จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (7) : อิสลามในพม่า

จรัญ มะลูลีม

เมียนมา ที่รู้จักกันในชื่อเดิมพม่าหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเวลาเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคนี้โดยมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 24 ของโลกคือ 54 ล้านคน

เมียนมาเป็นประเทศพหุสังคมโดยมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศร่วมกัน แต่ชาติพันธุ์ของคนส่วนใหญ่คือเมียนมา (Myanmar) โดยรู้จักกันในชื่อเดิมว่าพม่าหรือบาร์มัน (Barman) ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

ประชากรมุสลิมในพม่ามีอยู่ร้อยละ 4 จากประชากรในประเทศทั้งหมด 54 ล้านคน

เช่นเดียวกับหลายๆ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อิสลามมาถึงพม่าจากหลายเส้นทาง นักเดินเรือมุสลิมมาถึงก่อนโดยทำการค้าขายและตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายฝั่งของยะไข่ (Rakine) และพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงมา เมื่อศตวรรษที่ 9 ในขณะที่ชาวเปอร์เซีย (Persian) หรืออิหร่านได้มาถึงเมียนมาและยูนนาน (Yunnan) มาตั้งแต่ ค.ศ.860

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานดังกล่าวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในพม่า ต่อมาพ่อค้าชาวมุสลิมก็มาถึงชายฝั่งอาระกัน (Arakan coast)

หลักฐานที่เป็นสมัยใหม่กว่ายืนยันว่าพ่อค้าชาวอินเดียและมาเลย์เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามที่มีประสิทธิภาพ ส่วนพ่อค้าจากยูนนานของจีนได้มาตั้งรกรากอยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่าในศตวรรษที่ 19

รัฐมุสลิมได้ถูกสถาปนาขึ้นที่อาระกันเมื่อสุลต่านแห่งเบงกอล นาซีรุดดีน มะห์มูด ชาฮ์ (Naseer-ud-Deen Mahmud Shah 1442-1459) ช่วยให้กษัตริย์ สุลัยมาน นาราอิษลา (Sulayman Naraithla) สร้างรัฐมุสลิมมราอูกู (Mrauku) ขึ้นมาที่นั่น

การปกครองโดยชาวมุสลิมที่มีมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษในอาระกันได้ขยายไปไกลถึงตอนใต้อย่างเมืองโมลเมียน (Moulmein) ในสมัยการปกครองของสุลต่าน ในเวลานั้นภาษาเปอร์เซีย (Persain) เป็นภาษาของชาวมุสลิมอาระกัน

ในปี 1784 พม่าได้เข้าพิชิตรัฐมุสลิม ตามมาด้วยการเข้าพิชิตของอังกฤษในระหว่างปี 1824 และ 1826 เมื่อพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 อาระกันจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า

ชาวมุสลิมที่มาถึงเมียนมาเป็นคนแรกคือ ซัยยิด มุฮัมมัด อัล-หะนาฟียะฮ์ (Sayed Muhammad al-Hanafiyah) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุตรชายของ เคาะลีฟะฮ์ อะลี (Ciliph Ali)

มุฮัมมัด อัล-หะนาฟียะฮ์ เข้ามาถึงทางตอนเหนือของมาอุงดาลซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่พร้อมกับสานุศิษย์ และที่นั่น มุฮัมมัดอัล-หะนาฟียะฮ์ เผชิญหน้ากับราชินีกะยา ปารี (Kaya Pari)

เมื่อราชินีต้องมาพ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้ลูกศิษย์ของพระองค์จึงเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม และ มุฮัมมัด อัล-หะนาฟียะฮ์ ก็ได้เข้าพิธีสมรสกับตัวของราชินีเอง อย่างไรก็ตาม การมาถึงพม่าของ อัล-หะนาฟียะฮ์ ไม่ได้มีหลักฐานที่ได้รับการเขียนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกเช่นกัน

แต่หลุมศพของ ซัยยิด มุฮัมมัด อัล-หะนาฟียะฮ์ กับพระชายายังคงอยู่บนเทือกเขามายู (Mayu Hills) ใกล้กับพื้นที่ของมาอุงดาล

หลังจากพม่าตกมาอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษจากศตวรรษที่ 19 จนถึงปี 1937 ชะตากรรมของชาวมุสลิมพม่าได้รับการพัฒนาขึ้นมาในระดับหนึ่ง

การลงนามในสัญญาเบาริ่ง (Bowring Treaty) เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำเอาเศรษฐกิจการตลาดมาใช้และส่งเสริมให้มีการเข้ามาของชาวคริสเตียนยังดินแดนที่เป็นภูมิทัศน์ของชาวพุทธ

สัญญาเบาริ่งยังเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมจำนวนมากที่อยู่ติดกับเมียนมา อย่างเช่น ชาวมุสลิมในจีน อินเดีย บังกลาเทศ เดินทางเข้ามายังพม่าภายใต้นโยบายเปิดประตูของอังกฤษให้กับผู้ย้ายถิ่น (British”s open door immigration policy)

จากนโยบายดังกล่าวในท้ายที่สุดชาวมุสลิมที่เป็นเพื่อนบ้านของเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมจากอินเดียจึงได้เดินทางเข้าสู่พม่าเป็นจำนวนมาก พวกเขาบางคนได้กลายมาเป็นข้าราชการ ในขณะที่คนอีกจำนวนมากเลือกที่จะเป็นพ่อค้าและแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมที่มาจากบังกลาเทศได้กลายมาเป็นที่สนใจของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948

เมื่ออังกฤษถอนตัวออกไปจากเมียนมาอันเนื่องมาจากการเข้ายึดครองของญี่ปุ่นนั้น เชื่อกันว่าชาวมุสลิมเกือบ 1 แสนคนซึ่งเป็นชาวโรฮิงญาได้ถูกสังหารโดยฝีมือของคนเมียนมาที่เลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา

ในสถานะที่ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยในเมียนมาและเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมกับอังกฤษทำสงครามกับเมียนมา ทำให้ชาวโรฮิงญาได้รับการเลือกปฏิบัติจากชาวเมียนมามาอย่างยาวนานติดต่อกัน

แต่สำหรับชาวบังกลาเทศมุสลิมแล้วการที่พวกเขาจะกลมกลืนเข้าไปอยู่ร่วมกับชาวยะไข่ (อาระกันเดิม) นั้นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากยะไข่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนของบังกลาเทศ นอกจากนี้ อาระกันในระหว่างศตวรรษที่ 18 ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ชาวพุทธนั้นดูเหมือนจะได้รับการต้อนรับจากชาวบังกลาเทศมากกว่า ดังนั้น เมื่อเมียนมาได้รับเอกราชชาวเบงกาลีมุสลิมจึงประกอบขึ้นเป็นชาวมุสลิมกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา

ปัจจุบันชาวมุสลิมในเมียนมามีทัศนคติแตกต่างกันในความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐและมวลชนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ บางคนก็กลมกลืนเข้ากับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ในขณะที่คนอื่นๆ ยังคงผูกพันอยู่กับอัตลักษณ์เมียนมา-มุสลิม แต่ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมแห่งแผ่นดินแม่ของตนที่มาจากอนุทวีปอินเดียเอาไว้

ในบรรดากลุ่มก้อนของชาวมุสลิมต่างๆ ในพม่าเหล่านี้ ชาวโรฮิงญาในยะไข่เป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตมากกว่ากลุ่มชนใดๆ และไม่ได้รับการนับเนื่องให้เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด