เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : แผ่นดินของเรา

AFP PHOTO/HOANG DINH Nam / AFP PHOTO / HOANG DINH NAM

 

ภาพของทุ่งนาที่มีรวงข้าวตั้งท้องเขียวขจี มีป่าบนภูเขาที่มีต้นไม้หนาแน่นเป็นฉากหลัง ใครเห็นก็ต้องว่าสวยงามนัก มันคือความอุดมสมบูรณ์ คือธัญญาหารที่มีอยู่อย่างพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่ตำบลบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

ไม่ใช่เรื่องของการปลูกข้าวเพื่อนำไปขายโรงสี ไม่ใช่ข้าวที่ส่งให้คนในกรุงบริโภค หรือเพื่อการส่งออกอย่างที่คนในเมืองกรุงรู้กัน

บ่อเกลือที่สวยงามและสงบสุข เป็นแผ่นดินบนที่สูง บ่อเกลือที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแดนกันชนระหว่างคนของรัฐและผู้ก่อการร้ายในป่าจังหวัดน่าน คนที่นี่รับรู้เรื่องราวของการยิงต่อสู้กันระหว่างยอดเขาหนึ่งไปยังอีกยอดหนึ่ง นานๆ ก็ตกใจกับเสียงระเบิดตูมที่หล่นลงมากลางหมู่บ้านจากการตั้งพิกัดไม่แม่นยำ เมื่อเสียงระเบิดหมดไปก็อยู่กันอย่างสงบเหมือนเดิม

แต่ดั้งเดิมมา ชาวบ่อเกลือมีเกลือที่ธรรมชาติประทานมาให้เป็นทรัพยากรใต้ผืนดิน แต่ก็ต้องเหนื่อยยากตักน้ำที่มีเกลือขึ้นมาต้มจนตกผลึกวันละหลายเที่ยว เพื่อนำไปแลกกับอาหารกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสมัยก่อนโน้นคนบ่อเกลือไม่ใช้เงิน แต่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

คนบ่อเกลือต้มเกลือ คนที่ลุ่มปลูกข้าว คนในป่าที่เป็นชาติพันธุ์ชาวเขาปลูกพืชไร่ชนิดอื่นๆ เอามาแลกเปลี่ยนพึ่งพากัน

คนบ่อเกลือทำนาไม่ค่อยได้ผล จึงไม่มีข้าวพอกิน

ถามว่าทำไมจึงทำนาไม่ได้ผล คำตอบคือพันธุ์ข้าวไม่ดี ส่วนน้ำไม่เป็นปัญหา

นั่นเป็นเป็นช่วงปี 2508 คือห้าสิบปีมาแล้ว

 

ต่อมาพวกที่อยู่ที่ลุ่มที่เคยค้าขายกันนำพันธุ์ข้าวดีๆ มาให้ ผลผลิตมีมากขึ้น ก็จึงพอกิน หลังจากนั้นเกษตรฯ คือราชการก็นำข้าวพันธุ์เชียงรายมาให้ ก็ทำนาได้ผล พอมีเงินเก็บ ชีวิตก็ดีขึ้น

ชีวิตที่ดีก็คือมีที่ดินที่เป็น “แผ่นดินของเรา” อย่างเต็มภาคภูมิ คือมีโฉนดเป็นของตนเอง จากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น หรือจากที่ลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองเจือจุน

ชาวบ่อเกลือรู้จักนำต้นไผ่ที่มีอยู่มากมายมาใช้สอยดัดแปลงเป็นสิ่งก่อสร้าง พอใจที่จะใช้สอยโดยไม่ต้องนำไปค้าขาย

น่านเป็นชุมชนโบราณที่มีคนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ บนที่ลุ่มเป็นคนเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากชาวน่านโบราณ ส่วนตามเขาสูงเป็นที่อยู่ของชนเผ่าลัวะ ม้ง เย้า ที่เพิ่งจะได้ทำบัตรประชาชนเมื่อไม่นานมานี้ มีแม้กระทั่งมลาบรี หรือที่เรียกกันว่าผีตองเหลือง

ด้วยความที่น่านมีพื้นที่ราบเฉพาะบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน ประมาณ 20% นอกนั้นเป็นป่าซึ่งกรมป่าไม้กำหนดให้เป็นป่าสงวนมีประมาณ 80% ชนเผ่าทั้งหลายซึ่งเคยชินกับการอยู่บนที่สูงจึงอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ เหล่านี้ อันที่จริงเขาอยู่มาก่อนโดยไม่มีหนังสือที่แสดงความเป็นเจ้าของ แล้วต่อมาราชการก็ประกาศว่านี่คือเขตป่าสงวนฯ

ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่มี “แผ่นดินของเรา” มีแต่ “แผ่นดินของเขา”

พวกชนเผ่าที่อยู่บนเขาทำกสิกรรม

 

วิธีทำกสิกรรมของเขาที่ทางราชการบอกว่า “ทำไร่เลื่อนลอย” ย้ายจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศคือต้องถางป่าไปเรื่อย แต่อันที่จริงเมื่อมองลึกลงไปแล้ว เป็นการพูดแบบคลุมไปทั้งหมด ความเป็นจริงเป็นอีกแบบ

ชาวบ้านบ่อเกลือซึ่งเป็นคนรักสงบและเป็นมิตรกับเพื่อนชนเผ่า เรียกชนเผ่าว่า “เสี่ยว” ซึ่งแปลว่า “เพื่อน” ได้เล่าถึงเพื่อนของเขาซึ่งเป็นลัวะว่า การทำนาข้าวไร่ของลัวะนั้นไม่มีการเผาหญ้า ไม่เสียป่า เขาจะปลูกข้าวบนเชิงเขาซึ่งมีน้ำไหลตลอดเวลา เวลาที่มีหญ้าขึ้นแซมก็จะเด็ดหญ้าออกเท่าที่จำเป็น ไม่ใช้วิธีขุดแบบถอนรากถอนโคน เมื่อเก็บข้าวแล้วก็ย้ายที่ไปทำที่อื่น ปล่อยให้ที่เดิมฟื้นตัวแล้วย้อนกลับมาทำใหม่ในเวลา 3 ปี

ลัวะจะคอยดับไฟเมื่อมีใครเผาไฟลามมาถึงเขตของเขา

เขาจะปลูกไม้ใหญ่เอาไว้ คอยริดใบ และปล่อยให้ลำต้นโต พอ 3 ปีต้นก็โตเท่าขา นำไปใช้สอยได้

ชาวลัวะรู้จักวิธีรักษาระบบนิเวศก่อนที่ราชการจะมาสอน ที่เพาะปลูกจะอยู่ห่างลำห้วย 500 เมตร เขาจะทำไร่รอบนาข้าว และคอยระวังไม่ให้ไฟไหม้

ชาวลัวะมีผู้นำที่มีภูมิปัญญาเลิศที่รู้จักกันว่าชื่อดวง และลูกหลานลัวะก็จะจำสิ่งที่ผู้นำสั่งสอนไว้

ม้งก็ปลูกข้าวไร่เช่นกัน ข้าวไร่ของม้งเป็นข้าวเหนียวชั้นดีไม่มีเมล็ดแดงผสม กินอร่อย ม้งเลี้ยงวัวควายไว้ขายด้วย

ฟังที่คนเฒ่าคนแก่ชาวบ่อเกลือเล่าแล้ว ก็มองเห็นภาพว่าชนเผ่าต่างๆ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้บุกรุก เขาอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อันที่จริงเขามีเงินมีทองที่จะซื้อที่ทางบนที่ลุ่มได้

แต่นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตของเขา

เขาจึงยังคงใช้ชีวิตที่สูงที่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ ที่ไม่มีโฉนด บางแห่งเป็นที่ ส.ป.ก. เขาจึงได้ชื่อว่าเร่ร่อน และไม่มี “แผ่นดินของเรา”

มีใครก็ไม่รู้บอกว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั่งอยู่ที่โต๊ะ ไม่ได้ออกไปคลุกคลีสัมผัสชาวบ้านก็ไม่รู้หรอกว่าความเป็นจริงหรือของจริงเป็นเช่นไร

รุกป่าสงวนฯ หรือ จงออกไป

ปลูกอะไรอยู่หรือ จงเอาไม้เศรษฐกิจเชิงเดี่ยวขึ้นเร็ว เช่นยาง และข้าวโพดไปปลูกซะ

เจ้าหน้าที่รัฐคงไม่รู้ลึกซึ้งว่าอะไรทำลายระบบนิเวศ อะไรรักษาระบบนิเวศ

ในขณะที่ชนเผ่าที่อยู่กับต้นไม้และธารน้ำมาตั้งแต่บรรพบุรุษรู้ดี

ความไม่เข้าใจ ความมักง่าย ยอมเป็นสะพานให้นายทุนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ก่อให้เกิดปัญหามหภาคคือระบบนิเวศถูกทำลาย

ความเป็นจริงคือแผ่นดินน่านเป็นของทุกเผ่าพันธุ์ดั้งเดิม มิใช่ของรัฐ และมิใช่ของพ่อค้านักธุรกิจภายนอกเข้ามาตักตวงหาประโยชน์

ทุกวันนี้เมื่อคนแปลกหน้าเข้าไปชนเผ่าจะระแวง ก่อนอื่นเขาจะรู้สึกว่าเข้าไปเพื่อไปไล่เขาออกจากที่ทำกิน

เป็นเรื่องน่าแปลกใจหากเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินของน่านให้เป็น “แผ่นดินของเรา” ของชาวน่านที่แท้จริง