การศึกษา /รับ น.ร. เขตพื้นที่บริการ 100% เพิ่ม หรือแก้ปัญหารับเด็กเข้าเรียน?

การศึกษา

 

รับ น.ร. เขตพื้นที่บริการ 100%

เพิ่ม หรือแก้ปัญหารับเด็กเข้าเรียน?

 

กลายเป็นประเด็นใหญ่ หลังนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดปรับหลักเกณฑ์และแนวทางการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562
โดยรวบรวมปัญหาการรับนักเรียนที่เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2561 มาทบทวน
หลักการคือ ลดการสอบเพื่อเข้าเรียนต่อลง ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โรงเรียนทั่วไปให้รับเด็กในพื้นที่บริการ 100%
แต่ในโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูง หรือโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนเฉพาะทาง ก็จะต้องมีวิธีการอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การประกาศเขตพื้นที่บริการ
เบื้องต้นจะมีการกำหนดเขตพื้นที่บริการใหม่
แบ่งเป็น เขตพื้นที่บริการระดับชุมชนโดยรอบโรงเรียน เขตพื้นที่บริการระดับอำเภอ เขตพื้นที่บริการระดับจังหวัด เขตพื้นที่บริการกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องหรือมีเป้าหมาย เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และสุดท้ายคือเขตพื้นที่บริการระดับประเทศ
เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเปิดรับนักเรียนจากทั่วประเทศเข้าเรียน ทั้งนี้ การพิจารณาจะต้องดูว่า โรงเรียนแต่ละประเภทควรกำหนดเขตพื้นที่บริการในลักษณะใด
และในอนาคต สพฐ. มีแผนจะกระจายอำนาจในการรับเด็กเข้าเรียน ให้คณะกรรมการรับนักเรียน ของจังหวัด และโรงเรียน เป็นผู้ดูแล ว่าโรงเรียนใดควรมีเขตพื้นที่บริการแค่ไหน
โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเป็นเพียงผู้กำหนดนโยบาย

ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังอย่างนายสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง กล่าวว่า สัญญาณจาก สพฐ. ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าการรับเด็กเข้าเรียนในปี 2562 จะให้รับเด็กในพื้นที่บริการ 100% ซึ่งทำให้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่จะต้อง มากำหนดเขตพื้นที่บริการที่ชัดเจน
เพราะปัจจุบันพื้นที่บริการยังมีความเหลื่อมล้ำ เช่น มีบางบ้านเลขที่ อยู่ในพื้นที่บริการถึง 3 พื้นที่
ดังนั้น เวลาเข้าเรียน เด็กก็จะแห่ไปเข้าเรียนในโรงเรียนยอดนิยมก่อน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางในพื้นที่ ไม่มีเด็กเข้าเรียน หรือเด็กสามารถเลือกไปทดลองสอบในโรงเรียนยอดนิยมก่อน
หากสอบไม่ติดก็ยังมีโรงเรียนในพื้นที่บริการรองรับ
แต่หลังจากแบ่งพื้นที่บริการชัดเจนแล้ว ต่อไป เด็ก 1 คนจะมีสิทธิพื้นที่บริการ 1 โรงเรียน หากเสี่ยงไปสอบเข้าโรงเรียนยอดนิยม หากสอบไม่ผ่าน และจะกลับมาเข้าเรียนโรงเรียนพื้นที่บริการก็อาจจะยาก เพราะมีเด็กเข้าเรียนเต็มจำนวนแล้ว
ขณะเดียวกันยังมีปัญหามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน คอนโดฯ จนเกิดเป็นอาชีพ ให้ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านได้ เพื่อเตรียมพร้อมใช้สิทธิเด็กในพื้นที่บริการเข้าเรียนโรงเรียนดัง
บางบ้านเลขที่มีชื่อเด็กอยู่มากถึง 50-60 คน
ทำอย่างไรจึงจะแยกแยะเด็กเหล่านี้ได้ และให้สิทธิเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่บริการจริงๆ ได้เข้าเรียน
การให้โรงเรียนรับเด็กในพื้นที่บริการ เพิ่ม หรือให้รับทั้งหมด 100% เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้เปิดช่องสำหรับโรงเรียนที่มีคุณลักษณะพิเศษ
เช่น มีห้องเรียนพิเศษ สองภาษา ห้องเรียนความสามารถพิเศษด้านต่างๆ เช่น ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสคัดเลือกเด็กที่มีคุณลักษณะตามที่ต้องการได้ด้วย
เพื่อให้โรงเรียนสามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศได้

ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มองว่า หากกำหนดให้โรงเรียนรับเด็กในพื้นที่บริการเพิ่มขึ้น หรือให้รับทั้ง 100% จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน
ที่ชัดเจนคือ กระทบคุณภาพการศึกษา ทำให้โรงเรียนไม่มีโอกาสในการคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถเข้าเรียน
ที่สำคัญปัญหาการรับเด็กพื้นที่บริการ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะมีโรงเรียนยอดนิยมค่อนข้างมาก
แต่ในต่างจังหวัดไม่ได้มีปัญหาเดียวกัน การนำปัญหาของโรงเรียนในกรุงเทพฯ ไปกำหนดเป็นนโยบายให้โรงเรียนทั่วประเทศทำตาม จะทำให้คุณภาพการศึกษาลดลง
อย่างเช่น โรงเรียนประจำจังหวัด จากเดิมที่เด็กในอำเภอ ตำบลต่างๆ หรือเด็กจังหวัดใกล้เคียง สอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียน ก็จะรับได้เฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่หรืออำเภอเมือง
เป็นการลดเกรดให้โรงเรียนประจำจังหวัด เหลือแค่โรงเรียนประจำอำเภอเท่านั้น

ปิดท้ายความเห็นจากนักวิชาการอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ข้อดีคือ ได้กระจายนักเรียนให้ไปสู่โรงเรียนรัฐ ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กได้ทั่วถึง
แต่ข้อเสียคือ ปัญหาคุณภาพการศึกษา เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งมีคุณภาพต่างกัน
ดังนั้น สพฐ. ต้องจัดการให้โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กมีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ ให้เท่าเทียมกับโรงเรียนรัฐขนาดใหญ่
ขณะที่ผู้ปกครองมีค่านิยมส่งลูกเรียนโรงเรียนดัง ถ้าไม่แก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันและค่านิยมของผู้ปกครอง ทั้งนี้ การออกนโยบายใด ควรจะนำผู้ปกครอง นักเรียน ผู้อำนวยการ และส่วนจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกส่วน มาปรึกษาหารือกัน รวมถึงโรงเรียนเอกชนที่จะได้รับผลกระทบ อาจปิดตัวเพิ่มขึ้น
“แนวคิดนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร มีแต่จะขยายปัญหาเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นนโยบายที่กำหนดจากส่วนกลาง ท็อปดาวน์ลงไป อันตรายและสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบอื่นตามมาอีกหลายเรื่องโดยที่เราไม่คาดคิด ท้ายสุดต้องมานั่งแก้ ปรับเปลี่ยนนโยบายเหมือนที่ผ่านมา เพราะขาดการศึกษาข้อมูล ขาดการวิจัย และขาดบุคลากรที่จะลงพื้นที่ศึกษาอย่างจริงจัง ถือว่าเป็นจุดอ่อนอย่างมาก” นายสมพงษ์กล่าว
แม้เรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของพ่อแม่ ผู้ปกครอง กับการหาที่เรียนให้ลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สพฐ. และที่สำคัญคือ ‘เสมา 1’ อย่าง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดูข้อดี ข้อเสียให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจ!!
ไม่เช่นนั้นอาจลุกลาม กระทบคุณภาพการศึกษา กลายเป็นปัญหาใหญ่หนักหนากว่าเดิม…