จัตวา กลิ่นสุนทร : ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม ตอนจบ

เหลือเวลาอีก 2-3 วัน ยังต้องพักอาศัยอยู่ในละแวกบ้านของชาวตะวันออก ลาว+เวียดนาม+ไทย บนแผ่นดินสหรัฐ

พวกเขาเหล่านี้ได้กลายเป็นพลเมืองอีกส่วนหนึ่งของสหรัฐไปแล้วด้วยความภาคภูมิใจ

ที่กล้าพูดอย่างนี้เพราะว่าครั้งหนึ่งในหลายครั้งที่ได้ให้การต้อนรับพวกเขาบนผืนแผ่นดินไทย

หุ้นส่วนชีวิตได้เป็นธุระพาน้องสะใภ้ (ขณะนั้น) ชาวลาวของเธอไปพบแพทย์เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สอบถามประวัติ เธอตอบหน้าตาเฉยว่าเป็น “อเมริกัน”—

อันที่จริงคงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะในกลุ่มเครือญาติของเธอได้อพยพหนีออกจากประเทศลาวในยุคของการต่อสู้อันเรียกว่าเป็นสงครามช่วงชิงประชาชนของลัทธิ “คอมมิวนิสต์” เมื่อหลายทศวรรษก่อนกันจนหมดแล้ว กระจายไปในประเทศตะวันตกอย่างยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่เป็นเจ้าอาณานิคมเดิม และสหรัฐในฐานะผู้จุดชนวนสงครามต่อต้านสู้รบกับ “คอมมิวนิสต์” นอกแผ่นดินตนเอง

อเมริกาถือว่าเป็น “มหาอำนาจ” ระดับต้นๆ มีโครงสร้างและฐานะทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงทุ่มงบประมาณลงมาต่อสู้เพื่อสกัดกั้นลัทธิดังกล่าว ถึงขนาดทุ่มเทให้ประเทศไทยเป็นกันชนนอกบ้าน ส่งทหารเข้าไปรบในประเทศเพื่อนบ้านจนแทบเกิดความขัดแย้งกัน

คนลาวกับเวียดนามเรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากกว่าคนไทย คนลาวเชื้อสายเวียดนาม ลูกผสมเวียดนามมีจำนวนไม่น้อย อาจเป็นประเทศที่มีเขตแดนด้านหนึ่งติดต่อกันเหมือนอย่างกับประเทศไทยที่เชื่อมต่อกันทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือกับทิศเหนือ

 

ในสังคมของผู้อพยพในเมืองดิ มอยน์ มลรัฐไอโอวา สหรัฐ (Des Moines Iowa, USA) นอกจากจะหอบหิ้วกันมาจากแผ่นดินลาว เวียดนามทั้งครอบครัวแล้วยังมีการมาพบเจอะเจอได้เสียกันในอเมริกาในรุ่นลูกหลาน ซึ่งรวมทั้งคนไทยซึ่งไปแสวงโชคบนแผ่นดินนั้นด้วย

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเมื่อได้พบปะเพื่อนใหม่ๆ ย่อมมีทั้งเคมีตรงกันเพียงแค่ได้พบหน้าครั้งแรก

เช่นเดียวกับคนที่ไม่ถูกชะตาก็จะมีสัมผัสรับรู้ได้ด้วยความรู้สึก

ในกลุ่มเครือญาติชาวลาวอพยพซึ่งเข้ามาเกี่ยวดองกับหุ้นส่วนชีวิตก็มีทั้งสองประเภทปะปนกัน

และด้วยประสบการณ์อันมากมายกับการดำเนินชีวิต ต่อสู้ชีวิตมาอย่างยาวนาน ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองเสมอๆ ไม่ค่อยมีคนคอยประคับประคองให้คำปรึกษา ได้สัมผัสเพียงการพูดคุยกับเพื่อนใหม่ไม่นานก็สามารถมองทะลุแยกแยะได้

พวกเขาเหล่านั้นนอกจากจะเคยได้พบปะกับครอบครัวเราในเมืองไทยมาก่อน คิดว่าเขาเองก็ควรจะมองออกเช่นเดียวกัน จึงพอจะมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะแยกจากกันระหว่างเหลือเวลาในเมืองดิ มอยน์ จากเพื่อนใหม่ผู้ถูกชะตาเหล่านี้ แทนที่จะเที่ยววิ่งไปงานเลี้ยงบ้านโน้นบ้านนี้อันเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายเพราะไม่รู้จะวางตัวทำหน้าตาให้มีความสุขได้ทุกๆ วัน

ญาติสนิทของหุ้นส่วนชีวิตเองย่อมจะต้องเบื่อกับการต้อนรับอันยาวนานอย่างน้อยทั้ง 3 อาทิตย์

ยังดีที่สองสามีภรรยาเพื่อนใหม่ชะตาต้องกันซึ่งได้เคยเกื้อกูลกันมาในเมืองไทยเสนอตัวเข้ามาพาเราไปเที่ยวเมืองใกล้เคียงในรัฐที่ติดต่อกันบ้างพอได้ผ่อนคลายเพื่อรอวันเดินทางกลับ

 

เมืองดิ มอยน์ (Des Moines) เป็นเมืองหลวงของรัฐไอโอวา (Iowa) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกลางๆ ของสหรัฐ มีแต่แม่น้ำลำคลอง ไม่ได้ติดกับทะเลดังที่เคยกล่าวมาแล้ว ถ้าเทียบเวลากับเมืองลอสแองเจลิสในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, California) ซึ่งคนไทยคุ้นเคยทางฝั่งตะวันตกมากกว่า เวลาจึงแตกต่างกันถึง 2 ชั่วโมง ใช้เวลาบินจากแอลเอ (LA) สู่เมืองแห่งการเกษตร เต็มไปด้วยข้าวโพดและฟาร์มหมู ปศุสัตว์ถึงกว่า 4 ชั่วโมง บอกแล้วว่าประเทศนี้ใหญ่โตมาก ท่องเที่ยวเท่าไรก็ไม่มีทางทั่วถึง และสำคัญที่สุดเงินของเขาใหญ่ ค่าใช้จ่ายจึงสูงมากสำหรับคนต่างชาติอย่างเรา

เพราะอยู่ตอนกลางๆ ของประเทศจึงมีเขตติดต่อกับหลายรัฐ อย่างทิศเหนือติดรัฐมินนิโซตา, วิสคอนซิน, เซาธ์ดาโกตา ทิศใต้ติดรัฐมิสซูรี ตะวันตกติดต่อกับรัฐเนแบรสกา ส่วนตะวันออกติดต่อกับอิลลินอยส์ มลรัฐไอโอวามีมหาวิทยาลัย Iowa State ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีอยู่เมืองเอมส์ (Ames) กลางๆ รัฐไอโอวาเหนือเมืองดิ มอยน์ไปสัก 30 ไมล์ นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัย Iowa, มหาวิทยาลัย Northern Iowa เป็นแต่เพียงคนไทยไม่ค่อยจะคุ้นเคย

พลิกดูข้อมูลจากประวัติศาสตร์ ชื่อไอโอวา (Iowa) ตั้งตามชื่ออินเดียนแดง เผ่า “ไอโอวา” (Iowa) ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐจะต้องดูแลให้สิทธิพิเศษเจ้าของแผ่นดินอเมริกา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเจ้าของดั้งเดิมเหล่านี้จะทำธุรกิจย่อมต้องได้รับการลดหย่อนยกเว้นภาษีเป็นกรณีพิเศษ ไม่ว่าเขาจะอยู่ส่วนไหน รัฐอะไรของประเทศ เพราะกว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาขึ้นจากประวัติศาสตร์ นอกจากการสู้รบจนคนผิวสีล้มหายตายจากไปจำนวนมาก

ก็มีอินเดียนแดงนี้แหละหลั่งเลือดทับถมบนแผ่นดินสหรัฐมากมายจนแทบสูญเผ่าพันธุ์

 

สองสามีภรรยาชาวลาวอพยพผู้น่ารักและเป็นมิตรแบบชะตาต้องกันนั้นก่อนจะได้ไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาได้ตกระกำลำบากถูกกักกันในค่ายอพยพ (อู่ตะเภา) ของเมืองไทย ฝ่ายภรรยาชื่อ “อนุสรณ์” อาจจะสุขสบายกว่าเพราะเดินทางกันทั้งครอบครัวออกมาจากประเทศลาวกับพ่อแม่ค่อนข้างมีฐานะพอสมควร เพราะฉะนั้น จึงได้ใช้ความมีฐานะนั้นเป็นใบเบิกทางจนได้ไปตั้งรกรากใหม่บนแผ่นดินสหรัฐ

ส่วนฝ่ายสามีชื่อ “ทองแดง” (ซึ่งยังมีอีกคนหนึ่งชื่อทอง) ตามไปทีหลังด้วยการหนีจากค่ายผู้อพยพออกมารับจ้างทำงานวันละ 10-15 บาทในภาคอีสานบ้านเรา

ในที่สุดเขาสามารถฝ่าฟันจนได้ไปพบกันยังเมืองดิ มอยน์ ไอโอวา สร้างครอบครัวผลิตลูกออกหลานเป็นสัญชาติอเมริกันจนได้

สามีภรรยาคู่นี้ได้เคยพาเราไปพักในโรงแรมหรูเมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งต้องขับรถยนต์ไปโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง

นอกจากนั้นยังพาเราเที่ยวชมเมือง เลี้ยงอาหาร และพักแวะเมืองต่างๆ ซึ่งมี “กาสิโน” ดูเหมือนว่าหลายๆ เมืองในรัฐรอบๆ ไอโอวาแถบนั้นจะมีเปิดกันเกือบจะทุกเมือง รวมทั้งในเมืองดิ มอยน์ ด้วยเช่นเดียวกัน

ค่ำคืนหนึ่งเขาบอกว่าจะพาไปเที่ยว “กาสิโน” (Casino) ต้องขออภัยจำชื่อเมืองไม่ได้จริงๆ ใช้เวลาขับรถเป็นชั่วโมงทีเดียว บอกว่าบ่อนการพนันถูกกฎหมายแห่งนี้อยู่บนที่ดินของอินเดียนแดง เขาจึงเป็นเจ้าของ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีจากรัฐ

แต่ได้รับการบอกเล่าจากผู้รู้ว่าเอาเข้าจริงๆ คนขาวย่อมเป็นผู้ลงทุนอยู่เบื้องหลังอินเดียนแดงอีกที สบายไป วิธีการอย่างนี้ไม่ว่าชาติไหนในโลกก็ทำกันทั้งนั้นแหละ

พูดถึงสถาน “กาสิโน” ตามเมืองต่างๆ อย่าถึงกับไปนึกภาพให้มันใหญ่โตเป็นเมืองเอ็นเตอร์เทน (Entertain) อย่างลาสเวกัส (Las Vegas) หรือเมืองมาเก๊า (Macau) ปัจจุบันนี้ เพราะอย่างดีก็เป็นร้านอาหาร-กาแฟ จุดพักรถ พักผ่อน มีดนตรีแบบลูกทุ่งอเมริกัน (Country) บ้าง การพนันเท่าที่ดูมีสล็อตแมชชีน (Slot Machine) เป็นหลัก รองลงมาคือแบล๊กแจ๊ก (Blackjack) บักคารา (Baccarat) อย่างละนิดละหน่อย ไม่มาก

ไม่เล่นได้เสียเอาเป็นเอาตายแบบมืออาชีพ เหมือนอย่าง 2 สถานกาสิโนที่ยกมากล่าวถึง โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2545 ซึ่งได้เดินทางไปนั้น สล็อตแมชชีน (Slot Machine) ยังใช้คันโยกอยู่ไม่น้อย ระบบคอมพิวเตอร์เพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทที่ลาสเวกัส (Las Vegas) แต่ยังไม่ทั้งหมด ไม่ทันสมัยสวยงามแบบสัมผัสด้วยปลายนิ้วทั่วโลกดังเช่นทุกวันนี้

 

การเดินทางไกลครั้งนี้นอกจากจะได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มาก ขณะเดียวกันกลับเป็นผู้ไปปลุกผีแห่งความชั่วร้ายโลภโมโทสันในตัวคนฉ้อฉลให้กลับมากอบโกยสร้างความเจ็บปวดให้กับพี่น้องของหุ้นส่วนชีวิต แต่ทุกวันนี้ได้ล้มหายจากกันไปทั้งๆ ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อนใหม่ก็เลือนรางจากหายไปตามเวลาด้วยเช่นกัน

สี่ชีวิตบินโดยเครื่องภายในประเทศจากเมืองดิ มอยน์ (Des Moines, Iowa) เพื่อเปลี่ยนเครื่องเป็น “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ยังแอลเอ (LA) เพื่อกลับเมืองไทยด้วยเวลายาวนานทั้งหมดเกินกว่า 20 ชั่วโมง

มีเวลาได้พบเพื่อนรักซึ่งลงหลักปักฐานอยู่แอลเอ (LA) ซึ่งยังให้ความช่วยเหลือไม่ขาดหาย เมื่อยังมีเวลาเหลือได้พาเราทั้งครอบครัวไปเลี้ยงอาหารก่อนส่งขึ้นเครื่องจาก Los Angeles International Airport (LAX) กลับเมืองไทย

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเวลาได้ 16 ปี ยังไม่มีแรงบันดาลใจผลักดันให้กลับไปอีก