ดะโต๊ะ ศรี มหฎิร โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 และคนที่ 7 ของมาเลเซีย ตอนที่ 3

จรัญ มะลูลีม

ในความสัมพันธ์ทวิภาคี มาเลเซียได้ผ่านการทูตและการเปลี่ยนผ่านนโยบายมาแล้วหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทูตแบบราชาธิปไตย การต้องเผชิญกับนโยบายเผชิญหน้า (Konfrontasi) ของซูการ์โน และการนำเอาสิงคโปร์ออกไปจากมาเลเซียของลี กวน ยิว (Lee Kuan Yew)

ผลจากความเข้าใจที่มีต่อกัน เป็นคุณูปการสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ที่ดี อบอุ่นและเป็นมิตรระหว่างสองประเทศ และนำไปสู่ความสัมพันธ์อันยั่งยืนใน ASEAN นอกเหนือไปจากเรื่องอื่นใดก็คือมาเลเซียมีความสามารถที่จะชนะใจมิตรประเทศด้วยนโยบายต่างประเทศของตน

ในขณะที่ภายในประเทศเริ่มต้นได้รับความสำเร็จจากนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy) หรือ NEP ซึ่งเริ่มทำงานอย่างเต็มที่นั้น

ภายนอกประเทศ นโยบายต่างประเทศของมาเลเซียก็เริ่มได้รับความสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายความเป็นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Neutralisation of Southeast Asia) เขตแดนแห่งสันติ (Zone of Peace) เสรีภาพแห่งความเป็นกลาง (Freedom and Neutrality)

หรือ ZOPFAN ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Nonaligned Movement) หรือ NAM องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) และความเข้มแข็งแห่ง ASEAN ในการดำเนินการด้านพหุภาคี

มาเลเซียมีบทบาทที่ตื่นตัวและบทบาทนำอยู่ในกิจการต่างๆ ของสหประชาชาติ และหน่วยงานต่างๆ ที่สังกัดอยู่ในสหประชาชาติ

 

กล่าวกันว่ากระบวนทัศน์ (Paradigm) แห่งนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียนั้นสามารถดูเป็นตัวอย่างได้จากมหฎิร โมฮัมมัด ในฐานะที่เป็นการขับเคลื่อนเบื้องต้นในการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศ พื้นฐานหลายๆ เรื่องของกระบวนทัศน์แบบมหฎิรอาจนำเสนอได้ว่าเป็นส่วนผสมของมหฎิรนิยม (Mahathirism)

ในฐานะที่เป็นตัวตนของเขา เขาเป็นผู้ปกครองและผู้นำในการบริหารมาเลเซีย

ในมุมมองผลประโยชน์แห่งชาติ เขาเป็นผู้ได้รับความสำเร็จในการทำให้ประเทศมีความเป็นนานาชาติในระหว่างที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีมายาวนานถึง 22 ปี

ในทางยุทธศาสตร์เขาเน้นในเรื่องการปกป้องประเทศจากการคุกคามที่มาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

นอกจากนี้เรายังได้เห็นข้อเลือกของเขาว่าด้วยความเป็นมหาอำนาจขนาดกลาง (Middle powermanship) ซึ่งถูกนำมาใช้ทั้งโดยส่วนตัวและในฐานะที่เป็นแผนปฏิบัติการแห่งชาติ ในสมัยของเขา เราสามารถคาดหวังได้ว่าปฏิบัติการของเขาสามารถรักษาไว้ได้ทั้งความเป็นเอกภาพแห่งชาติและอัตลักษณ์ของชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความมั่นใจว่าชาติจะดำรงอยู่ได้

ในสมัยของเขา เราได้เห็นปฏิบัติการด้านเสรีภาพ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมของตัวเขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีวิกฤตเอเชีย (1997-1998) ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ มหฎิรได้แสดงลักษณะการประกอบสร้างและบรรทัดฐานของผู้ประกอบการให้เห็น

ในทางยุทธศาสตร์ มหฎิรได้เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องประเทศในฐานะประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) เอาไว้ได้

 

มหฎิรมีอิทธิพลครอบคลุมอยู่ในความเป็นนานาชาติ นั่นคือได้รับการปรึกษาหารือจากองค์กรระหว่างประเทศอยู่เสมอและเป็นผู้นำขององค์กร เป็นผู้นำที่อยู่ใน ASEAN ยาวนานที่สุด

เป็นผู้กล่าวนำในเวทีการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้าจำนวนมาก

ถูกมองว่าเป็นแบบอย่างของผู้นำประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งให้ข้อแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวกับอิสลามและความเป็นสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

นับตั้งแต่แรกมาแล้วที่ฝ่ายบริหารของมหฎิรได้ยืนหยัดที่จะทำให้มาเลเซียอยู่ในแผนที่ของโลก สำหรับเขามีเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะทำให้จุดมุ่งหมายดังกล่าวได้รับความสำเร็จ วาระอื่นๆ ที่มหฎิรได้ทำก็คือการหาทางออกให้กับปัญหาภายในที่มาเลเซียเผชิญอยู่

ในระดับยุทธศาสตร์ที่กว้างไกลฝ่ายบริหารของมหฎิรได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามาเลเซียมีความคล่องตัวพอที่จะขยายตัวเองไปสู่ตลาดใหญ่สำหรับสินค้าของตัวเองและให้การสนับสนุนการริเริ่มลักษณะทางเศรษฐกิจที่จะทำให้มาเลเซียเจริญรุ่งเรืองต่อไป

มโนทัศน์ระยะยาวที่เรียกกันว่ามโนทัศน์ 2020 แสดงถึงความปรารถนาของมหฎิรที่จะทิ้งมรดกอันน่าทรงจำนี้ไว้เบื้องหลัง เมื่อเขาพ้นจากการทำหน้าที่ของเขาไปแล้ว

 

หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้วเขาก็ไม่ได้คิดจะกลับมาเป็นผู้นำอีกจนกว่าจะพบว่าผู้นำที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา ทั้งบาดาวีและนาญิบไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศตามที่เขาปรารถนาเอาไว้ได้

เขาถึงกับลุกมาต่อต้านบาดาวีอย่างเปิดเผย และในเวลาต่อมาเขาก็ออกมาเดินขบวนต่อต้านนาญิบด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนาญิบได้เข้าไปพัวพันกับการคอร์รัปชั่นและอีกหลายคดีที่นาญิบได้ทำเอาไว้เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย

อาจกล่าวได้ว่ากิจการต่างๆ ที่มาเลเซียเข้าไปมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในประเด็นระดับโลก และความเป็นผู้นำนั้นได้แสดงให้เห็นในสมัยของมหฎิร อย่างเช่น ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน บทบาทดังกล่าวทำให้รัฐบาลมาเลเซียถูกจัดเข้าไปอยู่ในรัฐที่มีขนาดกลาง

ผลงานการเลือกตั้งครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามหฎิรเองนั้นมีฐานที่แข็งแกร่งอยู่ในประเทศ เป็นผู้นำอาวุโสของโลกที่มีความก้าวหน้าและชื่อเสียงที่เขามีทำให้เขาพูดตอบโต้ตะวันตกได้อย่างเฉียบคม

ทั้งหมดนี้มีส่วนต่อความคิดที่ว่ามาเลเซียได้เข้ามาครองตำแหน่งผู้นำที่มีอำนาจขนาดกลาง

ความคิดของมหฎิรที่ขับเคลื่อนปัจจัยต่างๆ ของโลกหรือการเคลื่อนไหวไปตามกระแสโลกนั้น

ส่งผลต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและมีนัยสำคัญต่ออัตลักษณ์แห่งชาติ และมีผลต่อการมีสถานะมหาอำนาจขนาดกลางของมาเลเซีย

 

22 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจในการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก มหฎิรได้นำเสนอการพัฒนาที่สำคัญหลายประการ เช่น การป้องกันประเทศที่ปรับตัวตามสถานการณ์ การผนึกกำลังเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มาเลย์ ซึ่งเป็นปัจจัยภายในที่เป็นพฤติกรรมทางเลือกหนึ่งในความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงมีบทบาทสำคัญต่อมาเลเซีย

ในความเป็นมหาอำนาจขนาดกลาง มหฎิรได้ใช้เวทีทวิภาคีสำคัญ 4 เวทีด้วยกัน ซึ่งได้แก่ ASEAN OIC NAM และ Commonwealth หรือประเทศในเครือจักรภพ ทั้ง 4 องค์กรที่มีความสำคัญนี้มหฎิรสามารถทำให้บทบาทของมาเลเซียเป็นที่ยอมรับในฐานะมหาอำนาจขนาดกลาง มาเลเซียภายใต้มหฎิรจึงได้เข้าไปมีบทบาททำให้เสียงของมาเลเซียเป็นที่รู้จักของทั้ง 4 สถาบันที่กล่าวมา

ในทศวรรษ 1980 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการติดต่อกันมากขึ้นและมากขึ้นของประเทศใน ASEAN ในทางเศรษฐกิจ จากความเติบโตดังกล่าว จึงนำไปสู่กระบวนการยอมรับ “การสร้างชุมชนระหว่างประเทศ” จากเหตุการณ์ดังกล่าวมาเลเซียได้เริ่มแสดงความเป็นมหาอำนาจขนาดกลางให้เห็นและสนับสนุนนโยบายต่างประเทศแบบพหุภาคี

สิ่งที่มาเลเซียได้เข้าไปเกี่ยวข้องก็เช่น การยอมรับหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การสนับสนุนความเป็นกลางในภูมิภาค การเป็นผู้พิทักษ์กลุ่มประเทศยากจน

และการท้าทายความเป็น “ลิ้นสองแฉก” ของกลุ่มประเทศที่เจริญแล้วในการยอมให้กับประเทศหนึ่งแต่ไม่ยอมให้กับอีกประเทศหนึ่ง