อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ครึ่งหนึ่งของชีวิต “ความรักและความกรุณา”

ครึ่งหนึ่งของชีวิต ตอน2

 

ในวรรณกรรมอินเดียและในพุทธศาสนาที่ถือกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ถ้อยคำที่ใช้เรียกขานความรักถ้อยคำหนึ่งคือคำว่า “ลลิตา”

อันเป็นถ้อยคำเดียวกับคำว่า “ลีลาศ” คือการเริงร่ายเต้นรำเป็นจังหวะร่วมกัน คู่รักจับคู่เต้นรำ คู่รักจับคู่เริงร่าย และคู่รักจับคู่เคลื่อนไหวเป็นจังหวะร่วมกัน

จากคำศัพท์ดังกล่าวเราจะพบว่าความรักในความหมายนี้เริ่มขึ้นจากการมีคู่เต้นรำเป็นของตนเอง

ความรักในความหมายนี้จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว และความรักในความหมายนี้จำเป็นต้องมีจังหวะจะโคนและท่วงทำนองเฉพาะตน

เงื่อนไขทั้งสามบ่งบอกให้เห็นว่าความรักไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยลำพัง

ความรักไม่อาจเกิดขึ้นได้ในตัวของมันเอง จำเป็นจะต้องมีผู้รักและผู้ถูกรักที่สลับตำแหน่งกันไปมา

ความรักจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว การหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่อาจทำให้ความรักดำรงอยู่ได้ และความรักจำเป็นต้องมีท่วงทำนอง

สิ่งใดที่ดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ สิ่งใดที่ดำเนินไปอย่างไร้ท่วงทำนอง สิ่งนั้นไม่อาจให้กำเนิดความรักได้

เงื่อนไขทั้งสามคือคู่ การเคลื่อนไหว และการมีจังหวะทำนอง คือเงื่อนไขสำคัญที่สุดแห่งรัก

 

การพิจารณาเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เราได้แง่คิดเกี่ยวกับความรักที่น่าสนใจ

คู่รักที่เป็นผู้รักแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่เคยได้รับความรักตอบไม่อาจสร้างสรรค์ความรักได้ และคู่รักที่เล่นบทเป็นผู้ถูกรักโดยไม่คิดจะเปิดใจรักใครก็ไม่อาจสร้างสรรค์ความรักได้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น การยุติทุกสิ่งไว้กับที่ ไม่ปล่อยให้ความรักเคลื่อนไหว ความรักก็จะถึงจุดจบในไม่ช้า

ความรักต้องการการเติบโต ความรักต้องการเห็นความเบ่งบานของอีกฝ่าย ในพื้นที่ลีลาศ คู่เต้นที่หยุดอยู่กับที่จะทำให้อีกฝ่ายเสียจังหวะ

และยิ่งไปกว่านั้น หากอีกฝ่ายแข็งฝืนตนเองไม่เคลื่อนไหว คู่เต้นคงไม่อาจทำสิ่งใดได้นอกจากการออกแรงฉุดกระชากลากถูอีกฝ่ายให้เป็นไปตามใจตน

การออกแรงฉุดกระชากลากถูโดยไม่ใส่ใจว่าเพราะเหตุใดอีกฝ่ายจึงหยุดยั้งตนเองอยู่กับที่มีแต่จะทำให้ทั้งคู่ต้องประสบกับความเจ็บปวด ฝ่ายที่ออกแรงฉุดกระชากเพิ่มน้ำหนักแห่งการบังคับขึ้นทุกขณะจิต

ฝ่ายที่ไม่เคลื่อนที่ออกแรงฝืนจนกล้ามเนื้อเจ็บปวด ในที่สุดทั้งคู่ไม่ได้ร่ายรำอีกต่อไป หากแต่กลับกำลังออกแรงทรมานคู่เต้นของตนอย่างไม่หยุดหย่อน

ไม่ช้าก็เร็ว ต่างฝ่ายต้องบาดเจ็บ หมดเรี่ยวแรง มีบาดแผล โกรธและเกลียดชังซึ่งกันและกัน

ความรักในรูปแบบนี้จบลงที่ความเกลียดชังและแปรสภาพจากความรักเป็นความอาฆาตแค้น

 

กระนั้นสองเงื่อนไขแรกที่แม้จะฟังดูยากเย็นแต่ก็เป็นสิ่งที่แก้ไขได้หากมีความตั้งใจเพียงพอ

คนที่ไม่อาจค้นหาคนรักของตนได้เจอ อาจค้นพบตัวตนอีกแบบในตนเอง

และตกหลุมรักตนเองในแง่ของการพัฒนาศักยภาพของบุคคลอีกบุคคลหนึ่งในตนขึ้นมาได้

ถ้อยคำที่ว่า “การรักตนเอง” เป็นเช่นนั้น

เราค้นพบว่าเราสามารถอ่อนโยนกับตนเองได้

ไม่เคี่ยวกรำตนเองไปสู่จุดที่นำพาปัญหาและความยุ่งยากทั้งปวงมาสู่เรา

มองเห็นคุณค่าด้านบวกของตนและปล่อยให้สิ่งนั้นเติบโต ทดแทนการทุ่มเทความรักให้กับบุคคลอื่น

เรากลับทุ่มเทให้กับศักยภาพส่วนตน และในที่สุดความรักก็ส่งผลที่มีค่าให้แก่ตัวเรา

ในเงื่อนไขแห่งการเคลื่อนไหว คู่รักที่หยุดอยู่กับที่ไม่ได้รับการถูกฉุดกระชากลากถูอีกต่อไป

อีกฝ่ายหยุดยั้งตนเองลงเช่นกัน สอบถามและไต่สวนถึงสาเหตุที่ทำให้คู่รักของตนไม่อาจเคลื่อนไหวและเริงร่ายได้อีกต่อไป

อะไรหรือที่ทำให้เขาหรือเธอเหน็ดเหนื่อยและอ่อนแอต่อการร่ายรำ

ความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือความเบื่อหน่ายต่อการลีลาศที่ดูเหมือนจะเคลื่อนที่ไปอย่างไม่มีค่าหรือเป็นว่าพื้นที่ลีลาศแห่งนั้นไม่ดึงดูดใจอีกต่อไป

มีทางอื่นไหมที่จะทำให้อีกฝ่ายตื่นเต้นและเฝ้ารอการเต้นรำ บทสนทนาจำนวนมากที่มี การสื่อสารจำนวนมากที่มีจะแก้ไขและเยียวยาการสะดุดหยุดนิ่งที่ว่านี้

และเมื่อปัญหาทั้งหลายถูกแก้ไข คู่เต้นรำก็จับมือซึ่งกันและกันอีกครั้งก่อนที่จะเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายและเริงร่ายออกไปรอบๆ อย่างมีชีวิตชีวา

ความยากเย็นในการจับคู่เต้นรำที่ว่านี้อยู่ที่เงื่อนไขข้อที่สาม

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคู่เต้นรำของเรากับตัวเราควรเต้นรำด้วยจังหวะเช่นไร

หากในสถานการณ์ที่เราควรเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ไปในเพลงวอลซ์อ้อยอิ่ง เรากลับพาตัวเองออกเต้นกระโชกโฮกฮากในจังหวะละติน

การกระทำเช่นนั้น การเคลื่อนไหวเช่นนั้น ไม่ช้าก็เร็ว มันย่อมสร้างความโกลาหลอลหม่านให้กับบุคคลที่สามบนเวที

เราเคลื่อนที่ขัดขวางการเคลื่อนที่ของคู่เต้นรำอื่น เราเคลื่อนที่สะเปะสะปะจนทำให้คู่เต้นรำอื่นหกล้มจมหงาย พวกเขาได้รับอุบัติเหตุ พวกเราได้รับอุบัติเหตุ พวกเขาสับสน พวกเราวุ่นวาย

และในที่สุดการร่ายรำนี้ก็ต้องจบสิ้นลง พื้นเวทีลีลาศเต็มไปด้วยเศษเก้าอี้ที่ถูกชนจนพัง เสื้อผ้าที่ถูกเหยียบจนขาดวิ่น พื้นเวลีลื่นมันด้วยคราบเหงื่อจากการจลาจล

แค่เพียงการผิดจังหวะเพียงเล็กน้อย ก่อภัยพิบัติได้มากถึงเพียงนี้

โดยเฉพาะภัยพิบัติต่อความรักของเรา

พ้นออกจากความเหลวแหลกของการผิดจังหวะต่อบุคคลอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมวงลีลาศ

เราจะเห็นว่าการไม่อาจสรรค์สร้างจังหวะการร่ายรำที่สอดคล้องซึ่งกันและกันก็ส่งผลต่อคู่รักของเราเช่นกัน ในจังหวะชีวิตที่ควรเป็นไปอย่างเนิบช้า เรากลับเร่งเร้าคู่รักของเราให้หมุนตัวไปมาจนเหนื่อยหอบ

ในจังหวะที่เสียงดนตรีปลุกเราให้ฮึกเหิม เรากลับปฏิเสธด้วยการพาคู่รักของเราให้เคลื่อนที่ไปอย่างอ้อยอิ่ง

ข้อผิดพลาดจากการเข้าใจจังหวะและท่วงทำนองที่ควรเป็นไปนั้นทำให้การเต้นรำล้มเหลว

เราเป็นคู่เต้นรำที่แย่และเลวร้าย เราไม่ใช่เพียงแค่ไร้ความสามารถที่จะพาคู่รักเต้นรำไปได้จนจบเพลง เรายังเหยียบเท้าของอีกฝ่ายครั้งแล้วครั้งเล่าจนการเต้นรำต่อไปมีแต่ความทุกข์ทรมาน

ความเข้าใจจังหวะก็เช่นเดียวกับความเข้าใจชีวิต การเห็นความเป็นไปของชีวิตอย่างใคร่ครวญย่อมทำให้คู่รักสามารถรับมือและทักทำนายท่วงทำนองต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความรักต้องการความเข้าใจเพราะสิ่งนี้ และความเข้าใจที่ว่าไม่ใช่สิ่งใดเลยนอกจากความเข้าใจในคู่รักของเรา

ความเข้าใจในท่วงทำนองที่เราเต้นอันได้แก่ความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิต และความเข้าใจในท่วงท่าแห่งการเต้นอันหมายถึงความเข้าใจในศักยภาพของเราและคนรักของเรา

 

ในพุทธศาสนาอีกเช่นกันที่เน้นย้ำว่าความเข้าใจคือรากฐานหนึ่งของความรัก ความรักในทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะในศาสนาพุทธนิกายวัชรยานถือว่าความรักคือส่วนหนึ่งของความกรุณา (Compassion) อันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญต่อการเติบโตทั้งทางกายและทั้งทางจิตวิญญาณ

องค์ทะไลลามะที่ 14 ถึงกับกล่าวว่า

“ความรักและความกรุณาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษยชาติ หาใช่สิ่งที่ฟุ่มเฟือยไม่ การปราศจากสองสิ่งนี้มนุษยชาติย่อมไม่อาจดำรงต่อไปได้”

(Love and compassion are necessities, not luxuries. Without them humanity cannot survive)

ซึ่งท่านได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

“ก่อนที่เราจะสร้างความกรุณาและความรักขึ้นในตน เราจำเป็นจะต้องเข้าใจหน้าที่และคุณสมบัติของความกรุณาและความรักให้ถ่องแท้เสียก่อน ถ้ามองแบบผิวเผิน ความกรุณาและความรักดูจะเป็นเพียงความคิดด้านบวกพื้นๆ เป็นอารมณ์สามัญธรรมดาที่เราใช้สร้างความหวัง ปลุกปลอบความกล้า กระตุ้นเจตจำนงหรือใช้สร้างแรงบันดาลใจ แต่ในทางพุทธศาสนา ความกรุณาและความรักถือได้ว่าเป็นเพียงสองด้านของสิ่งเดียวกัน ความกรุณานั้นคือความปรารถนาที่อยากจะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ส่วนความรักนั้นหมายถึงความต้องการให้ผู้อื่นมีความสุขนั่นเอง”

(Before we can generate compassion and love, it is important to have a clear understanding of what we understand compassion and love to be. In simple terms, compassion and love can be defined as positive thoughts and feelings that give rise to such essential things in life as hope, courage, determination, and inner strength. In the Buddhist tradition, compassion and love are seen as two aspects of the same thing: Compassion is the wish for another being to be free from suffering; love is wanting them to have happiness)

 

หากยึดถือตามคำอธิบายดังกล่าว คำว่าความรักขององค์ทะไลลามะ ก็เป็นคำเดียวกับถ้อยคำที่เราคุ้นชิน อันได้แก่ ถ้อยคำที่ว่า เมตตา-กรุณา

อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งในสี่ข้อที่แยกผู้เป็นพรหมออกจากสัตว์และสิ่งมีชีวิตในสังสารวัฏฏ์ทั้งปวง อันได้แก่

เมตตา-ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

กรุณา-ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

มุทิตา-ความยินดีเมื่อเห็นบุคคลอื่นเป็นสุข

และอุเบกขา-ความวางเฉยและพิจารณาความเป็นไปของผู้อื่นอย่างมีสติ

คุณสมบัติทั้งสี่นี้เป็นรากฐานของความรักในพุทธศาสนาซึ่งมีหลายสิ่งพ้องเคียงกับแนวคิดตะวันตก

โดยเฉพาะความคิดที่พร้อมจะให้อภัยคู่รักของตนเองด้วยการมอง