อภิญญ ตะวันออก : แม้ ‘ฮุน เซน’ ชนะเลือกตั้ง แต่ฝันร้าย ‘ไอซีซี’ ยังตามหลอกหลอน

ย้อนไป 5 ปีก่อน ตอนฉันฟันธงว่าพรรคสงเคราะห์เชียด (กู้ชาติ) นายสัม รังสี และกึม สกขา จะชนะเลือกตั้ง ผลก็ออกมาตามนั้น ถ้าไม่มีเหตุไฟดับระหว่างนับคะแนนเขตเสียมเรียบ พระตะบอง ฯ และรุ่งสางวันถัดมา หน้าที่ทำการพรรคสงเคราะห์เชียดที่กำลังประกาศชัยชนะ กลับจำยอมรับความพ่ายแพ้

แต่การจำยอมและคาดการเลือกตั้งสมัยหน้าจะนำพาชัยชนะมาให้นั้นก็จบลงอย่างที่ทราบ และว่า ทำไมสมเด็จฯ ฮุน เซน จึงกล้าเล่นเกมทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างขุดรากถอนโคน

แต่กระนั้นก็ไม่มีวันที่คนกลุ่มนี้จะยอมแพ้

จากนั้นขั้วปฏิปักษ์ก็หันมาเอาคืน ตั้งแต่ประกาศอายัดทรัพย์สิน 12 นายพลคนใกล้ชิดสมเด็จฯ ฮุน เซน และตามมาด้วยกลุ่ม “ออกญา” นอมินีตัวหลักที่ค้ำบัลลังก์ระบอบฮุน เซน ด้วยอำนาจเงินทุนมหาศาล หากแต่ปฏิบัติการแรกๆ คือ ตรวจสอบทรัพย์สินผิดกฎหมายที่นำไปลงทุนในต่างแดน เช่นเดียวกับลำดับว่าเครือญาติตะดอง (เขย, สะใภ้) โคตรวงศ์ และผู้ใกล้ชิดทุกฝ่าย ก็ล้วนแต่ถูกตรวจสอบในทางลับ

แต่กลับเปิดเผยชนิดที่ชวนให้คนเหล่านี้ไม่มีสุข เพราะไม่เว้นแม้แต่อสังทรัพย์ ในนามภริยาของคนตระกูลฮุน ก็ถูกนำมาสาวไส้ในที่นี้ แม้แต่ฮุน มาเนต-ทายาทก็อยู่ในข่ายเอาความผิดในฐานะผู้บังคับใช้นโยบาย

เห็นได้ชัดว่า นี่คือกระบวนการ “ขุดโค่น” ทั้งระบอบแบบป่าล้อมเมืองโดยการเล่นงานทุกจุดอ่อนและแข็งของสมเด็จฯ ฮุน เซน อย่างไม่ละเว้นและซึ่งหน้า

ทั้งนี้ หวังผลให้ “บองทม” ผู้มีอำนาจสูงสุดต้องถึงกาลอวสาน โดยไม่ว่าเขาจะชนะลากตั้งนี้ไปหรือไม่

แต่ดีเดย์หลังวันเลือกตั้ง 29 กรกฎาคมไปแล้ว เชื่อว่า มาตรการคาดโทษฮุน เซน และพวก จะล้ำลึก พิสดารและมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยวิเธียนการซึ่งเรียกว่า “ลงโทษหัวจักรกล” หรือ “ทารุณกรรมกบาลแมชชีน” เป้าหมายคือ สามารถทำให้บุคคลกลุ่มหนึ่งรวมทั้งสมเด็จฯ ฮุน เซน มีชะตากรรมแบบเดียวกับอดีตผู้นำเขมรแดง คือ “ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ” (ICC)

จากตลอด 2 ทศวรรษครึ่งซึ่งเชื่อกันว่าสมเด็จฯ ฮุน เซน อยู่เบื้องหลังของการสังหารและจองจำผู้ตกเป็นเหยื่อ

มากกว่าวิถีประชาธิปไตยคือ กระบวนไต่สวนหาความยุติธรรม

 

โอกาสนี้ ฉันขอพาย้อนไปราว 127 ปีก่อน ตอนที่ออกญานาเรนเสนา (เอก) พ่อเมือง (จวายสรฺ๊ก) ของเขต (จังหวัด) สมโบร์ ทำการฟ้องร้องเอาผิดต่อหัวหน้าพนอง-ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายหนึ่งซึ่งมีนามว่า “พนอง-องเกียด” ผู้มีฐานะเป็นหัวหน้าชนชาวพนองในภูมิ (หมู่บ้าน) ต่างๆ อาทิ ภูมิบู่เกลอ บู่ลา บู่เจือง และบู่โลก มีลำเนาที่ตั้งบริเวณที่ราบสูงของลุ่มน้ำซึ่งชนเผ่าเหล่านี้เรียกกันว่า “เซ”

ออกญานาเรนเสนาเอกกล่าวโทษพนอง-องเกียดว่า “สั่งให้ลูกเขยพร้อมกับพนองฉกรรจ์ 35 นาย ไปโจมตีชาวพนองอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีนามว่า “พนองอาญาอันดัก” หรือชนพนองของราชสำนัก ซึ่งตั้งอาศัยบริเวณภูมิสำโรงติดกระแจะและเขตกัญฌร

พนอง-องเกียดและพวก ยังได้ลักพาหญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่จำนวน 5 ราย ในที่นี้ “พวกเขายังสังหารพนอง 1 ราย เผาบ้านเรือน และปล้นเอาทรัพย์สินอันมีค่าจากภูมิแห่งนั้นจำนวนมาก”

โดยทั่วไป ในที่นี้มีการทราบกันดีว่า ออกญานาเรนเสนานั้นเป็นตัวแทน “อาญาทอร์” ต่างพระเนตรพระกรรณแห่งเจ้ากรุงกัมพูชาที่มีอำนาจเต็มขั้นถึงขั้นสั่งประหารชีวิตได้ (กรณีที่เกิดจากการพิจารณาคดีแล้ว)

บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งกระทำผิด (หรือไม่) ทั้งหมดนี้ ล้วนมีที่มาจากกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้ นอกจากตัวแทนออกญานาเรนเสนาแล้ว ยังมีเจ้าเมืองเขตกระแจะ คือออกญามนตรีจุน บุทธ์ หรือ “ออกญามนตรีชนบท” (ในที่นี้น่าจะมีรากมาจากคำว่า “ชน-บท”)

การไต่สวนทางกฎหมายจึงถือว่ามีตัวแทนของพระมหากษัตริย์ถึง 2 ออกญา ทั้งจากสมโบร์และกระแจะ

 

แต่สำหรับกฎหมายที่กล่าวกันว่าคือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่นำมาเป็นหลักการพัฒนาว่าความครั้งนั้น กำหนดให้จวายสรฺ๊กจะต้องตัดสินคดีโดยมีคณะ “เจ้ากรมการ” (ในที่นี้น่าจะใกล้เคียงกับคำว่าอัยการ) อันประกอบด้วย “นาหมื่น” หรือเจ้านายระดับรองลงมา มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง โดยในที่นี้ให้เรียกกันว่าคณะ “สุเภีย”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเหตุผลใดๆ ทั้งนาหมื่นหรือสุเภียกลุ่มนี้ ไม่มีสิทธิ์บงกราบ-ใช้กำลังต่อชาวพนอง ผู้ที่เดิมทีอาศัยกฎหมายประเพณีพื้นถิ่นในการปกครองตนเองอย่างชัดเจน ทั้งชาวเขมร และชนเชียดต่างๆ อันเป็นมาแต่นานกาเล

หากแต่ต่อมานั่นเองที่มีพนองบางกลุ่มหันไปสนองการรับใช้พระมหากษัตริย์ ดังกลุ่ม “พนองอาญาอันดัก” ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นคนของราชสำนักไปด้วย จนนำมาซึ่งประเด็นการต่อสู้ทางกฎหมาย โดยมีออกญามนตรีชนบทและนาเรนเสนาเอก จึงต้องทำหน้าที่ไต่สวน อันเป็นที่สงสัยว่า

“แล้วการตัดสินใจของคณะตุลาการเขมรนี้ เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่?”

ดังรายงานของผู้แทนบารังเขตสมโบร์ที่มีไปถึงผู้แทนระดับสูงแห่งรัฐบาลอินโดจีน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ไซ่ง่อน (สำนักหอสมุดเขมร : 10 เมษายน ค.ศ.1891) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยแฝงด้วยความเห็นว่า

“ชาวพนองไม่ถือเป็นบุคคลภายใต้กฎหมายรัฐประเวณีแขฺมร์ แม้ว่าโดยที พวกเขาอาจจะเข้าใจกฎหมายปกครองนี้ เนื่องจากอาศัยบริเวณปริมณฑลเดียวกัน”

 

รายงานฉบับนี้ (*)เปิดกว้างให้เรามองเห็นความสัมพันธ์อันทับซ้อน ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์พนอง ที่พบว่า มีแต่พนองสำโรงหรือพนองอาญาอันดักเท่านั้น ที่อยู่ภายใต้อาณัติปกครองของราชอาณาจักรกัมโพช ส่วนพนอง-องเกียดนั้น ยังคงรักษาธรรมเนียมปฏิบัติในแบบของตน

นั่นคือ “การถือสัจวาจาในการค้าและดำรงชีพ” และหากจะว่าไปแล้ว กรณีคดีปล้น ฆ่า และริบเอาประชาชนของฝ่ายหนึ่งมาเป็นของตนโดยหัวหน้าพนอง-องเกียด หากถือตามสิทธิ์อำนาจในหมู่พนองด้วยกันแล้ว เรื่องนี้จะไม่ถูกนำไปดำเนินคดีได้เลย

และถึงจะเป็นคดี หัวหน้าพนองทั้ง 2 กลุ่มจะไต่สวนกันเองด้วยศาลประเวณีในแบบของตน หากแต่ไม่ได้ถูกหยิบยกมาร่วมวินิจฉัยในการไต่สวนดังกล่าว

ทั้งนี้ น่าสนใจว่า สำหรับ “ขอบเขตอำนาจเฉพาะตน” ตามความเห็นของชาวบารังนั้น มีที่มาจากการที่พวกเขาให้ความสำคัญต่อระบอบตัวแทนอำนาจ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ในเชิงการปกครองในแบบของฝ่ายตนหรือไม่?

เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่า ทั้งเขตกระแจะและสมโบร์แห่งนี้ เป็นที่ตั้งสถานีส่วยอากร ตลอดจนค่ายทหารของทางการฝรั่งเศสในยุคบุกเบิกอีกด้วย

โดยการกำหนดปริมณฑล สิทธิของประชากร และอำนาจเต็มในแต่ละเขตเหล่านี้ ล้วนเป็นประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ในทั่วทุกอาณาจักรอันนัม กัมพูชาและลาวแต่แรกที่เริ่มทำการสำรวจ

แต่ไม่ว่าเช่นใด การพิจารณาคดี ที่ว่าความโดย “ออกญานาเรนเสนา” นี้ได้จบลงที่ ให้หัวหน้าพนอง-องเกียด “ชดใช้ค่าเสียหายนานาต่อพนองอาญาอันดัก ผ่านทางเจ้าเมืองสมโบร์ ซึ่งก็คือท่านออกญานาเรนเสนาเอกนั่นเอง”

จึงนับเป็นเรื่องยากที่การพิจารณาคดีจะมีความเป็นกลาง โดยมิลำเอียงไปทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะฐานะของผู้ปกป้องผลประโยชน์ในฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นพนองราชสำนัก และฝ่ายจำเลยซึ่งคือพนอง-องเกียด

ด้วยประโยชน์จากภาษีส่วยและการค้านี่เองที่พบว่า ออกญานาเรนเสนาได้ซื้อช้างป่าหลายตัวจากพนอง-องเกียด ตัวแทนชาวพนองภูมิอื่นๆ รวมทั้งการยุติแลกเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นสมบัติซึ่งกันในลักษณะทาส

 

ขณะที่สถานการณ์ยุคสมเด็จฯ ฮุน เซน ปัจจุบันกลับเผชิญหน้ากับการแทรกแซงโดยต่างชาติ ต่อกรณีที่ตนเหยียบย่ำกฎหมายรัฐประเวณีที่มีต่อพลเมืองของประเทศทุกระดับ

มองจากแง่งามในกระบวนการยุติธรรมที่เคยมีพัฒนาการจากอดีต หรืออย่างน้อยก็ล่วงมาแต่ศตวรรษก่อน ที่ชาวชนชียดเคยร่วมประสบการณ์แห่งการไต่สวนหาความยุติธรรม

ใกล้สุดกว่านั้นคือ คดี 002 ของอดีตผู้นำเขมรแดง ที่พบว่ามีชาวชนเชียดจำนวนไม่น้อยได้รับการปฏิบัติอย่างกึ่งเท่าเทียม

หากแต่อนาคต ศาลอาญาระหว่างประเทศกรุงพนมเปญเปิดการไต่สวนคดีใหม่ ที่มีฮุน เซน และพวกเป็นจำเลย ณ วันหนึ่ง เชื่อว่าจะมีชาวชนเชียดทั้งในสมโบร์ กระแจะ และทั่วประเทศพากันออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อการถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ที่แม้แต่ยุคค้าทาส 127 ปีก่อน ก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับยุคนี้

———————————————————————————————————————
(*) Affaire oppposant l”Oknha Nearin Sena Ek et le Pnong Ang Kiet, 1891. Etude juridique par Mathieu GUERIN.