ต่างประเทศอินโดจีน : การต่างประเทศลาว

เมื่อพูดถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลายคนมักนึกถึงประเทศที่ “ไม่มีทางออกทะเล” ประเทศที่ยากจนที่สุด และพัฒนาน้อยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

เราอาจนึกถึงประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการชี้นำของเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างจีน

เรามักคิดเช่นนั้น โดยไม่คิดที่จะตั้งคำถามว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

และสถานการณ์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยหรือ?

ตัวอย่างเช่น จีน ไม่ได้มีอิทธิพลและไม่เคยมีอิทธิพลเหนือลาวชนิดสามารถครอบงำและชี้นำ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีเหตุผลทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และในทางปฏิบัติในปัจจุบันอีกด้วย

ผู้ที่เชื่อว่าลาวตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีน อาจไม่เคยรู้จักคนอย่าง ไกสอน พมวิหาร ว่ามีบิดาเชื้อสายเวียดนาม มารดาเป็นลาว ได้ชื่อเวียดนามตั้งแต่แรกว่า เหวียน ไก ซง เติบใหญ่และร่ำเรียนอยู่ในกรุงฮานอยตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเวียดมินห์ที่เคยบุกเข้ามาพยายามขับไล่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสแต่ไม่ประสบผลสำเร็จในปี 1953

หลายปีต่อมา ไกสอน พมวิหาร ก่อตั้งพรรคปฏิวัติประชาชนลาวขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และสามารถยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จในปี 1975

ท้าวไกสอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลาวตั้งแต่ปีนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 1991

เวียดนามจึงมีอิทธิพลต่อลาวสูงกว่าจีนมาก ชนิดที่ว่าจวนเจียนจะทำให้สองประเทศทำสงครามซึ่งกันและกันมาแล้วในทศวรรษ 1980 สืบเนื่องจากลาวประกาศท่าทียืนอยู่ข้างเวียดนามใน “สงครามชายแดน” ระหว่างเวียดนามกับจีนในปี 1979 กว่าความสัมพันธ์ระหว่างลาวกับจีนจะกลับคืนสู่สภาพอบอุ่นได้อีกครั้งก็ต้องรอจนถึงทศวรรษ 1990 เลยทีเดียว

ในทางเศรษฐกิจ เรามักเข้าใจเอาว่าจีนหอบเงินไปลงทุนในลาวสูง ทำให้มีอิทธิพลมากตามไปด้วย ในข้อเท็จจริงกว่าจีนจะกลายเป็นชาติที่ลงทุนสูงสุดในลาวก็ต้องรอจนถึงปี 2013

ก่อนหน้านั้นชาติที่เข้าไปลงทุนในลาวคิดเป็นมูลค่าสูงสุดคือเวียดนามนั่นเอง

ในอีกทางหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติลาวครั้งที่ 10 ที่มีขึ้นเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ มีแกนนำพรรค “สายจีน” หลายคนมากพ้นจากตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของอดีตรองนายกรัฐมนตรีอย่าง สมสะหวาด เล่งสะหวัด หนึ่งในคนที่ “รวยที่สุด” ของลาว พูดจีนกลางได้คล่องปรื๋อ และได้ชื่อว่าเป็นแกนนำสายจีนทั้งในพรรคและรัฐ

แกนนำที่เป็นสายจีนอีกคนอย่าง บัวสอน บุปผาวัน อดีตนายกรัฐมนตรีก็พ้นจากวงจรอำนาจไปตั้งแต่ในการประชุมใหญ่พรรคในปี 2010

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าลาวจะหันหลังให้จีนโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อลาวยืนกรานที่จะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” แม้แต่เวียดนาม ก็ป้องกันไม่ให้ลาวสร้างสารพัดเขื่อนขวางลำน้ำสาขาของแม่โขงทั้งหลายด้วยเงินทุนของจีนได้

มาร์ติน สจวร์ต-ฟ็อกซ์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ชี้ว่า ในทางตรงกันข้ามกับความคิดเห็นทั่วไป ลาวต่างหากที่ใช้ทั้งจีนและเวียดนามถ่วงดุลซึ่งกันและกันมาตลอด “การทำอย่างนี้ถือเป็นดีเอ็นเอของลาวเลยทีเดียว”

ในขณะที่นักวิชาการอย่าง เอียน แบร์ด จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ชี้ว่าลาวมองกรณี “เขื่อน” นี้ว่าเป็น “สัญญาณของการเป็นอิสระ” ของตน และเป็นความพยายามของลาวในการแสวงหา “หุ้นส่วน” และ “การลงทุน” ที่หลากหลายออกไปจากเดิม

ข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญของการต่างประเทศลาวที่ว่านี้คือ การที่บริษัทต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในลาวในเวลานี้ ไม่ได้มาจากจีนหรือเวียดนาม แต่เป็น “โกลาว โฮลดิ้งส์” สัญชาติเกาหลีใต้

การต่างประเทศลาวนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างชัดเจน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี, 10 ปี และ 15 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบออกมาเมื่อเมษายนนี้ ลาวตั้งเป้าเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีจาก 1,970 ดอลลาร์ (ราว 67,000 บาท) เป็น 3,190 ดอลลาร์ (ราว 108,000 บาท) ภายในปี 2020 และถ้าเศรษฐกิจลาวยังขยายตัวในระดับเกินกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีต่อไป

ภายในปี 2030 ลาวจะกลายเป็นประเทศ “รายได้ปานกลางระดับสูง” เท่าเทียมกับเพื่อนบ้านอาเซียนในเวลานี้

(ภาพ-Xinhua/Wang Shen)