ฉัตรสุมาลย์ : การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ ตอนที่ 2

ยังอยู่กับพระอาจารย์ครรชิตค่ะ เวลาที่เรามีคนป่วยวาระสุดท้ายนั้น เมื่อคนไข้ถึงมือหมอ เราก็นึกโล่งใจ

แต่ในความเป็นจริง หมอดูแลคนไข้ทางกาย ส่วนทางจิตวิญญาณนั้นเรายังต้องประคับประคองให้ความดูแลอย่างต่อเนื่อง การดูแลคนเจ็บวาระสุดท้ายต้องมาเป็นทีมค่ะ สมาชิกครอบครัวต้องมีส่วนร่วม

ท่านอาจารย์อธิบายให้เราเห็นขั้นตอนของคนเจ็บวาระสุดท้าย ว่า มักจะมีอาการปฏิเสธ

โกรธ

ซึมเศร้า

ต่อรอง

และท้ายที่สุดยอมรับ

กว่าที่จะช่วยให้คนไข้ผ่านพ้นขั้นแรกมาจนถึงขั้นสุดท้ายได้ ผู้ดูแลผู้ป่วยเองต้องมีธรรมะและต้องมีเทคนิควิธีที่ต้องเรียนรู้ และต้องเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

ประการแรก ท่านอาจารย์อธิบายและให้เราได้ฝึกปฏิบัติให้เห็นความแตกต่างระหว่างที่เราตั้งใจ และเวลาที่เราเผลอใจ

ท่านให้เราตั้งมือซ้ายแล้วคว่ำลง ตั้งมือขวาแล้วคว่ำลง

ท่านอาจารย์สั่งเราไปด้วยคำสั่งซ้ำๆ เช่นนี้ พอไปถึงจุดหนึ่ง ท่านอาจารย์ให้คำสั่งซ้ำ แทนที่จะเปลี่ยนจากซ้ายเป็นขวา ท่านสั่งซ้ำที่ซ้าย เราหลายคนก็ยังทำมือขวา

ทำความเข้าใจได้เลยว่า ที่เราพลาดไม่ทำตามที่ท่านสั่งเพราะเราเผลอทำตามความเคยชิน

ความเคยชินเป็นอาหารของความหลง

ในขณะที่ความตั้งใจเป็นอาหารของสติ รู้สึกตัว

ท่านอาจารย์สอนจากความผิดพลาดของเราเอง ทำให้ความเข้าใจที่ตามมาชัดเจน

 

ขั้นต่อมาท่านสอนให้เรากำและแบมือข้างหน้า เรายังเห็นอาการนั้นด้วยตา

แล้วเอามือไปกำและแบไว้ข้างหลัง เราก็ยังรับรู้ได้ว่า เรากำและแบมือ รู้ครั้งที่สองไม่ใช่การรู้จากตา เพราะไม่เห็น แต่เป็นการรู้ที่ใจ ใจตั้งตรงไหนก็รู้ที่นั่น เพราะใจเป็นธาตุรู้

ชัดเจนนะคะ

กัมมัฏฐาน คือการที่จิตมีฐานที่ตั้ง ฐานที่ดีที่สุดคือกาย เรารู้การเคลื่อนไหวของลมหายใจ เอาธาตุรู้ คือใจไปตั้งตรงนั้น อาการที่จิตระลึกรู้ตรงนั้น คือสตินั่นเอง ระลึกรู้ตรงไหน ฐานก็อยู่ตรงนั้นแหละ

ท่านอาจารย์ให้ทำกิจกรรมง่ายๆ คือให้ดูเรื่องที่ใจเผลอคิด

และให้ทำกิจกรรมที่ตั้งใจคิด

เมื่อทำกิจกรรมทั้งสองอย่างนี้แล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมแยกแยะชัดเจนระหว่างเผลอคิด กับตั้งใจคิดนั้นว่า การเผลอคิด ไม่ตั้งใจ ไม่มีระเบียบไร้ขอบเขตจำกัด มีทั้งกุศลและอกุศล แต่ไม่เป็นประโยชน์

แต่เมื่อตั้งใจคิดนั้น ความคิดชัดเจนต่อเนื่อง สร้างสรรค์ มีลำดับ สามารถแยกแยะได้

การตั้งใจคิดเช่นนี้ ธรรมะจะเจริญ นำไปสู่โยนิโสมนสิการ

การตั้งใจคิดถึงบุญกุศล มีสติ มีสมาธิ และเป็นกุศล

แต่เมื่อจิตไม่สามารถอยู่กับฐานที่กำหนด มันทนไม่ได้ และแปรไปตามความคิด มีอารมณ์เข้ามาแทรก เกิดอุปาทานขันธ์

ในทางกลับกัน หากฝึกมาดี มีสติเข้าไปรู้เร็วเท่าใด ก็จะเห็นทุกข์เร็วเท่านั้น

 

ในขณะที่ศาสนาอื่นไม่พูดถึงเรื่องขันธ์ หรืออาจจะพูดในลักษณะกดข่มไว้ แต่ศาสนาพุทธให้เราเข้าใจธรรมชาติของขันธ์ การเข้าไปรู้เรื่องขันธ์ ก็คือวิปัสสนานั่นเอง

สำหรับคนเจ็บที่มีเวทนาทางกายอยู่แล้ว แต่หลายครั้งเราจะเห็นว่ามีการปรุงแต่งทางใจด้วยจากทั้งความคิดและอารมณ์ ยิ่งทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยทุกข์ทรมานมากขึ้น

จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ผู้ดูแลจะช่วยได้โดยคลายคนเจ็บให้ออกมาจากความพอใจไม่พอใจก็จะเหลือเพียงเวทนา เมื่อเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง จิตเป็นกลาง เป็นสัมมาสมาธิ

รับรู้เพียงจิตเป็นเช่นใด ก็ให้รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้น

ท่านอาจารย์เน้นย้ำตรงนี้ว่า เดินสติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทัน พอใจ ไม่พอใจ แล้วถอนออกมาเสียได้

เคยอ่านว่า ครั้งหนึ่งพระภิกษุหนุ่มเข้าไปถามหลวงปู่ดูลย์ตอนที่ท่านอาพาธว่า

“หลวงปู่มีเวทนาไหม” คือเจ็บไหม

หลวงปู่ตอบว่า “มี แต่ไม่เอา”

 

ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานอย่างต่อเนื่องมีหวังได้บรรลุอรหันต์ หรืออย่างน้อยก็ถึงอนาคามี

การดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องรู้ภูมิหลังของคนเจ็บ จึงสามารถช่วยไม่ให้คนเจ็บจมอยู่ในความคิดที่วิ่งไปมาระหว่างอดีตกับอนาคต

การที่เราจะก้าวออกมาจากความคิดได้ คือภาวะรู้ตรงๆ จิตมารับรู้ตรงนี้ เวลาดูแล หรือเข้าไปเยี่ยมคนไข้ ต้องมองดูตาเขา สัมผัสที่มือ หรือที่หน้าอกให้เขารู้ตัว และย้ายมารับความรู้สึกที่การสัมผัสนั้น จะช่วยคนเจ็บให้ออกมาจากความคิดได้

คนเจ็บออกมาจากความคิด แล้วมาจดจ่อกับความรู้สึกที่คนมาเยี่ยมสัมผัสแทน

เป็น Touch Therapy ค่ะ

การสัมผัสนี้ควรทำอย่างยิ่งกับคนไข้ที่นอนนิ่ง ไม่ตอบรับ ในหลายกรณีคนเจ็บยังรับรู้อยู่ โดยเฉพาะการได้ยิน เพียงแต่ไม่สามารถตอบสนองได้เท่านั้น

คนดูแลต้องสังเกต และถามคนเจ็บถึงความเจ็บปวดที่มี ให้คะแนน เมื่อคนเจ็บพยายามสังเกต สามารถบอกได้ว่า ความปวด 8 จาก 10 ต่อมา เหลือ 6 จาก 10 ความปวดไม่เท่ากันนี้ ยืนยันธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน

คือมันไม่เที่ยง มันมีการเปลี่ยนแปลง

 

เทคนิคการให้คนเจ็บสังเกตความปวดนี้ คนเจ็บเปลี่ยนภาวะจากการเป็นผู้เจ็บ กลายเป็นผู้สังเกตความเจ็บปวด นั่นคือ คนเจ็บไม่เข้าไปรับอาการปวดเสียเอง เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้คนเจ็บสามารถแยกกายกับจิตได้ ความเจ็บปวดมันอยู่ที่กาย จิตเป็นผู้เฝ้ามอง จิตไม่จำเป็นต้องกลายเป็นผู้เจ็บตามไปด้วย

คนเจ็บที่เป็นมะเร็ง สามารถรับรู้ได้ว่า เป็นมะเร็งที่กาย ไม่ใช่ฉันเป็นมะเร็ง และกายที่ป่วยเป็นมะเร็ง ก็ไม่ใช่เป็นทั้งกาย เป็นเพียงบางส่วนของกายเท่านั้น ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งก็รู้ว่าร่างกายบางส่วนเป็นและบางส่วนไม่เป็นมะเร็ง ความเข้าใจชัดเจนเช่นนี้ ช่วยให้คนเจ็บสามารถผ่านขั้นตอนต่างๆ ในการยอมรับโรคภัยไข้เจ็บที่พูดถึงในตอนต้นได้ดีขึ้น

ท่านอาจารย์ท่านเน้นว่า ฝึกให้จิตเรียนรู้ว่ามันสามารถออกจากทุกข์ทางกายได้ กลับมารู้สึกตัว ตั้งใจสละความนึกคิด อารมณ์ต่างๆ ได้ เมื่อมีความตั้งใจ รู้สึก ซื่อๆ ใสๆ ก็สามารถออกจากความคิดที่เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ได้

 

แบบฝึกหัดอีกอย่างหนึ่ง คือให้ผู้เข้าอบรมยืนหันหน้าเข้าหากัน และฝ่ายหนึ่งจะต้องเรียกอีกฝ่ายหนึ่งให้เดินเข้าไปหา ทั้งหมดไม่มีการพูดกัน เป็นการสื่อภาษาทางกายเท่านั้น โดยมีโจทย์ว่า ฝ่ายที่เรียกนั้นต้องทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไว้วางใจ

หากอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่รู้สึกไว้วางใจ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาหา

ทั้งหมดนั้นคือการเรียนรู้ภาษากายของตนเอง ตั้งแต่สายตาท่าทางที่จะสร้างความเชื่อมั่น หรือทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่รู้สึกสบายใจ ไม่รู้สึกวางใจ ฝ่ายที่ถูกเรียกเข้าไปนั้น ให้มีความจริงใจต่อตนเอง หากยังไม่แน่ใจ ไม่วางใจ ไม่รู้สึกดี ก็ไม่ต้องเดินเข้าไปหา

คุณชัยซึ่งเป็นผู้ช่วยของท่านอาจารย์สรุปแบบฝึกหัดนี้อย่างดีมาก หลายคนที่เข้าอบรมยอมรับว่า ท่าทีของตนเองที่ตนทำด้วยความคุ้นชินนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการส่งสัญญาณที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่ไว้วางใจ

บางคนไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยสังเกตตัวเอง บางคนส่งสัญญาณแบบใช้อำนาจเหนือ อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่เข้ามาหา บางคนทำท่าทำทางแต่สายตาไม่สื่อถึงความบริสุทธิ์ใจ ไม่สร้างความไว้วางใจให้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นแบบฝึกหัดที่เป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรมของเราได้อย่างดี หลายคนบอกว่า ไม่เคยเห็นตัวเอง และได้บทเรียนที่ดีมาก

คราวหน้าจะเล่าให้ฟังถึงทีมงานของท่านอาจารย์ซึ่งมีทั้งนายแพทย์และพยาบาลที่มีชั่วโมงบินมานาน ประสบการณ์ที่นำมาแลกเปลี่ยนได้ประโยชน์อย่างมาก

เดี๋ยวจะนำมาแชร์นะคะ ตัวเองได้ประโยชน์ไม่พอ แต่ต้องให้ท่านผู้อ่านได้ประโยชน์ด้วยกัน