ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : คนอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดได้ เพราะความสามารถในการควบคุมน้ำ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ข่าวในแวดวงโบราณคดีโลกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คงไม่มีอะไรที่จะน่าตื่นเต้นไปกว่าการค้นพบ “ไดอารี่” ที่เขียนขึ้นบนแผ่นกระดาษปาปิรุส ซึ่งว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะมันถูกเขียนขึ้นเมื่อ 4,600 ปีที่แล้ว ตรงกับรัชสมัยของฟาโรห์คูฟู (Khufu) หรือที่บางที่ก็รู้จักกันในชื่อ ฟาโรห์คีอปส์ (Cheops) ผู้สร้างมหาพีระมิดแห่งเมืองกิซ่า ซึ่งถูกนับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ

แต่ที่สำคัญไปกว่าความเก่าแก่ที่สุดในโลกของเอกสารกระดาษปาปิรุสชุดนี้ก็คือ เรื่องที่มันจดบันทึกไว้ข้างในนั้นต่างหาก

เพราะเอกสารชุดนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงส่วนหนึ่งของการสร้างมหาพีระมิดหลังที่ว่านี้เอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยนะครับ ที่เจ้าพ่อแห่งแวดวงอียิปต์วิทยาอย่าง ซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) นักโบราณคดี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงโบราณคดีของอียิปต์จะเคยออกมากล่าวว่า “นี่เป็นการค้นพบเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 21 ของอียิปต์!”

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะว่า นักโบราณคดีตะหงุดตะหงิดในใจกันมาตั้งนานนับร้อยๆ ปีแล้วว่า คนอียิปต์โบราณสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับพีระมิดพวกนี้ได้ด้วยวิธีไหนกัน?

เพื่อที่จะตอบข้อสงสัยดังกล่าว ทำให้มีการเสนอข้อสันนิษฐาน มีการทดลอง และอีกสารพัด ที่จะพยายามพิสูจน์ว่า คนโบราณเมื่อหลายพันปีก่อน ไปลากเอาหินขนาดมหึมาพวกนี้มาก่อเป็นสุสานขนาดความสูงน้องๆ ตึกใบหยกกันได้อย่างไร?

แต่ข้อสันนิษฐาน ก็เป็นแค่ข้อสันนิษฐาน ในเมื่อมีเอกสารของคนที่ลงมือสร้างพีระมิดเองกับมือระบุไว้เองว่า พวกเขาก่อสร้างพีระมิดพวกนี้กันด้วยวิธีไหน คำตอบที่ได้ก็ไม่ได้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานอีกต่อไป

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ปิแยร์ ตอลเลต์ (Pierre Tallet) ไปสำรวจหากลุ่มถ้ำลึกลับที่ซ่อนอยู่กลางทะเลทรายของดินแดนไอยคุปต์ นักเดินทางชาวอังกฤษคนหนึ่งได้ค้นพบถ้ำกลุ่มนี้ในปี พ.ศ.2366 แล้วได้จดบันทึกไว้ เช่นเดียวกับที่มีนักบินชาวฝรั่งเศสสองคนสังเกตเห็นกลุ่มถ้ำแห่งนี้ นอกจากนี้ก็ไม่มีบันทึกอะไรเกี่ยวกับกลุ่มถ้ำเหล่านี้อีกเลย

ไม่มีรายงานระบุไว้ว่าอะไรมาสะกิดใจให้นายตอลเลต์สนใจในกลุ่มถ้ำพวกนี้ แต่ด้วยเทคโนโลยี GPS ณ ขณะจิตปัจจุบัน ก็ทำให้นายตอลเลต์สำรวจพบกลุ่มถ้ำหินปูน ที่มีลักษณะคล้ายรวงผึ้งจำนวน 30 คูหานี้ ที่บริเวณ วาดี อัล-จาร์ฟ (Wadi al-jarf) ได้ไม่ยาก

และเมื่อสำรวจดูพื้นที่ภายในถ้ำโดยละเอียดแล้วพบว่า ถ้ำเหล่านี้เคยมีการใช้งานโดยมนุษย์ เขาจึงเริ่มลงมือขุดค้นทางโบราณคดี

ขวบปีแรกของการขุดค้นตรงกับปีพุทธศักราช 2554 เขาก็ได้ข้อสรุปคร่าวๆ แล้วว่า กลุ่มถ้ำเหล่านี้เป็นอู่เก็บ “เรือ” ในช่วงราชวงศ์ที่ 4 ของอาณาจักรเก่า เมื่อ 4,600 ปีที่แล้ว

ใช่แล้วครับ “เรือ” คุณไม่ได้อ่านผิด ถึงแม้จะอยู่ในทะเลทราย แต่ ณ ดินแดนแห่งนั้นก็เกิดอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ได้ด้วยการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำสายที่ได้ชื่อว่ายาวที่สุดในโลกอย่าง แม่น้ำ “ไนล์” อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของอียิปต์โบราณ กระจายตัวอยู่ตามสองฟากข้างอันอุดมของแม่น้ำใหญ่ยักษ์สายนี้

ดังนั้น แม่น้ำไนล์คุณูปการต่อมนุษย์ทั้งในแง่ของการอุปโภคบริโภค และการคมนาคม เพราะชุมชนใหญ่น้อยทั้งหลายก็ย่อมอยู่ไม่ห่างจากเส้นทางหลักสายนี้

ดังนั้น ถ้าชาวอียิปต์ไม่รู้จักใช้เรือสิถึงจะเป็นเรื่องที่ประหลาดพิกล

ส่วนพระเอกของงานคือ เจ้าไดอารี่บนแผ่นกระดาษปาปิรุส ถูกค้นพบในการขุดค้นอีกสองปีต่อมา คือใน พ.ศ.2556 ก็มีข้อความที่ระบุถึงการใช้งานเรือที่เก็บอยู่ในอู่เรือแห่งนี้ด้วยเหมือนกัน

เจ้าของไดอารี่ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 4,600 ปีที่แล้วชื่อว่า “มีรร์” (Merer) เล่าเอาไว้ในไดอารี่ฉบับนี้ว่า เขาได้นำผู้คนจำนวน 200 คน ขึ้นเรือไปนำหินปูนที่ใช้ในการก่อสร้างพีระมิดของฟาโรห์คูฟู ที่เมืองตูรา (Tura) ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องหินปูน แถมยังตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ด้วย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรือที่มีรร์ใช้ก็เคยจอดอยู่ในอู่ที่ในถ้ำนั่นแหละครับ

กลุ่มถ้ำที่เคยเป็นอู่ต่อเรือแห่งนี้ ถึงแม้จะตั้งอยู่ห่างจากเมือง ทั้งที่เป็นเมืองโบราณ และเมืองสมัยใหม่ แต่ก็ห่างจากทะเลแดงแค่สองสามไมล์ และแน่นอนว่ามันต้องเคยตั้งอยู่ไม่ห่างจากลำน้ำไนล์นัก กลุ่มถ้ำเหล่านี้จึงถูกนำมาดัดแปลงสภาพเป็นอู่เรือจำเป็น

และก็แน่นอนอีกเหมือนกันด้วยว่า ในบันทึกส่วนตัวฉบับนี้ของมีรร์ก็ระบุให้ทราบด้วยว่า การขนส่งหิน ไปยังพีระมิดที่กำลังก่อสร้างนั้นก็ไปกันทางเรือนี่แหละ

ไม่ใช่ว่าลากตัดผ่านองศาเดือดระอุกลางทะเลทรายอย่างที่เคยเข้าใจกันมา

หนังฮอลลีวู้ด มักจะให้ภาพการสร้างพีระมิดด้วยการใช้แรงงานทาส (โดยเฉพาะทาสต่างชาติภาษาอย่างพวก ยิว) ลากหินก้อนโตๆ ตัดฝ่าทะเลทราย ที่แสนจะทุรกันดาร แต่ไดอารี่ของมีรร์ช่วยยืนยันว่าภาพทั้งหมดนั่น เป็นเพียงการ “มโนหมู่” ที่มีฐานความเข้าใจต่อยอดมาจากตำนานใน บทพระธรรมอพยพ (Exodus) จากพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ในพระคัมภีร์ของชาวคริสต์เท่านั้น (bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์)

ข้อมูลจากการศึกษาทางโบราณคดีเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน กลับตาลปัตรความเข้าใจชุดที่ว่าแบบ 180 องศา มาสักพักใหญ่ๆ แล้วนะครับ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ที่ มาร์ก เลห์เนอร์ (Mark Lehner) นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ได้เริ่มทำการขุดค้นทางโบราณคดีหาชุมชนที่อยู่โดยรอบของพีระมิด ซึ่งก็คือผู้คนที่ทำหน้าที่สร้างพีระมิดเหล่านี้ ซึ่งมักจะถูกมโนกันไปว่าเป็น แรงงานทาสนั่นแหละ

หลังจากการของเลห์เนอร์ที่เริ่มทำการขุดค้นเฟสแรกไปตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2542 สิ่งที่เขาค้นพบไม่ใช่ชุมชนทาสอย่างที่มักจะเชื่อกันผิดๆ

แต่กลับเป็นกลุ่มแรงงานที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ (ซึ่งเลห์เนอร์ประมาณไว้ว่ามีราวๆ 20,000 ชีวิต) และแรงงานทุกคนได้รับการจัดสรรค่าแรงเป็นอาหารสำหรับการยังชีพเป็นอย่างดี (แน่นอนว่าลำดับชั้นของแรงงานเหล่านี้ย่อมผกผันกับค่าแรงของพวกเขาด้วย)

ไดอารี่ของมีรร์ ที่นายตอลเลต์ขุดพบนั้นก็ยิ่งสนับสนุนข้อเสนอของเลห์เนอร์ เพราะเส้นทางน้ำที่ใช้สำหรับลำเลียงหินนั้น ก็เป็นเส้นทางเดียวกันกับที่ลำเลียงเสบียงกรัง และอาหาร มาจากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์อันอุดมสมบูรณ์ ที่อยู่ทางตอนเหนือของอียิปต์ (แต่เรียกกันในศัพท์โบราณของพวกอียิปต์ว่า ดินแดนทางตอนล่างของลำน้ำไนล์ เพราะเป็นพื้นที่ออกสู่ทะเลของแม่น้ำสายยักษ์ที่ว่า) ใกล้กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

อาหารที่ว่าก็มีตั้งแต่ เนื้อสัตว์จำพวกหมู เนื้อวัว หรือประเภทที่เป็นคาร์โบไฮเดรต อย่างขนมปัง ไล่ไปจนถึงเครื่องดื่มดีๆ อย่างเบียร์ (ที่สะอาดกว่าน้ำเปล่าตามธรรมชาติ เบียร์ในยุคโน้น ก็ไม่ต่างไปจากน้ำดื่มบรรจุขวดเย็นๆ ที่เราซื้อหามาดื่มกัน ด้วยเชื่อว่าดีต่อสุขภาพกว่าที่จะดื่มน้ำประปาฟรีๆ หรือตักเอาจากมาใช้จากคูคลองข้างบ้าน)

พูดง่ายๆ ว่าแรงงานที่ถูกนำมาสร้างพีระมิดในอารยธรรมอียิปต์โบราณนั้นเป็น “แรงงานคุณภาพ” โดยในบรรดาคุณภาพทั้งหลายที่คนพวกนี้มีอยู่ สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือความสามารถในการ “ควบคุมน้ำ”

เลห์เนอร์ได้เสนอมานานแล้วนะครับว่า คนอียิปต์โบราณนี่เป็น “ยอดฝีมือในการขุดคูคลอง” บันทึกส่วนตัวของมีรร์ก็ยิ่งทำสนับสนุนข้อสันนิษฐานของเลห์เนอร์ เพราะพวกเขาแทบจะเอาเรือขนหินเข้าไปประเคนถึงฐานพีระมิดเลยทีเดียว

แน่นอนว่า คลองที่เรือพวกนั้นขนเอาหินเข้าไปก่อเป็นปิระมิด ก็ถูกขุดด้วยน้ำพักน้ำแรงของแรงงานคุณภาพอย่างพวกมีรร์นี่แหละ ไม่ใช่คลองธรรมชาติที่ไหน

อ่านข้อมูลเหล่านี้แล้วก็นึกถึงปราสาทหินหลายๆ หลัง ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย และก็ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยนะครับ น่าสงสัยว่า คนโบราณพวกนั้นเขาลำเลียงหินไปด้วยทางน้ำที่ขุดขึ้นเป็นการเฉพาะ อย่างเดียวกับที่คนอียิปต์ในสมัยโบราณทำหรือเปล่า?

ผมเชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะสิ่งที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งในอารยธรรมขอมโบราณก็คือ เรื่องของการจัดการน้ำนี่แหละ