เคนเนธ เซิ่ง ผู้ปรากฏตัวก่อนการดีเบตประธานาธิบดีสหรัฐ

คนที่จะขึ้นไปยืนบนเวที “ดีเบต” ของสหรัฐอเมริกานั้นกำลังจะกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลกในอนาคต

ทว่า ก่อนที่ “ว่าที่” ประธานาธิบดีสหรัฐจะก้าวขึ้นเวทีในการดีเบตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม หรือช่วงเช้าของวันที่ 10 ตุลาคม ตามเวลาประเทศไทย เวทีนั้นตกเป็นของนักศึกษาจากภูมิภาคอาเซียนที่มีชื่อว่า “เคนเนธ เซิ่ง”

เซิ่ง นักศึกษาจากสิงคโปร์วัย 24 ปี เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี กล่าวเปิดการ “ดีเบต” รอบที่สองระหว่าง ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน การดีเบตซึ่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

เซิ่ง ในฐานะประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย ก้าวขึ้นสู่เวทีพร้อมเสียงปรบมือกึกก้อง ก่อนกล่าวต่อหน้าฝูงชนถึงต้นกำเนิดของ “สหรัฐอเมริกา” ภายใต้อุดมการณ์ของ “อับราฮัม ลินคอน” ในการมีรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

“นับตั้งแต่นั้นการทดลองทางประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ลุกลามเหมือนไฟป่าไปเกือบทั่วทุกมุมโลก…รวมไปถึงสิงคโปร์ บ้านของผม” เซิ่งระบุ

เซิ่งระบุด้วยว่า รัฐบาลประชาธิปไตยในทุกวันนี้ถูกกัดกร่อนโดยผู้ที่มีวิสัยทัศน์ต่อโลก ต่ออำนาจ และต่อความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อประชาชน ซึ่งแตกต่างกันออกไป

เซิ่ง ระบุถึงการ “ดีเบต” ด้วยว่า “เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าแม้ประชาชนจะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง แต่ประชาชนก็เห็นพ้องที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย”

และยังกล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมีขึ้นด้วยว่า “ประชาชนทั่วประเทศจะลงคะแนนเสียงและแสดงให้โลกเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นอุดมคติที่ลุกโชนสว่างไสวในความมืดมิด”

การปรากฏตัวของเซิ่งต่อหน้าผู้ชมการถ่ายทอดสดกว่า 60 ล้านคน ได้รับเสียงชื่นชมจาก นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยนายลี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นนักศึกษาศิษย์เก่าจาก “โรงเรียนจูร่ง จูเนียร์ คอลเลจ” ผู้นี้ทำหน้าที่สำคัญ และรู้สึกยินดีที่เซิ่งกล่าวถึงสิงคโปร์ในฐานะ “บ้าน”

เซิ่ง นักศึกษาเอกเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระบุกับเว็บไซต์เดอะสเตรตไทม์ของสิงคโปร์ก่อนหน้านี้ว่า ตนรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เมื่อได้รู้ว่าจะต้องทำหน้าที่ดังกล่าว

เนื่องจาก “เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยที่สภานักศึกษาเลือกนักศึกษาต่างชาติเป็นประธาน และในปีนี้มหาวิทยาลัยยังได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการดีเบต ผมจึงรู้สึกถึงความรับผิดชอบและหน้าที่ที่มีต่อนักศึกษาที่เลือกผมมา รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อประชาคมนานาชาติด้วย” เซิ่งระบุ

แม้ว่าเซิ่ง นักเรียนทุนจากคณะกรรมการบริการด้านสาธารณะ หน่วยงานราชการของสิงคโปร์ จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ในฐานะประธานสภานักศึกษา ตนมีหน้าที่ในการเพิ่มความมีส่วนร่วมทางการเมืองในมหาวิทยาลัย เช่น การตั้งงบประมาณสำหรับนักศึกษาที่จะนำไปจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งรวมไปถึงการจัดกิจกรรมดีเบตระหว่างนักศึกษาผู้สนับสนุนสองพรรคด้วย

ก่อนหน้านี้ เซิ่งให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเอาไว้ว่า หลังจากพยายามตั้งสมาคมนักศึกษาสิงคโปร์ ตนเห็นว่ากระบวนการจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยนั้นไม่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ตนจึงตัดสินใจลงสมัครประธานสภามหาวิทยาลัย

เซิ่ง ที่เรียนเป็นปีสุดท้ายแล้วระบุว่า ตนจะนำประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยกลับมาใช้กับงานบริการสาธารณะของสิงคโปร์

“และจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไปเท่าที่จะสามารถทำได้” เซิ่งระบุ