อนุสรณ์ ติปยานนท์ : อ้าย

คําว่าอ้ายในภาษาอีสานหรือภาษาเมืองนั้นมีความหมายว่าพี่ และใช้กับพี่ที่เป็นเพศชายโดยเฉพาะ

ดังคำว่าเอื้อยนั้นใช้กับพี่ที่มีเพศเป็นหญิง

กระนั้นการเรียกใครว่าอ้ายหรือเอื้อยไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ นัก ในด้านหนึ่งคงต้องมีความสนิทสนมเป็นที่ตั้ง

และอีกด้านหนึ่งความสนิทสนมที่ว่าต้องแฝงความเคารพนบนอบไว้อีกทีด้วย

ในแวดวงของนักเขียนและกวีเชียงใหม่ มีบุคคลที่เราเรียกขานว่าอ้ายอยู่หลายคน

แต่ละอ้ายก็มีบุคลิกที่โดดเด่นแตกต่างกันไป

แต่หากพูดถึงอ้ายที่ให้ความเป็นกันเองและเป็นที่รักของทุกคนแล้ว

ชื่อของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น คงเป็นชื่อแรกๆ เป็นแน่

อ้ายแสงดาวนั้นไม่ได้ชื่อว่าแสงดาว เช่นเดียวกันกับศรัทธามั่นนั้นก็ไม่ใช่นามสกุลของอ้าย

ชื่อจริง นามสกุลจริงของอ้ายคือ ศักดิ์ไชย ดวงสิงห์

แต่ว่าไปทำไมมี ผมว่าอ้ายน่าจะคุ้นชินกับการเรียกขานจากผู้อื่นว่าแสงดาว ศรัทธามั่น

จนหลายครั้งแม้แต่ตัวอ้ายเองก็อาจจะลืมชื่อจริงของตนไปแล้วด้วยซ้ำ

ผมพบกับอ้ายแสงดาวครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน

จำได้ว่าน่าจะเป็นงานเปิดตัวการกลับมาอีกครั้งของนิตยสารรวมเรื่องสั้นช่อการะเกดที่เปิดตัวที่สถาบันปรีดี พนมยงค์

แค่เพียงเห็นครั้งแรกก็จำได้ว่าเป็นอ้ายแสงดาวโดยทันที

บุคลิกภาพของอ้ายที่เป็นชายร่างผอมบาง ร่างกายสันทัด ไว้ผมประบ่า อีกทั้งยังมีจอกไม้ไผ่ส่วนตัวที่เอาไว้รองรับเครื่องดื่มส่วนตัวที่อ้ายพกพาไว้ในย่ามที่สะพายอยู่ข้างกาย ทำให้อ้ายมีภาพถ่ายเผยแพร่ให้พบเห็นในงานทุกงานที่อ้ายไปปรากฏตัว

ดังนั้น คนที่สนใจข่าวสารในแวดวงวรรณกรรมย่อมต้องเคยเห็นภาพถ่ายของอ้าย ย่อมต้องเคยเห็นรูปร่าง หน้าตาของอ้าย

และคนที่เคยเห็นภาพถ่ายของอ้ายย่อมต้องจดจำตัวตนจริงๆ ของอ้ายได้ในทันที

นั่นเป็นเพราะว่าอ้ายในภาพถ่ายกับอ้ายยืนอยู่ตัวเป็นๆ เบื้องหน้านั้นแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย

โดยเฉพาะรอยยิ้มของอ้าย

อ้ายเป็นคนยิ้มง่ายและแย้มยิ้มแทบตลอดเวลา รอยยิ้มของอ้ายแจ่มใส ซื่อตรง มันเป็นรอยยิ้มประเภทที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจ

มันเป็นรอยยิ้มประเภทที่เรารู้สึกได้ถึงความเมตตา

และจากประสบการณ์โดยตรงที่ผมมีต่ออ้าย รอยยิ้มของอ้ายก็สะท้อนสิ่งเหล่านั้นจริงๆ

อ้ายไม่เคยคิดร้ายหรือเป็นศัตรูกับใครหรือผู้ใด ถ้าหากอ้ายจะมีศัตรูจริงๆ สักหนึ่งคน ศัตรูนั้นคงมีชื่อว่า “ความไม่ถูกต้อง” นั่นเอง

ความไม่ถูกต้องในสายตาของอ้ายคือความเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง การฉ้อฉลและการหมิ่นแคลนคนธรรมดาสามัญ

เรื่องราวของอ้ายที่เข้าต่อสู้และเป็นแนวร่วมกับขบวนการสามัญชนในอดีตอย่างนับครั้งไม่ถ้วนในวัยหนุ่มดูจะเป็นตำนานที่ผมได้ยิน ได้ฟังนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากตัวอ้ายเองและจากคนที่รู้จักอ้าย

ไม่นับว่าแม้ในครั้งสุดท้ายที่พบอ้ายเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า คำพูดแรกของอ้ายก็ยังว่าด้วย “อ้ายไม่เอาเผด็จการ โครงการป่าแหว่งอ้ายก็ไม่เอา”

การเอาจริงเอาจังกับการยืนอยู่เคียงข้างผู้ถูกกระทำของอ้ายนั้น ทำให้เมื่อถึงวาระที่อ้ายจากโลกนี้ไป ภาพถ่ายจำนวนมากที่หลั่งไหลปรากฏออกมาให้เห็นจึงเป็นภาพถ่ายของอ้ายบนเวทีเคลื่อนไหวต่างๆ

เทียบกับน้ำหนักตัวแล้ว อ้ายคงเป็นนักชกประเภทซูเปอร์ไลต์เวต

แต่ถ้าเทียบกับความมุ่งมั่นในกิจกรรมต่างๆ ที่อ้ายเข้าร่วม อ้ายย่อมเป็นนักชกระดับเฮฟวี่เวตอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่กระนั้นอ้ายก็ไม่เคยเรียกตนเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวหรือเป็นนักอะไรต่อมิอะไรให้ผมได้ยิน

อ้ายพึงพอใจที่จะเรียกตนเองว่าเป็นกวี

และพึงพอใจที่คนอื่นจะเรียกอ้ายว่ากวี และยิ่งพึงพอใจมากยิ่งขึ้นถ้าใครจะพูดถึงอ้ายในฐานะของกวี

การพูดถึงอ้ายในฐานะของกวีนั่นหมายถึงการได้อ่านและได้ฟังบทกวีของอ้าย

ชื่อของแสงดาว ศรัทธามั่น อาจไม่ใช่ชื่อของกวีที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นจำนวนมากหรือเป็นผลงานยอดนิยม

แต่ทุกสนามที่มีพื้นที่ให้กับบทกวี ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารหรือหนังสือ เราจะผ่านตาบทกวีของอ้ายอยู่เสมอ

ไม่นับว่าทุกครั้งที่อ้ายขึ้นเวทีเพื่อร่วมกิจกรรมกับผู้คน อ้ายจะขึ้นเวทีพร้อมกับบทกวีของอ้าย

อาจมีความเห็นว่าบทกวีของอ้ายไม่ได้งดงาม ไพเราะ หรือสมบูรณ์แบบสักเท่าใดนัก

ซึ่งก็มีความจริงอยู่บ้าง แต่ถ้าหากเราคิดว่าบทกวีของอ้ายถูกเขียนขึ้นเพื่อการสื่อสารถึงปัญหาหรือสิ่งที่อ้ายใคร่ครวญและหมกมุ่นอยู่กับมันในช่วงเวลานั้นๆ เราย่อมเห็นถึงคุณค่าของมัน อ้ายเป็นกวีที่สามารถเขียนบทกวีได้อย่างฉับพลันและความฉับพลันทันใดนั้นก็แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของอ้าย

อ้ายน่าจะเขียนบทกวีเพื่อการต่างๆ มานับร้อย นับพันบท หลายบทก็ปรากฏตัวขึ้นที่นั่น ที่ตรงนั้น ตามคำพระว่าคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

เป็นบทกวีที่มีอายุเพียงสั้นๆ ให้ความงามและความอิ่มใจกับผู้คนในบริเวณนั้น

เหมือนดังดอกไม้ที่เบ่งบานสว่างไสวในชั่วพริบตา

และหลงเหลือไว้เพียงความทรงจำที่เราเคยมีต่อมัน

หลายปีก่อนที่บ้านของอ้ายถนอม ไชยวงศ์แก้ว ที่ทุ่งเสี้ยว อ้ายอ่อนเพลียและขอตัวไปนอนก่อนในขณะที่วงสนทนาดำเนินไปแม้น้ำค้างจะหล่นลงมาอย่างหนักหน่วงก็ตาม

เสียงกีตาร์จากอ้ายถนอม ขับกล่อมวงสนทนาบริเวณนั้นเพลงแล้วเพลงเล่าจนในที่สุดก็มีใครคนหนึ่งเริ่มอ่านบทกวีที่นำติดตัวมา

หลังจากนั้นทุกคนก็หยิบยกบทกวีที่ตนเองชื่นชอบออกมาแลกเปลี่ยนกัน

เสียงขับขานกวีดำเนินไประลอกแล้วระลอกเล่า

และแล้วอ้ายแสงดาวก็ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับกระดาษในมือ อ้ายอ่านบทกวีที่แต่งขึ้นสดๆ ร้อนๆ หลังจากสดับตรับฟังบทกวีของผู้อื่นมาพอสมควร

บทกวีชมธรรมชาติยามดึกขนาดสั้นของอ้ายถูกอ่าน และหลังจากมันถูกอ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อ้ายก็เติมเครื่องดื่มที่นิยมใส่จอก ยกดื่ม

ก่อนจะหายตัวลับไปอีกครั้งหนึ่ง

อ้ายคงมีบทกวีที่แต่งขึ้นในการณ์แบบนั้นเป็นจำนวนมากจนตัวอ้ายเองก็คงจดจำไม่ได้ว่ามันมีจำนวนมากน้อยเพียงใด การจะรวบรวมผลงานของอ้ายให้ครบถ้วนจึงเป็นเรื่องที่ดูยากเย็นไม่น้อย

ในงานอ่านบทกวีครั้งหนึ่งที่ร้านสุดสายแนน อ้ายเปลี่ยนจากการใช้กระดาษเป็นตัวบันทึกบทกวีมาเป็น Tablet ที่ดูจะให้ความสะดวกกับอ้ายมากกว่า

อ้ายอ่านบทกวีครั้งนั้นที่ว่าด้วยเรื่องราวของเผด็จการอย่างได้อารมณ์และกินใจ หลังลงจากเวทีอ้ายตรงเข้าไปทักทายผู้คน นั่งร่วมกับมิตรสหายวงนั้นบ้าง วงนี้บ้าง และเช่นเคย หากไม่มีใครถามไถ่บทกวีชิ้นนั้นกับอ้าย มันก็คงหลบซ่อนอยู่ที่ใดสักแห่งใน Tablet อันนั้น และเป็นบทกวีอีกชิ้นที่ปรากฏตนเพียงครั้งเดียวในโลกนี้

อย่างไรก็ตาม เราทุกคนที่คุ้นเคยกับอ้ายล้วนรู้ดีว่ามีบทกวีบทหนึ่งที่อ้ายไม่เคยลืม มีบทกวีบทหนึ่งที่อ้ายเขียนมันอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน

บทกวีบทนั้นของอ้ายขึ้นต้นด้วยคำว่า “บุญฮักษา” ก่อนจะตามมาด้วยชื่อของบุคคลที่อ้ายสนทนาด้วย

หลังจากนั้นอ้ายจะจบบทกวีด้วยการจับมือบุคคลผู้นั้นแล้วกล่าวปิดว่า “บุญฮักษา” อีกครั้งหนึ่ง

ผมไม่แน่ใจว่าอ้ายเริ่มต้นแต่งบทกวีบทที่ชื่อว่า “บุญฮักษา” นี่เมื่อใด แต่แทบทุกครั้งที่อ้ายร่ายบทกวีนี้กับผมหรือกับใครก็ตาม ผมจะสัมผัสได้ถึงความสุขและความห่วงใยที่อ้ายต้องการส่งผ่านให้บุคคลผู้นั้น

บางครั้งอ้ายร่ายบทกวีบท “บุญฮักษา” นี้นับสิบครั้งหรือหลายสิบครั้งต่อคืน

แต่อ้ายไม่เคยเหน็ดเหนื่อย อ้ายมอบบทกวีนี้ให้กับทุกคน อ้ายเชื่อว่าทุกคนควรมีความสุข อ้ายเชื่อว่าทุกคนไม่ควรมีความทุกข์ ไม่ควรมีความทุกข์แม้ในยามที่อ้ายต้องจากโลกนี้ไป

ในคำสั่งเสียสุดท้ายของอ้ายที่ประกาศไว้ใน Facebook ของอ้ายเมื่อไม่นานนี้

อ้ายเขียนไว้ว่า

“ถ้าฉันตาย ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ

พี่น้องประชาชนคนใดที่จักมาส่งศพฉันขึ้นเมรุเผา

ให้พกเหล้าเบียร์ทุกชนิดมาเบย

ไม่ต้องใส่ชุดดำ ใส่เสื้อหลากสีสันที่งดงาม

ใครจะเล่นดนตรี อ่านบทกวี เพอร์ฟอร์มานซ์ เล่นกันไปเบย

รู้กัน เพราะฉันเป็นคนม่วนงันสันเล้า ม่วนซื่นโฮแซว ฯลฯ

สนุกสนานกันให้สนั่น ป่าเฮ้ว

จิงๆๆ ฉันพูดเรื่องนี้ จิงๆๆ”

และตามคำสั่งลาของอ้าย งานส่งอ้ายครั้งสุดท้ายจึงมีทุกสิ่งที่อ้ายเขียนไว้ งานส่งอ้ายครั้งสุดท้ายจึงเป็นงานม่วนซื่นที่สุดงานหนึ่ง ที่อ้ายสั่งลาเช่นนั้น คงเพราะอ้ายรู้ดีว่าจะทุกข์โศกไปไย อ้ายเพียงแค่หลบไปเขียนบทกวีที่ใช้เวลาเขียนเนิ่นนานที่สุดเท่านั้นเอง

บุญฮักษาครับอ้าย