“คอฟฟี่ดรีม” ลาวกับเส้นทางสู่เจ้าส่งออกกาแฟ

รัฐบาลลาวกำลังตั้งความฝันครั้งใหญ่ ใฝ่ฝันว่าจะทำให้ลาวกลายเป็นประเทศผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายสำคัญ อย่างน้อยก็ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน

กาแฟนั้นมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของลาวมานานแล้ว และนับวันจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ

ข้อมูลของสมาคมกาแฟลาว แสดงให้เห็นว่าตัวเลขรวมของผลผลิตกาแฟของที่นี่ แม้จะยังเล็กน้อย แต่ขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2017 เพียงแค่ช่วง 6 เดือนแรก สมาคมกาแฟลาวระบุว่ายอดการส่งออกเมล็ดกาแฟพุ่งขึ้นไปถึง 74 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2016 ถึง 50 ล้านดอลลาร์

สมาคมคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2017 มูลค่าการส่งออกเมล็ดกาแฟของประเทศน่าจะเกิน 112 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับว่ามูลค่าการส่งออกรวมทั้งปีเพิ่มขึ้นถึง 3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้านั้น

แม้ทางสมาคมจะไม่มีตัวเลขล่าสุดมาแสดงให้เห็น แต่เชื่อได้ว่าถึงเวลานี้ลาวน่าจะส่งออกกาแฟไปยังโลกภายนอกได้มากกว่าที่เคยส่งออกมาในประวัติศาสตร์

ซึ่งเป็นที่มาของความใฝ่ฝันและมาตรการเชิงนโยบายที่จะไล่ตาม ทำความฝันที่ว่านี้ให้เป็นความจริง

 

กาแฟในลาวเป็นผลพวงจากยุคที่ประเทศตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ให้กำเนิดไร่กาแฟแห่งแรกในประเทศขึ้น

น่าเสียดายที่จุดเริ่มต้นดังกล่าวถูกสกัดกั้นด้วยสงครามที่ต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ ที่ราบสูงบอละเวนในแขวงจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นสถานที่เพาะปลูกกาแฟส่วนใหญ่ของประเทศ ตกเป็นเป้าทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาขนานใหญ่ในช่วงสงครามเวียดนาม ระหว่างปี 1964 จนถึงปี 1973 จนยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงจากระเบิดที่ไม่ระเบิดเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ผลลัพธ์จากสงครามทำให้ไร่กาแฟในลาวส่วนใหญ่เป็นไร่กาแฟขนาดเล็ก ความสามารถในการแข่งขันน้อย ในแง่ของการนำเอาเครื่องไม้เครื่องมือหรือเทคนิคก้าวหน้ามาใช้

การสำรวจอย่างไม่เป็นทางการพบว่า ตอนนี้มีไร่กาแฟทำนองนี้อยู่ระหว่าง 15,000 ถึง 20,000 ราย ทั้งบนที่ราบบอละเวนและละแวกใกล้เคียง

แต่กาแฟก็ยังได้รับความสำคัญ ถึงขนาดกรุงเวียงจันทน์จัดให้มีเทศกาลกาแฟเป็นประจำทุกปีในราวเดือนเมษายน

ในเทศกาลมีกิจกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่ ชิมกาแฟฟรี แข่งขันบาริสต้า หรือคนชงกาแฟ แข่งศิลปะลาเต้ เรื่อยไปจนถึงการแสดงดนตรี และที่ขาดไม่ได้ก็คือเทพีกาแฟ

สภาพผู้ผลิตขนาดเล็กจำนวนมาก ขาดเทคนิคอุปกรณ์ที่ว่านี้ยังคงอยู่ แต่กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

หลังจากที่ความต้องการเมล็ดกาแฟลาวจากประเทศเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะจีนและเวียดนามเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ตัวอย่างเช่น เวียดนามเพิ่มการนำเข้าเมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิก้าขึ้นจนถึงระดับเท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดของลาว หรือราว 30,000 ตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

นโยบายล่าสุดของรัฐบาลเพื่อพัฒนาการผลิตเมล็ดกาแฟของลาว เรียกว่านโยบาย 2+3 ที่เป็นการจับคู่ระหว่างนักลงทุนกับเกษตรกร

เกษตรกรจัดหาที่ดินและจัดหาแรงงานสำหรับการเพาะปลูก ส่วนนักลงทุนเป็นผู้ให้การสนับสนุนเงินทุน สนับสนุนทางเทคนิค วิธีการ และสุดท้ายคือการจัดการด้านการตลาดให้พร้อมสรรพ

ในเวลาเดียวกัน ศูนย์เพื่อการทดลองและวิจัยพันธุ์กาแฟแห่งลาวก็กำลังดำเนินการทั้งเพื่อส่งเสริมคุณภาพของเมล็ดกาแฟ และเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

กาแฟที่ปลูกกันในลาวเป็นพันธุ์โรบัสต้า ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์จึงเป็นพันธุ์อราบิก้า ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ โรบัสต้าเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากที่สุดในโลก เพราะนิยมใช้ในการนำไปผ่านกระบวนการทำเป็นกาแฟสำเร็จรูป ทำให้มีราคาถูกและต้องเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

ในอนาคต ลาวไม่เพียงจะปลูกอราบิก้าเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเริ่มต้นการเพาะปลูกและผลิตกาแฟขี้ชะมด ที่ถือกันว่าเป็นเมล็ดกาแฟที่ราคาดีที่สุดแล้วอีกด้วย