ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญหนังเอเชีย ชื่นชม “ฉลาดเกมส์โกง-เพื่อนฉัน…ฝันสลาย”
“คริส เบอร์รี่” คือนักวิชาการสาขาภาพยนตร์ศึกษาแห่ง “คิงส์ คอลเลจ” ลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเชี่ยวชาญด้านหนังเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์จีน
เขามีผลงานหนังสือสำคัญๆ หลายเล่ม ทั้งในฐานะผู้เขียน, ผู้แปล และบรรณาธิการ
ล่าสุดเบอร์รี่เพิ่งเขียนบทความถึงหนังที่เขาได้รับชมในเทศกาล “ฟาร์ อีสต์ ฟิล์ม เฟสติวัล อูดิเน่” ครั้งที่ 20 ณ ประเทศอิตาลี เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Senses of Cinema
ในบทความดังกล่าว มีเนื้อหาส่วนหนึ่งซึ่งเบอร์รี่กล่าวถึง “ฉลาดเกมส์โกง” และ “เพื่อนฉัน…ฝันสลาย” (Sad Beauty) หนังไทยสองเรื่องที่เขาได้ดูในเทศกาล
นักวิชาการอาวุโสผู้นี้ชี้ว่าหนังไทยทั้งคู่เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสาน “ตระกูลทางภาพยนตร์” (genre) ที่หลากหลายลงในหนังเรื่องเดียว
โดย “ฉลาดเกมส์โกง” ของ “นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” พูดถึงความขัดแย้งทางชนชั้นผ่านปัญหาเรื่องระบบการศึกษา
อย่างไรก็ตาม หนังพยายามแบ่งแยก “ความถูก” และ “ความผิด” ออกจากกันอย่างชัดเจน (จนเกินไป?)
สำหรับเบอร์รี่ จุดเด่นของหนังไทยทำเงินเรื่องนี้คือการผสมผสานตัวละครและบรรยากาศแบบภาพยนตร์แนว “ชีวิตวัยรุ่น ม.ปลาย” เข้ากับโครงสร้างเรื่องราวของหนังในตระกูล “โจรกรรม”
ซึ่งนำไปสู่การเร้าอารมณ์ผู้ชมได้อย่างมีสัมฤทธิผลในหลายช่วงตอน
ขณะเดียวกัน นักวิชาการแห่งคิงส์ คอลเลจ ก็เขียนถึง “เพื่อนฉัน…ฝันสลาย” ของ “บงกช เบญจรงคกุล (คงมาลัย)” เอาไว้อย่างน่าสนใจ
กล่าวคือ แม้หนังจะใช้ฉากหน้าเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมและเรื่องราวแนว “โรดมูฟวี่” แต่ระหว่างการดำเนินเรื่อง กลับมีลักษณะของภาพยนตร์ตระกูลอื่นๆ สอดแทรกเข้ามาอย่างหลากหลาย
ทั้งแนวทาง “เมดิคัล เมโลดราม่า” เมื่อตัวละครนำหญิงรายหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง พ่วงด้วยความเป็นหนัง “สยองขวัญ” ยิ่งกว่านั้น การเล่าเรื่องแบบ “สัจนิยม” ยังผลักดันผู้ชมให้ไปประสบพบเจอกับอารมณ์แตกตื่นชวนเหวอสุดขีด
ซึ่งสถานการณ์ทำนองนี้มักไม่ค่อยปรากฏในหนังกระแสหลักที่เลือกจะจำกัดตนเองเอาไว้ใน “ตระกูลภาพยนตร์” ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
คริส เบอร์รี่ ตบท้ายถึงหนังไทยเรื่องหลังว่า ผู้กำกับฯ คือ ตั๊ก บงกชนั้นเลือกวิธีการที่สุ่มเสี่ยงเอามากๆ แต่ผลตอบแทนที่ได้ กลับคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
คนไทยรายล่าสุด ผู้ได้เป็น “กรรมการออสการ์”
สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกาเพิ่งออกหนังสือเชิญบุคลากรสาขาต่างๆ ในวงการหนังจำนวน 928 ราย เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของสถาบัน
ภารกิจสำคัญของสมาชิกใหม่ทั้งหมด คือ การมีสิทธิร่วมโหวตตัดสินรางวัลออสการ์
หนึ่งในสมาชิกใหม่ของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ฯ ประจำปีนี้คือ “สยมภู มุกดีพร้อม” ผู้กำกับภาพชาวไทย ซึ่งเป็นตากล้องในหนังสำคัญหลายเรื่องของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” รวมถึง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” หนังรางวัลปาล์มทองคำจากคานส์
อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงของสยมภูมาโด่งดังกว้างขวางในระดับนานาชาติเมื่อปีที่แล้ว จากผลงานชั้นเยี่ยมที่เขาฝากเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่อง “Call Me by Your Name” ซึ่งส่งให้ตากล้องฝีมือดีชาวไทยผงาดคว้ารางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมบนเวที “อินดีเพนเดนต์ สปิริต อวอร์ด” งานมอบรางวัลหนังอินดี้ที่ใหญ่สุดของสหรัฐประจำปี 2017
หลายคนเสียดายที่ปีก่อนสยมภูชวดเข้าชิงรางวัลออสการ์ (อย่างเฉียดฉิว) ทว่าปีนี้เขากลับได้รับข่าวดีอีกด้าน เมื่อตนเองถูกเชิญให้ไปร่วมลงคะแนนตัดสินรางวัลดังกล่าว
สองปีก่อนสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ฯ ได้เคยประกาศรายชื่อสมาชิกใหม่จำนวน 683 ราย โดยมี “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง และ “สุทธิรัตน์ ลาลาภ” นักออกแบบเครื่องแต่งกายชาวไทย ที่เติบโตและทำงานในสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย
สำหรับสยมภู ปีนี้เขาจะมีผลงานถ่ายภาพให้หนังสยองขวัญรีเมกเรื่อง “Suspiria” ซึ่งเป็นการหวนกลับมาร่วมงานกับ “ลูก้า กัวดาญิโน” ผู้กำกับฯ “Call Me by Your Name” อีกคำรบ
ส่วนในเมืองไทย ผลงานหนังยาวเรื่องล่าสุดที่ตากล้องโกอินเตอร์ฝากฝีมือเอาไว้ และน่าจะเข้าฉายเร็วๆ นี้ก็คือ “นาคี 2” โดย “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง”
ที่มาเนื้อหา
https://www.hollywoodreporter.com/news/new-academy-members-2018-revealed-1123069