วงค์ ตาวัน : กว่าจะแจ้งข้อหา 396 โรงพัก

ใช้เวลาอยู่ยาวนาน 5-6 ปี กว่าจะมีการสรุปดำเนินคดีได้ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงพักตำรวจ 396 แห่ง โดยล่าสุด ป.ป.ช. แถลงแล้วว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

โครงการ 396 โรงพัก เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2552 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯ ดูแลงานตำรวจ แต่ต่อมามีปัญหาขัดแย้งกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สวรรณ ผบ.ตร. จนมีการสั่งเด้ง แล้วเกิดปัญหาซ้ำเมื่อไม่สามารถตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ในเดือนตุลาคม 2552 ได้

โดยนายอภิสิทธิ์พยายามผลักดัน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ให้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แต่คณะกรรมการ ก.ต.ช. โหวตไม่ให้ผ่าน โดยเห็นพ้องว่า พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เหมาะสมกว่ามาก แม้จะพยายามจัดประชุมหลายรอบเพื่อดัน พล.ต.อ.ปทีปให้ได้ ก็ไม่สำเร็จ

“จากนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ใช้วิธีตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. แบบยาวนาน ระหว่างนี้เองมีการแก้ไขสัญญา เปลี่ยนจากแยกประมูลการก่อสร้างรายภาค เป็นรวมสัญญาเดียว และมีบริษัทเดียวได้รับงาน”

การก่อสร้างเริ่มในปี 2554 แต่ลงเอยสร้างไม่เสร็จ เพราะชัดเจนว่าเป็นการก่อสร้างกระจายทั่วประเทศ แต่มีการรวมสัญญาและใช้บริษัทเดียวสร้าง ไม่มีทางทำได้ทันเวลา

“จนกระทั่งในปี 2556 เรื่องจึงแดงขึ้นมา เมื่อนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.พรรครักประเทศไทย ได้เปิดอภิปรายกลางสภา ในวาระไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ดูแลงานตำรวจ เปิดโปงต่อสาธารณะว่า โครงการ 396 โรงพัก ก่อความเดือดร้อนกับตำรวจอย่างขนานใหญ่”

โดยนำภาพถ่ายจำนวนมากมาแสดงประกอบอภิปราย สร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว

“เห็นแต่โรงพักที่สร้างทิ้งร้าง มีแค่เสาปูนโด่เด่ พร้อมกับมีเถาวัลย์ไม้เลื้อยพัน บางแห่งก็เห็นผนังก่ออิฐแต่ทิ้งเอาไว้เปลือยๆ”

เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิมสั่งตรวจสอบก็พบว่าต้นเรื่องมาจากโครงการในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ และเกิดปัญหามีการไปแก้สัญญา จากแยกประมูลรายภาค มาเป็นรวมสัญญาประมูล

จึงกลายเป็นคดีความสอบสวนหาผู้กระทำผิดเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินหลายพันล้านบาท โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในยุคที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ได้รวบรวมพยานหลักฐานมากมาย ก่อนสรุปให้เอาผิดนายสุเทพกับพวก โดยยื่นให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการไต่สวน เพื่อดำเนินคดีต่อไป

แต่เกิดม็อบนกหวีด นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในปลายปี 2556 แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยอมยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ แต่ม็อบนกหวีดไม่ยอมเลือกแนวทางนี้ ชัตดาวน์จนทำให้สถานการณ์เข้าทางตัน เปิดทางให้ คสช.ก่อรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

“จากนั้นคดีหลายคดีในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ก็เหมือนเงียบหายไป ต่างกับคดีที่ขั้วการเมืองอีกฝ่ายโดนกล่าวหา”

แม้แต่คดี 396 โรงพัก ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เห็นอยู่ทนโท่ว่าสร้างไม่เสร็จ สร้างไม่ทันเพราะอะไร ใครเกี่ยวข้อง ก็เหมือนจะเงียบๆ ไป

จนเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2561 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ และหนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด โดยสรุปว่าไม่ได้หมิ่นประมาทนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในกรณีที่นายธาริตขณะเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงข่าวเรื่องการดำเนินคดี 396 โรงพัก

จึงเริ่มเกิดกระแสทวงถามความคืบหน้าคดีที่นายสุเทพถูกกล่าวหาที่ค้างเติ่งใน ป.ป.ช. มายาวนาน

จุดสำคัญของคำพิพากษายกฟ้องนายธาริตและหนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด ว่าไม่ได้หมิ่นนายสุเทพนั้น ศาลได้ชี้ว่า การแถลงข่าวเรื่องคดี 396 โรงพักของนายธาริต ทำไปตามอำนาจหน้าที่ และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและประชาชน ขณะที่หนังสือพิมพ์เสนอไปตามข้อเท็จจริง โดยสุจริต

ในคำพิพากษายังระบุใจความสำคัญด้วยว่า

“ทั้งในการสืบพยานนั้น นายสุเทพได้เบิกความรับเองว่า ได้เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้เปลี่ยนแปลงสัญญา จึงเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับมติ ครม. และระเบียบสำนักนายกฯ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใส่ความโจทก์”

ผลจากการยกฟ้องในคดีหมิ่นประมาท ทำให้ทั้งสังคมเริ่มทวงถามคดีสร้างโรงพักไม่เสร็จ ทำไมจึงล่าช้า ช้าเหมือนกับตอนสร้างโรงพัก

จึงมีท่าทีจาก ป.ป.ช. บอกว่าจะขอคัดคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทนี้เพื่อไปประกอบการสอบสวนที่ดำเนินการอยู่

จนล่าสุดมีการยืนยันจาก ป.ป.ช. ว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายสุเทพกับพวกแล้ว

“ถือว่าคืบหน้าไปอีกชั้นหนึ่ง คงต้องติดตามบทสรุปสุดท้ายต่อไป!”

แต่ที่แน่ๆ เอ่ยคำว่า 396 โรงพัก ตำรวจทั่วทั้งประเทศในโครงการนี้ไม่มีใครลืม เพราะความเดือดร้อนไปทั่ว ต้องย้ายไปทำงานกันตามสุมทุมพุ่มไม้ในช่วงที่การก่อสร้างล่าช้าคาราคาซัง

ทั้งน่าสนใจว่า การขัดแย้งกับ พล.ต.อ.พัชรวาท ในช่วงท้ายของอายุราชการ แล้วนายอภิสิทธิ์สั่งย้ายพ้นเก้าอี้ พร้อมกับตั้ง พล.ต.อ.ปทีปมารักษาการ แต่เมื่อไม่ผ่านด่าน ก.ต.ช. ก็ดันแล้วดันอีก กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อัปยศของวงการสีกากี เมื่อไม่สามารถมี ผบ.ตร. ได้เกือบปี แล้วระหว่างที่ พล.ต.อ.ปทีปทำหน้าที่รักษาการนี้เอง ที่มีการแก้สัญญาสร้างโรงพัก จากแยกภาคเป็นรวมสัญญา

เป็นกระบวนการในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพที่มีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก

อาจจะกล่าวได้ว่า ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพได้ฝากเรื่องราวให้วงการตำรวจประทับใจไม่รู้ลืมหลายต่อหลายเรื่อง แม้แต่ในช่วงที่นายสุเทพเป็นแกนนำม็อบ ก็ฝากบาดแผลให้กับตำรวจที่ยังฝังลึกอยู่หลายร่องรอย

ไม่ว่าจะเป็นกรณี 396 โรงพัก เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณแผ่นดินเกือบ 6 พันล้าน แถมคดีความในการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดก็ยืดเยื้อกว่า 5-6 ปี

เรื่องต่อมาก็คือ เป็นยุคที่ไม่สามารถตั้ง ผบ.ตร. ได้เกือบ 1 ปีเต็มๆ

ทั้งที่มีระดับรอง ผบ.ตร. ที่เหมาะสมหลายราย โดยเฉพาะกรณี พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ถ้าเสนอชื่อนี้คงผ่านการอนุมัติจากที่ประชุม ก.ต.ช.อย่างง่ายดาย กลับยังดึงดันเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เมื่อไม่ผ่านก็ดันแล้วดันอีก สุดท้ายพอตั้งไม่ได้ก็ให้ทำหน้าที่รักษาการไปยาวๆ

“วงการตำรวจที่มีกำลังคนกว่า 2 แสน ไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้ ทั้งที่มีผู้เหมาะสมเยอะแยะ!?!”

เปรียบกันว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพสามารถเข้ามาสู่อำนาจได้ ทั้งที่ไม่ใช่พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ก็เพราะอาศัยวิธีพลิกขั้วการเมือง และผ่านการเจรจาลับในค่ายทหาร ก่อนจะมาโหวตกันในสภา

“จึงพูดกันติดปากว่า เกิดในค่ายทหาร แต่มาดับในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

แต่เพราะความสัมพันธ์ของรัฐบาลนั้นกับทหารอย่างแนบแน่นนั่นเอง

ทำให้การจัดการม็อบเสื้อแดงในปี 2553 แทนที่จะใช้ตำรวจปราบจลาจลตามหลักสากล และตามมติรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2535

“กลับใช้ทหารพร้อมกระสุนจริง ด้วยข้ออ้างมีผู้ก่อการร้ายในม็อบ แต่ลงเอยคนตาย 99 ศพ ไม่มีผู้ก่อการร้ายแม้แต่ศพเดียว”

แล้วต่อมาเมื่อพ้นจากการเป็นรัฐบาลเพราะพ่ายแพ้เลือกตั้งในปี 2554 จนในปลายปี 2556 นายสุเทพก็โดดมาเป็นแกนนำม็อบนกหวีด ซึ่งก็เป็นช่วงที่ผู้ชมนุมสร้างเรื่องให้ตำรวจไม่ลืมเลือนได้อีก

เช่น การบุกเข้ารื้อป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทุบทำลายตัวอักษร ตราสัญลักษณ์ จนพังยับ

หรือการปะทะกันระหว่างผ้ชุมนุมกับตำรวจปราบจลาจลที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า แล้วมีมือมืดโยนระเบิดขว้างจากฝั่งผู้ชุมนุมใส่แนวตำรวจ

“นำมาสู่เหตุการณ์ตำรวจฮีโร่เตะลูกระเบิดเพื่อช่วยชีวิตเพื่อน แต่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บสาหัสแทบพิการ”

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จึงกล่าวได้ว่า

ประวัติศาสตร์ระหว่าง 2 นักการเมืองดังกับวงการสีกากี มีมากมายจริงๆ!!