แต่ปฏิบัติทุกอย่างตามที่เฉาเชาประสงค์ จนเฉาเชาสามารถรวบอำนาจต่างๆ มาไว้ในมือ แล้วใช้มันในนามจักรพรรดิแทบจะสมบูรณ์

แม้เฉาเชาจะมิได้ทำตนเยี่ยงทรราชดังต่งจว๋อก็จริง แต่การใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของเขาก็ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่เสนามาตย์ ความพยายามกำจัดเฉาเชาจึงเกิดขึ้น และหนึ่งในผู้ไม่พอใจเฉาเชาก็คือ หยวนเส้า ในขณะที่เฉาเชาเองก็ตระหนักดีว่าหยวนเส้ามีความแข็งแกร่งมากกว่าตน

เฉาเชาจึงใช้เวลาช่วงต้นของอำนาจเข้าจัดการกับกลุ่มอำนาจอื่นก่อน