กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) “ผมสนุกกับการทำงานศิลปะได้ทุกสื่อ ทุกเวลา ทุกสถานที่” (5)

ตั้งใจเขียนถึง กมล ทัศนาญชลี เพียงแค่ความเคลื่อนไหวล่าสุดรวมทั้งเกียรติประวัติทั้งหลายที่เขาได้รับจากการทำงานหนักเพื่อเป็นกำลังใจให้บ้าง แต่เมื่อลงมือปรากฏว่าถ้าจะเอาทุกแง่ทุกมุมจริงๆ ต้องว่ากันเป็นแรมปี

เนื่องจาก “ศิลปินแห่งชาติ” ท่านนี้เริ่มต้นศึกษาเรียนรู้ และทำงานศิลปะตั้งแต่อายุ 17 จนถึงเวลานี้อายุกว่า 70 ปี รวมเวลากว่า 50 ปียังไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนล้าเหนื่อยแรง จนไฟในใจมอดดับ

เขาบอกว่า “ข้าพเจ้าสนุกกับการทำงานศิลปะได้กับทุกสื่อ ทุกเวลาและสถานที่ ศิลปะเกิดจากภายในตัวเองที่สะสมไว้เป็นพลังแห่งความคิด และประสบการณ์”

ด้วยประสบการณ์อันยาวนานไม่ว่าจะเป็น งานดรอว์อิ้ง (Drawing) จิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ (Painting Sculpture & Graphic) ซึ่งใช้วัสดุทุกชนิดตั้งแต่กระดาษ ไม้ หิน เหล็ก รวมทั้งสแตนเลส (Stainless Steel) ซึ่งปรากฏในงานประติมากรรมหลายสถานที่ตามหัวเมืองของประเทศเรา

งานชุด “ลูกกลิ้ง-ศิลปินสองซีกโลก” และ ฯลฯ ซึ่งใช้สแตนเลส (Stainless Steel) จำนวนหลายชิ้น น่าจะเป็นงานชุดล่าสุดซึ่งเขาได้นำไปจัดแสดงในงานมหกรรมศิลปะอันยิ่งใหญ่ เวนิช เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ประเทศอิตาลี (Italy) เป็นงานแสดงศิลปะที่เก่าแก่ และมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

ซึ่งเขาได้รับการคัดเลือกจากสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เป็นตัวแทนศิลปินจากประเทศไทย ในการแสดงครั้งที่ 56 ปี พ.ศ.2558 (พฤษภาคม-พฤศจิกายน 2558) ที่ผ่านเลยมาแล้ว

หลังปฏิบัติภารกิจสำคัญประจำปี 2559 โดยส่งคณะยุวศิลปิน และคณะล่าสุดคือ ครูศิลป์ (รุ่นที่ 7) จำนวน 12 คนกลับประเทศไทย กมล ส่งข่าวมาว่า “ตอนนี้คณะกลับจากสหรัฐหมดแล้ว ผมทำงานเป็นปกติ แต่ในช่วงเดินทางไกลก็เขียนสีน้ำไปด้วย ผมกระซวกสีน้ำ (Water Painting, on Paper) ได้ 20 ชิ้น ระหว่างการจอดรถพักตามสถานที่ต่างๆ”

ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน กมลมีฝีมือจัดจ้านอย่างมากกับการเขียนสีน้ำ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าฝีมือฝีแปรงอยู่ในระดับมืออาชีพ ระดับครู หรือ “ศิลปินแห่งชาติ” ก็เป็นอย่างที่เขาบอกว่าเขาทำงานศิลปะได้ทุกเวลา สามารถเขียนได้อย่างรวดเร็วแม่นยำโดยไม่ต้องร่างด้วยดินสอก่อนให้เสียเวลา

เมื่อคิดถึงเรื่องทำงานอย่างรวดเร็วฉับไวใช้เวลาไม่มากขึ้นมาครั้งใด ก็อดคิดถึง (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ปราชญ์วาดรูปผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ล่วงลับไม่ได้สักครั้งด้วยความรักคิดถึง

เพราะนอกจากจะเป็นศิลปินยิ่งใหญ่ แล้ววาจาก็เต็มไปด้วยบรรยากาศอันรื่นเริงสนุกสนานเมื่อเอ่ยเอื้อน แม้ค่อนข้างจะเชือดเฉือนถากถาง แต่บางครั้งแฝงไปด้วยปรัชญา

ครั้งหนึ่งกมลเคยกล่าวในที่ชุมนุมชนว่าการทำงานของเขาและ (ท่านพี่) ถวัลย์ นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วประหนึ่งว่าภายใน 5 นาที 10 นาทีก็สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้ แต่ (ท่านพี่) ถวัลย์ กลับกล่าวสวนขึ้นทันทีว่าเป็นแค่เพียงวินาทีเท่านั้น?

(ท่านพี่) จากลาโลกนี้ไปกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งไม่มีใครรู้จริงๆ ว่านอกจาก “บ้านดำ นางแล จังหวัดเชียงราย” และงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ตามสถานที่ต่างๆ ตลอดจนพิพิธภัณฑ์ ศิลปะร่วมสมัย ของ “คุณบุญชัย เบญจรงคกุล” และ ฯลฯ แล้วยังมีผลงานที่ท่านทำทิ้งไว้ที่ไหนบ้าง

เช่น หลงเหลืออยู่ที่บ้านนวธานี กรุงเทพฯ หรือที่บ้านดำ นางแล เพราะในบ้านพักของกมล+นวลศรี ทัศนาญชลี ในสหรัฐ ก็มีผลงานหลงเหลือทั้งที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และที่ยังไม่เสร็จ ซึ่งนักสะสมศิลปะได้มากวาดไปจนหมด

อย่างที่รู้กันว่าทรัพย์สมบัติของ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี นั้นน่าจะประเมินราคายาก ถ้าจะตีค่าออกมาเป็นเงินทองก็คงจะมากเอาการ

ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างทายาทคนเดียวของท่านกับคนที่เข้ามาดองข้องเกี่ยวจะโดยบังเอิญหรืออุบัติเหตุอะไรมิทราบได้?

ผลงานของท่านซึ่งอยู่ในบ้านของกมลที่สหรัฐก็เปลี่ยนเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาทสู่ทายาทคนเดียวเพื่อเป็นทุนในการดำเนินการในการเรียกร้องเอาคืนทรัพย์สมบัติของผู้ให้กำเนิด

เก็บเรื่องนี้มาเขียนก็เพราะว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับข่าวมาว่ามีการนำรูป “กระทิง” อันเป็นผลงานของท่านพี่ถวัลย์ ออกมาขายกันในราคา 800,000 บาท เป็นหมึกดำบนกระดาษขนาดประมาณ 110×80 เซนติเมตร

แต่เมื่อสอบถามว่ามาจากไหน? ใครเป็นคนเอามาขาย กลับไม่ได้รับคำตอบชัดเจน?

บอกแต่ว่าไม่น่าจะเป็นของปลอมเพราะเป็นรูปกระทิง ก็เลยบอกไปว่ารูปกระทิงของ (ท่านพี่) ถวัลย์ น่าจะมีเป็น 100 เป็น 1,000 ผู้ส่งข่าวบอกว่ามีกระทิงอีก 1 รูป พร้อมกับนกอีกกว่า 20 รูป–มีนายหน้าเอามาขายให้?

เพราะความที่ (ท่านพี่) ถวัลย์ ทำงานเร็ว ซึ่งในเวลาที่มีสมาธิเงียบสงบสามารถทำได้ค่อนข้างมาก

จึงไม่รู้เช่นกันว่าบางทีท่านได้ขาย หรือให้กับใครไปบ้าง?

เสียดายมากที่ไม่ได้งานของท่านเป็นชิ้นเป็นอันทั้งที่ตกปากรับคำและนัดหมายกันแล้วยัง “บ้านดำ นางแล จังหวัดเชียงราย” ว่าจะมาพบกันที่บ้านกรุงเทพฯ เพื่อจะมอบงานให้ แต่ท่านก็มาจากไปก่อน เพราะตั้งแต่วันนั้นก็มิได้พบกันจนถึงวันงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ

เพราะฉะนั้น ที่ระลึกสำหรับผนังบ้านจึงมีเพียงภาพพิมพ์ “เศียรพระพุทธรูป+กับรูปหลอดสี” ของ “ถวัลย์ ดัชนี+กมล ทัศนาญชลี” (กมล เป็นคนพิมพ์) พร้อมด้วยลายเซ็นของทั้ง 2 ท่าน

(ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี เดินทางไปยังสหรัฐ และพำนักยังบ้านของกมลบ่อยครั้ง บางครั้งทำงานอยู่ถึง 6 เดือน และดูเหมือนงานชุดนั้นส่งผลให้ท่านพี่ได้รับรางวัลสำคัญระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น คือ “รางวัลฟูกูโอกะ” (Fukuoka)

ที่จริงไม่มีใครเคยติดตามงานของ (ท่านพี่) ถวัลย์ว่ามีจำนวนเท่าไร? หรือทายาทของท่านดำเนินการอยู่ก็ไม่ทราบได้เช่นกันว่า งานที่ท่านตวัดด้วยความรวดเร็วให้ใครต่อใคร หรือมอบให้กับสถาบัน สมาคมทั้งหลายเอาไปประมูลหาเงิน ขณะเดียวกันก็ตกไปเป็นส่วนตัวของหลายๆ ท่าน งานเหล่านี้อาจถูกนำเอามาเปลี่ยนเป็นเงินได้อย่างสบายๆ ในราคาสูงเสียด้วย?

สาวน้อยที่บ้านเพิ่งทุบกระปุกเดินทางตามความฝันเพื่อเปิดหูเปิดตาเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการออกแบบทั้งหลายทั้งปวงเพราะมันเป็นงานประจำในอาชีพของเธอยังนิวยอร์ก สหรัฐ (New York City) ด้วยที่มีความรักผูกพันกับเรื่องศิลปะอยู่ในตัวไม่น้อย

นอกจากเป้าหมายเรื่องงานของเธอแล้วก็ยังใช้เวลาวนเวียนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Art Museum) เป็นส่วนใหญ่

และดูเหมือนงานชิ้นแรกๆ ของศิลปินที่เธอส่งมาจะเป็นผลงานของ “วินเซนต์ แวนโก๊ะ” (Vincent Van Gogh) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่กมลพายุวศิลปินของไทยไปศึกษาดูงานต่อยอดยัง Van Gogh Museum เมือง Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ส่งผลงานของเจ้าของชื่อมิวเซียม มา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะประเทศนั้นเป็นบ้านเกิดของ Van Gogh

เคยเดินทางไปทั้งในแถบถิ่นยุโรปทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส วันไหนที่ได้แวะไปอาร์ต มิวเซียม เข้าไปในโซนของงาน Impressionism จะต้องเป็นอันได้พบงานของ Van Gogh สำหรับในประเทศฝรั่งเศสก็มิได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะเขาไปปักหลักทำงานในประเทศนี้ สมัยเมื่อยังมีชีวิตอยู่

ในประเทศญี่ปุ่นก็เคยได้เห็นงานของศิลปินชาวดัตช์ผู้อาภัพนี้ ในสหรัฐ ดูเหมือนแทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะประเทศนี้ใช้ความร่ำรวยได้เที่ยวกว้านซื้อผลงานศิลปะสุดยอดทุกชนิดจากทั่วโลกไปเก็บไว้เป็นสมบัติของตัวเอง

ยังดีที่เมื่อได้กอดครอบครองไว้จนอิ่มเอมแล้วก็ปล่อยออกมาให้ประชาชนชื่นชมตาม Art Museum แต่ก็เก็บเงินค่าเข้าชม

เคยมีวาสนาได้เพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยการเดินทางเข้าชมผลงานของศิลปินใหญ่ๆ ของโลกอย่างที่ Los Angeles มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ Museum มหาวิทยาลัย Boston มลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ก็ได้ชมผลงานของศิลปินยิ่งใหญ่ของโลกที่ไม่เคยได้รู้ว่าผลงานของตนเองซื้อขายกันในราคามหาศาล

ในทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสำคัญๆ ทุกแห่งรวมทั้งที่นิวยอร์ก (NYC) ล้วนเป็นผลงานจริงทั้งสิ้น

แปลว่า Van Gogh ขณะยังมีชีวิตอยู่ก่อนจะเพี้ยนหรือฟั่นเฟือนต้องเขียนรูปทุกวัน แบบไม่มีวันหยุดเช่นเดียวกัน เพราะปรากฏว่าผลงานของเขามีถึง 2,000 ชิ้น และชิ้นเดียวประมูลขายได้สูงสุดถึง 1,600 ล้านบาท

“(ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี” ปราชญ์วาดรูป “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ผู้ล่วงลับน่าจะทิ้งผลงานไว้จำนวนไม่น้อย ทั้งๆ ที่สามารถขายได้ในราคาแพงมากเมื่อยังมีชีวิตอยู่ “กมล ทัศนาญชลี” ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะต้องมีผลงานมากมายมหาศาลกว่าจะถึงวันที่เขาหยุดทำงาน

เรื่องของศิลปินคนขยันผู้เสียสละมุ่งมั่นยังจบไม่ลง ยังต้องเขียนต่อไปอีกครั้ง?