อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : แบงก์ซี ศิลปินกราฟฟิตี้ปริศนาจอมแสบ บุกปารีสด้วยผลงานกราฟฟิตี้เสียดสีการเมืองสุดแสบสัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในช่วงเวลาของเทศกาลแฟชั่นโชว์ระดับโลกอย่างปารีส แฟชั่น วีก ที่เหล่าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำจับมือกับเหล่าศิลปินบิ๊กเนมในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น Dior ที่จับมือกับศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง KAWS

หรือราชันป๊อปอาร์ตชาวญี่ปุ่นอย่างทาคาชิ มูราคามิ ที่ร่วมงานกับเวอร์จิล อาโบลห์ (Virgil Abloh) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนใหม่ของ Louis Vuitton ออกแบบคอลเล็กชั่นเครื่องแต่งกายของผู้ชายชุดใหม่ออกมา

นั้นเป็นเวลาเดียวกันกับที่เมืองหลวงของฝรั่งเศสแห่งนี้ถูกบุกรุกด้วยงานศิลปะของศิลปินกราฟฟิตี้ผู้สุดแสนจะลึกลับและหาตัวจับยากที่สุดในโลก ผู้มีฉายาว่าแบงก์ซี (Banksy) นั่นเอง

แบงก์ซีเป็นศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีตอาร์ตชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะกราฟฟิตี้เชิงเสียดสีประชดประชัน มืดหม่น ตลกร้าย และการใช้ภาพลักษณ์สะดุดตา ผนวกกับสโลแกนกระแทกใจ

ผลงานของเขาแฝงประเด็นทางสังคมการเมือง วิพากษ์วิจารณ์สงคราม ความปลิ้นปล้อนกลับกลอกและโลภโมโทสันของสังคมทุนนิยมอย่างแสบสัน ด้วยเทคนิคพ่นสเปรย์แบบสเตนซิล (ที่ใช้กระดาษแข็งเจาะหรือตัดช่องเป็นรูปทรงต่างๆ แล้วพ่นสีสเปรย์ทะลุช่องลงไปประทับบนผนัง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำได้อย่างรวดเร็วมาก)

ผลงานของเขาปรากฏอยู่บนท้องถนน ผนัง กำแพง สะพาน อาคาร และที่สาธารณะต่างๆ ทั่วลอนดอน และในอีกหลายแห่งทั่วโลก

แบงก์ซีเก็บซ่อนตัวจริงของเขาเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้

โดยที่ไม่มีการแจ้งหรือเตือนล่วงหน้าใดๆ ชาวปารีสเริ่มระแคะระคายว่ามีผลงานกราฟฟิตี้ชิ้นใหม่ที่น่าจะเป็นของแบงก์ซีปรากฏตามท้องถนนในกรุงปารีสและในจักรวาลโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งได้รับการยืนยันในอินสตาแกรมของแบงก์ซีว่าเป็นผลงานของเขาจริงๆ นั่นแหละ

ผลงานชิ้นแรกของแบงก์ซีถูกพบใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดิน Porte de la Chapelle ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ผู้ลี้ภัย La Bulle จนถึงเดือนสิงหาคม ปี 2017 และเคยเป็นบ้านพักพิงของผู้ลี้ภัยจำนวน 2,700 คน ถูกรื้อถอนไปราว 35 ครั้ง ก่อนที่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกว่า 2,000 คนเหล่านั้นจะถูกกวาดต้อนไปยังที่พักพิงชั่วคราว

ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่ต้องการขจัดเหล่าผู้ลี้ภัย “ออกจากถนน และไปให้พ้นจากป่า” ซึ่งเป็นแคมเปญที่เขารณรงค์ในระหว่างหาเสียงนั่นเอง

แบงก์ซีตอบโต้เหตุการณ์นี้ด้วยการหยิบเอาผลงานกราฟฟิตี้ Go Flock Yourself ที่เขาทำขึ้นในปี 2008 มาทำในเวอร์ชั่นใหม่ เพื่อเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในฝรั่งเศสและทั่วทั้งยุโรปในปัจจุบัน

ด้วยการวาดภาพเด็กหญิงผิวดำกำลังพ่นกราฟฟิตี้เป็นวอลล์เปเปอร์ลวดลายแบบวิกตอเรียนลงทับบนภาพสวัสติกะ

แบงก์ซีใช้ผลงานชิ้นนี้วิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์ของนักการเมืองที่พยายามปกปิดความชั่วและนโยบายที่มีแนวโน้มแบบเผด็จการของตนเอง

หรือผลงานชิ้นที่สองและสาม ที่พบหลังจากนั้นไม่นาน

โดยในภาพหนึ่ง เป็นภาพของชายในชุดสูทสากลกำลังล่อหลอกหมาพิการสามขาด้วยกระดูกชิ้นโตในมือ

แต่มืออีกข้างของเขากลับซ่อนเลื่อยเอาไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นอุปมาถึงเหล่านักการเมืองที่หลอกลวงประชาชนด้วยคำมั่นสัญญาต่างๆ

แต่ในความเป็นจริงกลับแอบแฝงเจตนาเลวร้ายเอาไว้เบื้องหลัง

อีกภาพเป็นภาพที่แบงก์ซีหยิบเอาภาพวาดสุดคลาสสิคเลื่องชื่ออย่าง Napoleon Crossing the Alps (1801) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส ฌาก-หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis David) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและอิทธิพลอันเกรียงไกรของชาติฝรั่งเศส มาดัดแปลงให้เป็นภาพคนบนหลังม้า ที่ถูกผ้าคลุมของตัวเองพันจนยุ่งอีนุงตุงนังมิดหัวหู

ซึ่งแบงก์ซีใช้ภาพนี้วิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ที่กำลังนำพาประเทศไปผิดทาง ด้วยการปิดหูปิดตาประชาชนด้วยโฆษณาชวนเชื่อและคำสัญญาลมๆ แล้งๆ โป้ปดมดเท็จ

ผลงานสามชิ้นสุดท้าย แบงก์ซีนำพาภาพ “หนู” อันเป็นเหมือนหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา กลับไปเยือนต้นกำเนิดของมัน นั่นก็คือ ศิลปินกราฟฟิตี้ชาวปารีสฉายา Blek Le Rat ศิลปินกราฟฟิตี้คนแรกๆ ของปารีส ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาของกราฟฟิตี้แบบสเตนซิล”

ซึ่งกราฟฟิตี้สเตนซิลรูปหนูของ Blek Le Rat นี่เอง ที่ส่งแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงต่อแบงก์ซี

โดยแบงก์ซีประกาศลงในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “ปารีสเป็นบ้านเกิดของกราฟฟิตี้สเตนซิลสมัยใหม่” ด้วยการพ่นรูปหนูไปทั่วเมืองปารีส โดยวางให้มันมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับภาพกราฟฟิตี้ของเดิมที่มีอยู่แล้วตามท้องถนน บนผนังอาคารต่างๆ ซึ่งดูผิวเผินอาจดูเหมือนกับว่าพวกมันกำลังสนุกสนานในการทำลายข้าวของต่างๆ

แต่ในความเป็นจริง เจ้าหนูเหล่านี้กำลังย้ำเตือนถึงการหลงลืมความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1968 หรือการปฏิวัติฝรั่งเศส 1968 ซึ่งเป็นการประท้วงและนัดหยุดงานโดยเหล่านักเรียนและแรงงานในฝรั่งเศส ด้วยศิลปวัฒนธรรม, บทเพลง, กวี, ภาพวาด, รอยขูดขีดเขียนบนผนัง ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศฝรั่งเศส ทั้งในแง่วัฒนธรรม, สังคม, การเมือง และได้รับการยอมรับว่าเป็นการเคลื่อนไหวและปฏิวัติทางสังคมของประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นภาพวาดของหนูตัวหนึ่ง ที่กำลังนั่งอยู่บนฝาจุกแชมเปญที่พุ่งออกไปข้างหน้ากลางอากาศ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ของความหรูหรามั่งคั่งอย่างฝาจุกแชมเปญ เป็นยานพาหนะในการเอาชนะอุปสรรคและทะยานไปข้างหน้า

หนูในภาพวาดของแบงก์ซีภาพนี้เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ เมื่อพวกเขาร่วมแรงร่วมใจและรวมพลังเข้าต่อสู้ร่วมกัน

สิ่งที่น่าสนใจในการ “บุกรุก” ในครั้งนี้ของแบงก์ซีอีกประการก็คือ ผลงานหลายชิ้นนั้นมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขใหม่ในชั่วข้ามคืน ซึ่งเป็นการประกาศศักดาและศักยภาพของเทคนิคพ่นสเปรย์แบบสเตนซิล ที่มีความสามารถในการทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ยกตัวอย่างเช่น ภาพหนูที่กำลังวางแผนจะระเบิดป้ายของศูนย์ศิลป์ปอมปิดู (Centre Georges Pompidou) ก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นหนูตัวใหญ่กว่า ที่สวมผ้าปิดหน้า ที่กำลังถือมีด X-Acto อุปกรณ์อันสำคัญซึ่งเป็นสัญลักษณ์พื้นฐานในการทำสเตนซิลพ่นกราฟฟิตี้นั่นเอง

ใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปปารีสช่วงนี้ ก็ลองแวะเวียนไปชมผลงานศิลปะบนท้องถนนสุดแสบสันของแบงก์ซีกันได้

ถ้าไม่เป็นการรบกวนกันเกินไปละก็ ช่วยถ่ายรูปเอามาฝากกันบ้างอะไรบ้างก็แล้วกันนะครับ ท่านผู้อ่าน!

ภาพและข้อมูลจาก https://bit.ly/2InARJY, https://bit.ly/2lOZDJY