คิดแบบสุดยอดเศรษฐี “ธนินท์”-“แจ๊ก หม่า” ทุกโอกาสคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ

ประเทศไทยตกอยู่ในสปอตไลต์ของโลก จากการจัดประชุมระดับนานาชาติ ทั้งงาน The Nikkei Asia 300 Global Business Forum ในโอกาส 140 ปีสำนักข่าวนิกเคอิ และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชียหรือ ACD Summit ครั้งที่ 2 ที่มีสมาชิกถึง 34 ประเทศ

โดยมีผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจอย่าง “ธนินท์ เจียรวนนท์” และ “แจ๊ก หม่า” ขึ้นเวทีเปิดวิสัยทัศน์การสร้างความสำเร็จและมุมมองโอกาสในอนาคต

AFP PHOTO / TORU YAMANAKA
AFP PHOTO / TORU YAMANAKA

“ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ขึ้นเวทีของนิกเคอิ เมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยขึ้นปาฐกถาในหัวข้อ “พันธมิตรระดับโลกในยุคโลกานิยม” ระบุว่า ยุคปัจจุบันการมีพันธมิตรที่ดีและมีความเข้าใจในการทำธุรกิจทิศทางเดียวกัน ถือเป็นสิ่งสำคัญ และกลุ่มซีพีก็ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพันธมิตร

อย่างการร่วมมือกับ “อิโตชู” บริษัทการค้าชั้นนำญี่ปุ่น เป็นการต่อยอดธุรกิจและเรียนรู้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น ส่วนที่เข้าไปลงทุนใน “ผิงอัน” บริษัทประกันจีนก็เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูล ไม่ใช่ทางการเงิน เพราะ “ข้อมูล” คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักธุรกิจ

แม้สังคมผู้สูงอายุเริ่มเข้ามาใกล้มากขึ้น หลายธุรกิจกังวลเรื่อง “ขาดแคลนแรงงาน” แต่ตนเชื่อว่า “ตราบใดที่ยังมีมนุษย์ โอกาสก็ยังมีอยู่เสมอ เพียงแต่โอกาสจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่านั้น”

“ญี่ปุ่น” ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว แต่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่มากมาย ทั้งไบโอเทคโนโลยี การพัฒนาหุ่นยนต์ และเป็นประเทศที่ออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นมาเทียบเท่ากับสหรัฐ แต่จากสไตล์การทำธุรกิจแบบ “ไม่กล้า” กลัวเจ็บมากเกินไป ทำให้ญี่ปุ่นมีการป้องกันและเซฟตัวเองจากความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจเดินช้าไปหนึ่งก้าว

“อนาคตประเทศที่มีเทคโนโลยีทันสมัยจะอยู่รอด และอนาคตจะเห็นหุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานคน ดังนั้น แม้จะเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคเพราะเพียงกดปุ่มสั่งงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือ การคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถประยุกต์ใช้เป็น”

ขณะที่โลกกำลังไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ถือเป็นโอกาสของภูมิภาคอาเซียน เพราะธุรกิจปรับจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ จะมีการลงทุนใหม่ๆ ต่อไปรถยนต์ก็ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไร้คนขับ และนวัตกรรมที่เข้ามาจะทำให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น ทำงานน้อยลงแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ อีก 4 วันที่เหลือก็เที่ยว ขณะที่ปัจจุบันมนุษย์ทำงานมากขึ้นเพราะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ สั่งงานได้

เจ้าสัวธนินท์ตอกย้ำว่าความน่าสนใจของญี่ปุ่น คือมีทั้งความเชี่ยวชาญ ความสามารถ และศักยภาพของเทคโนโลยี ทำให้เป็น “แรงดึงดูด” มากกว่า “แรงผลัก”

และในจุดที่หลายคนบอกว่าต่อไปสังคมมีผู้สูงอายุมากขึ้นจะมีปัญหา เพราะแรงงานไม่มี แต่ขณะนี้ญี่ปุ่นสามารถผลิต “หุ่นยนต์” ที่เข้ามาทดแทนแรงงาน การผลิตทำได้มากขึ้นเป็นสิบเท่าร้อยเท่า ไม่ต้องถูกตำหนิว่าใช้แรงงานเด็ก ให้แรงงานทำงานเกิน 12 ชั่วโมง หรือสวัสดิการไม่ดีพอ และปัจจุบันซีพีมีการสร้างโรงงานที่ไม่ใช้แรงงานคนแล้วที่ยุโรป

ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ต้องกลัวว่าอนาคตประชากรโลกจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้อาหารไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ อาหารจะล้นเกินความต้องการ เพราะเมื่อมีแรงงานหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานและผลิตอาหารได้ 24 ชั่วโมง ขณะที่โลกดิจิตอลจะทำให้การค้าออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซ สามารถค้าขายได้ทั่วโลก

นอกจากนี้ “เจ้าสัวธนินท์” กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของซีพีเชื่อเสมอว่าการที่เข้าไปทำธุรกิจกับประเทศตลาดเกิดใหม่ ยังเป็นเหมือน “กระดาษขาว” ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ในการช่วยสร้างนักธุรกิจในประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะโตไปพร้อมกัน ไม่ไปแย่งงาน แต่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนสิ่งที่ขาด

ด้าน “แจ๊ก หม่า” ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชียหรือ ACD Summit ครั้งที่ 2 พร้อมกันนี้ “แจ๊ก หม่า” ได้เปิดบรรยายพิเศษให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไทยในหัวข้อ “entrepreneurship and inclusive Globalization” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559

“แจ๊ก หม่า” เล่าว่า หลายคนบอกว่าตนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ แต่น้อยคนจะรู้ว่าก่อนหน้านั้นล้มเหลวกว่า 5,000 ครั้งได้ ถูกปฏิเสธจนชินชา แต่สิ่งสำคัญคือ “ต้องไม่ยอมแพ้” และมองโลกในแง่ดี เพราะถ้าคุณไม่พร้อมต่อสู้ คุณก็จะไม่พร้อมประสบความสำเร็จ

บรรดาคนรุ่นใหม่หรือบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจมักมีปัญหาเรื่อง “เงิน” การกู้เงินหรือขอความช่วยเหลือใครยากมาก

“อย่าคิดว่าเงินเป็นปัญหา การมีเงินน้อยทำให้การใช้จ่ายระมัดระวัง แต่การมีเงินมาก คือสิ่งอันตราย เพราะคุณจะเริ่มทำอะไรโง่ๆ”

ประธานกลุ่มอาลีบาบาบอกว่า การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จบนโลกใบนี้ไม่ว่า “บิล เกตส์” หรือ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค” ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองเสมอ

ทั้งแนะนำหลักการทำงานตามแบบฉบับของเขาว่า “สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือการหาพันธมิตรที่เชื่อในตัวคุณ และที่สำคัญที่สุด คุณต้องรับผิดชอบต่อความเชื่อนั้น คือทำให้มันเกิดขึ้นจริง”

แจ๊ก หม่า เล่าถึงแนวคิดการทำธุรกิจของ “อาลีบาบา” ว่าไม่ได้ต้องการสร้างให้กลายเป็นอาณาจักร เพราะเราเรียนประวัติศาสตร์ก็เห็นว่าไม่มีอาณาจักรไหนที่ไม่มีวันล่มสลาย ดังนั้น ปรัชญาการสร้างอาลีบาบาให้เป็น Ecosystem ให้คนรุ่นใหม่ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาใช้แพลตฟอร์มของเรา และประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

ดังนั้น การวัดความสำเร็จขององค์กรจึงไม่ใช่รายได้ ไม่ใช่ “ตัวเงิน” หากแต่คือการช่วยให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ เป้าหมายของอาลีบาบาก็คือ ช่วยสร้างงานให้สังคมโลก 100 ล้านคน เพื่อรองรับตลาดโลกกว่า 2,000 ล้านคน พร้อมกับการสร้างผู้ประกอบการรายย่อยให้ประสบความสำเร็จ 10 ล้านราย ช่วยผู้ประกอบการรายเล็กให้ลืมตาอ้าปากได้ “หากคุณสำเร็จ เราก็สำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแล และนโยบายของรัฐบาลเป็นส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันโดยเฉพาะกับธุรกิจเอสเอ็มอี

ประธานอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า การทำธุรกิจของอาลีบาบาให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะในสายตาของเอสเอ็มอีจะเต็มไปด้วยความหวัง ความมุ่งมั่น แต่สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ สายตาจะมีแต่เรื่อง “เงินและการแข่งขัน”

นอกจากนี้ เขามองอนาคตว่า อินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนโฉมหลายๆ อย่าง และยุคหุ่นยนต์จะมาถึง แม้ว่าหลายคนจะกลัว แต่เราควรมองให้เป็นโอกาส “แม้ว่าหลายอาชีพอาจถูกเทคโนโลยีทำลาย แต่ก็จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น ตอนนี้คนทำงานเหมือนหุ่นยนต์ แต่อนาคตเราจะทำให้หุ่นยนต์ทำงานเหมือนกับคน”

แจ๊ก หม่า ยังเสนอแนะประเทศไทยเกี่ยวกับการทำอี-คอมเมิร์ซด้านสินค้าเกษตรว่า ทุกวันนี้เกษตรกรใช้มือถือกันทั้งสิ้น ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปในเรื่องของการซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ แต่ก็ต้องมีองค์ประกอบอื่นควบคู่กันด้วย อย่างเช่น เรื่องระบบชำระเงิน “อีเพย์เมนต์” และการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลต้องร่วมมือกันมองเรื่องนี้ และสร้างให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ

“สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก และเป็นจุดเด่นของประเทศไทย และคนจีนก็ชอบผลไม้ไทยมาก ปกติเราจะเห็นแต่โมเดลธุรกิจแบบ B2C คือธุรกิจขายให้คนทั่วไป แต่ผมว่าต่อไปเราจะได้เห็นโมเดล C2B คือเกษตรกรหรือคนทั่วไป สามารถขายของให้กับภาคธุรกิจ”

พร้อมกันนี้ “แจ๊ก หม่า” ยืนยันว่า การเข้ามาของอาลีบาบา ไม่ได้ต้องการเข้ามาครอบงำธุรกิจในประเทศไทย แต่เป็นการเชื่อมโยงธุรกิจทำให้ประเทศไทยมีการค้าขายที่ขยายขึ้น ระหว่างการค้าขายออนไลน์ของไทยและการค้าขายของอาลีบาบา

นั่นเป็น 2 มุมคิด 2 วิสัยทัศน์ จากสุดยอดมหาเศรษฐีทั้งจากฝั่งไทยและแดนมังกรจีน

ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวและวางแผนรับมือกับอนาคตสำหรับภาคเอกชน รวมถึงรัฐบาลไทยด้วย