จรัญ พงษ์จีน : สูตร “สามมิตร-พลังประชารัฐ” ปูทางนายกฯอีกสมัยของ ‘ประยุทธ์’?

จรัญ พงษ์จีน

ความชัดเจนเกี่ยวกับ “โรดแม็ปเลือกตั้ง” ก็ค่อยๆ ปรากฏมากขึ้นเป็นลำดับ หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เดินทางกลับจากเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส “เปอร์เซ็นต์” แห่งความเป็นจริงทวีสูงขึ้นหลายองศา

สรุปได้ว่า “ปฏิญญาลอนดอน” ที่พูดต่อหน้า “เทเรซ่า เมย์” หนักแน่น มีน้ำหนักมากกว่า “ปฏิญญาโตเกียว” ที่พูดต่อหน้า “ชินโสะ อาเบะ” และ “ปฏิญญานิวยอร์ก” ซึ่งลั่นวาจาไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะกับ “โดนัลด์ ทรัมป์”

กลับมาจากเยือนอังกฤษ-ฝรั่งเศส “พล.อ.ประยุทธ์” แผ่นเสียงก็ยังไม่ตกร่อง เหมือนครั้งก่อนๆ ที่ไปเยือนญี่ปุ่น หรือประชุมเวทีโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พลันที่เหยียบบ้านเกิดเมืองนอน ก็ยังยืนยัน

“ขอร้องทุกฝ่ายอย่าทำให้บ้านเมืองไม่สงบกันอีกเลย เพราะช่วงนี้กำลังจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ขอให้นึกถึงคนที่เดือดร้อนกันบ้าง”

“กรอบการเลือกตั้ง” ดังที่ทราบกันว่า วางไว้แล้ว เร็วที่สุดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 “ช้าที่สุด” วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ตามสูตร 3-3-5 ขณะนี้ อยู่ระหว่างเร่งคีย์ ตีจังหวะเกี่ยวกับองคาพยพที่ผูกพันกับการเลือกตั้ง

หนึ่งหัวใจสำคัญคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลศึกเลือกตั้งแทนชุดเก่า ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอน “สนช.” นัดลงมติเคาะกันก๊อกสุดท้าย มีโปรแกรมจะจัดการกันให้แล้วเสร็จในวันที่ 12 กรกฎาคม เลือกให้ครบเต็มคณะ 7 คน

ขณะเดียวกัน เมื่อ “สโลว์โมชั่น” ไปที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ก็ใช่แล้วเช่นเดียวกันว่า “พร้อม” จะลงชิงชัยในศึกดาร์บี้แมตช์ที่กำลังงวดเข้ามาทุกที

โดยจะมาตามช่องทาง “นายกรัฐมนตรีคนใน” ซึ่งถือว่ามีความสง่างามมากกว่า และเสี่ยงอันตรายน้อยกว่า

“นายกฯ คนใน” คือบุคคลที่พรรคการเมืองประกาศชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยต้องประกาศชื่อก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองหนึ่งสามารถเสนอได้ 3 รายชื่อ และไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้

ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่เสนอชื่อผู้เข้าชิงนายกรัฐมนตรี “จะต้องมี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนราษฎร

แต่หากมาตามช่องทาง “นายกฯ คนนอก” ที่เป็นแนวทางสำรอง หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ลงเอยตามบทเฉพาะกาล ที่กำหนดว่า ในช่วง 5 ปีแรก กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเลือกรายชื่อจากบุคคลที่ไม่อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอชื่อก็ได้

“กรณีที่ว่า สามารถเข้าชื่อกันครึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน” เพื่อเรียกประชุมร่วมระหว่างสองสภาคือ สมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 จาก 750 เสียง เปิดทางให้เลือก “นายกฯ คนนอก” โดยมีเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว จึงเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินใจจะเลือกใช้บริการช่องทางแรกคือ “นายกฯ คนใน” มากกว่าช่องทางที่สอง “นายกฯ คนนอก”

 

ใครต่อใครก็พากันเชื่อว่า “ฟาสต์แทร็ก” ที่ “บิ๊กตู่” เลือกที่จะผ่าทางตันเป็นเชนคัมแบ๊กสู่ทำเนียบ “นายกฯ รอบ 2” ตามช่องทาง “คนใน” และคงจะเลือกขี่พายุมากับ “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นผู้เสนอชื่อเข้าชิง เพราะมือปฏิบัติที่ปรากฏร่างเงา ล้วนมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ในรัฐบาล “ตู่ 4” เกือบทั้งสิ้น

ทั้ง “อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” และ “สุวิทย์ เมษินทรีย์”

ไม่เพียงเท่านั้น “พลังประชารัฐ” ยังต่อจิ๊กซอว์ไปผูกสายสัมพันธ์เป็นปลาข้องเดียวกันกับ “กลุ่มสามมิตร” ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน”

และมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าจะยึด “ทักษิณสไตล์” มาใช้ อีหรอบเดียวกับเมื่อครั้งก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” ที่มีการดึงกลุ่ม ก๊วน แก๊งต่างๆ มาเข้าสังกัดเดียวกัน และมีการกางมุ้งเล็กอยู่ในมุ้งใหญ่ แยกกันเดินร่วมกันตี จนสามารถหักโค่นประชาธิปัตย์สำเร็จมาแล้ว

“พรรคพลังประชารัฐ” + “กลุ่มสามมิตร” ตอนนี้ถือว่าร้อนแรง และพลิกมาเป็นตัวแปรสำคัญกับเงื่อนไขในการผลักดัน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า “ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5” ถือว่าสบายมากๆ

ในขณะเดียวกันความชัดเจนว่าด้วยโรดแม็ปเลือกตั้ง และความชัวร์ชัดว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลงชิงดำนายกรัฐมนตรีรอบ 2 แน่นอนแล้วนั้น

จะอาศัย “กระสุน” ยิงไม่อั้นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี “กระแส” มาร่วมเป็นใบเบิกทางเพื่อย้ำชัยด้วย

องค์ประกอบหนึ่งที่เชื่อว่า “บิ๊กตู่” จะต้องชิงลงมือก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่จะระเบิดเถิดเทิงขึ้นในต้นปี 2562 เพื่อ “กู้กระแส” นั้นก็คือ “ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี”

“ตู่ 5” สู่ “ตู่ 6” แม้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเพิ่งจะปรับปรุงใหญ่ไปหมาดๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560

แต่ปรากฏว่าหลายคนตอบแทนบุญคุณกันมายืดยาว สนิทขึ้นตั้งแต่ “ตู่ 1” เวียนเทียนมาหลายตำแหน่ง เป็นเสนาบดีมา 4 ปีกว่าเข้าให้แล้ว ถึงเวลากลับบ้านไปเลี้ยงหลาน

ขณะที่บางเสนาบดีแห้งชามน้ำชาม ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ กลายเป็น “โลกลืม” นั่นก็พวกหนึ่ง

บางประเภท บางจำพวก ถูกตั้งข้อครหามากมายหลายเรื่อง และอีกบางส่วนที่จำเป็นต้องไปดูแล “พรรคใหม่” อันได้แก่ “พลังประชารัฐ”

โดย “พล.อ.ประยุทธ์” จะชิงลงมือปรับ โหนสถานการณ์ของ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ติดติ่งปัญหาการถือหุ้น

การปรับปรุงคณะรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” ถือว่าเป็นการยกเครื่อง ผ่าลูกสูบครั้งสุดท้าย แต่งตัวใหม่ให้ดูดี เพื่อรับมือกับศึกเลือกตั้งใหญ่ในต้นปี 2562

อาจจะมีการดึง “คนนอก” ที่เป็น “คนการเมือง” เข้ามาเสริมใยเหล็กบ้างในบางตำแหน่ง