รายงานพิเศษ : มอง 86 ปี ประชาธิปไตย “ความ(ไม่)รู้” ของสังคมไทย ต่ออภิวัฒน์สยาม 2475

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน


การเมืองไทยสมัยใหม่ผ่านมา 86 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์อภิวัฒน์สยามหรือปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับประเทศนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมไทยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ จนถึงบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์มากแค่ไหน

เพราะอะไร เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลและเหตุการณ์ถึงไม่ครบถ้วนหรือถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง จนส่งผลต่อความเข้าใจจนถึงทุกวันนี้ ที่ทำให้ยังคงได้ยินชื่อของ “ปรีดี พนมยงค์” เป็นผู้ร้าย หรือคณะราษฎร ในฐานะกลุ่มคนที่ชิงสุกก่อนห่าม แต่นั่นใช่ความจริงอย่างที่ถูกพูดถึงหรือไม่?

ความไม่ชัดเจนในทางประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นสิ่งที่ปรากฏในสังคมไทย ถูกสะท้อนผ่านมุมมองในเสวนา “เปิดมุมมองประวัติศาสตร์ 2475 การอภิวัฒน์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้?” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่สมาคมธรรมศาสตร์

โดยนักวิชาการและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่จะมาอธิบายถึงชิ้นส่วนที่ถูกทำให้หายไปหรือเข้าใจกันอย่างผิดๆ มาตลอด 86 ปี

 

นายพันธวัฒน์ เศรษฐวิไล นักเขียนออนไลน์และบรรณาธิการ 101 world กล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงการอภิวัฒน์สยาม ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา มักเป็นการนำเสนอข้อมูลจากคนนอก เช่น นักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์ แต่ไม่พบจากผู้ก่อการโดยตรง

จากการค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องก็ได้พบบันทึกของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำคณะราษฎร ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2515 ในวาระ 40 ปี อภิวัฒน์สยาม ในชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและก่อตั้งประชาธิปไตย”

ก่อนหน้านี้มีมายาคติที่แพร่หลายในสังคมจนถึงวันนี้ยังมีพูดอยู่ อย่างการอภิวัฒน์สยามเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่ ซึ่งสามารถแบ่งนัยยะออกเป็น 2 ทางคือ นัยยะแรก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนยังไม่พร้อมและไม่เข้าใจประชาธิปไตย กับนัยยะที่ 2 คณะราษฎรก่อการแต่ไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 7 มีมุ่งหมายอยู่แล้วว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ในบันทึกของ ดร.ปรีดีได้เขียนข้อชี้แจงว่า

“เรื่องกระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จริงๆ แล้วมีเชื้อตั้งแต่รัชกาลที่ 5 โดยได้รู้จักนักหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นอย่าง ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือเทียนวรรณ ที่ออกมาวิพากษ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และศักดินา ซึ่งมองว่าเป็นความคิดที่เสี่ยงคุกในเวลานั้น และยังมีบางกลุ่มที่กล้าหาญ มาถึงรัชกาลที่ 6 มีหลักฐานอยู่แบบเรียนมูลบทบรรพกิจ ที่มีเนื้อหาวิพากษ์ระบบ ต่อมาในรัชกาลที่ 7 เมื่อข้าพเจ้ากลับมาใน พ.ศ.2470 หลังจากอยู่ฝรั่งเศสมา 10 ปี ปรากฏคนหนุ่มที่ไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีประชาธิปไตย มีความตื่นตัว แสดงว่าผู้ที่ไม่ได้มีความเป็นอยู่ในระบบศักดินา เกิดจิตสำนึกที่เค้าประสบแก่ตนเองถึงความไม่เหมาะสมในระบบ และอิทธิพลของสื่อที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงจากระบอบศักดินาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นนั้นข้าพเจ้าเห็นว่า คนจำนวนน้อยที่กลับจากยุโรปจริงไม่มีความลำบากมากนัก ส่วนผู้ที่ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าไปเป็นสมาชิก เพราะว่าพื้นฐานของความต้องการนั้นอยู่แล้ว”

ต่อคำถามที่ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากคนกลุ่มน้อยหรือไม่นั้น นายพันธวัฒน์กล่าวว่า ปรีดีบันทึกต่อด้วยว่า เมื่อเรายึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ได้รับการสนับสนุนจากราษฎรเป็นจำนวนมหาศาล มาแสดงความยินดีด้วยตัวเองถึงที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้เป็นกองบัญชาการคณะราษฎร และทางจดหมายและโทรเลข

ประจักษ์พยานอีกอย่างคือ คณะราษฎรได้มอบหมายให้นายทวี บุณยเกตุ เปิดรับสมัครที่สวนสราญรมย์ โดยมีผู้เข้าร่วมสมัครมากมายจนถึงขนาดที่ใบสมัครมีไม่พอแจก

ดังนั้น เราจึงถือว่าเป็นคณะราษฎร เพราะเราทำตรงกับความต้องการของราษฎร

 

ด้านนายประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับใครที่ต้องการหาอ่านงานศึกษา อยากแนะนำเรื่องหนึ่งชื่อว่า “การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน” หลายคนอาจเคยได้ยินวลีที่ว่า “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” แต่ในสังคมไทยอาจไม่จริงเท่าไหร่ เกิดความย้อนแย้งตรงที่ คนชนะไม่ได้เขียน

ถ้าเราถือว่าการอภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นการปฏิวัติที่คณะราษฎรประสบความสำเร็จ สถาปนาการปกครองแบบใหม่ วางรากฐานหลายอย่าง การรับรู้ของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับ 2475 สิ่งที่อ่าน สิ่งที่เชื่อ ส่วนใหญ่กลับเป็นความเชื่อที่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้อ่านสิ่งที่คณะราษฎรเขียนหรือตั้งใจหวัง

“ในสมรภูมิทางประวัติศาสตร์ คณะราษฎรพ่ายแพ้ ประวัติศาสตร์ที่เขียนและเผยแพร่เกี่ยวกับ 2475 กลับเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้าม ถ้าประวัติศาสตร์คณะราษฎรถูกเผยแพร่กว้างขวาง จริงๆ ไม่ต้องจัดเสวนาเลย ผ่านมา 86 ปี การที่ยังต้องเสวนา ตกลงกันว่า 2475 คืออะไร? เหตุการณ์นี้สำคัญยังไง มันสะท้อนว่า มันยังไม่เป็นประวัติศาสตร์ที่ลงหลักปักฐานสังคมรับรู้ร่วมกัน ควรมีอนุสาวรีย์ วันหยุดราชการ เพื่อให้ร่วมรำลึก ควรอยู่ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาฯ ที่ทุกคนควรได้เรียน เช่นเดียวกับสหรัฐที่เรียนประวัติศาสตร์กำเนิดประเทศ ตั้งแต่ปฏิวัติอเมริกา 1776” นายประจักษ์กล่าว

นายประจักษ์กล่าวว่า ในสังคมไทย แม้แต่ในพื้นที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ทางการ ยังไม่มีที่ให้กับ 2475 ไม่มีการเอ่ยถึง กว่าจะได้รับรู้คือเข้ามหาวิทยาลัย

ยกตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องราว 2475 ที่ไม่เข้าไปในพื้นที่การศึกษา อย่างแบบเรียนสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำหรับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลักสูตร 2551 อันล่าสุด เขียนถึงการกำเนิดประชาธิปไตยไว้ดังนี้

“ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จบ”

นี่คือตัวอย่างแบบเรียนในสังคมไทย ไม่มีเอ่ยถึง 2475 หรือคณะราษฎร อยู่ดีๆ ประชาธิปไตยไทยก็จุติขึ้นมาด้วยตัวเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ ไม่มีรายละเอียดใดๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนที่จบการศึกษามัธยม ทำไมถึงไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ 2475 หรือรู้แบบเบลอๆ พอเข้ามหาวิทยาลัย สอนแบบเอาข้อเท็จจริงมาแสดง นักศึกษาเกิดอาการงง ตามไม่ทัน

เคยมีนักศึกษามาถามหลังจบบรรยายว่า “อาจารย์กำลังล้างสมองพวกผมหรือเปล่า?” แม้แต่ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ไม่รู้จักมาก่อนทั้งที่เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ

 

นายประจักษ์ยังกล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงมายาคติในสังคมไทยต่อ 2475 มี 4 แบบ

อย่างแรก คุณพันธวัฒน์กล่าวไปแล้วคือ “ชิงสุกก่อนห่าม”

อย่างที่สองคือ “การปฏิวัติของนักเรียนนอก คนจบต่างประเทศ ไฟแรง ไม่รู้จักสังคมไทย”

อย่างที่สามคือ การที่บอกว่า “คณะราษฎร” เป็นคณะบุคคลที่ยึดอำนาจเพื่อตัวเอง กระหายอำนาจ ไม่ทำเพื่อประชาชน

อย่างสุดท้ายเกิดขึ้นภายหลังคือ ตีความ อภิวัฒน์สยามเป็นการรัฐประหารอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การปฏิวัติ เป็น 4 มายาคติใหญ่ที่ครอบงำสังคมไทย ลดความน่าเชื่อถือ ไม่ให้ความดีความชอบกับผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่เป็นมากกว่ามายาคตินั้นคือ การถูกทำให้หลงลืม สังคมไทยมีวิธีจัดการ 2475 อยู่ 2 แบบคือ “ไม่พูดถึงเลย” กับ “ต่อให้พูดถึงก็พูดแบบคลาดเคลื่อน”

ในอนาคตมีความสำคัญกับคนรุ่นหลัง ที่มีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือการศึกษา ต้องทำให้ 2475 เข้าไปในพื้นที่ทางการให้คนรุ่นหลังรู้ให้ได้ ต่อให้เรียนมัธยมหรือเก่งที่สุด กับเด็กที่ไม่สนใจเรียนเลย สุดท้ายความรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แทบไม่ต่างกัน

ต่อให้ตั้งใจเรียนมากที่สุด แต่อ่านหนังสือแบบเรียนกระทรวงศึกษาฯ อย่างเดียวจนจบมัธยมก็ไม่รู้จัก 2475 หรือคณะราษฎร