คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนที่ 27 “แด่ คณิน บุญสุวรรณ”

ชีวิตเดินทางสู่ปัจฉิมวัยผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร พร้อมกับเพื่อนพ้องร่วมยุคสมัยเริ่มเดินทางสู่ดินแดนที่ว่ากันว่าทุกคนต้องกลับเมื่อถึงเวลา

อาจารย์คึกฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 (2518-2519) หลังจากยุบสภา เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 1 (ดุสิต) กรุงเทพฯ กลับต้องสอบตกด้วยกลเกมการเมือง จนกระทั่งพรรค “ประชาธิปัตย์” ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล โดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ด้วยเวลาเพียงนิดเดียวเกิด “เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2516” รัฐบาลประชาธิปัตย์ถูก “ยึดอำนาจ”

พรรค “กิจสังคม” ยังดำเนินงานทางการเมืองโดยมีอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป มีการเลือกตั้งก็ส่งผู้สมัครของพรรคลงสมัครรับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่พยายามกันนักหนาจะให้มันเกิดขึ้นในประเทศนี้ให้ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งการ “เลือกตั้ง” (ซ่อม)

ปี พ.ศ.2522 รัฐบาลขณะนั้นแม้นายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เสียชีวิต) ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทหารในกองทัพ แต่รัฐบาลได้พยายามบริหารประเทศแบบประชาธิปไตยโดยมีสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อมีผู้แทนฯ ว่างลงด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เช่น เสียชีวิต ลาออก ก็ต้องมีการ “เลือกตั้ง” (ซ่อม) ตามรัฐธรรมนูญ จำได้ว่าจะต้องเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดชลบุรี เขต 2 ซึ่งแบ่งเขตอำเภอทางด้านทิศตะวันออกอย่างอำเภอศรีราชา บางละมุง และสัตหีบ ประมาณนี้

พรรคกิจสังคม โดยท่านบุญชู โรจนเสถียร (เสียชีวิต) ในฐานะผู้ใหญ่ของ “พรรคกิจสังคม” และเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดชลบุรี ท่านหนึ่งได้เสนอส่งท่าน “คณิน บุญสุวรรณ” (เสียชีวิต) ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค

 

เป็นที่ยอมรับกันว่าจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ที่หินโหดเป็นอย่างมากของบรรดาท่านที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีผู้แทนฯ แบบผูกขาด อย่างท่าน “อุทัย พิมพ์ใจชน” แต่ยังต้องเด้งหนีจากจังหวัดนี้เนื่องจากมากมายไปด้วยอิทธิพลของบุคคลระดับ “เจ้าพ่อ” โดยเรียกกันว่า “เจ้าพ่อตะวันออก” ซึ่งเป็นที่รู้กันเป็นอย่างดีว่าอาชีพที่เจ้าพ่อประกอบการนั้นไม่ได้สะอาดบริสุทธิ์สดใสถูกกฎหมายเสียทั้งหมด ยังปะปนไปด้วยสีเทาๆ

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มของกำนันคนดังของฝั่งตะวันออกอีกท่านหนึ่งซึ่งก็เป็นที่รู้จักกันดีว่าทรงอิทธิพลไม่แพ้กัน แต่ก็มิได้เปิดศึกสายเลือดอะไรกัน เพียงแต่แบ่งๆ พื้นที่กันครอบครองทำมาหากิน

แต่ในที่สุด “เจ้าพ่อ” หนึ่งมามีอันเป็นไปต้องลาจากโลกทั้งๆ ที่ยังคงไม่ต้องการ

ว่ากันว่ากลุ่มอำนาจสูงกว่าปฏิเสธการมีชีวิตอยู่ของเขา

การข่าวเจาะได้เพียงแค่ว่าเป็นกลุ่ม “คนมีสี” (ขณะนั้น) คมกระสุนจากอาวุธสงครามจำนวนมากได้พุ่งไปยังจุดเดียวกันคือรถยนต์คันที่ “เจ้าพ่อ” นั่งไป

เรื่องราวการสอบสวนพิสูจน์ทราบทางคดีเป็นอย่างไรต่อไปนั้นไม่อาจสามารถทราบได้เพราะไม่ได้ติดตามผล

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ในฐานะเบอร์ 1 ของพรรคกิจสังคม จึงได้ถูกกำหนดจากทางพรรคให้เป็นผู้ลงไปปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรคท่าน “คณิน บุญสุวรรณ” โดยให้ท่านกับคณะ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องมีลูกศิษย์ติดตามไปด้วยหลายคน โดยทางพรรคได้เปิดโรงแรมในเมืองพัทยาไว้ให้เป็นที่พักเหมือนกับศูนย์บัญชาการการเลือกตั้งในครั้งนั้น

ปรากฏว่าทั้งคนระดับ “เจ้าพ่อ” และผู้มีอิทธิพลของเมืองชลบุรี ได้มาพบกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ หากแต่ต่างกันด้วยเวลานัดหมาย ไม่ทราบจริงๆ ว่าเป็นฝีมือการนัดหมายของใคร แต่คาดหมายว่าคงไม่มีใครจะสามารถทำสิ่งนี้ได้นอกจากท่านบุญชู โรจนเสถียร ท่านจัดให้ส่วนเจ้าพ่อท่านจะช่วยเหลือผู้สมัครของพรรคหรือไม่อย่างไร? แบบไหนไม่ทราบได้ แต่ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้น พรรคกิจสังคมได้ผู้แทนฯ เพิ่มมาอีก 1 คน

ไม่มีใครปฏิเสธความเป็นปราชญ์และความโด่งดังของอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยความสามารถรอบด้านในการหาเสียงประกอบด้วยบุคลิกภาพหน้าตา การแต่งกายเดินไปหาเสียงให้กับลูกพรรคต้องยอมรับว่าเป็นต่อเยอะ เรียกว่าแทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก ท่านเองก็คงทราบดี ได้เคยเอ่ยกับศิษย์ทั้งหลายว่า

“หน้าตาอย่างท่านเป็นผู้ร้ายไม่ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นนักสืบไม่ได้ด้วย”

 

ปีพ.ศ.2522 เพิ่งจะมีอายุเพียงแค่เลข 3 นำหน้า แต่ได้รับการผลักดันให้เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เพื่อแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นหนังสือรายสัปดาห์การเมืองซึ่งบรรจุเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องศิลปะ วัฒนธรรมเข้าไปด้วยเพื่อให้นุ่มซอฟต์ นอกเหนือจากเรื่องสั้น สารคดี ฯลฯ

ยังไม่ได้รู้จักกับคณิน บุญสุวรรณ เป็นส่วนตัว เพียงแค่ได้ทราบว่าท่านเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” และทำงานเป็นวิทยากรอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อลาออกจากงานประจำเข้าสู่การเมืองโดยสังกัดพรรคกิจสังคม ได้รับเลือกตั้ง (ซ่อม) เป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรีเขต 2 ซึ่งก็เป็นบ้านเกิดของเขา

ต่อมาปี พ.ศ.2528 ย้ายพรรคมาอยู่ “ประชาธิปัตย์” ได้เป็นผู้แทนฯ กรุงเทพฯ ก่อนจะไปสอบตกยังจังหวัดบุรีรัมย์ ในสังกัดพรรค “สามัคคีธรรม”

กลับมาสมัครผู้แทนฯ ยังบ้านเกิดจังหวัดชลบุรี โดยมาอยู่กับ “พรรคเอกภาพ” ซึ่งท่าน “อุทัย พิมพ์ใจชน” เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร เขต 1 แต่อีก 3 ปีต่อมาปี พ.ศ.2538 มีการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่งเขากลับสอบตก

ได้พบเจอทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2539 โดยทำงานร่วมกันในนาม “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) โดยต่างได้รับเลือกเป็น สสร.จังหวัด ซึ่งมีเขตติดกัน เขาเป็น สสร.จังหวัดชลบุรี ผมเป็น สสร.ของจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผกผันเข้าสู่การเมืองจากการเลือกตั้ง

แม้จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครด้วยกันในจังหวัดนั้นๆ ให้เหลือเพียง 10 คน เพื่อส่งชื่อให้รัฐสภาเลือกเอาเพียงคนเดียว

ย้อนหลังอีกสักครั้งสำหรับ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) ซึ่งได้ก่อเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2539 โดยมีสมาชิก 2 ประเภททั้งหมด 99 คน เป็น สสร. จาก 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน จำนวน 76 คน รวมกับผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน (8 คน) สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ (8 คน) ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญคน (7 คน) รวม 23 คน (23 +76 = 99) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ไม่เช่นนั้นจะสิ้นสภาพ

สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี พ.ศ.2539-2540 ใช้เวลาไปทั้งหมด 233 วัน ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2540 เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับประชาชน” มีทั้งหมด 336 มาตรา หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540”

ซึ่งมีอายุการใช้งานได้เพียง 9 ปี ถูกยกเลิกหรือถูกฉีกโดยคณะผู้ “ยึดอำนาจ” ในปี พ.ศ.2549

 

ระหว่างทำงานเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น และจัดประชาพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ที่รับผิดชอบก่อนรวบรวมข้อมูลเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้เชื้อเชิญคณิน บุญสุวรรณ เดินทางลงพื้นที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทุกครั้งในทุกอำเภอของจังหวัดที่รับผิดชอบ นอกจากนั้นยังมี สสร.ท่านอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ เชื้อเชิญพวกเราไปร่วมในการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นด้วยเช่นเดียวกัน

จากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 อีก 2 ฉบับ ถึงวันนี้รวมแล้วตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 18 ฉบับ แต่กลับมีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมด้วยสุจริตใจว่าจะต้องมี “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” (ร่างโดยประชาชน) เกิดขึ้นใหม่อย่างแน่นอน

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 แยกย้ายกันเติบโตในทางการเมืองเป็นจำนวนไม่น้อย หลายคนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะถูก “ยึดอำนาจ” ในปี พ.ศ.2557

คณิน บุญสุวรรณ ยังยึดอาชีพอิสระทางด้านกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ตลอดมา เราได้พบเจอกันบ้างโดยบังเอิญก่อนหน้านี้ ซึ่งดูเหมือนเวลานั้นเขาจะมีอาการเจ็บป่วยตามสภาพอายุขัย

วันนี้เขากลับไปสู่ดินแดนที่ทุกคนต้องไปเมื่อถึงเวลา