“ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ในสายตาของ “ส.ศิวรักษ์” และ “พระพยอม กลฺยาโณ” ตอนที่ 1 “แบบอย่างวัตรปฏิบัติ”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้จัดงานเสวนาในวาระพิเศษ “140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย”

โดยได้รับเกียรติจากสองปราชญ์ใหญ่แห่งยุคสมัยมาร่วมเป็นวิทยากรเปิดประเด็นเสวนา

นั่นคือ “ส.ศิวรักษ์” และ “พระราชธรรมนิเทศ” หรือพระพยอม กลฺยาโณ แห่งวัดสวนแก้ว

 

ปูชาจ ปูชนียานํ

ส.ศิวรักษ์ได้เปิดประเด็นถึงการที่จะรำลึกพระคุณของครูบาเจ้าศรีวิชัยในวาระอันเป็นมงคลนี้ว่า ควรจะบูชาท่านแบบไหนถึงจะไม่มีโทษ

เนื่องจากการบูชานั้นมีสองแบบ แบบแรกคือ อามิสบูชา เป็นการให้ทั้งคุณและโทษ กับอีกอย่างคือ การปฏิบัติบูชา ซึ่งจะให้ประโยชน์สถานเดียว

เกี่ยวกับแนวคิดของชาวล้านนาที่ประสงค์จะนำเสนอชื่อของครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลกต่อยูเนสโกนั้น ในมุมมองของปราชญ์สยามเห็นว่า ไม่ควรไปตื่นเต้นตูมตามอะไรมากนัก

เหตุที่ระยะหลังๆ มานี้ รางวัลดังกล่าวไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปแล้ว สามารถให้ใครก็ได้ที่เส้นใหญ่ อาจเป็นมาเฟียมาก่อนก็ยังได้ รางวัลนี้จึงหมดคุณค่าไม่มีความหมายในสายตาของ ส.ศิวรักษ์อีกต่อไป แม้ว่าในอดีตเคยเป็นผู้นำเสนอท่านพุทธทาสภิกขุ ให้ได้รับรางวัลนี้ด้วยความมุ่งมั่นมาแล้วก็ตาม

แล้วการปฏิบัติบูชาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยควรทำอย่างไร ก่อนอื่น ส.ศิวรักษ์เน้นย้ำว่า ขอให้เราเข้าใจถึงสถานการณ์ของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน 2 ประเด็น แล้วเราจึงจะเข้าใจความเป็น “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ที่แท้จริง

 

สามแนวทางอันเคร่งครัด
ที่ไม่ควรถูกรวบอำนาจ

ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นตัวอย่างของพระสงฆ์ที่ถือวัตรปฏิบัติตามรอยพระศาสดาอย่างแท้จริง กล่าวคือ ศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ที่เผยแผ่อยู่ในแถบอุษาคเนย์ทั้งหมดนี้ พบว่าทางมอญมักเคร่งครัดทางพระวินัย ไทยเคร่งครัดด้านพระสูตร ส่วนพม่าเคร่งครัดในพระอภิธรรม

ในขณะเดียวกันก็จะพบว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นผู้ถือคติความเคร่งครัดทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ตามแนวทางคติลังกาวงศ์อย่างแท้จริง

แต่แล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องมาถูกต้องอธิกรณ์หลายครั้งหลายครา แท้จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้ก่อ

หากเกิดจากการที่สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รวบรวมศูนย์กลางอำนาจทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักรเข้ามาไว้ด้วยกัน ภายใต้การออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) มีการถวายพระราชอำนาจให้รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ได้ตามพระราชวินิจฉัย

ในขณะที่เพื่อนบ้านของเรา คือพม่าไม่ว่าจะปกครองด้วยระบบใดในยุคอาณานิคมหรือยุคสังคมนิยม กลับไม่ปรากฏว่ามีการรวมศูนย์อำนาจด้านศาสนา

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นพระพม่าเคร่งครัดไปคนละแนว บางสายเคร่งครัดธรรมวินัย บางสายหละหลวม บางสายเคร่งวิปัสสนา บางสายเคร่งครัดพระสูตร แต่ทั้งหมดก็สามารถธำรงได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกฝ่ายอาณาจักรครอบงำ

การรวบอำนาจทั้งหมดไว้ที่กรุงเทพฯ คืออันตรายที่ร้ายแรงที่สุดในทุกๆ ด้านมาจวบจนทุกวันนี้ พระราชบัญญัติฉบับแรกนั้น ยังบ่มเพาะทายาทให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เอาแบบอย่างมาใช้อีกครั้งในพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ปี 2505

โดยมหาเถรสมาคมเป็นคณะปกครองสูงสุด ในความเป็นจริงมีแต่พระแก่ๆ ที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่มีความเคร่งครัดในพระวินัย มีปัญหาเรื่องเงินเรื่องทอง วุ่นวาย เรื่องสีกาผู้หญิง เหตุเพราะเป็นการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไปนั่นเอง โดยไม่ยอมให้มีการกระจายอำนาจออกไป

 

สมณศักดิ์ “ครูบา” ได้มาจากชาวบ้าน

ก่อนที่กรุงเทพฯ จะรวบอำนาจฝ่ายสงฆ์มารวมศูนย์นั้น “สมณศักดิ์” หรือฉายานำหน้าที่พระแต่ละรูปได้รับการยกย่อง ล้วนแล้วแต่เป็นการแต่งตั้งหรือเรียกขานโดย “ชาวบ้าน” ทั้งสิ้น

ไม่ว่า “ครูบา” “ตุ๊เจ้าหลวง” ของทางภาคเหนือ หรือของภาคอีสานมี “ซา” และ “สมเด็จ” ที่ชาวบ้านตั้งให้ และน่าสังเกตว่าพระดีๆ มักไม่ค่อยอยากรับตำแหน่งแห่งหน มักขออยู่อย่างสมถะ ไม่อยากได้ใคร่ดี ผิดกับปัจจุบัน ที่พระจำนวนมากยอมติดสินบนเพื่อแลกกับสมณศักดิ์สูงๆ

ดังนั้น บทเรียนข้อแรกที่ควรทราบเกี่ยวกับคุณูปการของครูบาเจ้าศรีวิชัย คือการท้าทายอำนาจส่วนกลาง ท้าทายการรวบอำนาจ และท้าทายระบบสมณศักดิ์

 

การเข้าถึง “รหัสยนัยแห่งชีวิต”

ส.ศิวรักษ์กล่าวต่อไปอีกว่า คุณูปการที่เด่นชัดของครูบาเจ้าศรีวิชัยข้อที่สอง คือการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้แน่วแน่ในการปฏิบัติธรรมจนสามารถเข้าถึงธรรมขั้นสูงสุด นั่นคือการเข้าถึง “รหัสยนัยแห่งชีวิต”

ส่วนธรรมะพื้นฐานข้ออื่นๆ ประเภท ไม่ให้ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องแผ้วนั้น ศาสนาใดๆ ในโลกก็สอนกันอยู่แล้ว

แต่คำสอนที่ลึกซึ้งที่สุดของศาสนาพุทธคือ จะต้องเข้าถึงโลกุตรธรรม ถือเป็นรหัสยนัยอันสูงสุด ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เข้าถึง

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ศาสนธรรมนั้นพึงตราไว้ว่า ประกอบขึ้นเป็นประสบการณ์ทางศาสนา มีศีล ทาน ภาวนา ศีลสอนไม่ให้เอาเปรียบผู้อื่น ทานสอนให้เกิดการบำเพ็ญประโยชน์ ละกิเลส แต่ภาวนาสอนให้เข้าถึง “รหัสยนัยแห่งชีวิต”

การภาวนาแบ่งเป็นสองระดับ สมถะสอนให้สงบ แต่วิปัสสนาสอนให้มีความลึกซึ้ง จนล้วงลึกลงไปถึงจิตใต้สำนึกอันแนบแน่นกับโลกุตรธรรม

นี่คือประสบการณ์ทางศาสนา ที่ทำให้ตลอดชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัยเพ่งมองเห็นสิ่งที่เหนือกว่าเนื้อหนังมังสาตามตาคนทั่วไปเห็น

“รหัสยนัยแห่งชีวิต” ภาษาอังกฤษเรียก Mystery คืออะไร ส.ศิวรักษ์อธิบายว่าการจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ

1. การปฏิบัติธรรมอย่างมุ่งมั่น จนเกิดสภาวะธรรมเข้าถึงสิ่งลี้ลับมหัศจรรย์ของชีวิต หมายถึงการปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ขั้นสูงสุด (สังเกตได้ว่า ส.ศิวรักษ์พยายามเลี่ยงที่จะใช้คำว่า นิพพาน อริยสัจ 4 หรืออรหันต์)

2. นำเอาประสบการณ์ทางศาสนาที่พบเห็นมาแสดงออก

3. จนบังเกิดวิถีชีวิตทางศาสนา ซึ่งเกิดจากความเข้าใจและรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง

ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นพระสงฆ์ที่เดินตามแนวทางทั้ง 3 ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงเกิดประสบการณ์ตรงทุกประการ

ต่อมา จะเห็นได้ว่าแนวทาง 3 ข้อนี้ได้มีพัฒนาการมาโดยลำดับคือ

1. การปฏิบัติธรรมกลายมาเป็นคำสั่งสอนของแต่ละศาสนา หรือกล่าวในทางกลับกันได้ว่า คำสั่งสอนมาจากสิ่งที่เคยปฏิบัตินั่นเอง

2. การแสดงออกทางศาสนากลายมาเป็นศาสนพิธีต่างๆ

3. วิถีชีวิตทางศาสนากลายมาเป็นแนวทางของจริยาวัตรเพื่อศาสนิกจะได้ประพฤติที่ถูกที่ควร

ครั้นเมื่อเวลาล่วงไปๆ วัฒนธรรมและประเพณีสั่งสมฝังแน่นเสียจน “หลักธรรมคำสั่งสอนกลายมาเป็นคำประกาศที่ตายตัว” ถือว่าอันตรายยิ่ง เพราะใครๆ ไม่อาจปฏิเสธหรือตั้งคำถามได้อีกเลย

ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้หญิงถูกกีดกันมากกว่าผู้ชาย บางพื้นที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาได้ เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิง ซ้ำผู้ชายส่วนใหญ่ไม่รู้สึกตัว

ศาสนพิธีกลายเป็นรูปแบบที่ไร้แก่นสาร ปราศจากสาระอันประเสริฐ มีแต่พิธีกรรมที่สักแต่ว่าทำตามๆ กันไปเพื่อรับใช้อำนาจและเงินตราเป็นส่วนใหญ่

แนวทางที่ชี้แนะให้ประพฤติปฏิบัติกลายเป็นจารีตที่ตายซาก ซึ่งศาสนิกต้องกระทำตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่สำหรับครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว สิ่งที่ท่านทำมาชั่วชีวิต คือการเคารพและปฏิบัติจริงตามหัวใจของพระพุทธศาสนา

 

ในสยามประเทศ ณ ปัจจุบันนี้ ในสายตาของ ส.ศิวรักษ์ เหลือเพียงแค่สายเดียวแล้วเท่านั้น ที่มีความเคร่งครัดเป็นพระแท้เหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยคือ สายของ “พระอาจารย์ชา สุภทฺโท” แม้จะเป็นสายที่ยอมรับอำนาจรัฐก็ตาม

ส่วนท่าน “พุทธทาสภิกขุ” ก็ถือว่าเคร่งครัดเช่นกัน แต่ขาดองค์ประกอบที่แตกต่างจากครูบาเจ้าศรีวิชัย คือท่านพุทธทาสไม่มีศาสนทายาท สวนโมกข์จึงเหมือนตายไปแล้วพร้อมกับตัวท่าน ผิดกับสายหลวงปู่ชายังมีผู้สืบทอด

ดังนั้น การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความเป็นอมตะจวบจนทุกวันนี้ ก็เนื่องมาจากท่านมุ่งวางรากฐานให้คณะสงฆ์ในท้องถิ่นเป็นสำคัญด้วย

เพียงแต่ว่า ศาสนทายาทสายครูบาเจ้าศรีวิชัยซึ่งมีจำนวนมากทุกวันนี้นั้น เบื้องแรกก็ถือเป็นข้อได้เปรียบพระสายอื่นๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จักมีวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดชนิดที่เข้าถึงรหัสยนัยเหมือนอย่างครูบาเจ้าศรีวิชัยในดีกรีที่เข้มข้นมากน้อยแค่ไหน