เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงล่องแก่งแม่ปิง (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

6 วันพร้อมเผชิญ 49 แก่ง!

ระหว่างวันที่ 19-24 กุมภาพันธ์ 2465 ขบวนเสด็จทางชลมารคของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ต้องเผชิญหน้ากับเกาะแก่งน้อยใหญ่กลางลำน้ำปิง

ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้อย่างละเอียดว่า มีจำนวนมากถึง 49 แก่ง ทั้งนี้ ยังไม่นับหน้าผาสูงชันอีกจำนวนมากที่คณะต้องไต่ขึ้นไป แล้วโรยตัวลงมา

ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ทำให้จำนวนเกินกว่าครึ่งของเกาะแก่งเหล่านั้นจมอยู่ภายใต้ลำน้ำปิง

ปราชญ์แห่งวังวรดิศได้ทำการจำแนกประเภทความยากง่ายของแก่งทั้งหมดไว้เป็น 3 ชั้น ดังนี้

แก่งชั้นที่ 1 ยากขั้นปราบเซียน “แก่งประเภทนี้ลงยาก เรือใหญ่ขนาดเรือแม่ปะมักต้องผูกเชือกโรยจึงลงได้” กลุ่มนี้มีทั้งหมด 13 แก่ง อาทิ แก่งช้างร้อง แก่งสร้อย แก่งอุมหลุ ฯลฯ

แก่งชั้นที่ 2 “ปล่อยเรือแผ่นผายลงได้แต่ต้องระวัง เพราะมีที่ร้าย ถ้าล่องไม่ดีโดนหิน” แก่งชั้นที่ 2 มีทั้งสิ้น 12 แห่ง เช่น แก่งก้อ แก่งผาออ แก่งเสือเต้น ฯลฯ

แก่งชั้นที่ 3 “ช่องกว้างเป็นแต่น้ำเชี่ยวผายเรือลงได้สะดวก แก่งหน้าน้ำนั้นมักเป็นวังตรงที่ผา ซึ่งลงมาถึงน้ำทั้งสองฟาก หรือมิฉะนั้น เป็นที่มีหินลอยก้อนใหญ่ๆ รายระกะไปทั้งลำน้ำ เวลาระดูแล้งน้ำนิ่งไม่เป็นแก่ง แต่ระดูน้ำ น้ำไหลแรงเป็นวนและพุ่งเป็นฟอง จึงเกิดเป็นแก่งร้าย บางเวลาถึงเรือขึ้นล่องไม่ได้ ต้องรอให้น้ำลดต่ำระดับน้ำร้ายเสียก่อน จึงขึ้นล่อง”

แก่งกลุ่มหลังนี้ คือที่เหลือทั้งหมด 24 แก่ง อาทิ แก่งผาเหล็ก แก่งกิ่ววาก แก่งฟาน ฯลฯ โดยระบุว่ามีแก่งที่ไม่สามารถล่องในฤดูแล้งได้เลย ต้องรอฤดูน้ำหลากเท่านั้น ดังเช่น แก่งวังเฮย แก่งหาดอ้ายเมือง แก่งกวาง ฯลฯ

 

จากบ้านมืดกาท่าดอยเกิ้ง

เส้นทางเสด็จทางชลมารคเริ่มปะทะกับความแรงของเกาะแก่งต่างๆ นับแต่จุดแรกคือบ้านมืดกา เชิงเขาดอยเกิ้ง ปัจจุบันอยู่ในอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ จากจุดนี้ผ่านแก่งป๊อก แก่งใหม่เหนือ แก่งอกม้าน้อย และในที่สุดก็ถึงถ้ำผาปาง ซึ่งเป็นถ้ำที่ชาวบ้านแอบเอาคัมภีร์ใบลานไปซ่อนไว้ที่นั่น ในยุคที่ต้องหลบหนีสงคราม (จากพม่า?)

“หยุดกินกลางวันที่ผาปาง ถ้ำที่ว่ามีหนังสืออยู่ ต้องปีนเขาขึ้นไปสัก 10 วา มีเพิงน้อยอยู่ ณ ปากถ้ำ มีแต่กรอบคัมภีร์ลงรักแดงอยู่คู่ 1 กับแม่แคร่ตัวไม้รองหีบพระธรรมเหลืออยู่”

บันทึกนี้แสดงถึงความสนพระทัยที่สมเด็จในกรมต้องการสืบค้นร่องรอยของคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเหลือเพียงแค่ไม้ประกับ (กรอบหุ้ม) เท่านั้น

ขบวนเสด็จเดินทางลงมาต่อถึงแก่งก้อ ประทับแรมคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2465 ที่บ้านก้อ ปัจจุบันคือที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติแก่งก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

วันที่ 20 เรือประพาสของพระราชชายาฯ และกระบวนเรือตามเสด็จ มุ่งหน้าไปยังแก่งสร้อย โดยจะต้องผ่านแก่งน้อยใหญ่ทั้งแก่งชั้น 1, 2 และ 3 สลับกันไป มีแก่งขอน แก่งผาตา แก่งอุมปัด (หมายเหตุ ภาษากะเหรี่ยงออกเสียงอุมป้าด) พักแรมที่บ้านสะเรียม

กรณี “แก่งขอน” หนังสือเรื่อง “ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ พระพุทธศักราช 2565” ของ “อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์” (ทอง จันทรางศุ) เรียกว่า “แก่งค้อน” นอกจากนี้แล้วหนังสือเล่มดังกล่าวยังให้รายละเอียดว่า ขณะที่ขบวนเสด็จผ่านแก่งค้อน

“ไฟป่ากำลังไหม้บนไหล่ดอย เสียงไม้ที่ไหม้ไฟแตกดังราวกับเสียงปืนเล็กในการซ้อมรบระหว่างกองทัพต่อกองทัพ”

 

จุดหมายหลักคือแก่งสร้อย

เช้ารุ่งขึ้นวันที่ 21 ออกเรือจากแก่งสะเรียม แก่งหาดขี้หมู แก่งพวง ผาแมว แก่งช้างร้อง แก่งวังวน ผาม่าน แก่งจาง ในที่สุดก็ถึงแก่งสร้อย อันเป็นแก่งขนาดใหญ่ที่สุด

ที่แก่งช้างร้อง พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ให้รายละเอียดว่า

“ที่นี่มีบ้านอยู่ 4-5 หลังหากินด้วยการทำดินประสิว เขาเอาขี้ค้างคาวมาจากถ้ำในเขาแถบนี้ แล้วเอาเคล้าเข้ากับขี้เถ้าไม้ไผ่ หรือไม้ขี้เหล็ก แล้วเอาใส่ที่กรอง …เอาน้ำที่รองได้นั้นไปใส่กระทะเคี่ยว คนหนึ่งว่าทำได้ปีละ 70 ชั่ง มีเรือมารับซื้อขายชั่งละ 7 รูเปีย” (สมัยนั้น 1 รูเปีย เท่ากับ 0.80 บาท)

แก่งสร้อยเป็นแก่งที่มีโขดหินขนาดใหญ่ระเกะระกะ เรือแต่ละลำต้องใช้เวลาโรยตัวประมาณ 8 นาทีต่อลำ ณ แก่งสร้อยนี้ พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ กับพระยาประสาท ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มาให้การต้อนรับเวลาบ่าย

แก่งสร้อยจึงเป็นทั้งที่พักแรมเสวยพระกระยาหารมื้อกลางวัน และประทับบรรทมอีก 1 ราตรี สมเด็จในกรมทรงสำรวจโบราณสถาน ณ ชายหาดแห่งนี้ ยุคของพระองค์ท่านมีวัดโบราณที่แยกออกเป็น 4 วัด ดังนี้

1. วัดหลวง มีซุ้มประตูฝีมือช่างหลวง มีวิหารและพระเจดีย์เหลือแต่ฐาน

2. วัดนกยูง เหลือแต่ซุ้มประตูด้านข้าง ด้านใต้ปั้นรูปนกยูงรำแพน ด้านเหนือปั้นรูปช้าง 3 ตัว (ปัจจุบันลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มโขงเหล่านี้ไม่มีหลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว)

3. วัดเกษ เหลือซุ้มประตูกับพระเจดีย์กรมทรงลาว (สมัยก่อนยังไม่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า “ศิลปะล้านนา”)

4. วัดแก่งสร้อย เป็นวัดอยู่ยอดดอยสูงกว่าวัดอื่นๆ มีวิหารมุงกระเบื้องขาวกับพระเจดีย์เหลี่ยมหุ้มทองแดงปิดทอง วัดนี้ฝีมือใหม่กว่าวัดอื่นแต่ทำประณีต และยังมีพระเจดีย์หรือกู่อยู่บนยอดดอยอีก 3 ยอด

ปี 2467 ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะพระธาตุองค์ใหญ่ น่าจะเป็นวัดเกษ เพราะในบันทึกครูบาเรียกว่า พระธาตุเกศสร้อย แต่ปัจจุบันยุคครูบาป่านิกร ชยฺยเสโน ลูกศิษย์สายครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มาฟื้นฟูวัดร้างอีกครั้ง เรียกกลุ่มวัดเล็กวัดน้อยโดยรวมทั้งหมดว่า วัดพระบรมธาตุแก่งสร้อย

สมเด็จในกรมทรงฉงนว่า “เหตุใดจึงมาสร้างวัดไว้ที่ตำบลแก่งสร้อยมากมายเช่นนี้คิดไม่เห็น ด้วยเป็นที่กลางหมู่เขาไม่เป็นทำเลบ้านเมือง สืบถามได้ความว่า ที่นามีอยู่ห่างไประยะทางวันหนึ่ง ในแถวแก่งสร้อยหามีที่นาไม่”

นอกจากนี้ ยังทรงบันทึกไว้ว่า

“ทางฟากเขาสูงมีพระบาทของเก่าอีกแห่งหนึ่ง เรื่องวัดที่แก่งสร้อยนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารแผ่นดินพระนารายณ์ฯ คราวให้กองทัพมากวาดครัวละว้า คือลาวเดิม ปรากฏว่ากองทัพมาตั้งที่ตำบลอุมหลุ อันอยู่ต่อแก่งสร้อยไปข้างใต้ เดิมคงมีพวกละว้าอาศัยอยู่ในหมู่ภูเขาแถวนี้มาก แต่ก็เป็นบ้านป่าทั้งสิ้น พวกละว้าจะสร้างวัดเหล่านี้ดูพ้นวิสัย”

ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คงยังไม่ทรงรับทราบข้อมูลว่า การที่บริเวณแก่งสร้อยมีโบราณสถานมากมายนั้น เหตุเพราะในอดีตคือเวียงสร้อย เป็นเวียงบริวารหรือเวียงหน้าด่านที่พระนางจามเทวีทรงสถาปนาไว้เป็นปราการล่างสุดของอาณาจักรหริภุญไชย

เนื่องจากเรื่องราวของแก่งสร้อย ไม่ได้เป็นหนึ่งในเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีตามที่ปรากฏในตำนานมูลศาสนา ซึ่งเชื่อว่าสมเด็จในกรมทรงศึกษามาแล้ว ด้วยทางราชสำนักสยามให้มีการจัดแปลเป็นภาษาไทยกลาง ทว่าเป็นมุขปาฐะพื้นบ้านที่เล่าสืบทอดต่อๆ กันมาของชุมชนชาวลี้

พ้นจากแก่งสร้อย ก็เข้าสู่เส้นทางสายหฤโหดที่กระบวนเสด็จของพระราชชายาฯ ต้องเผชิญหน้าฟันฝ่ากับอุปสรรคกลางเกาะแก่งน้อยใหญ่อย่างทุลักทุเลอีกมากกว่า 30 แห่ง ตลอดระยะเวลาระหว่างวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 2465

ซึ่งแก่งทั้งหมดปัจจุบันนี้คือช่วงที่อยู่เหนือเขื่อนภูมิพลทั้งสิ้น ดังนั้น จึงจมน้ำไม่เหลือสภาพเกาะแก่งใดๆ อีกแล้ว

 

พระสามเงาบูรณะใหม่
โดยราชนิกูล “บริพัตร”

ในที่สุดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2465 ขบวนเสด็จก็มาถึงดอยเจ้าหลวงทุ่งจ๊ะ ถือว่าเป็นประตูเมืองสุดเขตแดนของล้านนา

จากนั้นเมื่อเข้าสู่เขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก สมเด็จในกรมทรงสนพระทัยที่จะขึ้นไปปีนดูหน้าผาสามเงาทางฝั่งตะวันตก (ปัจจุบันคือวัดป่าพระสามเงา) ทรงบันทึกเรื่องราวตอนนี้ไว้อย่างน่าระทึกขวัญว่า

“เป็นหน้าผาเขาขาดอยู่ห่างตลิ่งขึ้นไปสัก 5 เส้น ที่หน้าผานั้นเจาะเป็นช่องซุ้มคูหาเรียงกันไว้ 3 ช่อง ตั้งพระพุทธรูปปิดทองไว้ในนั้นช่องละองค์ ว่าเป็นของนางจามเทวีสร้างไว้ ช่องพระอยู่สูงกว่าพื้นดินราวสัก 10 วา ต้องขึ้นบันไดไม้ซึ่งเขาทำพาดไว้สำหรับราษฎรขึ้นไปปิดทองและบูชาพระ 2 ตอนจึงถึง”

“การที่ขึ้นน่ากลัวอันตรายอยู่บ้าง เอากล้องส่องดูพระพุทธรูปก็เห็นเป็นของซ่อมแปลงใหม่ไม่น่าชม ก็ออกระอาในการที่จะขึ้นบันไดสูง แต่มาหวนคิดว่า “เมื่อไรจะได้ขึ้นมาถึงนี้สักครั้งหนึ่ง” ก็พยายามปีนขึ้นไปจนถึง พอไปถึงก็แลเห็นหนังสือเขียนไว้ที่ซุ้มคูหาว่า “สุทธาทิพย์” “บริพัตร” “นภาพร” รู้สึกยินดีทันที”

นามทั้งสามนี้ ถึงกับทำให้พระบิดาแห่งวิชาโบราณคดีไทยแย้มพระสรวล ด้วยทรงทราบว่าบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าดั้นด้นขึ้นมาเป็นประธานบูรณะพระพุทธรูป 3 องค์ที่พระนางจามเทวีเคยสร้างไว้ ที่แท้ก็คือพระญาติวงศ์ของพระองค์นั่นเอง

“สุทธาทิพย์” และ “บริพัตร” คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นพระเชษฐภคินีของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดาและพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

ส่วน “นภาพร” คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พระธิดาในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 กับเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ทั้งสองราชนิกูลนี้มีความสนิทชิดเชื้อกันยิ่งนัก

พลันเกิดคำถามตามมาอย่างต่อเนื่องอีกว่า พระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง 3 พระองค์นี้ ได้เสด็จมาบูรณะพระสามเงาด้วยเหตุผลใด และตั้งแต่เมื่อไหร่?

 

จากจังหวัดตาก ขบวนเสด็จล่องแม่ปิงเข้าสู่กำแพงเพชรกระทั่งถึงนครสวรรค์ จากนั้นเปลี่ยนเป็นการเสด็จโดยทางรถไฟต่อจนถึงกรุงเทพมหานคร

บันทึกทั้งสองเรื่องคือทั้ง “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ “ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ” ของพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ต้องถือว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญยิ่งของผู้สนใจเรื่องเส้นทางสองฟากฝั่งตลอดน้ำแม่ปิงตอนกลางถึงตอนล่าง

ดังที่พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกเรื่องนี้ไว้ในคำนำ โดยที่ท่านยังไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีการสร้างเขื่อนภูมิพลในอีก 4 ทศวรรษถัดมา

“เห็นว่าทางเรือจากเชียงใหม่ลงมาปากน้ำโพหรือกรุงเทพฯ นับวันแต่จะมีผู้ขึ้นล่องน้อยลงไป เพราะขึ้นล่องทางรถไฟรวดเร็วไม่เสียเวลา… จึงเป็นการควรที่จะจดระยะทางและภูมิประเทศทางเรือไว้ด้วย

… เห็นว่าในเวลานี้รถไฟสายเหนือก็ไปสุดทางลงที่นครเชียงใหม่ … เพราะฉะนั้น นครนี้นับวันมีแต่จะเปลี่ยนรูปโฉมโนมพรรณผิดแผกแปลกตาขึ้น

… ถ้าไม่ได้เห็นมณฑลภาคพายัพในเวลานี้ แต่ได้ไปเห็นใน 10 ปีข้างหน้า ก็สงสัยว่า บางทีจะเสียใจว่าความเจริญของมณฑลนี้ช้าไป เพราะไม่ได้เห็นความเป็นอยู่ในเวลานี้เป็นเครื่องวัด

ถ้าได้เขียนไว้บ้างถึงไม่ละเอียด ก็พอช่วยให้เป็นเครื่องวัดได้บ้าง”