“มี” และ “ไม่มี” เสถียร โพธินันทะ

แล้วเสถียร โพธินันทะ ก็ระบุว่า ฝ่ายมาธยมิกถือว่าเป็นพวกที่มีอุปาทานใน “สิ่งที่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเอง” ทั้งสิ้น

เพราะไฉนเล่า

วิสัชนาว่า เพราะถ้าเราถือว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นได้เอง มีอยู่เดิม อย่างนี้ไซร้ก็ขัดต่อความจริง เพราะถ้าสิ่งนั้นๆ มีอยู่จริงแล้วมันจักเกิดขึ้นอีกทำไม

การกล่าวว่า สิ่งนั้นมีอยู่แล้ว กล่าวอีกว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นเกิดมีขึ้น เช่นนี้ฟังไม่ได้เลย

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นย่อมหมายว่า สิ่งนั้นเดิมไม่มีแล้วจึงเกิดมีขึ้น มิได้หมายว่าสิ่งนั้นมีอยู่แล้วจึงเกิดขึ้นอย่างนี้เลย

ถ้าอ้างว่า การเกิดด้วยอาศัยสิ่งภายนอกมีอยู่ไซร้ ก็ขอค้านว่า ไม่จริงอีกเช่นกัน

เพราะเมื่อความเกิดขึ้นมีไม่ได้แล้ว สิ่งอื่นๆ จึงพลอยเกิดมีขึ้นไม่ได้ด้วย

อนึ่ง ลงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีไม่ได้ สิ่งอื่นจะบันดาลให้สิ่งที่ไม่มีอยู่เกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น หนวดเต่า เขากระต่าย เป็นสิ่งซึ่งไม่มีอยู่เลย สิ่งอื่นจะบันดาลอย่างไรมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าจักว่าสิ่งอื่นบันดาลให้สิ่งที่มีอยู่เกิดขึ้นเล่า

การบันดาลก็ไร้ความหมาย เป็นโมฆะ

ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่มีอยู่แล้วเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่มีการเกิดขึ้นอีก เช่น นาย ก. เกิดเป็นคนในชาตินี้ นาย ก. จักไม่ต้องเกิดเป็นคนอีกในชาตินี้เป็นครั้งที่ 2 เลย

อนึ่ง เราขอตั้งกระทู้ถามว่า การที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากจักขุนทรีย์หรือ เกิดขึ้นจากรูปายตนะหรือ เกิดขึ้นจากแสงสว่างหรือ

ถ้าจักขุนทรีย์เกิดจากจักขุวิญญาณมิได้ รูปายตนะ แสงสว่างก็เกิดจักขุวิญญาณมิได้เช่นกัน

จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ทิฐิที่ถือว่าเกิดจากเหตุภายนอกนั้นมีไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นเองกับการเกิดจากเหตุภายนอกมีไม่ได้เช่นนี้ การเกิดขึ้นจากสิ่งทั้ง 2 รวมกันจึงพลอยมีขึ้นไม่ได้ด้วย เนื่องด้วยสิ่งที่เกิดเองและสิ่งภายนอก

อันความจริงสิ่งภายนอกนั้น แท้ก็คือ สิ่งที่เกิดเองนั่นแหละ

ดังเช่นตัวเรา เพื่อนของเราย่อมเรียกเราว่าท่านว่าแก เรียกตัวเขาว่าฉัน ตัวของเราก็เช่นกัน หรือเหมือนกับอาศัยทิศตะวันออกจึงมีทิศตะวันตก เป็นต้น

เป็นสิ่งที่เกิดมีไม่ได้ การรวมของสิ่งที่เกิดมีไม่ได้แล้วเกิดขึ้นจึงเป็นโมฆะไปด้วย

ส่วนเกิดขึ้นโดยไร้เหตุนั้นเล่าก็ยิ่งมีไม่ได้ เพียงแต่ดูสิ่งต่างๆ จนโลกเราจะเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ ปราศจากเหตุผล

เช่น อยู่ดีๆ ตึกทั้งหลังจะปรากฏขึ้นไม่ได้ เป็นต้น

อาศัยความเป็นไปได้ดังนี้แหละ ฝ่ายมาธยมิกจึงลงมติว่า แท้จริง สิ่งทั้งปวงไม่มีการเกิดขึ้น เป็นศูนยตา

การเกิดขึ้นซึ่งเรียกว่า “สัต” นั้น เมื่อมีไม่ได้และเป็นมายาแล้ว สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสัตคือ “อสัต” ความไม่มีอยู่จึงต้องพลอยสูญไปด้วย

ทั้งนี้ เพราะความไม่มีแห่งสัต เราจึงเรียกอสัต ลงเมื่อสัตไม่มีอยู่จริงแล้ว อสัตจะมีอยู่ได้อย่างไรเล่า

ด้วยประการฉะนี้แหละ วาทะที่กล่าวว่า มีกิเลสที่จะถูกประหาร มีการเกิดการดับ ด้วยการรับรองว่ามีอยู่แม้ในปรมัตถ์ไซร้ก็ควรจัดว่าเป็นนัตถิกทิฏฐิด้วย

ในประการเดียวกัน ถ้าถือว่ามีพระนิรวาณอันเที่ยงแท้จักบรรลุถึงนั้นจึงชื่อว่าเป็นสัสสตทิฏฐิเหมือนกัน

โดยปรมัตถ์ตามนัยแห่งมาธยมิกแล้วย่อมไม่มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีวิชชาและอวิชชา ไม่มีการบรรลุพระนิรวาณ หรือการไม่บรรลุพระนิรวาณ

อาจารย์นาคารชุนยกอุทาหรณ์เรื่องการละกิเลสบรรลุนิรวาณว่าเหมือนมายา

บุรุษคนหนึ่งประหารมายาบุรุษอีกคนหนึ่งลง การประหารของมายาบุรุษทั้งสองย่อมเป็นมายาไปด้วย เช่นนี้ จะมีอะไรอีกเล่าสำหรับการบรรลุและไม่บรรลุ การบรรลุพระนิรวาณจึงย่อมเป็นมายาด้วย ฉะนี้เมื่อตัวมายาบุรุษไม่มีอยู่จริง กล่าวคืออัตตาไม่มีจริง

การประหารกิเลสของสิ่งที่ไม่มีจริงนั้นจะเป็นจริงขึ้นได้อย่างไร

อนึ่ง มายาบุรุษที่ถูกประหารอันเปรียบเทียบด้วยกิเลสทั้งหลายเล่าก็ไม่มีความเจริญอยู่อีกเช่นนี้ ถ้าเกิดความเข้าใจว่า มีสิ่งอันตนประหาร มีสิ่งอันตนได้บรรลุ

ถึงจะหลีกเลี่ยงส่วนสุดทั้ง 2 ข้างต้นได้แต่ที่ไหน

ฉะนั้น ฝ่ายมาธยมิกจึงประกาศว่า สะระวะระมาศูนยะตา ลักษะณา ธรรมทั้งปวงมีความสูญเป็นลักษณะ

ซึ่งฝ่ายอัสติวาทินจะไม่ยอมเห็นพ้องด้วยเลย