เราจะถอดคำที่มาจากภาษาอังกฤษอย่างไรให้ถูกต้อง ?

เพื่อป้องกันความลักลั่นในการถอดอักษร ใน พ.ศ.๒๕๓๒ ราชบัณฑิตยสถานจึงกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับสระและพยัญชนะไว้ ดังนี้

สระ ให้ถอดตามการออกเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ โดยเทียบเสียงสระภาษาไทยตามตารางเทียบเสียงสระภาษาอังกฤษ

พยัญชนะ ให้ถอดเป็นพยัญชนะภาษาไทยตามหลักเกณฑ์ในตารางเทียบพยัญชนะภาษาอังกฤษ

เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเอกสารและเทคโนโลยีในสมัยนั้น แทนที่จะตรวจสอบเสียงอ่านในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ผู้ใช้กลับนิยมเดาเอาเองว่าคำภาษาอังกฤษนั้นๆ ออกเสียงอย่างไร แล้วเทียบเสียงกับตัวอย่างในตารางทันที เช่น dinosaur = ไดโนเสาร์ Harvard = ฮาร์วาร์ด label = ลาเบล monorail = โมโนเรล

ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในหลักเกณฑ์ พ.ศ.๒๔๘๕ ทำให้ราชบัณฑิตยสถานต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ใน พ.ศ.๒๕๓๒ ในขณะนี้ปัญหาก็เกิดขึ้นอีก เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การค้นหาเสียงอ่านที่แท้จริงเป็นไปได้อย่างง่ายดาย การปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งใหม่ให้ถือเอาเสียงเป็นหลัก โดยถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์

และให้เขียนในรูปที่จะอ่านได้สะดวกในภาษาไทย

สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษก็คือ ตัวอักษรพิเศษที่เขียนไว้หลังคำศัพท์ ใช้แสดงเสียงอ่านแบบหนึ่งต่อหนึ่งโดยไม่กำกวม ซึ่งพจนานุกรมแต่ละฉบับก็จะมีคำชี้แจงและให้ตัวอย่างไว้อย่างง่ายๆ ว่า สัญลักษณ์ใดใช้แสดงเสียงอะไร

อย่างไรก็ตาม คำที่เขียนแบบเก่าจนติดในภาษาไทย กลายเป็นคำไทยไปแล้วก็ยังคงใช้ไปตามเดิม โดยเฉพาะคำที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ดังที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และเอกสารทางราชการอื่นๆ

เช่น กัปตัน (captain) แคลคูลัส (calculus) เซนติกรัม (centigramme) ดีเปรสชัน (depression) ไดโนเสาร์ (dinosaur) ตัน (ton) บรั่นดี (brandy) บัลลูน (balloon) แบดมินตัน (badminton) โบนัส (bonus) ปลั๊ก (plug) ฟังก์ชัน (function) แฟชั่น (fashion) โฟกัส (focus) มัมมี่ (mummy) มัสตาร์ด (mustard) ยิปซัม (gypsum) ยูเรนัส (Uranus) รักบี้ (rugby) รัมมี่ (rummy) โรมัน (Roman) วัคซีน (vaccine) วัตต์ (watt) ไวรัส (virus) อัลตราไวโอเลต (ultraviolet) อิมัลชัน (emulsion) แอสฟัลต์ (asphalt) ฮิปโปโปเตมัส (hippopotamus)

ขอให้สังเกตว่ารูปการเขียนในภาษาไทยมีทั้งแบบที่มีวรรณยุกต์กำกับและไม่มี ผู้ใช้ภาษาในปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้อย่างง่ายดายว่า หลายคำแทนด้วยเสียงที่ต่างออกไปจากภาษาเดิมมาก

แต่นั่นก็คือรูปที่ปรากฏอยู่ในภาษาไทย และใช้กันมานานแล้ว

ปัญหาของเราก็คือ คำที่ยังไม่อยู่ในพจนานุกรม และเรารู้ว่าออกเสียงอย่างไร เราควรจะทับศัพท์ให้ใกล้เคียงเสียงของภาษาเดิมหรือไม่ เช่น

บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๙ ได้เปลี่ยนมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (The Siam Commercial Bank Public Company Limited) แล้ว

ถ้ายังใช้วิธีทับศัพท์อยู่ ไม่แน่ใจว่าจะทับศัพท์ Commercial ว่าอะไร