คุยกับทูต ‘ลง วิซาโล’ ว่าด้วยทางรถไฟเชื่อมไทย-กัมพูชา และ คำพิพากษาศาลโลก

คุยกับทูต ลง วิซาโล ไทย-กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน (2)

เมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจในอินโดจีน กัมพูชากลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส

และเป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลก กัมพูชาได้เป็นประเทศเอกราช แต่เกิดความขัดแย้งภายในประเทศ สร้างความสับสนวุ่นวาย ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงนำโดยพล พต (Pol Pot)

จนกองกำลังของเฮง สัมริน (Heng Samrin) ที่มีเวียดนามหนุนหลังเข้ามาขับไล่เขมรแดงออกไป และการเข้ามาไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติ เพื่อยุติสงครามกลางเมือง

“สมัยก่อนเรามีเส้นทางรถไฟหลายสาย แต่ถูกทำลายในช่วงระบอบการปกครองของพล พต เมื่อมีการปลดปล่อยกัมพูชาพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงมีการสร้างทางรถไฟขึ้นใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ มากมาย เช่น มาเลเซียได้ให้รางรถไฟที่ใช้แล้วแก่กัมพูชา เรานำรางบางส่วนแม้จะไม่ค่อยดีนักก็ตามไปเสริมรางในเส้นทางรถไฟสายพนมเปญกับพระตะบองที่ถูกทำลายสมัยพล พต”

“ชาวนาบางคนในยุคนั้น นำรางรถไฟที่ได้มานี้ ไปทำเป็นใบมีดเพื่อใช้ในการตัดใบข้าว เนื่องจากในสมัยของพล พต ไม่มีโรงเรียน และไม่มีการประกอบอุตสาหกรรมใดๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้รางรถไฟ”

นายลง วิซาโล (H.E. Mr. Long Visalo) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวถึงพัฒนาการของโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมโดยรถไฟ ไทย-กัมพูชา

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศว่า ไทยจะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาเมื่อเส้นทางรถไฟแล้วเสร็จ”

โดยฝ่ายไทยจะมอบรถไฟดีเซลรางให้กัมพูชา 1 ขบวน มี 3 ตู้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ในความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา

สำหรับโครงการรถไฟสายประวัติศาสตร์เชื่อมไทย-กัมพูชา ในเส้นทางสายอรัญประเทศ-ปอยเปต มุ่งเน้นขนส่งประชาชนและพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศเป็นหลัก ขณะนี้การก่อสร้างรางรถไฟเส้นทางทั้งฝั่งไทย และกัมพูชา ดำเนินการแล้วเสร็จ และทางกัมพูชาเริ่มเปิดให้บริการเดินรถแล้ว และจะสามารถลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในอีกไม่นานนี้ เพื่อการเปิดเดินรถเชื่อมโยงทั้ง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ

“โดยนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จะร่วมในพิธีเปิดเส้นทางรถไฟอย่างเป็นทางการ”

ข้อตกลงสร้างทางรถไฟระหว่างสองประเทศ ร่างขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือของกัมพูชาหลังมีการเจรจาต่อรองหลายปีโดยหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

รถไฟโดยสารเส้นทางสถานีปอยเปต (Poipet) ที่อยู่ติดชายแดนไทย ไปยังเมืองศรีโสภณ (Srey Sophon) ใน จ.บ้านใต้มีชัย

โครงการเส้นทางรถไฟกัมพูชา-ไทยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงตะวันออกในแผนแม่บทใหญ่การเชื่อมโยงทางรถไฟสายเอเชีย สิงคโปร์-คุนหมิง ซึ่งล่าช้าไปมาก

รัฐบาลกัมพูชาจัดตั้งกลไกระบบโลจิสติกส์ 2 กลไก ได้แก่ National Logistics Council และ National Logistics Steering Committee เพื่อยกร่างและขับเคลื่อนแผนแม่บทโลจิสติกส์กัมพูชา (National Logistics Master Plan) ซึ่งการยกร่างแผนแม่บทดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก JICA และ World Bank โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้กัมพูชาเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน ในอนุภูมิภาค หรืออย่างน้อยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งสำหรับไทยและเวียดนาม

พัฒนาการด้านโครงสร้างพื้นฐานในกัมพูชา ได้แก่ การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมจากกรุงพนมเปญไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่อยู่ระหว่างการปรับปรุงสภาพผิวการจราจรให้เป็นแบบแอสฟัลต์คอนกรีต (asphalt concrete) และขยายถนนเป็น 4 ช่องทางการจราจร ได้แก่

(1) เส้นทางพนมเปญ-บาเว็ต

(2) เส้นทางพนมเปญ-ปอยเปต

(3) เส้นทางพนมเปญ -จ.กำปอต

(4) เส้นทางที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อสร้างถนนเชื่อมต่อ จ.พระตะบอง-จ.เกาะกง

และยังมีโครงการเชื่อมโยงที่สำคัญในกัมพูชา ได้แก่

รถไฟโดยสารในเส้นทางปอยเปต-ศรีโสภณ ซึ่งหวังว่าจะสามารถทำการเดินรถได้ถึง จ.พระตะบอง ส่วนการเดินรถไฟข้ามแดนไทย-กัมพูชานั้น คาดว่าจะสามารถลงนามความร่วมมือว่าด้วยการเดินรถไฟได้ในเร็วๆ นี้

Airport Rail Link โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ได้สร้างเส้นทางรถไฟระยะทาง 1.3 กิโลเมตร (แยกจากทางรถไฟสายพนมเปญ-พระสีหนุ) จากสถานีพนมเปญ-ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 60

เรือโดยสารสาธารณะ กำลังสร้างท่าเรือ 5-6 ท่า ที่โตนเลสาบ (Tonle Sap Lake) หรือทะเลสาบเขมร จนถึงแม่น้ำบาสัก (Bassac River)

สำหรับความท้าทายในการค้าและการลงทุนของสองประเทศ คือการพัฒนาด้านคมนาคมและกฎระเบียบด่านชายแดนของทั้งสองประเทศที่ต้องเชื่อมโยงกัน

มาถึงเรื่องเขตแดนไทยและกัมพูชา ซึ่งมีปัญหาผ่านรัฐบาลมาหลายยุคสมัย เรื่องพื้นที่ทับซ้อน การเหลื่อมล้ำพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และบริเวณที่ตั้งของโบราณสถาน เป็นต้น

ท่านทูตเล่าว่า

“ในประวัติศาสตร์ (ค.ศ.1904) มีคณะกรรมการฝรั่งเศส-สยาม (Franco-Siamese) ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการไทยและฝรั่งเศส ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อกำหนดเขตแดนของประเทศ นี่คือฉบับที่เรามีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1904 และเราได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสและสยามอีกครั้งเพื่อแบ่งเขตแดนทางเหนือซึ่งเป็นจังหวัดพระวิหาร ไทยกล่าวว่า เส้นแบ่งเขตแดนมีอยู่แล้ว แต่เส้นเขตแดนไทยต่างจากกัมพูชา กัมพูชาใช้แผนที่ของปี ค.ศ.1914 แต่ไทยไม่ยอมรับการใช้แผนที่นี้”

อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีของศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.2013 ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า

“เนื่องจากประเทศไทยใช้แผนที่ฉบับอื่น แต่เราใช้แผนที่เดิมนี้มาตั้งแต่เราแบ่งประเทศ ผมจึงไม่ต้องการพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะผมเป็นผู้ที่ติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และโดยเฉพาะผู้นำประเทศของผมก็ไม่ปรารถนาที่จะให้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก เพราะเราต้องการที่จะมีความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้นกว่าเรื่องความขัดแย้ง”