มุกดา สุวรรณชาติ : น้ำ…โครงการเร่งด่วน อันดับแรก ปัญหาประเทศ…ไม่ใช่ปัญหาการเมือง (2)

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP PHOTO / BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRAT / HO

ตอน 1

พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ทั้งจากภัยน้ำแล้ง ภัยน้ำล้น และภัยน้ำเสีย ด้วยแนวพระราชดำริการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน เพื่อให้ราษฎรมีน้ำกินน้ำใช้ที่พอเพียง ไม่มากเกินความจำเป็น ไม่น้อยกว่าความต้องการ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สร้างความปลาบปลื้มปีติแก่เหล่าพสกนิกรเป็นล้นพ้น จึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานาม สมกับที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถยิ่งว่า พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “น้ำและการพัฒนา….น้ำเปรียบดังชีวิต” วันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2538

“…การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ

เมื่อปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้

และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค

ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน สูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง

หลักการ อ่านแล้วจะเห็นว่าสั้นกระชับ แต่ครอบคลุม ในทางปฏิบัติจะต้องแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ทั้งจากภัยน้ำแล้ง ภัยน้ำล้น และภัยน้ำเสีย ซึ่งเป็นงานยาก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวพระราชดำริไว้มากมาย เพื่อควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งแนวพระราชดำริการพัฒนาแหล่งน้ำ และแนวพระราชดำริการจัดการระบบชลประทาน ซึ่งช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาค้นคว้าทดลองนับสิบปี

การจัดการน้ำแล้งตามแนวพระราชดำริ

หลักการคือ เพิ่มน้ำจากฟ้า หลั่งลงมากักไว้บนดิน โดยมี

1. ฝนหลวงพระราชทาน…โดยทรงทดลองปฏิบัติการครั้งแรกที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อพุทธศักราช 2512 และขยายเป็นหน่วยงานใหญ่ขึ้นถึงปัจจุบัน

2. สร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำมิให้ไหลล้นไปอย่างสูญเปล่าโครงการแรก เริ่มเมื่อ 2506 คือ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขนาดประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตร

ปัจจุบัน มีอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเกิดขึ้นจากโครงการตามแนวพระราชดำริกระจายอยู่ทุกภูมิภาค

การบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น
ตามแนวพระราชดำริ

ทรงวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและทรงคำนึงถึงการเลือกใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่และสมรรถนะของกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ตลอดจนงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการ…

1. การก่อสร้างคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมแต่ครั้งโบราณโดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสมขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่างๆ ด้านใน

2. การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมท้นให้ออกไป โดยการก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วมโดยให้น้ำไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ไปลงลำน้ำสายอื่น หรือระบายออกสู่ทะเลตามความเหมาะสม

3. การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวกหรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขังได้ โดยใช้วิธีการหลายอย่าง เช่น

ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบ มิให้เป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ

กำจัดวัชพืช ผักตบชวา และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลให้ออกไปจนหมดสิ้น

หากลำน้ำคดโค้งมาก ให้หาแนวทางขุดคลองใหม่เป็นลำน้ำสายตรงให้น้ำไหลสะดวก

การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญ

บทเรียนที่ผ่านมาของรัฐบาล และผู้บริหารท้องถิ่น

การดิ้นรนเอาตัวรอดจากน้ำท่วมในบ้านเราที่ได้เห็นคือการทำตามแนวพระราชดำริข้อ 1 กับข้อ 3 เช่น สร้างคันกั้นน้ำ ตามริมแม่น้ำต่างๆ การสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำ การขุดคลองระบายน้ำยังเป็นคลองขนาดเล็กและมีน้อย แต่ปัญหาในวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าภัยพิบัติจากน้ำจะมีขนาดรุนแรงกว่าหลายสิบปีที่แล้ว คันกั้นน้ำที่สร้างด้วยดินหรือกระสอบทรายหวังว่าจะต้านน้ำได้ชั่วคราวจึงพังลงหลายแห่ง เขื่อนซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งและช่วยรับน้ำในหน้าฝนในระดับปกติ แต่เมื่อพายุเข้าหลายลูกติดต่อกัน ก็จำเป็นต้องระบายน้ำออกมา จึงไปท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อน

ความสามารถเขื่อนจึงทำหน้าที่หลักเก็บกักน้ำไว้ใช้ และจะป้องกันน้ำท่วมเมื่อน้ำไม่มากเกินไป

แต่เมื่อถึงปีที่ปริมาณฝนมากกว่าปกติ ก็จะสุดกำลังของแต่ละเขื่อน ถ้าจะปล่อยน้ำ ก็ต้องมีทางระบายที่พอเพียง ซึ่งแนวโน้มความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศจะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งใน 30 ปีนี้

คงถึงเวลาที่ต้องใช้แนวพระราชดำริ ข้อ 2 อย่างเต็มกำลัง เพราะนับแต่นี้ไป อุทกภัยในบ้านเราจะไม่ใช่แค่น้ำท่วมธรรมดา แต่จะมีลักษณะที่สร้างความเสียหายได้มาก คือจะทำลายสิ่งที่กีดขวางไม่ว่าจะเป็นไร่นา ที่อยู่อาศัย ระบบไฟฟ้า ประปา โรงงาน ถนน สะพาน รถ ฯลฯ แม้แต่ชีวิตคน และจากนี้ไปก็มีโอกาสเกิดขึ้นทุก 2-3 ปี

ถ้าเราไม่อยากเสียหายเป็นพันล้านหมื่นล้านทุกปี ทั้งรัฐและประชาชนจะต้องเตรียมการป้องกันและปรับตัวโดยด่วน

รัฐบาลจะต้องรีบกำหนดแผนและดำเนินการป้องกันระยะยาวโดยเร็ว

ทางเลือกใหม่…
การสร้างทางผันน้ำขนาดใหญ่

หลักการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ไว้คือ…เมื่อปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้

เมื่อวิเคราะห์จากสภาพภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างมากในปัจจุบัน จะใช้ลำน้ำตามธรรมชาติในปัจจุบันคงไม่ทันการณ์ แต่พระองค์ได้ทรงมีแนวพระราชดำริไว้ว่า ให้ก่อสร้างทางผันน้ำ

ถ้าศึกษาจากสภาพภูมิศาสตร์ ก็มองเห็นว่าทำได้

เนื่องจากเขตพื้นที่ลุ่มภาคกลางตั้งแต่นครสวรรค์ ชัยนาท มีความเอียงลาดลงมายังปากแม่น้ำถึงกรุงเทพฯ สมุทรปราการ หรือจังหวัดชายฝั่งทะเลมีความสูงต่ำอยู่ที่ประมาณ 22 เมตร แต่ปัญหาก็คือเราไม่มีโครงการขนาดใหญ่ที่จะสามารถระบายน้ำ นอกไปจากเส้นทางน้ำตามธรรมชาติซึ่งอาจจะคดเคี้ยว วกวนแยกเป็นสายใหญ่สายย่อยและมีการตีบตัน มีวัชพืชขัดขวางทางเดินของน้ำ ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงเกิดขึ้นทุกปีๆ และไม่รู้จักจบสิ้น

สิ่งที่เรายังไม่เคยทดลองทำคือการสร้างทางผันน้ำขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ซึ่งมีคนเคยเสนอมานานแล้ว

ประเทศเราสร้างถนนหนทางจำนวนมาก สร้างทางด่วน ทางรถไฟ สร้างมอเตอร์เวย์ให้รถยนต์วิ่ง สิ้นเปลืองงบประมาณไปหลายแสนล้าน

เราน่าจะสร้างวอเตอร์เวย์เพื่อให้เป็นทางด่วนในการผันน้ำขนาดใหญ่หลายเส้นซึ่งจะสามารถรับน้ำจากเขื่อน และแม่น้ำดั้งเดิม ระบายออกได้ในเส้นทางที่สั้นที่สุด ตามระดับทางภูมิศาสตร์

นอกจากนั้น ยังสามารถใช้เก็บกักน้ำ และส่งน้ำซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งน้ำสะอาด เพื่อใช้อุปโภคบริโภค ใช้ในอุตสาหกรรม และด้านเกษตรกรรม หรืออาจใช้เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำ รวมประโยชน์ด้านต่างๆ แล้วน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ในสภาพที่ปัญหาอุทกภัยกำลังกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การเสนอแก้ปัญหาจะได้รับการยอมรับและการสนับสนุนมากกว่าช่วงเวลาอื่น การเวนคืนที่ดินหรือการขอความร่วมมือจากชุมชน ถ้าจ่ายค่าตอบแทนให้คุ้มค่าน่าจะสามารถดำเนินโครงการนี้ได้ไม่ยากนัก และด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ แม้จะต้องขุดคลองขนาดใหญ่ก็จะสามารถทำได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

รัฐบาลควรมีโครงการใหญ่
เพื่อบริหารจัดการน้ำโดยด่วน

หลังอุทกภัยใหญ่สองปีซ้อน และภัยแล้งเมื่อปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ รัฐบาลควรจะสรุปให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเรากำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติแบบไหน หนักแค่ไหน รัฐมีแผนป้องกันแก้ไขระยะยาวอย่างไร การแก้ไขปรับเปลี่ยนนโยบายและงบประมาณ ยกเลิกโครงการที่สำคัญน้อยกว่า ทำสิ่งที่จำเป็นมากกว่า เป็นสิ่งที่ต้องกล้าตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

หากไม่สร้างระบบป้องกันที่มีมาตรฐาน ความเสียหายจากน้ำท่วมจะกระทบต่อระบบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ระบบขนส่ง และความเสียหายจากที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีมูลค่าเป็นพันล้าน หมื่นล้าน เมื่อรวมกันแล้วเป็นแสนล้าน ที่เห็นชัดเจนคือ ความมั่นใจของผู้ลงทุน ถ้าไม่สร้างระบบป้องกันปัญหานี้ โครงการใหญ่อื่นๆ ที่สร้างขึ้นก็จะถูกทำลายซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ เขตอุตสาหกรรม เขตชุมชนเมือง

ความเดือดร้อนของคนจำนวนมากไม่ใช่ปัญหาการเมือง แต่เป็นปัญหาของชาติ ไม่ว่าปัญหานั้นจะตกทอดไปถึงยุคใด หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องแก้ปัญหาให้ได้ พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ มีแนวพระราชดำริไว้ให้แล้ว

ผู้มีอำนาจ มีหน้าที่ จะต้องสานต่อเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ผู้นำการบริหารประเทศ ต้องตัดสินใจเดินหน้าโครงการน้ำให้ทันการณ์