ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
จากนี้ เสถียร โพธินันทะ ก็บรรยายต่อไปว่า อัสติวาทินฝ่ายภูตตถตวาทก็ค้านว่า “ไม่ได้หรอก ถ้าอธิบายอย่างฝ่ายศูนยตาวาทิน ทุกอย่างเป็นมายาหมด แล้วจะเอาอะไรมาเป็นปทัฏฐานแห่งปรากฏการณ์เล่า
จะต้องมีอะไรที่ไม่สูญเป็นแก่นแห่งความสูญทั้งหลายเป็นแน่
แก่นนั้นบัญญัติเรียกกันว่า จิตตอมตะ ภูตตถตา ตถาคตครรภ์ ฯลฯ เป็นการณะของปรากฏการณ์ทั้งหลาย”
อัสติวาทินฝ่ายวิชญาณวาทก็ว่า “สูญหมดไม่ได้ เพราะเหตุปัจจัย เช่น จิตและพีชะ หรือพลังงานที่ทำให้เกิดพฤติภาพต่างๆ ต้องมีอยู่ พระนิรวาณก็ต้องทรงความเที่ยงเป็นอนันตกาล ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด เป็นอารมณ์แห่งมรรคจิต ผลจิตได้
ถ้าปฏิเสธว่าพระนิรวาณและเหตุปัจจัยเป็นสูญแล้ว ก็ต้องกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ เท่านั้นเองการที่พระโพธิสัตว์ พระสาวก อุตสาหะสร้างบารมีมาหลายอสงไขย ก็เพื่อความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลยโล่งๆ อย่างนี้เองหรือ”
ฝ่ายอัสติวาทินทั้ง 2 สายกล่าวว่า
“พระพุทธภาษิตที่ตรัสในเรื่องสะระวะมาศูนยะตากฤษณานั้น เป็นเพียงอุบายที่จะให้สัตว์ละอหังการ มมังการเท่านั้น ในสูญนั้นต้องมีอะไรบางอย่างที่ไม่สูญอยู่ด้วย ไม่ใช่อะไรๆ ทั้งสังขตะ อังสังขตะสูญหมดหรอก
ทั้ง 2 ฝ่ายกล่าวว่า สิ่งที่เป็นมานั้นต้องอาศัยอยู่บนรากฐานของสิ่งที่มีอยู่เสมอไป เช่น เขากระต่ายเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่เลย เราจึงไม่ไปคิดหรือเรียกขานชื่อ”
เมื่อฝ่ายมาธยมิกถูกฝ่ายอัสติวาทินโต้แย้งเช่นนี้ อาจารย์ฝ่ายมาธยมิกก็แก้ว่า “ท่านเข้าใจผิดต่อศูนยตาของเราเสียแล้วละ”
ศูนยตานั้นคือความพ้นจากอัตถิตา
ความมีอยู่อันตกเป็นฝ่ายสัสสตทิฏฐิและนัตถิตา ความไม่มีอยู่อันตกเป็นฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ
ศูนยตาหาใช่ความว่างชนิดที่ตรงกันข้ามกับความมี ความเป็นไม่ ศูนยตาพ้นจากความเป็นคู่ อยู่นอกเหนือความคิดตรึกธรรมดา จะประจักษ์ได้ดีก็ต่อเมื่อไล่อวิชชาไปหมดแล้ว แม้คำว่า “ศูนยตา” ก็ยึดถือเอาไม่ได้เป็นเพียงสมมุติบัญญัติ
หากไปเกิดความยึดถือขึ้นว่ามีศูนยตาอยู่แล้วไซร้ก็ไม่ถูกจุดประสงค์ของวิมุตติ
การที่ฝ่ายมาธยมิกประกาศเรื่องศูนยตานั้นก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเพิกถอนอุปาทานทั้งในธรรมและอธรรม เพราะฉะนั้น นิลเนตร จึงกล่าวว่า
“ความสูญก็ต้องให้สูญไปด้วย แต่เนื่องด้วยใช้เป็นเครื่องชักนำสรรพสัตว์ จึงต้องสมมุติบัญญัติเรียกขึ้น”
และอาจารย์นาคารชุนได้กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสศูนยตธรรมนั้นก็เพื่อให้สัตว์หลีกพ้นจากปวงทิฏฐิ ถ้าหากเกิดทิฏฐิขึ้นอีกว่า มีความสูญนั้นอยู่ไซร้พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้สั่งสอนไม่”
และอีกข้อหนึ่งว่า “ในศูนยตานั้น ความมีอยู่ ไม่มีอยู่ ย่อมดับสนิท” ถ้าไม่มีศรัทธาศีลเป็นปทัฏฐานแล้ว เกิดทิฐิในเรื่องสูญ ทิฏฐินั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ”
ฝ่ายมาธยมิกไม่ใช่พวกอัสติวาทินที่เป็นปรัชญา ทำนองว่าจันทร์บนท้องฟ้ามีอยู่จริง แต่เงาจันทร์ในน้ำเท็จ มาธยมิกถือว่าแม้จันทร์บนท้องฟ้าก็มายา
การที่พระพุทธองค์ตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา ตรัสเทศนาถึงอริยสัจและพระนิรวาณอันแตกต่างจากสังขารธรรมทั้งหลายก็ดี เป็นเพียงอุบายโกศลอันแยบยล สมมุติในการชักนำสัตว์เท่านั้น
ฝ่ายมาธยมิกอ้างมหาปรัชญาปารมิตาสูตรว่า
“แก่ผู้ที่ใหม่ต่อการศึกษา พระพุทธองค์เทศนาสิ่งเกิดดับว่าเป็นมายา สิ่งที่ไม่เกิดดับไม่เป็นมายา แก่ผู้ที่สูงต่อการศึกษาแล้วพระองค์ก็แสดงว่า ทั้งสิ่งที่เกิดดับและสิ่งที่ไม่เกิดดับ ล้วนเป็นมายา”
นอกจากนี้ยังอ้างพระพุทธพจน์ในอาคมว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดบัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมุติว่าไม่มี แม้ตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี สิ่งใดที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมุติว่ามีอยู่ แม้ตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามีอยู่”
และ “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่วิวาทโต้เถียงกับโลก แต่โลกย่อมวิวาทโต้เถียงกับเรา”
แล้วเสถียร โพธินันทะ ก็สรุปในเบื้องต้นว่า โลกิยสัจตามทัศนะของฝ่ายมาธยมิก ไม่ใช่จะมีภาวะความมีอยู่ในตัวเองอย่างนิกายอื่น
ฝ่ายมาธยมิกถือว่าเป็นมายา
ส่วนปรมัตถสัจเล่า ฝ่ายมาธยมิกถือว่าสูญเลยทีเดียว ดังอุทาหรณ์หนึ่งว่า ความฝันซึ่งเป็นของไร้ความจริง แต่มาธยมิกกล่าวว่า อย่าว่าแต่ความฝันจะเท็จเลย แม้ผู้ทำการฝันก็พลอยเป็นของไร้สาระด้วย เมื่อผู้ฝันยังเป็นมายา ถ้าเกิดเข้าใจว่ามีความฝันด้วยแล้วก็เป็นการหลงผิดใหญ่ มันเป็นมายาซ้อนมายา
โลกิยสัจเหมือนความฝัน ปรมัตถสัจเหมือนผู้ฝัน ทั้ง 2 มีค่าเท่ากันคือศูนยตา ผู้ฝันยังเป็นของว่างเปล่า แล้วความฝันจะมีจริงได้แต่ไหนเล่า