สมชัย ศรีสุทธิยากร : ไพรมารี ทำให้ดีหรือพิธีกรรม

ที่ผ่านมาในอดีตต้องยอมรับว่า ระบบในการคัดเลือกตัวผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน และมักเป็นไปตามใจของหัวหน้าพรรคหรือผู้เป็นเจ้าของพรรคตัวจริงเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อถึงใกล้ช่วงการเลือกตั้ง ถนนทุกสายจึงวิ่งเข้าสู่ผู้มีอำนาจอิทธิพลในพรรคว่าจะตัดสินใจส่งใคร เป็นญาติพี่น้อง มิตรสหาย หรือมีคนเคยกระแหนะกระแหนว่าจะส่งคนขับรถหรือเสาไฟฟ้าลงก็ย่อมได้

นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของการเลือกตั้งในประเทศไทยที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและ สนช. ได้ออกแบบมาเพื่อลดอิทธิพลของเจ้าของพรรคในการกำหนดตัวผู้สมัครในแต่ละเขต คือ การให้มีระบบสรรหาผู้สมัครทั้งในแบบเขตและบัญชีรายชื่อ หรือที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า Primary Vote หรือการเลือกตั้งขั้นต้น

โดยรูปแบบดังกล่าวมีใช้กันทั้งในสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น

หากแบ่งรูปแบบของการทำไพรมารีที่ใช้กันในโลก น่าจะแบ่งแบบหยาบๆ ได้สองแบบ คือ แบบปิด (Closed primary) ซึ่งผู้มีสิทธิในการลงคะแนนคัดเลือกจะต้องเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น

และ แบบเปิด (Open primary) ที่เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนข้ามพรรคได้

โดยแบบปิด ส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินการภายในโดยพรรคการเมืองเอง

และแบบเปิด มักจะเป็นการดำเนินการจัดการโดยรัฐหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ระบบดังกล่าวบางประเทศพัฒนาไปถึงรูปแบบที่เรียกว่าการเลือกตั้งสองรอบ (two-round system) โดยรอบสองจะเอาผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดสองคนแรกมาแข่งขันกันอีกทีเท่านั้น

เพื่อทำให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งจริงเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงเนื่องจากจะมีคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

สําหรับประเทศไทย เราเลือกใช้ไพรมารีแบบปิด คือสมาชิกพรรคเท่านั้นที่จะมีส่วนในการคัดเลือกผู้สมัคร และเป็นการดำเนินการเองโดยพรรคการเมือง

คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเพียงผู้กำกับในกติกาการดำเนินการไม่ได้เข้าไปจัดการ แต่สามารถรับเรื่องร้องเรียนหากมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

ดังนั้น ภาระเกือบทั้งหมดจึงไปตกที่พรรคการเมืองที่ต้องมีทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

มิฉะนั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อได้

ยังไม่ทันได้เริ่มดำเนินการ เสียงโอดครวญจากพรรคการเมืองต่างๆ จำนวนหนึ่งก็ปรากฏ ว่ากติกาดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระและต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

ซึ่งก็เป็นความจริงว่า ธรรมชาติของทุกคนทุกพรรคย่อมไม่ต้องการทำอะไรที่เหนื่อยมากขึ้นโดยไม่เกิดประโยชน์

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ควรมีการคิดวิเคราะห์และออกแบบที่ดี เพื่อให้ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ใช้ได้จริง ไม่เป็นภาระที่ไม่จำเป็นแก่พรรคการเมือง และไม่ใช่เป็นเพียงแค่รูปแบบพิธีกรรมว่าได้ทำแล้วแต่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการปฏิรูประบบพรรคการเมือง

ระบบไพรมารีของไทยเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าคิด

ประการแรก แม้จะบอกว่าพรรคการเมืองสามารถทำไพรมารีได้ล่วงหน้า แม้ว่าจะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง

แต่เรื่องนี้เหมือนหนังการ์ตูนหลอกเด็ก เพราะหนึ่ง ถึงวันนี้ยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง พรรคไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ได้ แล้วจะไปดำเนินการในเรื่องจัดประชุมสมาชิกพรรคเพื่อเลือกตัวแทนได้อย่างไร

และสอง เขตเลือกตั้งที่ชัดเจนก็ยังไม่เกิด เนื่องจาก กกต.ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จากเดิมมี 375 เขต ลดลงเหลือ 350 เขต การแบ่งเขตทำได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง

ดังนั้น กรอบเวลาในการทำไพรมารี จึงเป็นเวลาที่ทำได้จริงในเดือนที่สองหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง โดย กกต. เอาเดือนแรกไปใช้ในการแบ่งเขต

ประการที่สอง การทำไพรมารีภายใต้บทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือเฉพาะในครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งหลังจาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองบังคับใช้ สามารถทำได้สองลักษณะคือ โดยสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคในระดับจังหวัด ซึ่งกำหนดตัวเลขสองตัวคือ สาขาต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน มาประชุมอย่างน้อย 100 คน และการประชุมโดยตัวแทนพรรคต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100 คน มาประชุมอย่างน้อย 50 คน

หากเอาตัวเลขที่ต่ำสุดมาคิด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พรรคการเมือง พรรคที่ประสงค์จะส่งผู้สมัครลงทุกเขต ต้องมีสมาชิกในเขตที่มีตัวแทนในทุกจังหวัดอย่างน้อย 100 คน

แปลว่า จำนวนสมาชิกขั้นต่ำของพรรคการเมือง จะต้องอยู่ที่ 77 จังหวัด คูณ 100 หรือ 7,700 คนเป็นอย่างน้อย

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคการเมืองตั้งใหม่ หรือสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็ก

ประการที่สาม ภายใต้กติกาของบทเฉพาะกาลที่ว่าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคในจังหวัดใด สามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น (มาตรา 145 พ.ร.ป.พรรคการเมือง) และตัวแทนพรรคในเขต ต้องมาจากการที่มีสมาชิกในเขตนั้นเกินหนึ่งร้อยคน (มาตรา 35 พ.ร.ป.พรรคการเมือง) จึงเป็นการกำหนดให้การประชุมเลือกผู้สมัครของทุกเขต มาจากการลงมติของสมาชิกหนึ่งร้อยคนจากเขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าจังหวัดนครราชสีมามีเขตเลือกตั้ง 14 เขต การคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองหนึ่ง ทำโดยสมาชิก 100 คน จากเขตเลือกตั้งเดียวก็สามารถทำได้ตามกฎหมายแล้ว เช่น ตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้งที่ 1 สามารถจัดประชุมสมาชิกพรรคในเขตที่ 1 ซึ่งต้องมีเกิน 100 คน และมาประชุมเกินกว่า 50 คน ก็สามารถลงมติคัดเลือกผู้สมัครทั้ง 14 เขตได้

ประการที่สี่ กระบวนการในการทำไพรมารี มีขั้นตอนตั้งแต่การแต่งตั้งกรรมการสรรหา การกำหนดวัน เวลา สถานที่รับสมัคร การประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป การตรวจสอบคุณสมบัติ การส่งรายชื่อไปให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรค การจัดประชุมสมาชิกเพื่อให้มีการลงคะแนน การส่งผลกลับมาที่กรรมการบริหารพรรค การพิจารณาโดยกรรมการบริหารพรรค ซึ่งหากมีความเห็นต่างก็ยังมีกระบวนการในการดำเนินการที่ย้อนกลับไปมาอีก

ขั้นตอนทั้งหมดนี้ ใช้เวลาโดยเร่งรัดแล้วยังน่าจะอยู่ที่ 20-30 วัน ซึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอยู่ที่พรรคการเมือง คำนวณโดยประหยัด หากหนึ่งยูนิตของการดำเนินการอยู่ที่ 20,000 บาท (ค่าจัดประชุม ค่าพาหนะ ค่าจัดเลี้ยง ค่าใช้จ่ายทางธุรการต่างๆ)

ทำทุกจังหวัดทั้งประเทศ หนีไม่พ้น 1.5 ล้านบาท สำหรับกิจกรรมตรงนี้

สําหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม กติกาการทำไพรมารีไม่เป็นภาระใดมากนัก และจะเป็นผลดีเนื่องจากสามารถกีดกันพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคตั้งใหม่ที่ไม่มีความพร้อมในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งได้

สำหรับเจ้าของพรรคเดิม การทำไพรมารีอาจสร้างขั้นตอนกระบวนการที่ยุ่งยากมากขึ้น แต่ภายใต้ระบบการจัดตั้งสมาชิกแค่ 100 คน ในแต่ละจังหวัด และให้มาประชุมเกิน 50 คน รายชื่อผู้สมัครที่ผ่านกระบวนการทำไพรมารีที่ตรงกับความต้องการของเจ้าของพรรคก็ไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับ กกต. การทำไพรมารีเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ที่ กกต. คงไม่เดือดร้อนที่ต้องลงไปดำเนินการ เพียงแต่เปิดช่องในการรับฟังข้อร้องเรียนจากผู้สมัครที่อาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการทำไพรมารีภายในพรรค ซึ่งจะมีมากหรือน้อยไม่อาจคาดการณ์ได้ ขึ้นอยู่กับภายในแต่ละพรรค “เอาอยู่” มากน้อยเพียงไร

สำหรับประชาชนทั่วไป ไพรมารียังเป็นเรื่องห่างไกล ยกเว้นจะยอมเสียค่าสมัครเป็นสมาชิกพรรค และกระทำตัวเป็นสมาชิกที่มีความตื่นตัวสูง (active member) ที่พร้อมเข้าร่วมและแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจังในการคัดเลือกผู้สมัครในแต่ละเขต และพร้อมตรวจสอบถ่วงดุลกับความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินการของกรรมการบริหารพรรค

แต่เรื่องนี้ยังเป็นอนาคตอีกไกลที่จะไปถึง

โดยรวมในวันนี้ ไพรมารีกลายเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก สร้างภาระ และเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ไม่สามารถนำไปสู่การคัดเลือกผู้สมัครที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงตามที่ผู้ร่างปรารถนา แต่ข้อเสนอเกี่ยวกับไพรมารีคือต้องเดินหน้าดำเนินการอย่างจริงจัง อย่าเลิกล้ม อย่าเป็นเพียงพิธีกรรม และใช้การดำเนินการตามบทเฉพาะกาลเป็นแบบฝึกหัดขั้นต้นเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต

ไม่ใช่พอบ่นๆ ก็จะเลิกเสียแล้ว ปฏิรูปพรรคการเมืองก็ไม่ได้ไปถึงไหนเสียที เฮ้อ (ขอบ่นดังๆ)