เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงล่องแก่งแม่ปิง ตอนที่ 3

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คู่ขนานมุมมองของ “ทอง จันทรางศุ”

เมื่อเปรียบเทียบพระนิพนธ์เรื่อง “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งคือเรื่อง “ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ พระพุทธศักราช 2565” ซึ่ง “อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์” (ทอง จันทรางศุ – บิดาของศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ) ได้บันทึกเหตุการณ์ทางชลมารคที่เรียบเรียงขึ้นในคราวเดียวกันนั้น

พบว่างานทั้งสองเล่มมีจุดโฟกัสที่แตกต่างกัน

พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์เน้นที่จะพรรณนาเรื่องความเป็นอยู่วิถีชีวิตชุมชน บ้านเรือน และสภาพภูมิศาสตร์ค่อนข้างมาก

ครั้นเมื่อต้องการพาดพิงถึงมิติทางประวัติศาสตร์ ท่านจะใช้วิธียกเอาตำนาน หรือพงศาวดารของเมืองเหนือที่เกี่ยวข้องกับเมือง สถานที่ หรือเหตุการณ์นั้นๆ มาลงตีพิมพ์แทรกแบบเต็มๆ เป็นระยะๆ โดยไม่ตัด ไม่ย่อ ไม่เพิ่มบทวิจารณ์ใดๆ (เช่น ยกเอาตำนานการสร้างเมืองเขลางค์นคร เมืองหริภุญไชย ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ฉบับเต็มมาลง เป็นต้น)

ในทางตรงข้าม แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จมาในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ตาม แต่ความที่พระองค์ทรงสนพระทัยในด้านโบราณคดีเป็นอย่างสูง

ดังนั้น มุมมองของบันทึกสองเล่มจึงให้ทัศนมิติที่แตกต่างกัน ต่างช่วยเติมเต็มให้กันและกัน คนละด้าน

ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์เดียวกันสักสองกรณี ที่ผู้บันทึกสองท่านมีแง่มุมโฟกัสไม่เหมือนกัน

 

กรณีแรกคือ ในขณะที่สมเด็จในกรมทรงสนพระทัยว่า การสรงน้ำ “เม็ดพระธาตุ” ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง น่าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับลังกาบ้างหรือไม่นั้น

อำมาตย์เอก ทอง จันทรางศุ กลับสนใจประเด็นที่ว่า

“ในวิหาร (วัดพระธาตุศรีจอมทอง) นี้มีพระสำริดนาคปรกอยู่องค์ 1 หน้าตักประมาณศอกหย่อนๆ เป็นพระงามมาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์ เคยมาทรงยืมเอาไปว่าจะทำตัวอย่าง เอาไปไว้ (ที่กรุงเทพ?) ถึง 6 ปี ทางอำเภอจอมทองเกิดฝนแล้งขึ้น ราษฎรร้องว่าเป็นเพราะมาเชิญพระองค์นี้ไปเสีย จึงต้องส่งคนมาคืนไว้ที่เดิม เมื่อ พ.ศ.2463”

กรมพระนเรศร์ในความตอนนี้ หมายถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 17 ในรัชกาลที่ 4 และเป็นพระบิดาของหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร กรมพระนเรศร์เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดใน “คอมมิตตี กรมพระนครบาล” (พัฒนามาเป็นกิจการตำรวจไทย) และตำแหน่งสุดท้ายคือเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร

จากข้อความตอนนี้ทำให้ทราบว่า กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เคยเสด็จขึ้นมายืมพระพุทธรูปปางนาคปรกจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง (ตั้งแต่เมื่อไหร่?) เพื่อนำไปทำองค์จำลอง (องค์จำลองนี้ปัจจุบันอยู่ที่ไหน?) ถึงขนาดที่ทำให้ฝนฟ้าที่จอมทองไม่ตกต้องตามฤดูกาล จนชาวบ้านต้องมาร้องขอทวงคืน

และในที่สุดชาวจอมทองเพิ่งได้คืนเพียงแค่ 2 ปี (ในปี 2463) ก่อนที่ขบวนเสด็จของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี จะเสด็จผ่าน

ดิฉันไปเดินตามหาพระพุทธรูปนาคปรกองค์นั้นในพระวิหาร พบว่าประดิษฐานอยู่ท่ามกลางหมู่พระประธาน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระหลวงพ่อเพชร (องค์ใหญ่สุดที่มีกรอบซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช) และอยู่ด้านหลังของพระแผงที่สลักบนงาช้าง 2 กิ่ง จึงถ่ายภาพมาให้ชมค่อนข้างลำบาก

 

อีกกรณีหนึ่ง ณ บริเวณสบแจ่ม ในขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสียดายที่ไม่ได้ขึ้นไปชมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ แต่พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์กลับพรรณนาสภาพภูมิศาสตร์ละแวกนั้นว่า

“ที่แม่แจ่มมีป่าไม้สัก นับว่าเป็นป่าไม้ที่ดีมาก แต่ทางที่จะปล่อยซุงลงลำบากเพราะภูเขากั้น หลวงโยนการพิจิตร์ผู้รับทำป่าไม้จึงได้ระเบิดเขาเพื่อให้ซุงลง แต่กำลังไม่พอ จึงได้เวนคืนให้รัฐบาล เดี๋ยวนี้ป่าไม้ที่นี่รัฐบาลทำเอง สายน้ำในลำห้วยแม่แจ่มไหลเชี่ยวมาก”

สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการระบุชื่อของรองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร (พะยาตะก่าปันโหย่/มองปันโย/หลวงโยฯ) คหบดีค้าไม้ชาวพม่าจากเมืองมะละแหม่ง ผู้มีบทบาทอย่างสูงในสังคมเชียงใหม่สมัยรัชกาลที่ 5-7 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

เมืองฮอดก่อนสร้างเขื่อนภูมิพล

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 (นับแบบปัจจุบันคือ 2465) เวลาเช้า ก.ท. (ก่อนเที่ยง) ขบวนเสด็จของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จมาถึงเมืองฮอด ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่าที่นิยมเรียกกันภายหลังว่า “เวียงพิสดารนคร” ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพรรณนาถึงวัด 4 แห่งในบริเวณนี้ วัดแรกคือ

“ไปดู วัดฮอด มีพระเจดีย์ฝีมือสร้างครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา และวิหารโบสถซุ้มประตูฝีมือสร้างรุ่นๆ เดียวกับที่พระยาเชียงใหม่ช้างเผือกสร้างที่วัดพระสิงห์ ที่วัดนี้มีพระบรมธาตุซึ่งเป็นที่นับถือองค์หนึ่ง ทำนองจะเอาอย่างมาแต่ที่จอมทอง”

คำว่า “วัดฮอด” นี้ ปัจจุบันคือวัดฮอดหลวง โปรดสังเกตว่า แวดวงวิชาการโบราณคดีในสมัยก่อนยังไม่มีการใช้คำว่า “ศิลปะ/รูปแบบ/สกุลช่าง ล้านนา” เนื่องจากคำว่า “ล้านนา” เป็นศัพท์ที่มาบัญญัติใช้ภายหลัง

แต่ยุคของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อต้องการกล่าวย้อนถึงอดีตเมืองเหนือในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงใช้วิธีเทียบเคียงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาแทน

“พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก” ที่ระบุถึงนี้ มีนามทางการว่า “พระยาธรรมลังกา” เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2 สืบต่อจากพระเจ้ากาวิละ ระหว่างปี 2359-2364

 

วัดที่สองในเขตฮอดที่สมเด็จในกรมทรงบันทึกไว้คือ

“ขึ้นเขา ดอยอู่แก้ว มีพระเจดีย์เก่าก่อด้วยอิฐองค์หนึ่ง กับวิหารใหม่หลังหนึ่ง ที่พระเจดีย์เป็นที่ๆ คนไปเก็บ “พลอยแดง” อันมีตกเรี่ยรายอยู่ที่ฐานพระเจดีย์เป็นอันมาก เห็นจะเป็นของบรรจุไว้กับพระธาตุที่ในพระเจดีย์ซึ่งมีรอยคนร้ายขุด และพลอยมักมีเรี่ยรายอยู่บนฐานพระเจดีย์ด้านตรงช่องขุดนั้น จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นของมีในเขานั้น อย่างชาวเมืองเข้าใจ พลอยนั้นเป็นพลอยแดง ทำนองหินฟันม้าเล็กๆ”

ปัจจุบัน เขาลูกนี้เรียก “ดอยอูปแก้ว” สิ่งที่น่าพินิจพิเคราะห์อย่างยิ่งคือประเด็นเรื่อง “พลอยแดง” ที่สมเด็จในกรมทรงเชื่อมั่นว่าเป็นพลอยที่นำมา (จากที่อื่น?) เพื่อบรรจุร่วมกับพระธาตุในเจดีย์ หาใช่เป็น “แก้วสี” ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นรัตนชาติชนิดหนึ่งที่พบมากในบริเวณเมืองเก่าฮอดแต่อย่างใด

แสดงว่า กรณีข้อโต้เถียงเรื่อง อัญมณี แก้วสี หินสีต่างๆ ระหว่างเกิดขึ้นในบริเวณเมืองฮอดเอง หรือเป็นการอิมพอร์ตนำมาจากถิ่นอื่น เคยได้รับการดีเบตมาแล้วในยุคสมัยของพระองค์ท่าน

ซึ่งจวบปัจจุบันกระทู้นี้ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่โดยยังไม่มีข้อยุติ

 

วัดที่สามคือ “ลงจากดอยอู่แก้วไปดู วัดพระโต เป็นพระก่อหน้าตักราว 8 ศอก”

ภาษาถิ่นเหนือเรียกวัดพระโตว่า วัดพระเจ้าโท้

วัดนี้สมเด็จฯ ท่านมิได้ให้รายละเอียดใดๆ มากนัก

 

วัดที่สี่คือ “แล้วไปดู วัดเจดีย์สูง เป็นวัดใหญ่กว่าทุกวัด เจดีย์สูงประมาณ 15 วา ฐานสี่เหลี่ยมมีบันไดนาค 7 เศียร ขึ้นไปถึงคูหาตั้งพระพุทธรูปนั่งทั้ง 4 ทิศ ยอดเป็นพระเจดีย์กลมดูเป็นของซ่อมหลายครั้ง”

วัดเจดีย์สูง ปัจจุบันเป็นซากโบราณสถานร้าง ช่วงที่มีการสร้างเขื่อนภูมิพลระหว่างปี 2500-2507 ได้มีการขนย้ายโบราณวัตถุจากเขตเมืองเก่าฮอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวัดเจดีย์สูงไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่เป็นจำนวนมาก อาทิ ภาพพระบฏ พระแก้วขาว พระแก้วสีต่างๆ เหตุเพราะว่าหลังจากนั้นจำเป็นต้องมีการปล่อยน้ำแม่ปิงบริเวณเหนือเขื่อน ทำให้น้ำเอ่อท้นท่วมเขตอำเภอดอยเต่าและอำเภอฮอดของเชียงใหม่อยู่นานถึงกว่า 4 ทศวรรษ กระทั่งราว 10 กว่าปีมานี่เองที่น้ำแล้ง จนสามารถเดินสำรวจเมืองโบราณได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถมองเห็น “ฐานสี่เหลี่ยมมีบันไดนาค 7 เศียร” หรือ “พระพุทธรูปทั้ง 4 ในคูหาซุ้ม” ของวัดเจดีย์สูงตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพรรณนาไว้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อนได้อีกต่อไป

 

ในขณะที่มุมมองของนายมหาดเล็กชาวแม่กลอง ทอง จันทรางศุ ไม่ได้บรรยายมิติทางโบราณคดีแต่อย่างใด ทว่าได้บันทึกสภาพเมืองฮอดไว้อีกแง่มุมหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน

“เวลา 1.00 ล.ท. (หลังเที่ยง หรือ p.m. ว่างั้นเถอะ) ถึงอำเภอเมืองฮอด ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ทางฝั่งขวา เรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคามุงกระเบื้องไม้ เรือนนายอำเภอเป็นเรือนไม้จริงมุงแฝก เรือนปลัดอำเภอเป็นเครื่องสับพื้นฟาก โรงพักตำรวจภูธรเอาไม้หนาทำป้อม แบบภายหลังจลาจลเงี้ยว”

ข้อความสุดท้ายกล่าวถึงคำว่า “จลาจลเงี้ยว” นั้น เป็นที่เข้าใจกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ล้านนาว่าหมายถึงเหตุการณ์ “เงี้ยวปล้นเมืองแพร่” หรือมักเรียกกันว่า “กบฏเงี้ยว” เกิดขึ้นเมื่อปี 2445

หลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่แล้ว รัฐบาลสยามได้ออกข้อบังคับกำหนดให้สถานีตำรวจภูธรทั่วล้านนา (หรืออาจทั่วประเทศ?) สร้างป้อมตำรวจให้แข็งแรง ด้วยการใช้ไม้แผ่นหนา แทนที่ไม้รั้วระแนงแบบโปร่งๆ

เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจไม่คาดคิดฝันในอนาคต

 

จากนั้นขบวนเสด็จของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ยาตรามาถึงวัดพระธาตุดอยเกิ้ง ซึ่งหลายปีก่อนในคอลัมน์นี้ ดิฉันเคยเขียนถึงการพบกันครั้งสำคัญ ระหว่างสองมหาบุรุษที่ชาตะในเดือนมิถุนายนเหมือนกัน คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับครูบาเจ้าศรีวิชัยซึ่งกำลังนำชาวกะเหรี่ยงก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยเกิ้งไปแล้ว จึงไม่ขอเอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ดอยเกิ้งซ้ำ

สัปดาห์หน้า ได้ฤกษ์พากันล่องแก่งแม่ปิงเสียที เริ่มจากท่าเรือบ้านมืดกา ตีนดอยเกิ้ง ซึ่งเกาะแก่งต่างๆ ค่อนข้างอันตรายต่อการล่องเรือแพ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้มอบหมายให้ “พญาคำ” (นามเต็ม “พระญาคำวิจิตรธุระราษฎร์”) ผู้ชำนาญเรื่องการสร้างเหมืองฝาย (แก่ฝาย) และคัดท้ายเรือ ช่วยเป็นธุระอุปัฏฐากดูแลขบวนเสด็จให้ฝ่าคลื่นลมมรสุมในแรมทางจรดลโดยปลอดภัย

พญาคำทำงานเป็นที่พึงอกพึงใจ จนได้ติดสอยห้อยตามไปรับใช้สมเด็จในกรมถึงที่วังวรดิศ กลายเป็นคนถือท้ายเรือส่วนพระองค์ให้สมเด็จท่าน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าพญาคำยังไม่มีนามสกุลใช้ จึงถามว่าต้องการใช้นามสกุลอะไร พญาคำตอบว่า

“ศรีวิชัย” ด้วยความรู้สึกเคารพรักและศรัทธาต่อนักบุญแห่งล้านนา

ครั้นเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสด็จลี้ภัยการเมืองช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พญาคำได้ลากลับเมืองเหนือ อันเป็นที่มาของการที่คนลำพูน-เชียงใหม่สกุลหนึ่งซึ่งเป็นลูกหลานของพญาคำ ได้ใช้นามสกุลว่า “ศรีวิชัย” อย่างภาคภูมิใจสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

เป็นนามสกุลที่ไม่ได้สืบสายโลหิตจากเครือญาติของครูบาเจ้าศรีวิชัยในกลุ่มชาติพันธุ์ “ยางแดง” แถววัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แต่อย่างใด

ทว่าเป็นนามสกุลที่เชื่อมโยงถึงสายใยสัมพันธ์หรือมิตรภาพอันงดงามระหว่างครูบาเจ้าศรีวิชัย กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ