มุกดา สุวรรณชาติ : น้ำ…โครงการเร่งด่วน อันดับแรก ปัญหาประเทศ…ไม่ใช่ปัญหาการเมือง (1)

AFP PHOTO / BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRAT / HO

โครงการเกี่ยวกับน้ำถือเป็นความเป็นความตายของประเทศเป็นความเร่งด่วนอันดับแรก ด่วนกว่าทางด่วน รถไฟความเร็วสูง เรือดำน้ำ รถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสี รวมกัน และควรวิจารณ์มากกว่าเรื่องไปฮาวาย ไม่ว่าการเมืองในระบบและเหนือระบบจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ถ้าไม่เตรียมการเรื่องน้ำตั้งแต่วันนี้ อีกไม่กี่ปีเดือดร้อนแน่

เพราะการขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วมหมายถึงการล้มของภาคการเกษตร ถ้าหนักมากก็กระทบภาคอุตสาหกรรม และบริการ เช่น โรงแรมที่ต้องใช้น้ำ

และถ้าขาดแคลนน้ำสะอาดมากขึ้น จะขาดแคลนน้ำประปาซึ่งปัจจุบันระบบประปามีอยู่เกือบทุกตำบลทุกเมือง แต่แหล่งน้ำสะอาดมิได้มีอุดมสมบูรณ์ทุกแห่ง การขาดแคลนน้ำบริโภคอุปโภคมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในหน้าแล้ง แต่ถ้าหากเกิดน้ำท่วมและน้ำสกปรกท่วมเข้าไปในแหล่งเก็บน้ำที่ทำประปาก็จะเกิดปัญหาเช่นกัน

คนในภาคกลางและ กทม. จะหวังว่าน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาต้องสะอาดตลอดไป ในอนาคตยังเป็นเรื่องไม่แน่นอนเนื่องจากมีผู้อาศัยอยู่ต้นน้ำมากขึ้นทุกที และส่วนใหญ่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย การเตรียมการล่วงหน้าเรื่องแบบนี้จึงเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะบริหารประเทศ

โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านจะถูกล้มไปแล้ว แต่จะต้องมีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจัดการกับเรื่องที่จำเป็นอันนี้อย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นความเสียหายระดับแสนล้านจะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง

ปัญหาน้ำ…ต้องคาดการณ์ล่วงหน้า

IPCC (Intergovernmental Panel Climate Change) ได้ประเมินว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1-6.4 องศาเซลเชียสในอีกร้อยปี นับจากปี 2544-2643 และจะเกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง (Extreme Weather)

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในด้านพิบัติภัยธรรมชาติ ได้พยากรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ไว้ตั้งแต่ปี 2550 ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องเผชิญกับความแปรปรวนและพิบัติภัยธรรมชาติ

ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูกาลของบ้านเราเปลี่ยนแปลง ทำให้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไป คือจะตกก็ตกเยอะเลย บางทีตกมากกว่าทั้งปีในอดีตรวมกัน พอตกมาแล้วก็จะทิ้งช่วง โดยเฉพาะในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา แต่ในอนาคตอีก 30 ปีถัดไปนี้ ฝนในบ้านเราจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 11-15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเกิดแผ่นดินถล่มและน้ำท่วม

แม้หลักธรรมชาติดูแล้วจะบริหารน้ำได้ง่ายๆ แต่ความเป็นจริง การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนแล้วได้น้ำไปกักเก็บ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะช่วงท้ายฤดู อาจมีพายุเข้ามากหรือน้อยกว่าที่คาด

ถ้าเก็บน้ำเอาไว้ช่วงต้นฤดูมาก ฝนมาปิดท้ายเยอะ ก็ล้น ต้องระบายแบบปี 2554 ถ้าไม่เก็บเผื่อไว้ช่วงท้ายฝนมาน้อย แล้งหน้าก็จะไม่มีน้ำใช้

อย่า…เอาน้ำมาเล่นการเมือง
ใช้เล่นสงกรานต์ก็พอแล้ว

หลักการแก้ปัญหาอุทกภัยทั่วไปคือ…ป้องกัน…เตรียมการ…แก้ปัญหาช่วงวิกฤตน้ำท่วม…ประเมินความเสียหายและให้ความช่วยเหลือหลังน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ทุกปี แต่ปีนี้อาจมีขั้นตอนพิเศษคือมีการฟ้องรัฐบาลว่า ไม่ดูแลจัดการปัญหาเรื่องน้ำอย่างเหมาะสม

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้ส่งหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อแจ้งให้ทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีมีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการเก็บกัก ควบคุม ระบาย

หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยในปี 2554

มีคนเถียงกันว่า
รัฐบาลอภิสิทธิ์หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์

จะต้องรับผิดชอบ

ในความเห็นของทีมวิเคราะห์มองว่าการฟ้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นปัญหาการเมืองมากกว่า เรื่องนี้มีคนไปฟ้องศาลปกครองมาแล้วและศาลปกครองก็ยกฟ้อง แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ เป็นการสรุปบทเรียนจะพบว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับกลางและผู้คุมนโยบาย ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยเกินไป

เริ่มตั้งแต่น้ำท่วมปี 2553 ไม่มีใครเตรียมรับมือ เพื่อต่อสู้กับภัยพิบัติจากธรรมชาติ เพราะช่วงปี 2551-2553 มีแต่การต่อสู้ทางการเมืองของคนกับคน เกิดม็อบช่วงกลางปี ทั้งปี 2551 ปี 2552 และปี 2553

พอถึงช่วง 10 ตุลาคม-14 ธันวาคม 2553 ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ใน 39 จังหวัด 425 อำเภอ มีทั้งน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม คนสองล้านครอบครัวเดือดร้อน ความเสียหายกินพื้นที่กว้างเกือบ 8 ล้านไร่ หลายประเทศได้ส่งสารแสดงความเสียใจมาประเทศไทย

ครั้งนั้นคนไทยคิดว่าร้ายแรงมากแล้ว…แต่อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ.2554 หนักกว่ามาก กินพื้นกว่า 150 ล้านไร่ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน 65 จังหวัด 684 อำเภอ

อุทกภัยครั้งนี้เป็นอุทกภัยร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

ประเทศไทยมีระบบป้องกันทุกเรื่องอ่อนแอ ไม่มีรัฐบาลไหนไปสนใจหยิบเรื่องแบบนี้มาเป็นนโยบายใหญ่ ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีปัญหาการเดินขบวนชุมนุมของคนเสื้อแดง รัฐบาลก็ไม่คิดเรื่องอื่นอยู่แล้ว ยิ่งสลายการชุมนุมแล้วมีคนตายปัญหายิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ พอตั้งตัวได้ยุบสภาก็ต้องมีการเลือกตั้ง

ถ้าจะบอกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีความผิดก็ต้องให้เหตุผลว่า

เมื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งแม้ไม่เคยเข้ามาสู่วงการเมือง แต่ต้องเตรียมการเป็นนายกฯ ต้องคิดล่วงหน้าว่าจะได้เป็นนายกฯ เมื่อได้เป็นนายกฯ ก็ต้องมีนโยบายเรื่องน้ำ จะไปคิดแค่เรื่องนโยบายจำนำข้าว นโยบายค่าแรง 300 บาทไม่พอ ทำไมไม่คิดเรื่องน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าตั้งแต่หาเสียง

แม้ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน การไม่คิดเรื่องนี้ถือเป็นความผิด (นี่ไม่ได้พูดประชด ถือเป็นความผิดของคนคิดนโยบายจริงๆ เรื่องใกล้ตัวแต่มีผลทั้งประเทศขนาดนี้พรรคเพื่อไทยไม่คิดแล้วจะไปหวังให้ใครคิด แต่ถ้าคิดแล้วถูกขัดขวางไม่ได้ทำจะไม่มีความผิด) หลังน้ำท่วมแล้วมาคิดโปรเจ็กต์น้ำ 3.5 แสนล้านก็สายเกินไปแล้วเพราะถูกขัดขวางจนเดินหน้าไม่ได้

ปัญหาน้ำท่วมในช่วงปี 2553 และ 2554 จึงเป็นบทเรียนที่จะต้องแก้ปัญหาน้ำอย่างจริงจัง แต่ปรากฏว่าหลังจากโครงการน้ำถูกขัดขวางจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เห็นมีวี่แววว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด

จากน้ำท่วมใหญ่ จนถึงบัดนี้ 5 ปีเต็ม ไม่มีโครงการบริหารน้ำเกิดขึ้นเลย ไม่มีใครไปขออนุญาตศาลทำโครงการน้ำ ถ้าน้ำท่วมใหญ่ ม.44 ก็บังคับน้ำไม่ได้

ย้อนมาดูหาสาเหตุ เพื่อสรุปบทเรียน
และเพื่อเตรียมป้องกัน ก็พอสรุปได้

1. สาเหตุจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติตามฤดูกาล

กรมชลประทานประเมินว่าประเทศเราจะมีปริมาณน้ำฝนตามปกติ 750,000-800,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่จะเหลือน้ำบนผิวดิน เพียง 200,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ สามารถเก็บน้ำได้เพียง 76,000 ล้าน ลบ.ม. (ซึ่งไม่พอใช้ตลอดปี) เราก็ต้องปล่อยน้ำไหลลงทะเล มากกว่าปีละ 100,000 ล้าน ลบ.ม. น้ำท่วมก็คือน้ำส่วนนี้

คาดว่าสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนในปี 2554 นี้ เพราะพายุใหญ่ที่พัดเขาสู่เมืองไทยหลายลูกติดต่อกัน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนภาคเหนือและอีสานตอนบน มากกว่าปกติ เกิดน้ำท่วมภาคเหนือ ตั้งแต่ปลายพฤษภาคมถึงมิถุนายน และขยายไปถึง 20 จังหวัด ในปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม

แต่เหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง

2. สาเหตุเนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อน

เขื่อนที่มีผลเกี่ยวข้องกับน้ำท่วม 2554 มี 3 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีความจุในการเก็บน้ำ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ เก็บน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไม่ได้ใช้ผลิตไฟฟ้า มีความจุเพียง 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี การปล่อยน้ำหรือเก็บน้ำของทั้ง 3 เขื่อนนี้ จะมีผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

เขื่อนขนาดใหญ่ในบ้านเราที่จริงมีหน้าที่เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้า 18 แห่ง ถ้าเขื่อนสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้อย่างเหมาะสมก็จะมีประโยชน์ต่อการผลิตไฟฟ้าและการชลประทานในพื้นที่เกษตรใต้เขื่อน

แต่ถ้าเก็บน้ำไว้มากเกินไปและมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทุกเขื่อนก็จำเป็นต้องระบายน้ำทิ้งออกมาซึ่งจะมีผลทำให้น้ำล้นตลิ่งและท่วมสองฝั่งของแม่น้ำในพื้นที่ใต้เขื่อน

หลังน้ำท่วม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บอกว่า การระบายน้ำจากเขื่อนไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วม โดยอ้างการปล่อยน้ำจากเขื่อนในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ว่า เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำออกรวมกันวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคิดเป็น 16.7% ของน้ำที่ไหลผ่านนครสวรรค์

สิ่งที่ กฟผ. อ้าง เป็นเหตุการณ์หลังจากน้ำท่วมมาเกือบเดือนแล้ว แต่ในช่วงวิกฤตเฉพาะเขื่อนภูมิพลเขื่อนเดียวก็ปล่อยน้ำวันละเกือบ 100 ล้าน ลบ.ม. สองเขื่อนก็ไม่ต่ำกว่า 150 ล้าน ลบ.ม. กฟผ. ยังอ้างว่ามีการบริหารจัดการน้ำด้วยเกณฑ์ระดับน้ำควบคุม ซึ่งมีเส้นควบคุมน้ำตัวบนและเส้นควบคุมน้ำตัวล่าง คือสรุปว่าถ้ากำหนดให้มีการรักษาน้ำอยู่ในช่วงนี้ ตามเวลาแต่ละเดือนก็จะไม่มีปัญหา

แต่ถ้าเราย้อนดูในปี 2553 กฟผ. ก็ใช้ระบบควบคุมน้ำแบบนี้ แต่กักเก็บไว้น้อยกว่าปี 2554 เมื่อฝนมาก็ระบายน้ำออกตั้งแต่ต้นฤดูฝน แม้กระนั้นน้ำก็ยังท่วม

พอถึงปี 2554 ปริมาณน้ำฝนมากเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม แต่กลับระบายน้ำออกจากเขื่อนน้อยมากๆ ในช่วงต้นฤดู ปริมาณน้ำในเขื่อนจึงมีมากกว่าทุกปี

พอถึงเดือนมิถุนายน ก็สูงถึง 60% แล้ว พอมีพายุเข้าตลอด 3 เดือนคือ กรกฎาคม, สิงหาคม, กันยายน น้ำก็ต้องล้นเขื่อน แม้คิดจะระบายก็สายไปแล้ว เพราะปริมาณน้ำมาก ทั้งเหนือเขื่อน ใต้เขื่อน เมื่อจำเป็นต้องระบายก็เกิดน้ำท่วมใหญ่

คำถามคือ กฟผ. และคณะอนุกรรมการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เคยพิสูจน์บ้างหรือไม่ว่าเส้นควบคุมน้ำทั้งตัวบนตัวล่าง มันยังใช้ได้ ในสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป (เข้าใจว่าตอนนี้น่าจะปรับปรุงแล้ว)

จะทำอย่างไร?

คงไม่มีนายกฯ คนไหนลงไปดูว่าระดับน้ำในเขื่อน ถ้ายังไม่เกิดปัญหาขึ้น

สภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ปี 2554 คือ ในเดือนพฤษภาคมที่ฝนเริ่มมามากขึ้นก็มีการประกาศยุบสภา ทั้งรัฐบาลเก่าของอภิสิทธิ์ที่กำลังจะไปและรัฐบาลใหม่ของเพื่อไทยที่กำลังจะมา ก็ไปโรมรันพันตูกันอยู่บนเวทีการเมือง ระดับน้ำในเขื่อนคงต้องปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายประจำ

กว่าจะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ก็เริ่มมีน้ำท่วมบางแห่งแล้ว ทำให้บางหน่วยเลือกตั้งมีปัญหา กว่าจะรับรอง ส.ส. เสร็จก็สิ้นเดือนกรกฎาคม พอตั้งรัฐบาลเสร็จก็ปลายเดือนสิงหาคม ถึงตอนนั้นนายกฯ อภิสิทธิ์ก็จากไป โดยไม่รู้ว่าระดับน้ำสูงต่ำเท่าไร นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็เข้ามารับตำแหน่ง โดยไม่รู้ระดับน้ำเช่นกัน

มหาอุทกภัย 2554 ได้ชี้จุดอ่อน, ทดสอบระบบการป้องกัน การคาดการณ์และเฝ้าระวัง การตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญ การแก้ปัญหาภัยพิบัติ, ทดสอบความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ, ทดสอบความเข้มแข็งของระบบสังคมของไทยตั้งแต่ระดับประเทศ ชุมชน และครอบครัว และทดสอบความแข็งแกร่งของแต่ละคน

สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน…คือสรุปปัญหา และหาทางป้องกัน รีบทำโครงการป้องกันแบบถาวร ถ้าขืนช้า ถนนลูกรังที่มีคนไปนั่งอาบน้ำกลางถนนจะหมดไปจริงๆ เพราะอุทกภัยใหญ่ถูกคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดทุก 2-3 ปี

จะทำอย่างไร ทำโครงการแบบไหน (ต่อตอนหน้า)