มนัส สัตยารักษ์ : เรื่องโบราณ 77 ปี

ท่องไปในโลกกว้างและสับสนของ Google อย่างไม่มีจุดหมาย พบภาพของ พ.ต.อ.นายรองพลพ่าห์ผลัญชัย อยู่กลางภาพถ่ายอื่นๆ ในโหมด IMAGES ซึ่งไม่ได้ classify แบ่งกลุ่มหรือจัดจำแนกเป็นหมวดหมู่แยกประเภทแต่อย่างใด

เป็นภาพถ่ายขาว-ดำในเครื่องแบบชุดปกติคอแบะของตำรวจ บอกวัน เดือน ปี ที่ชาตะและมรณะ 2444-2521 ซึ่งในช่วงปีเหล่านั้น หมวกทรงหม้อตาลของนายตำรวจยศ พ.ต.อ. ยังไม่มีช่อชัยพฤกษ์ประดับที่แก๊ป

ภาพนี้วางเรียงเคียงกับภาพโบราณ “นักฟุตบอลรุ่นเล็ก โรงเรียนมหาดเล็กหลวง”

ผมเห็นภาพคนในเครื่องแบบ พ.ต.อ. เพียงแวบแรกก็จำได้ทันทีว่าคือ “ท่านรอง” หัวหน้าตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอายุ 5-6 ขวบ ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาของพ่อ หลายคนรวมทั้งผมต่างเรียกท่านว่า “ท่านรอง” ตามตำแหน่งมหาดเล็กซึ่งมีราชทินนามว่า “นายรองพลพ่าห์ผลัญชัย” (เขียนติดกันเป็นคำเดียว)

แต่ก็มีบางท่านเรียกว่า “คุณรอง” เป็นบุรุษที่ 3 ด้วยความเข้าใจผิดว่า “รองพลพ่าห์” เป็นชื่อสามัญของท่าน ผมเองก็เพิ่งมารู้ว่าเป็นตำแหน่งมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เมื่อโตและพอรู้ความแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คงไม่มีใครกล้าเรียกท่านว่า “นายรอง” ซึ่งย่อจากนามเต็ม แม้จะถูกต้องแต่ฟังดูเหมือนไม่ให้เกียรติและไม่สุภาพตามที่ควร

ตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือ รองผู้บังคับการ กองตรวจคนเข้าเมือง มาถึงช่วงเวลานี้คำว่า “ท่านรอง” กลายเป็นคำที่ถูกต้องตามตำแหน่งพอดี

เมื่อพูดถึง “ตรวจคนเข้าเมืองหาดใหญ่” อันเป็นที่เกิดและที่อยู่ของผมจนอายุ 15 ปี ภาพแรกที่เกิดขึ้นในจอความจำก็คือ อาคารไม้หลังใหญ่มั่นคงและแข็งแรง บ้านพักข้าราชการที่สร้างในยุคที่คนหลวงคงยังไม่รู้จักคำว่าคอร์รัปชั่น กินนอกกินใน เงินใต้โต๊ะหรือเงินทอน

ผมจำภาพอาคารที่ทำการได้ดี เป็นเรือนไม้หลังใหญ่มีเสาคอนกรีตหลายต้น ผมขี่จักรยาน 2 ล้อหกล้มศีรษะฟาดเสา มีรอยแผลเป็นที่ขมับทำให้ผมแหว่งมาจนถึงทุกวันนี้

สนามหญ้ากว้างขวาง ที่บางปีมีเห็ดสีขาวในหน้าหนาวให้เราเก็บไปกินได้

ชบาดอกแดงสลับกับไผ่เล็กเป็นไม้รั้วกั้นบริเวณด้านหน้า ตรงมุมพื้นที่ริมถนนเพชรเกษม เป็นไม้ใหญ่คือประดู่ดอกเหลืองกลิ่นหอมกับต้นตำเสา ซึ่งผมคิดว่าผู้ใหญ่เขาเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “ทำเสา” จนโตถึงได้รู้ว่าเป็นไม้คนละชนิดกัน

สีเหลืองและกลิ่นหอมของประดู่ (ไม่ว่าจะอยู่ที่ตำบลไหน) ทำให้ผมหวนนึกถึงวันและเวลาแห่งวัยเด็กทุกครั้ง

ทางด้านทิศตะวันตกเป็นคูน้ำที่มีต้นไม้ริมฝั่งและเถาวัลย์ให้เด็กได้เล่นเลียนแบบทาร์ซานห้อยโหนข้ามไปมาพร้อมเสียงโห่เรียกช้าง

จุดสำคัญเมื่อกล่าวถึง ตม.หาดใหญ่ยุคโบราณก็คือ ผมจะรำลึกถึงคุณยายผู้เป็นมารดาของนายรองพลพ่าห์ฯ ซึ่งท่านจะนั่งแคร่ไม้เป็นประจำที่ใต้ถุนสูงของบ้านพักหลังใหญ่ คุณยายสอนให้ผมสวดมนต์บทหนึ่ง มีภาษาไทยประกอบอยู่ด้วย…พระพุทธเจ้าเสด็จย่างบาท… ทำให้เด็กเข้าใจ จำได้ และรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดพระพุทธองค์

ทุกครั้งที่ไปพบคุณยาย หลังจากไหว้หรือกราบทำความเคารพแล้ว ผมต้องสวดมนต์ให้ท่านฟังเป็นการทดสอบ

ในปี พ.ศ.2484 แผ่นดินด้ามขวานของชาวปักษ์ใต้ซึ่งติดทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยได้บัญญัติและใช้คำศัพท์ใหม่คำหนึ่ง นั่นคือคำว่า “ญี่ปุ่นขึ้น”

ความหมายตรงตัวง่ายๆ ว่า ทหารญี่ปุ่นลงจากเรือในทะลมาขึ้นฝั่งบนแผ่นดินของเราที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสงขลา ทหาร ตำรวจ และชาวบ้านส่วนหนึ่งถือว่าเราถูกรุกรานจึงต่อต้านจนเกิดการสู้รบกันในหลายสมรภูมิ เหตุกาณ์เหล่านี้ได้มีการบันทึกไว้ เป็นประวัติศาสตร์ของชาติ

ผมเป็นเด็กอายุเพียง 5 ขวบ ย่อมไม่ทราบเหตุผลและรายละเอียดแต่อย่างใด รู้เพียงแต่ว่ามีสงครามเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยชาวบ้านในตลาดรวมทั้งครอบครัวของเราที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟต้องออกไปอยู่นอกเมือง

พ่อพาครอบครัวไปอยู่ที่ตำบลควนลัง ห่างจากตัวเมืองกว่า 10 ก.ม. เป็นทุ่งหญ้าและป่ายาง แม้บางครั้งเราจะได้ยินเสียงเครื่องบิน เสียงหวอ และเสียงปืน แต่ก็รู้สึกปลอดภัย

ส่วนครอบครัวของนายรองพลพ่าห์ฯ นั้น พ่อขนย้ายพาออกไปนอกเมืองเช่นกันแต่เป็นที่ไหนผมจำไม่ได้ พ่อเล่าว่าในระหว่างการเดินทางนั้นพ่อไม่ได้กลัวทหารญี่ปุ่นหรอกแต่กลัวโจรไทยมากกว่า เหตุที่พ่อตัดสินใจดำเนินการเรื่องนี้โดยไม่รอคำสั่งจากท่านรอง เป็นเพราะท่านรองเข้ากรุงเทพฯ ขณะเกิดเหตุ

เมื่อท่านรองเดินทางกลับถึงหาดใหญ่ ท่านกอดพ่อพร้อมกับพูดสั้นๆ ว่า

“อั๊วนึกแล้วว่าลื้อต้องทำอย่างนี้”

เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่พ่อชอบเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

ภาพของ พ.ต.อ.นายรองพลพ่าห์ผลัญชัย ทำให้ผมนึกถึงอดีตผู้บังคับบัญชาของพ่ออีกหลายท่าน เช่น พล.ต.ต.ชุลี แสงอร่าม (อดีต ผบก.ทว.) พ.ต.อ.ดวง สุนทรเกตุ (อดีตรอง ผบก.ตม.) และ พ.ต.ท.ศรศรี เมฆวัฒน์ ซึ่งเป็นอาเขยของผม เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีนายตำรวจ ตม.ที่เจ้าตัวไม่ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของพ่อ แต่อยู่ในฐานะ “เพื่อนกินเหล้า” มากกว่า เช่น “ท่านเสพย์” ร.ต.อ.ม.จ.เสพย์จิตจำนงค์ สุทัศนีย์ ร.ต.อ.เดี่ยว สุนทราณู เป็นต้น

เหตุที่ผมจำท่านเหล่านี้ได้ เพราะพวกเขาติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กันจนกระทั่งลาจากไปสู่สุคติ เกือบทุกท่านโทรเลขหรือเขียนจดหมายถึงกัน ผมยังได้อ่านโทรเลขจากผู้ใหญ่ใน ตม. “เบรก” ไม่ให้พ่อลาออก เมื่อหัวหน้าคนหนึ่งสั่งให้พ่อเรียกค่าธรรมเนียมนอกเหนือจากระเบียบข้อบังคับ แต่พ่อยืนยันลาออก

“ท่านเสพย์” ทรงเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน เขียนจดหมายถึงพ่อหลังเกษียณไม่นานว่า “อีกไม่ถึง 40 ปีก็ตายจากกันแล้ว”

คุณลุงดวง และคุณลุงเดี่ยว เป็นผู้ปกครองเมื่อผมมาเรียนที่กรุงเทพฯ ลูกๆ ของท่านทั้งสองเป็นเพื่อนที่เหมือนญาติของผม

ท่านรองพลพ่าห์ฯ บอกว่า ผมจบจาก ร.ร.นรต. ควรเป็นตำรวจอย่างตำรวจอาชีพที่ไปได้ทั่วประเทศ ไม่ควรมาเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ในวันที่ท่านเกษียณอายุ น้ำตาท่านไหลชุ่มอกเสื้อชุดสากล ขณะที่กล่าวลาลูกน้อง

ครั้งที่ผมประสบอุบัติเหตุขับรถยนต์ส่วนตัวพลิกคว่ำได้รับบาดเจ็บกระดูกคอหักที่ถนนเพชรเกษม อ.ละแม จ.ชุมพร นั้น ผมและครอบครัวอาจจะรอดตายเพราะมีเหรียญพระวางอยู่ที่หน้ากระจังรถ หรือได้สวดมนต์…พระพุทธเจ้าเสด็จย่างบาท ที่คุณยายสอนให้

และที่มีลูกน้องทั้งนครบาลและกองปราบปรามหมุนเวียนกันมาขับรถรับ-ส่งผมไปทำงานจนกระทั่งซื้อรถคันใหม่และขับรถเองได้ อาจจะเป็นด้วยบุญกุศลที่พ่อทำไว้เมื่อครั้งพาครอบครัว พ.ต.อ.นายรองพลพ่าห์ผลัญชัยกับคุณยายหลบภัยทหารญี่ปุ่น-ก็ได้