การศึกษา / วิกฤตโรงเรียนขาดผู้นำ ปัญหาใหญ่…ยังไร้ทางออก!!

การศึกษา

 

วิกฤตโรงเรียนขาดผู้นำ

ปัญหาใหญ่…ยังไร้ทางออก!!

 

ตั้งท่าจะสะดุดอีกรอบ สำหรับการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว24/2560 …

หลังคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติให้ยกเลิกมติชะลอการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. และเห็นชอบเดินหน้าย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ตามเกณฑ์ ว24/2560 ไปเมื่อกลางเดือนเมษายน 2561 ทันทีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งศาลปกครองอุบลราชธานี วินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานีที่สั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อ 10 และข้อ 11 ของ ว24/2560 กรณีที่ศาลปกครองอุบลราชธานีมีคำสั่งในคดีดำหมายเลขที่ บ.75/2560 ระหว่างนายเฉลิมเกียรติ แก้วกนก ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุดที่ ศธ 0206.4/ ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

โดยศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ดังกล่าว ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นยกคำขอของผู้ฟ้องคดี…

ปลดล็อกให้ ก.ค.ศ. เดินหน้าย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งดำเนินการค้างไว้ใน 6 กรณี รวมกว่า 66 จังหวัด!!

 

ย้ายยังไม่ทันเสร็จ ล่าสุดวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา นายรังสิมันต์ ยาละ ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย ยื่นฟ้อง ก.ค.ศ. ต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ตาม ว24/2560 อีกประเด็น

ในกรณีที่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไปกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องขอย้าย ดังนี้

1.1 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าว ในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับถึงวันที่ 30 กันยายนของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย

ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับการพิจารณาย้ายในรอบการย้ายปี 2559 ทั่วประเทศจะไม่สามารถเขียนคำร้องขอย้ายในรอบปี 2561 ได้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะบางเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการย้ายเรียบร้อยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 แต่บางเขตพื้นที่ฯ ย้ายเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2559

หากกำหนดให้นับถึงวันที่ 30 กันยายนของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย ก็จะทำให้ผู้ที่ย้ายในเดือนพฤศจิกายน 2559 เสียสิทธิในการย้ายรอบนี้ทันที

ครั้งนี้แว่วว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับผลกระทบหลายราย เคยยื่นหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้ว แต่เรื่องก็เงียบ

จึงเดินหน้าฟ้อง โดยขอให้ ก.ค.ศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม เสนอให้ตัดคุณสมบัติเรื่องการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 24 เดือนออกและกลับไปกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตาม ว9 ซึ่งกำหนดให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนนับถึงวันที่ยื่นคำขอย้าย หรือขยายเวลาให้นับถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน เพื่อให้กลุ่มที่ย้ายในเดือนพฤศจิกายน 2559 ไม่เสียสิทธิ สามารถนับเวลาปฏิบัติงานได้ครบ 24 เดือน

หรือถ้าเป็นไปได้อยากขอให้ยกเลิก ว24 และกลับมาใช้ ว9 ตามเดิม

 

ขณะที่นายธนพงศ์พันธ์ ประคองใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองนางาม จ.ลพบุรี เห็นว่า เรื่องนี้ ก.ค.ศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งแก้ไข เพราะหากยึดตามเกณฑ์ ว24/2560 แล้ว กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับคำสั่งย้ายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 จะเสียสิทธิทันที และต้องรอยื่นเรื่องขอย้ายในปี 2562 ไม่เท่านั้น ยังพบว่าผู้อำนวยการสถานศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่เสียสิทธิ คือกลุ่มที่ผู้บริหารสถานศึกษาที่บรรจุวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ กศจ. บรรจุผู้อำนวยการรุ่นแรกกว่า 4,000 อัตรา ถ้านับตามเกณฑ์นี้ คนกลุ่มนี้ต้องรอยื่นคำร้องขอย้ายในปี 2562 เช่นกัน

ฉะนั้น จะมีผู้บริหารอีกหลายพันตำแหน่งที่ไม่สามารถยื่นขอย้ายได้!!

ผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจึงรวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ เชื่อว่าหาก ก.ค.ศ. ยืดหยุ่นเกณฑ์นี้ หรือกลับมาใช้เกณฑ์ตาม ว9 เหมือนเดิม อาจจะไม่เกิดปัญหานี้ขึ้น

แม้ขณะนี้ศาลปกครองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องของนายรังสิมันต์ แต่หากศาลรับคำฟ้อง จะส่งผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ต้องสะดุดอีกรอบ และครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าปัญหาจะยืดเยื้อนานไปอีกนานแค่ไหน…

 

ครั้งแรกนายเฉลิมเกียรติฟ้องเมื่อปี 2560 เป็นเหตุให้ย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2559 ต้องชะลอนานกว่า 2 ปี โรงเรียนร้างผู้บริหาร จน สพฐ. ต้องปรับแผนบริหารจัดการ ตั้งรองผู้อำนวยการโรงเรียนนั่งรักษาการ ขณะที่บางแห่งไม่มีกระทั่งรองผู้อำนวยการ เหลือแต่ครู ก็ให้ครูปฏิบัติหน้าที่หรือผู้อำนวยการโรงเรียนใกล้เคียงนั่งบริหารควบ…

ย้ายไม่ได้ ส่งผลให้เปิดสอบคัดเลือกไม่ได้ ทำให้มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศว่างกว่า 7 พันอัตรา

ถูกฟ้องรอบ 2 จะมีผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้อีก 2,596 อัตรา

หาก สพฐ. ไม่สามารถดำเนินการย้ายและจัดสอบผู้บริหารสถานศึกษาได้ จะทำให้มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาว่างประมาณ 9,569 อัตรา

กระทบต่อคุณภาพการศึกษาแน่นอน!!

ถือเป็นวิกฤตขั้นรุนแรง โรงเรียนร้างผู้บริหาร ขาดผู้นำพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้เรียนย่อมแผ่วลงตามไปด้วย

เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ที่ต้องติดตามว่า เสมา 1 อย่าง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานบอร์ด ก.ค.ศ. จะนำทัพแก้เกมนี้อย่างไร??

แต่คงต้องเร่งหาทางออกให้ได้โดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ปัญหาการศึกษาไทยตกต่ำลงไปอีกจนยากจะเยียวยา…