บทวิเคราะห์ : จับสัญญาณ “กลุ่มสามมิตร” มีเส้น เดินสายทำแต้ม-อุ้ม “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ

การเมืองคึกคักเมื่อสามมิตรเดินสายไม่หยุดหย่อน

เล่นลูกขยันยกขบวนพูดคุยกับนักการเมืองมากหน้าหลายตา พบปะประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพ

ในส่วนหนึ่งของเกมการสร้างแนวร่วม เตรียมทัพสู้ศึกการเลือกตั้ง ที่ยังไม่แน่ว่าจะเป็นในนามพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ก็พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นเอง

แต่ที่แน่ๆ คือ ก๊วนนี้หนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกสมัย

“กลุ่มสามมิตร” นำโดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย โดยมี “ภิรมย์ พลวิเศษ” อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน เป็นเลขาฯ กลุ่ม เดินสายเล่นการเมือง จนยึดพื้นที่ข่าวได้สำเร็จ

นักการเมืองหลายคนพากันหมั่นไส้ พาลโวยไปถึงฝ่ายความมั่นคงที่ปล่อยให้ก๊วนนี้เคลื่อนไหวอยู่ฝ่ายเดียว

“สุริยะ” คือหัวบิ๊กบอสของสามมิตร ผู้คอยคุมทิศทางการเคลื่อนไหว มีธงชัดเจนคืออยู่ข้างผู้กุมอำนาจ เพราะได้ประเมินแล้วว่า ทหารคงไม่ไปจากการเมืองไทยง่ายๆ

ดังนั้น สุริยะจึงไม่กลัวที่จะสูญทุนหนา ให้บรรดาแกนนำเชิดหน้าไปตามที่ต่างๆ อย่างไม่ต้องอายใคร

ที่ผ่านมากลุ่มสามมิตรเดินสายหนักในพื้นที่ภาคอีสาน หวังเจาะฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่แม้คนแดนไกลอย่าง “เสี่ยแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร จะไม่อยู่ในประเทศหลายปี แต่ความขลังและพลังยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย

ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ “บิ๊กตู่” ให้ความสำคัญทางการเมืองเป็นอันดับ 1 ที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่ภาคอีสานบ่อยที่สุด ประชุม ครม.สัญจรภาคอีสานบ่อยที่สุด พยายามทำความเข้าใจคนอีสานทุกวิถีทาง เพราะคิดแล้วว่า หากสามารถครองใจคนอีสานได้ ก็เท่ากับว่าสามารถครองใจคนทั้งประเทศได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้สามมิตรจึงพยายามดูด ส.ส.ภาคอีสานของพรรคเพื่อไทยเป็นแนวร่วม

โดยไม่สนใจคำปรามาสของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ส่งสัญญาณเตือน ส.ส. ของตัวเองว่า ถ้าออกจากพรรคไป จะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ เพราะประชาชนเลือกพรรค ไม่ได้เลือกคน

ขณะที่สามมิตรกลับมองต่างออกไป เพราะเชื่อว่าผู้ที่มีความมั่นใจลาออกจากพรรคเพื่อไทยมาอยู่กับสามมิตรนั้น มิใช่ดาวเคราะห์ แต่เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง ดาวฤกษ์นี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สว่างไสวในตัวเองอยู่แล้ว

ขณะที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นแกนหลักเดินสายติดต่อทาบทามนักการเมือง เล็งเป้าไปที่เด็กพรรคเพื่อไทย ว่ากันว่าเวลานี้มีนักการเมืองมากหน้าหลายตาสนใจทำการเมืองด้วยกัน

ขณะที่บางคนมีคดีความติดตัว จึงต้องมาพิจารณาว่าจะวางให้เล่นในบทบาทใด เพราะคงไม่ดีแน่ หากให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองอย่าง “สุริยะ” และ “สมศักดิ์” เข้าใจดีว่าการจะชนะพรรคเพื่อไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

พวกเขาผ่านสนามการเมืองมานักต่อนักแล้ว ชีวิตของพวกเขามีแต่การเมืองกับการเมือง ย่อมรู้ดีว่าพรรคเพื่อไทยครองใจประชาชนมากมายขนาดไหน

มีหรือจะไม่เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งด้วยอะไร

นักการเมืองอย่างสุริยะและสมศักดิ์ เข้าใจดีว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งในห้วงที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดมาจากนโยบายที่เข้าถึงประชาชนที่คนธรรมดาสามัญจับต้องได้

เพราะทุกพรรคต่างมีทุน มีคน ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา แต่ทุกพรรคยังขาดผลงานที่จับต้องได้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้แทนฯ ของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา

นั่นเป็นเหตุผลที่กลุ่มสามมิตรต้องลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน เพื่อรู้ถึงปัญหาและความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง ย่อมดีกว่าการนั่งอยู่ในห้องแอร์ รอให้คณะทำงานนำข้อมูลมาชี้แจง เพราะอย่างน้อยก็ได้คะแนนเสียงจากการลงพื้นที่ เมื่อเดินสายดูดนักการเมือง บวกกับรับฟังความเห็นประชาชน มองแล้วมีแต่ได้กับได้ คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

แต่ความเคลื่อนไหวของสามมิตรก็สร้างความไม่พอใจให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่น้อย เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่ไปคุยด้วยนั้นคือเด็กของพรรคเพื่อไทย ไม่แน่ว่าจะมีแนวโน้มย้ายไปอยู่กับสามมิตรมากขนาดไหน นั่นเป็นเหตุผลที่ “ทักษิณ” ต้องเคลื่อนไหวปรามลูกพรรคถี่ๆ ในช่วงนี้ พร้อมกับขู่ ส.ส. ในสังกัดว่า “คนเขาเลือกพรรค ไม่ได้เลือกคุณ”

กระนั้นก็ตาม แม้ “สมศักดิ์” จะเห็นว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นความต้องการของประชาชน แต่ก็มีความเห็นแย้งว่า แผนการพัฒนาแบบฉบับทักษิณมีแต่จะทำให้ประชาชนเป็นหนี้สิน เพราะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายเกินควร

จนนานเข้าจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา

เขาจึงคิดหาวิธีการที่จะแก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยังขาดองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ

ด้วยเหตุนี้ “สมศักดิ์” จึงตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายแก้ไขด้วยตัวเอง

ถึงวันนี้สามมิตรอยู่ในขั้นไหน คำตอบคือ ยังอยู่แค่ขั้นวางแผน เตรียมการ นั่นเพราะสัญญาณจาก “บิ๊กรัฐบาล” ยังไม่ชัดเจน แม้จะมีการดีลผ่าน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อยู่เรื่อยๆ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหมากเกมนี้จะลงเอยอย่างไร

อีกอย่าง พรรคพลังประชารัฐที่ว่ากันว่าตั้งขึ้นเพื่อเตรียมรองรับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกรอบ ก็ยังไม่ชัวร์ว่าจะมีพลังมากมายขนาดไหน

ครั้นจะให้สามมิตรตั้งพรรคเองก็กลัวได้ไม่คุ้มเสีย นักการเมืองอย่างพวกเขาเข้าใจดีกว่าไม่คุ้มค่าหากต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ทุกอย่างจึงอยู่ที่ขั้นเตรียมการ และดูกันอยู่ห่างๆ ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มสามมิตร

ประมาณว่าแค่ให้รู้ว่ามีกันและกันอยู่เป็นพอ

สําหรับ พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีปกป้องสามมิตรอย่างเห็นได้ชัด จนถึงกับพูดออกรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม โดยพูดถึงกระแสข่าวดูด ส.ส. ในทำนองว่า ถ้าการย้ายพรรคนั้นก่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานกับรัฐบาล ก็ถือเป็นเรื่องดี

“วันนี้เห็นหลายคนหลายฝ่ายย้ายกันไปย้ายกันมา ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ถ้าทุกคนคิดว่าไอ้การย้ายมานี่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้นในการทำงาน ผมคิดว่าในวันหน้ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามา คงต้องทำตามกติกา กฎระเบียบ วันนี้ต้องมาดูในเรื่องของผู้ที่จะมาร่วมมือกันในวันข้างหน้า ผมเองก็ต้องร่วมมือ” พล.อ.ประยุทธ์เผยถึงท่าทีทางการเมือง

แม้สามมิตรครองพื้นที่ข่าวอยู่ในเวลานี้ ทว่ากลับเป็นในแง่ลบเสียส่วนใหญ่ เพราะความเคลื่อนไหวเช่นนี้ นำมาซึ่งความไม่พอใจของนักการเมืองต่างพรรค ที่ต้องเรียงหน้าออกมาวิจารณ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เป็นเรื่องที่สามมิตรจะต้องนำกลับไปคิดพิจารณา เพราะทุกคำด่าเหล่านั้น ล้วนถูกส่งไปสู่การรับรู้ของประชาชน ที่มีอำนาจตัดสินว่าใครจะได้เป็นผู้แทนฯ