ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 9 : “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์กับเกาะนายสน” และ “เมื่อคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงไปติดเกาะร้าง?”

“เกาะร้าง” เป็นฉากที่ดีที่สุดสำหรับการทดลองทางความคิดในปรัชญาการเมือง

เพราะ “เกาะร้าง” เป็นสัญลักษณ์ของการปราศจากสังคม

เมื่อไม่มีสังคม ก็ไม่มีกฎเกณฑ์ระเบียบกติกาใดๆ ทุกอย่างอยู่ในสภาวะว่างเปล่า

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสิ่งที่นักปรัชญาการเมืองในยุคต้นสมัยใหม่อย่างฮอบส์ ล็อก และรุสโซเรียกว่า “สภาวะธรรมชาติ” (state of nature)

และเมื่อตัวละครห้าตัวที่เป็นมนุษย์ในนวนิยายเรื่อง “the Isle of Pines” ของเฮนรี่ เนวิล ไปติดอยู่บนเกาะ พวกเขาก็ทำในสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ยามเมื่ออยู่ในสังคม

คราวที่แล้วได้เล่าว่า เนวิลให้จอร์จ ไพน์ (Pine) มีอะไรกับผู้หญิงทั้งสี่คน และเนวิลก็จงใจที่จะใส่ “คอนเทนต์” ให้ตัวผู้หญิงทั้งสี่แตกต่างกัน

คนหนึ่งเดิมทีก่อนเรือแตกและมาติดเกาะเป็นคุณหนูลูกสาวผู้ดีอังกฤษซึ่งเป็นเจ้านายของจอร์จนั่นเอง

อีกสองคนเป็นหญิงรับใช้

และคนสุดท้ายเป็นทาสผิวดำ

และการร่วมเพศของหนึ่งชายสี่หญิงบนเกาะร้างนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดข้อห้ามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศหมู่ การร่วมเพศข้ามชนชั้น

การร่วมเพศข้ามสีผิวและทลายกำแพงความเป็นนายกับทาส

 

นอกจากนั้น เมื่อผู้หญิงทั้งสี่คลอดลูกออกมา เนวิลในฐานะผู้แต่งเรื่องก็ยังเขียนให้บรรดาลูกๆ ของจอร์จกับหญิงทั้งสี่นั้นมีอะไรกันเองอีก!

มีผู้วิเคราะห์ว่า การที่เนวิลให้จอร์จเป็นผู้ชายคนเดียวบนเกาะและมีอะไรกับผู้หญิงทั้งสี่และมีลูกๆ ออกมา

ในเงื่อนไขแบบนี้ จอร์จจะไม่มีปัญหาเหมือนกับที่มีในการสำส่อนมั่วเซ็กซ์กันในสภาวะที่อยู่กันในสังคม

เพราะถ้าผู้หญิงหลายคนมีอะไรกับผู้ชายหลายคนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อาจเกิดปัญหาที่ว่า ลูกที่ออกมาไม่รู้ว่าเป็นลูกของผู้ชายคนไหน แต่จะรู้ได้เพียงว่าเด็กเป็นลูกของผู้หญิงคนนั้นแน่ๆ

ซึ่งในกรณีนี้ มีนักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันรุ่นเก๋าบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ในสังคมบรรพกาลที่ยังไม่มีกฎหรือบรรทัดฐานห้ามไม่ให้ผู้หญิงหลับนอนกับผู้ชายหลายคน

ในสังคมโบราณแบบนั้น เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ ก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเธอตั้งครรภ์กับใคร และเมื่อคลอดลูกออกมา ลูกก็จะเป็นของเธอแต่ผู้เดียว

ซึ่งเงื่อนไขแบบนี้ เขาเชื่อกันว่าจะนำไปสู่การเกิดสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ เพราะผู้หญิงเท่านั้นที่ครอบครองเด็กหรือสมาชิกใหม่ของสังคมที่อยู่ร่วมกันแบบหลวมๆ นั้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ชายสามารถครอบครองผู้หญิงและประกาศว่า “ผู้หญิงข้า ใครอย่าแตะ”

เมื่อนั้น เด็กที่คลอดออกมาจากครรภ์ผู้หญิงคนนั้นก็ต้องเป็นบุตรของผู้ชายที่เป็นเจ้าของเธอ

และถ้าผู้ชายคนหนึ่งมีเมียหลายคนเหมือนอย่างที่จอร์จมี และประกาศว่า “ฝูงหญิงเหล่านี้เป็นของข้า ใครอย่าแตะ”

ก็แน่ใจได้เลยว่า เด็กๆ ที่เกิดมาจากครรภ์ของหญิงฝูงนั้นก็ย่อมเป็นทายาทของชายคนนั้น

ซึ่งในกรณีของจอร์จกับหญิงทั้งสี่บนเกาะร้าง ย่อมไม่มีปัญหาที่จะไม่รู้ว่าเด็กเป็นลูกใคร เพราะบนเกาะนั้นมีผู้ชายคนเดียวคือจอร์จ

ถ้าเด็กเหล่านั้นจะต้องมีนามสกุลตามผู้เป็นบิดา ก็จะต้องใช้นามสกุล “Pine”

 

มาถึงตอนนี้ก็อดนึกถึงคำของเคต มิลเลต (Kate Millet) นักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีไม่ได้

เพราะเธอยืนยันว่า “เซ็กซ์เป็นเรื่องการเมือง”

และถ้าเรื่องการเมืองโดยพื้นฐานที่สุดคือเรื่องของการที่ใครมีอำนาจเหนือใครแล้ว เซ็กซ์บนเกาะหรือเซ็กซ์ที่ไหนก็ย่อมต้องเป็นเรื่องการเมือง

เพราะในกรณีของสังคมบรรพกาลที่มนุษย์หญิงชายมีอะไรกันมั่วไปหมด และไม่รู้ว่าเด็กที่คลอดออกมานั้นเป็นลูกของชายคนไหน

แต่รู้แน่ๆ ว่าเป็นลูกของหญิงที่อุ้มท้องคลอดออกมา และเธอก็เป็นเจ้าของเด็กคนนั้น

และเมื่อเด็กโตขึ้นมาก็กลายเป็นแรงงานและมีความผูกพันกับเธอ สายสัมพันธ์แบบนี้ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเพศที่มีอำนาจในชุมชนแบบนั้น

ดังที่มีศัพท์วิชาการเรียกสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ว่า “Matriarchy” หรือจะเรียกในภาษาไทยว่า “มาตาธิปไตย” ก็ได้

ส่วนสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่เรียกว่า “Patriarchy” หรือ “ปิตาธิปไตย” ซึ่งไม่ว่าจะ “มาตา” หรือ “ปิตา” ก็เป็นเรื่องว่า ใครคือผู้มีอำนาจเหนือใคร

ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องการเมือง

เพราะโดยทั่วไป ใครๆ ก็พอรู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ

 

กลับมาที่เกาะของเนวิล การที่จอร์จเป็นผู้ชายคนเดียวและแถมเป็นสามีของหญิงทุกคนและเป็นพ่อของเด็กทุกคน ไม่มีผู้ชายคนอื่นเลย ทำให้จอร์จไม่เจอปัญหาการแก่งแย่งแข่งขันในการที่จะเป็นใหญ่ที่สุดบนเกาะ

เพราะถ้าเกิดเนวิลวางเรื่องให้มีผู้ชายอีกคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายที่เป็นคนที่อาศัยอยู่บนเกาะมาก่อน หรือเป็นฝรั่งที่มาติดเกาะด้วยกัน มันก็อาจจะเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทแก่งแย่งผู้หญิงบ้าง แก่งแย่งความเป็นใหญ่บ้าง

อีกทั้งการไม่มีชายอื่นบนเกาะ ก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันจีบผู้หญิงด้วย

ซึ่งเนวิลก็วางเรื่องได้ดีตรงที่ให้จอร์จมีอะไรกับหญิงรับใช้สองคน แล้วให้ซาร่าคุณหนูผู้ดีอังกฤษแอบดู แล้วเกิดอารมณ์

เมื่อเกิดอารมณ์แล้ว และมีผู้ชายเพียงคนเดียวบนเกาะ จะให้ซาร่าเล่นตัวไปทำแมวอะไร?!

ซาร่าจึงแสดงอาการว่าอยากจะให้จอร์จทำกับตนเหมือนกับที่ทำกับหญิงรับใช้

และก็เช่นเดียวกันกับ “ฟิลลิปปา” ทาสสาวผิวดำ เนวิลเขียนให้เธอแสดงออกมาว่า “ขอบ้าง”

และก็เขียนให้ฟิลลิปปาต้องไปขออนุญาตสาวๆ สามคนที่มีอะไรกับจอร์จมาก่อนเธอ ซึ่งก็น่าคิดว่า ทำไมเนวิลถึงต้องกำหนดให้ฟิลลิปปาต้องไปขอ?

ท่านผู้อ่านลองเดาดู ถ้าได้คำตอบพร้อมเหตุผลแล้วกรุณาส่งมาที่ [email protected] จะมีรางวัลสมนาคุณให้

ดีกว่าไปใช้สมองเล่นพนันบอลโลก เสียหัว เสียเวลา และอาจจะเสียเงินเปล่าๆ ปลี้ๆ

 

จากที่วิเคราะห์เรื่องจอร์จกับสาวๆ บนเกาะของเนเวิลไปพอควร ลองกลับมาที่โจทย์ของอาจารย์ชัยอนันต์กันดีกว่า

ขอทวนโจทย์ที่เป็นข้อสอบวิชาหลักรัฐศาสตร์สำหรับนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่หนึ่งเมื่อสี่สิบปีกว่าปีที่แล้ว ท่านถามว่า “คนสองคนอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?”

ถ้าเราลองใส่คอนเทนต์ลงไปว่า คนสองคนที่ว่านี้ คนหนึ่งเป็นเสื้อเหลือง อีกคนเป็นเสื้อแดง เมื่อไปติดเกาะกันลำพังสองคน จะเกิดอะไรขึ้น?

มีการเมืองไหม?

เพราะก่อนหน้าจะติดเกาะ มีการเมืองแน่ๆ เพราะคนสองคนนั้นต่างสีและมีความขัดแย้งทางการเมืองกัน ขัดแย้งในเรื่องของคุณค่าและมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่เมื่อไปติดเกาะ สองคนนั้นอาจจะแบกคุณค่าและมุมมองที่ต่างกันติดตัวไป ในช่วงแรกๆ คงฮึ่มๆ ใส่กัน และอาจจะถึงขั้นตีกันทำร้ายกันจนตายไปข้างหนึ่ง และอาจจะถึงขั้นเอาเนื้อของฝ่ายที่พ่ายแพ้มากินเป็นอาหารก็ได้!

แต่ก็เป็นไปได้ว่า ทั้งสองอาจจะ “ตาสว่าง” ตระหนักว่า ไอ้คุณค่าและมุมมองที่ติดตัวมาตอนอยู่ในเมืองนั้น มันไม่มีความหมายอะไร ไม่รู้ว่าจะตีกันด้วยเรื่องนี้ไปทำไม แต่ก็อาจจะเปลี่ยนมาตีกันในเรื่องแก่งแย่งน้ำ อาหาร ทรัพยากรแทน พูดง่ายๆ ก็คือ ก็ยังตีกันอยู่ แต่เหตุผลในการตีเปลี่ยนไป

แต่ก็อาจมีคนแย้งว่าจริงๆ แล้ว เหตุผลไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เพราะตอนอยู่ในเมืองก็ตีกันเพื่อแย่งทรัพยากร

เสื้อเหลืองไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยม และมองว่าเป็นนโยบายสามานย์

แต่คนเสื้อแดงเขาเห็นว่านโยบายนี้ให้ประโยชน์แก่เขา เมื่อมาอยู่บนเกาะก็แย่งทรัพยากร

ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่บนเกาะร้างหรืออยู่ในเมือง มนุษย์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องต่อสู้กันเพื่อหาทางจัดสรรทรัพยากรตามที่ตนเห็นชอบ

 

แม้ว่าในความเป็นจริงยังไม่มีเหตุการณ์ที่คนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงไปติดบนเกาะร้าง แต่ในความเป็นจริง เรามีคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงที่ไปติดคุกด้วยกัน

ถ้าเปลี่ยนฉากจาก “เกาะ” เป็น “คุก” แทน และออกข้อสอบโดยไม่ถามเรื่องการเมือง แต่ถามว่า “คนเสื้อเหลืองคนหนึ่งกับคนเสื้อแดงคนหนึ่งไปติดคุกเดียวกัน เขาทั้งสองจะยังตีกันอยู่หรือเปล่า?”

จะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องรู้ว่า ชาวคุกคนอื่นๆ เป็นยังไง?

เช่น ชาวคุกส่วนใหญ่เป็นเสื้อเหลือง หรือเป็นเสื้อแดง?

หรือมีจำนวนพอๆ กัน?

หรือถ้าชาวคุกส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องความขัดแย้งเหลือง-แดง นั่นคือสมมุติให้ชาวคุกที่เหลือไม่รู้เรื่องอะไรเลย ความสัมพันธ์ของคนสองคนนี้จะเป็นอย่างไร?