4 เดือนครึ่ง กับย่างก้าว “ธนาธร” อนาคตใหม่ ตั้งคณะทำงานครบ 77 จังหวัด “เราเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์”

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หรือเอก สำหรับใครหลายคน ต่างนึกถึงนักธุรกิจหนุ่มที่น่าจับตาในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยด้วยการนำบริษัทไทยซัมมิทไปสู่การเติบโตด้วยผลประกอบการสูงถึงหมื่นล้านบาท และโรงงานที่ขยายตัวไม่ว่าญี่ปุ่น อินเดีย หรือเมืองเล็กๆ ในมลรัฐเคนทักกีของสหรัฐ ทำให้มีคนมองว่า ธนาธรยังบริหารธุรกิจต่อไป ไทยซัมมิทจะสามารถไปได้ไกลกว่านี้

แต่มา ณ วันนี้ 5 เดือนหลังออกมาเปิดเผยกับบีบีซีไทยด้วยการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตคือการลงสนามการเมืองไทย พร้อมกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตนักวิชาการนิติศาสตร์จากรั้วธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาชิกหลายร้อยคน ร่วมจดทะเบียนชื่อพรรค “อนาคตใหม่” ในเดือนมีนาคม และ กกต.รับรองจนสามารถจัดประชุมพรรคครั้งแรกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

การเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทั้งในแง่ชื่นชมและว่าร้าย โดยเฉพาะกับนายธนาธรที่ชูแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฟื้นคืนประชาธิปไตยและลบล้างผลพวงการรัฐประหาร นั่นเท่ากับแสดงจุดยืนตรงข้ามกับฝ่ายจารีตนิยมหรือแม้แต่ คสช.

การก้าวมาถึงจุดนี้ของอดีตนักธุรกิจหมื่นล้านวัย 40 ล้วนมีเบื้องหลัง และด้วยบทบาทใหม่นี้ ได้มีพัฒนาการไปมากแค่ไหน?

 

: ‘พรรคอนาคตใหม่’ ในความคิด กับ รูปธรรมปัจจุบัน

นายธนาธรกล่าวว่า แม้แต่จินตนาการที่ดีสุดที่มี  ไม่คิดว่าจะมาไกลได้ขนาดนี้  เพียงเวลา 4 เดือนครึ่ง เรามีคณะทำงานระดับจังหวัดครบ 77 จังหวัด ถ้าเทียบเชิงคณิตศาสตร์ เราใช้เวลา 2 วันตั้งคณะระดับจังหวัดได้ 1 จังหวัด เป็นทีมผู้สนับสนุนที่จะไปเผยแพร่แนวคิด อุดมการณ์พรรค ขยายการทำงานไปแต่ละจังหวัด ต้องบอกว่า เกินความคาดหวังไว้มาก

“ผมไปหลายที่ มีแต่คนฝากความหวัง ประโยคที่มักได้ยินเวลาลงพื้นที่ “เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนเอือมระอาเต็มทีกับสภาวะปัจจุบันและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย”

 

: ความท้าทายและอุปสรรคของ “อนาคตใหม่”

นายธนาธรกล่าวว่า สิ่งที่เราเจอ ต้องย้อนกลับไปในการทำพรรคการเมือง เราพยายามเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมมากที่สุด ทีมทำงานในแต่ละจังหวัดล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งหมด เรากำลังทำการเมืองแบบใหม่ที่ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่คนเข้ามาร่วมเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง มีความฝันแบบเดียวกัน ต้องการเห็นสังคมแบบเดียวกันในอนาคต ทำงานการเมืองเชื่อมโยงกันระหว่างพรรคกับสมาชิกด้วยอุดมการณ์ นั้นทำให้รู้สึกได้ถึงพลัง ความคิดสร้างสรรค์ อย่างจังหวัดหนึ่งไปจัดงาน “ราตรีสีส้ม” เข้าร่วมหลายร้อยคน มันเกิดความคิดสร้างสรรค์มากมาย

“ความท้าทายของเราคือ เนื่องด้วยทุกคนเป็นอาสาสมัคร ทำยังไงที่สามารถรักษาคนที่อยากร่วมงาน มีคนอยากเข้าร่วมมากแต่สร้างพื้นที่ให้ไม่ทัน ไม่ว่าด้านนโยบายหรือยุทธศาสตร์การเมือง ทุกคนอยากช่วยแต่มีพื้นที่ให้ไม่ทัน สิ่งที่เราต้องทำในแต่ละวันคือดู คนไหนจะเข้าร่วมกลุ่มไหน สร้างพื้นที่ใหม่ได้ยังไง พอเราไม่ตอบสนองคนที่เข้ามา เราก็กลัวเขาน้อยใจแล้วเดินออกไป”

 

: ชีวิต 3 มุม ‘นักกิจกรรม-ผู้บริหารไทยซัมมิท-นักการเมืองหน้าใหม่

นายธนาธรกล่าวว่า ตอนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) เรามีจิตใจรักความเป็นธรรมแต่เราไม่เข้าใจ เราเติบโตเป็นคนเมือง ไม่เคยเห็นชนบท จะมาเห็นก็ตอนเข้าค่ายอาสาพัฒนา พอลงพื้นที่จึงเข้าใจความลำบากของชาวบ้านว่าหนักหนาสาหัสขนาดไหน และเป็นจุดเริ่มต้นที่รับรู้ความอยุติธรรมในสังคมไทย และอยากร่วมผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน แต่การเรียนรู้ในตอนนั้น มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณมากกว่า แม้ความรู้เราอาจไม่ได้ลึกมาก แต่ก็ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณขึ้นมาลงรากเป็นแก่นของชีวิต

ในโลกธุรกิจกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ถือว่าโชคดีมากที่ตัดสินใจถูก วันที่เพื่อนรู้ข่าวว่าคุณพ่อเสียแล้ว (พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ) ผมนั่งคุยกับเพื่อนถามว่าจะเอายังไงดี โลกธุรกิจไม่ใช่ที่ๆเราอยากไป ไม่เคยคิดว่าจะต้องเข้าไปทำงานธุรกิจ เพราะตอนอยู่มหาวิทยาลัย มักต่อต้านกลุ่มทุนตลอดแล้วต้องไปเป็นกลุ่มทุนเอง  แต่เพื่อนกลับบอกว่า บ้ารึเปล่า! นาย(ธนาธร)ต้องไปอยู่ตรงโน้น เพราะเป็นที่ๆไม่มีใครจะได้ไปอยู่ ในกลุ่มเพื่อนใครเป็นอาจารย์หรือทำเอ็นจีโอได้ แต่ไม่มีใครที่จะไปอยู่ตรงนั้นได้ และเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ได้เรียนรู้หลายอย่างในการบริหารองค์กร การสื่อสาร การพบปะเจรจาผู้คน  ถ้าไม่เลือกเส้นทางนี้จะไม่มีทางมองโลกาภิวัฒน์ได้มากเท่าวันนี้

แล้วเรียนรู้อะไรจาก 4 เดือนในการทำการเมือง ถือว่ายังไม่ถึงตรงนั้นดีนัก เพราะยังไม่ได้เข้าสภา พูดตรงๆคือยังไม่เคยเจอคำถามที่สำคัญ หรือเรื่องที่ทำให้ตัดสินใจครั้งสำคัญ

“ทุกวันนี้ ความท้าทายที่อยู่ตรงหน้า คือทำยังไงที่จะสร้างพรรคให้แข็งแกร่งยั่งยืน การทำงานการเมืองที่บางครั้งมืออาจต้องเปรอะเปื้อนบ้างหรือตัดสินใจที่อาจทำลายความรู้สึกของสมาชิกพรรค ถึงตรงนี้ยังไม่เจอ แต่ตอนนี้ การสร้างพรรคถือเป็นโจทย์ใหญ่”

 

: ชู “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เป็นธงหลัก

นายธนาธรกล่าวว่า เนื้อหาและที่มาของ รธน.2560 ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เราจะปล่อยให้รัฐธรรมนูญนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อเนื้อหาใจความสำคัญคือ สืบทอดอำนาจของ คสช.กักขังไม่ให้ประเทศเดินไปสู่อนาคต เป็นรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเหมือน “กรงขังประเทศไทย” ยึดประเทศให้ติดกับปัจจุบันอันล้าสมัย จะปล่อยให้ดำรงอยู่ไปได้อย่างไร

“ถ้าอยากได้สังคมที่ก้าวหน้า เลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องพูดถึง รธน.60 เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผมพูดถูกหรือไม่ แต่ไม่ว่าใครได้เป็นรัฐบาลภายใต้ รธน.60 จะไม่มีทางบริหารประเทศใด สมดุลไม่มี อำนาจบริหารมีน้อย กลับกันอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการ บวกกับองค์กรอิสระที่ใหญ่มาก ไม่เหลือให้ฝ่ายบริหารเลย”

 

: การลงพื้นที่และเสียงตอบรับ

นายธนาธรกล่าวว่า พรรคได้ลงพื้นที่แล้ว 40 จังหวัด แต่ก็อยากทำงานเร็วกว่านี้  ทำงานวันละ 12-14 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ จนเป็นเรื่องปกติ เสาร์-อาทิตย์-จันทร์ลงพื้นที่ต่างจังหวัด อังคารถึงศุกร์พบสื่อกับผู้สนับสนุนในกรุงเทพฯ การลงพื้นที่เน้นลงในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นกลุ่มจังหวัด แต่การลงพื้นที่เป็นเรื่องสนุกมากเพราะชอบ ได้พบปะประชาชนโดยเฉพาะผู้ได้รับความเดือดร้อน เวลาลงจะพบกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ เช่น ชลประทานหรือข้าวในอีสาน, กลุ่มชาติพันธุ์หรือปัญหาป่าทับที่ดินในภาคเหนือ รวมถึงปัญหาแย่งชิงทรัพยากรชายฝั่งในภาคใต้ หรือแม้แต่พบกับคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา อบต. อบจ.และนักธุรกิจท้องถิ่น

“เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ฉลาดขึ้นเยอะ เพราะไปดูหน้างานว่าปัญหามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ไปฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรง ซึ่ง 70-80%เป็นปัญหาที่รู้อยู่แล้ว มีงานศึกษาแล้ว แม้พออ่านก็เข้าใจ แต่นั้นยังไม่เข้าใจมากเท่ากับการคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีทางเข้าใจถ้าไม่ลงไปเห็นกับตา”

 

: ‘ความท้าทาย’ ที่ยังอยากทำ

นายธนาธรกล่าวว่า มีเยอะแยะ ถ้าครอบครัว อยากจะเลี้ยงลูกให้เติบโตมีจิตใจอ่อนโยน รักเพื่อนมนุษย์ รักความยุติธรรม ส่วนการใช้ชีวิต ยังมีหนังสือหลายเล่มที่อยากอ่าน  มีสถานที่หลายแห่งที่อยากไป มีภูเขาหลายลูกที่อยากปีน แม่น้ำหลายสายที่อยากพิชิต แต่ว่า เวลาหายไปกับการทำพรรคการเมือง เหมือนเวลาถูกสูบไป แทบไม่มีเวลาส่วนตัว

“เวลา กลายเป็นความหรูหราที่เราไม่มี”

 

: ‘ประชาธิปไตย’ ไม่เหมาะกับสังคมไทย?

นายธนาธรกล่าวว่า ประการแรก ประชาธิปไตยไม่เคยได้งอกเงยในสังคมไทย แค่ รธน.40 การเลือกตั้งภายใต้ รธน.40 อยู่เพียง 5 ปี (2544-2549)ที่เรามีทั้ง ส.ส.และส.ว.จากการเลือกตั้ง แล้วประชาธิปไตยก็ถูกตัดตอน ไม่เคยได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ในสังคมไทย การที่พูดว่าไม่เหมาะกับสังคมไทย อยากบอกว่า ลองดูสิ ปล่อยให้งอกงาม  ประการที่สอง ต้องกลับไปดูว่า คนที่พูดแบบนี้ทุกคน ล้วนเป็นที่ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างอยุติธรรม คนที่เริ่มพูดแบบนี้ เป็นชนชั้นนำทั้งนั้น ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ฉุดรั้งสังคมไว้ให้อยู่กับที่

“ต้องเข้าใจว่า วาทกรรมในสังคมล้วนมีที่มาที่ไป การผลักดันสังคมไปข้างหน้า การใช้ทรัพยากรในประเทศไทยให้ประโยชน์ตกกับคนส่วนใหญ่ ล้วนมีคนเสียประโยชน์ วิธีที่ดีที่สุด คือ สร้างนิทานหลอกลวงประชาชน ว่าคนไทยโง่หรือไม่พร้อมกับประชาธิปไตย หรือคนเท่ากัน ไม่เหมาะกับสังคมไทย คนที่พูดอะไรแบบนี้ เป็นกลุ่มเล็กนิดเดียวที่ได้ผลประโยชน์มหาศาล”

 

: การเมืองเหลือง-แดง สู่แนวคิดหยุดวงจรรัฐประหาร

นายธนาธรกล่าวเมื่อถูกถามภาพที่ร่วมเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 สี่แยกคอกวัวและได้รับบาดเจ็บว่า ก่อนปี 2549 เคยไปร่วมชุมนุมกับม็อบ พธม.(กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ของสนธิ ลิ้มทองกุลบ่อยมาก ตั้งแต่ธรรมศาสตร์ สวนลุมพินีจนถึงสนามหลวงก็ไปร่วมตลอด เพราะเป็นองค์กรเดียวในตอนนั้นที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  คุณอา (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ยังพูดถึงตอนนั้นอยู่เรื่องไปวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณ จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่เห็นว่ามีความพยายามจะนำระบอบการปกครองแบบจารีตเข้ามาใช้ ซึ่งขัดต่ออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ผมก็เดินออกมา แล้วไม่ได้เข้าร่วมกับคนเสื้อแดงจนปี 52 ที่เริ่มเห็นความสำคัญและเห็นอกเห็นใจ จนปี 2553 ช่วงในการล้อมปราบที่สี่แยกคอกวัว บังเอิญเราอยู่ตรงนั้นด้วย

เมื่อถามถึงรอยแผลกระสุนยางตรงแขน นายธนากรกล่าวว่า  ยังอยู่และรู้สึกอยู่จนถึงวันนี้ ไม่ใช่แผลทางกาย แต่เป็นห้วงคำนึง รอยแผลที่อยู่ในใจมากกว่า

อีกทั้งเมื่อถามถึงแนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย นายธนาธรกล่าวว่า ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ลองนึกถึงสังคมที่ทรงผมเหมือนกัน แต่งตัว กินอาหารเหมือนกันหรือคิดเหมือนกัน นึกสังคมแบบนี้ออกไหม ผมนึกไม่ออก สังคมที่ไม่มีความหลากหลายจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้ยังไง เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากความแตกต่าง มี Thesis (สิ่งที่มีอยู่เดิม) Antithesis (สิ่งตรงกันข้าม) และ Synthesis (ผลสรุป) (หลักวิเคราะห์แบบวิภาษวิธี) คือต้องมีความหลากหลาย สังคมที่เหมือนกันหมดกลับไม่มีพลัง ไม่ได้บอกกให้คนคิด มีพื้นที่ให้กับคนแตกต่าง สังคมไปข้างหน้าไม่ใช่เพราะคิดเหมือนกัน แต่เพราะคิดแตกต่างกันซึ่งเป็นเรื่องปกติและสวยงาม ดังนั้นอย่าไปเชื่อเรื่องความแตกต่างหรือความขัดแย้งจะนำไปสู่ความวุ่นวาย อย่าให้คสช.ผูกขาดความวุ่นวาย จะวุ่นหรือสงบได้  ผูกขาดไว้เฉพาะ คสช.เท่านั้นหรือ ไม่จริง อย่าให้เขาผูกขาดความสงบสุขในประเทศไทย ที่เป็นอยู่นี่ไม่ใช่ความสงบสุข แต่เป็นการกดขี่ หนำซ้ายังอ้างการกดขี่เป็นบุญคุณอีก  ควรเอาความคิดที่ถูกต้องกลับคืนมา อย่าไปเชื่อการผูกขาดเรื่องความสงบสุข ความแตกต่างหลากหลายแม้แต่การรณรงค์ความเชื่อทางการเมืองบนท้องถนนเป็นเรื่องปกติสวยงาม เป็นสิทธิของประชาชนที่ทำได้

ปัญหาที่ผ่านมา ที่มีการชุมนุมและนำไปสู่ความรุนแรง ถ้าทำให้ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ถ้าลงโทษคนทำรัฐประหารได้ จะไม่เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นจะไม่มีการชุมนุมที่นำพาประเทศไปสู่ทางตัน คนชุมนุมที่ผ่านมารู้ว่า จบเกมส์หรือจุดสุดท้ายจะนำไปสู่อะไร พวกเขารู้และต้องการผลักดันให้สังคมไปถึงตรงนั้น เพราะรู้ว่าเมื่อไปถึงตรงนั้น ทหารจะออกมา นี่คือการปูทางไปสู่การรัฐประหาร แกนนำทุกคนรู้ รัฐประหาร 2549 และ 2557  คือการวางแผน  ถ้าไม่มีรัฐประหาร ปิดประตูรัฐประหาร การชุมนุมแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีความหมาย เรานำสังคมไปสู่ทางตันไม่ได้

ข้อเสนอของเราก็คือ ทำให้การรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าทำได้ การชุมนุมที่นำไปสู่ทางตันเพื่อเรียกทหารออกมาจะไม่เกิดขึ้น