ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
โดยปกติแล้วนักการเมืองหน้าไหนก็ชอบให้สื่อระดับโลกพูดถึงทุกคน ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากความเห็นชอบประชาชน การถูกพูดถึงคือเรื่องที่เอาไปโฆษณาว่าตัวเองเป็นที่ยอมรับได้ไม่สิ้นสุด ต่อให้การที่สื่อพูดถึงอาจไม่เกี่ยวกับการยอมรับเลยก็ได้ เพราะจะเป็นสื่อไหนก็ต้องรายงานข่าวลิงกัดหมาเหมือนกัน
ล่าสุดการที่นิตยสารไทม์ขึ้นปกเป็นภาพคุณประยุทธ์ก็ถูกคุณไก่อูใช้ไปอ้างว่าโลกยอมรับรัฐบาลนี้ไปแล้ว ทั้งที่ไทม์ไม่ใช่ตัวแทนโลก และที่จริงไทม์ขึ้นภาพคุณประยุทธ์พร้อมข้อความ Democrat.Dictator หรือ “ประชาธิปไตย.จอมเผด็จการ” ซึ่งหลายคนเชื่อว่าทำให้นิตยสารระดับโลกฉบับนี้ถูกห้ามขายในไทย
พูดตามตรง ไทม์ไม่เคยบอกว่าขึ้นปกผู้นำคนไหนด้วยเหตุแบบที่ผู้ใต้บังคับบัญชาคุณประยุทธ์กล่าวอ้าง และถ้าจะบอกว่าการได้ขึ้นปกคือการยอมรับ คุณทักษิณก็ขึ้นปกนิตยสารนี้สองครั้งตั้งแต่คุณประยุทธ์เป็นนายพัน และไทม์ก็เคยขึ้นปกจอมเผด็จการอีดี้ อามิน เช่นเดียวกับผู้นำคุ้มดีคุ้มร้ายอย่างเผด็จการคิม
ถ้าการได้ขึ้นปกไทม์แสดงถึงการยอมรับนายกฯ พลเอกอย่างที่โฆษกพลโทระบุ ทำไมท่านโฆษกไม่พูดให้ครบว่าไทม์เทียบคุณประยุทธ์กับจอมเผด็จการสฤษดิ์ที่ตายไปกว่าห้าสิบปี
ยิ่งกว่านั้นคือทำไมจึงมีข่าวห้ามขายนิตยสารที่ยอมรับผู้นำอย่างที่โฆษกผู้รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มาแล้วสองปีคุยโว?
คนที่เห็นภาพคุณประยุทธ์พร้อมคำว่า “นักประชาธิปไตย.จอมเผด็จการ” อาจรู้สึกว่านายกฯ ที่คนไทยไม่ได้เลือกนั้นถูกโจมตีเป็น “เผด็จการ” แต่ที่จริงพาดหัวของไทม์ผสมคำที่ขัดแย้งกันอย่าง “นักประชาธิปไตย” กับ “จอมเผด็จการ” โดยไม่ได้ใส่เครื่องหมายคำถามเพื่อชี้นำว่าคุณประยุทธ์เป็นเผด็จการแม้แต่นิดเดียว
หากไทม์อยากชี้นำให้ผู้อ่านคล้อยตามว่าคุณประยุทธ์เป็นเผด็จการ สิ่งที่ไทม์ควรทำย่อมได้แก่การเติมเครื่องหมายคำถามให้พาดหัวว่า “นักประชาธิปไตย.จอมเผด็จการ” เป็นคำว่า “นักประชาธิปไตยหรือจอมเผด็จการ?” เพื่อชี้นำให้ผู้อ่านรู้สึกต่อไปว่า หรือไทม์กำลังบอกว่าคุณประยุทธ์คือจอมเผด็จการจริงๆ
กระทรวงที่รัฐมนตรีขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งอาจรู้สึกว่าคุณประยุทธ์เสียหายจากการขึ้นปกนิตยสารระดับโลกครั้งแรกในชีวิต
ทว่าความเสียหายนั้นไม่ได้มาจากข้อความที่ไทม์พูดถึงคุณประยุทธ์ หากเป็นผลจากความสว่างวาบทางปัญญาที่ผู้อ่านถูกกระตุ้นให้ตั้งคำถามเรื่องคุณประยุทธ์กับเผด็จการ
คนทำสื่อในไทยทุกคนรู้ว่าคุณประยุทธ์เป็นหัวหน้ากลุ่มรัฐประหารซึ่งไม่ชอบถูกเรียกว่าเผด็จการ สี่ปีที่คุณประยุทธ์ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ จึงเป็นสี่ปีที่คำว่า “เผด็จการ” หายไปจากสังคมไทยทั้งหมด โทรทัศน์ไม่ใช้คำนี้เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจาก กสทช. แน่ๆ ส่วนสื่ออื่นก็ไม่อยากถูกทหารกลั่นแกล้งจนเลี่ยงคำนี้โดยปริยาย
ในแง่นี้ สี่ปีของรัฐบาลทหารคือสี่ปีแห่งการปิดกั้นสื่อ หรือส่งคนไปสั่งผู้บริหารสื่อเรื่องไม่ให้ใช้คำว่า “เผด็จการ” เรียกรัฐบาลจากการรัฐประหารซึ่งมีคุณประยุทธ์เป็นผู้นำ
อันที่จริงคุณประยุทธ์ไม่ใช่หัวหน้าคณะรัฐประหารคนเดียวที่ไม่ชอบถูกเรียกว่าเผด็จการ เพราะตอนที่ทหารอีกชุดรัฐประหารปี 2549 ก็ไม่ปรากฏว่า พล.อ.สนธิ หรือคุณสุรยุทธ์จะยอมรับว่าตัวเองเป็นเผด็จการด้วย โดยเฉพาะคุณสนธิถึงกับพูดในวันที่ตัวเองเกษียณอายุแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจด้วยซ้ำไป
เพื่อให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลทหารของ คสช. นักการเมืองจากการรัฐประหารหน้าไหนล้วนมีพฤติกรรมปิดปากไม่ให้ใครเรียกว่าเผด็จการเหมือนกันหมด ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือทุกคนใช้กองทัพเข้าสู่อำนาจแล้วควบคุมประเทศด้วยเครือข่ายนายพลรุ่นพี่รุ่นน้องและลูกหลานแบบระบอบเผด็จการเหมือนกัน
ไม่ว่าทหารการเมืองที่เป็นโฆษกรัฐบาลจะพูดถึงไทม์ฉบับนี้อย่างไร ไทม์สร้างความอับอายให้รัฐบาลในเวลาที่อังกฤษและฝรั่งเศสอนุญาตให้คุณประยุทธ์เข้าประเทศครั้งแรกแน่ๆ เพราะต่อให้ไม่ระบุประเด็นเผด็จการ
ผู้อ่านย่อมฉุกคิดว่าทำไมสองประเทศต้องสังฆกรรมนายกฯ ที่สหภาพยุโรปไม่ยอมรับมาเกือบสี่ปี?
ภายใต้ภาษาเขียนที่ไทม์ธำรงจรรยาบรรณสื่อโดยไม่ใช้คำว่า “เผด็จการ” กับนายกฯ ที่ประชาชนไม่ได้เห็นชอบ ไทม์นำเสนอภาพคุณประยุทธ์ในแง่ชายสูงวัยที่ใบหน้าบางส่วนผุดจากเงาทะมึนคล้ายดวงจันทร์ในเงามืด ขณะที่บรรยากาศโดยรวมของภาพเต็มไปด้วยความอึดอัดและไม่น่าไว้วางใจ
ในภาพปกไทม์ฉบับนี้ ผู้ชมจะเห็นใบหน้าคุณประยุทธ์ได้แค่ในมุมที่แสงกระทบ แต่ต้นกำเนิดแสงมาจากแหล่งที่ไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร
คุณประยุทธ์เป็นวัตถุที่จะหาย (absence) หรือปรากฏ (presence) สุดแท้แต่แสงกำกับ และถึงที่สุดภาพทำให้คุณประยุทธ์เป็นแค่วัตถุที่การดำรงอยู่ขึ้นต่อพลังลึกลับเท่านั้นเอง
ไทม์ทำให้คุณประยุทธ์ในภาพไร้พลังเหมือนดาวเคราะห์ที่จะมีคนมองเห็นเมื่อดาวฤกษ์เจือจานแสงมา แต่ไม่มีใครพูดได้ชัดๆ ว่าต้นกำเนิดแห่งแสงนั้นคืออะไร
นอกจากแสงจะทำให้คุณประยุทธ์ไม่น่าไว้ใจ มุมมองในภาพก็ยังทำให้คุณประยุทธ์น่าหวาดระแวงขึ้นไปอีก เพราะขณะที่ไทม์ถ่ายภาพคุณประยุทธ์ด้วยมุมมองที่เสมอกัน คุณประยุทธ์กลับเบือนหน้าจนไม่สบตากับผู้อ่านทั้งหมด ผู้อ่านจึงแปลกแยกกับคุณประยุทธ์ซึ่งเมินคนอ่านแล้วมองไปที่พลังลึกลับตลอดเวลา
ความหวาดระแวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการถูกคุณประยุทธ์มองข้ามโดยไม่รู้ว่าคุณประยุทธ์เห็นหรือฟังอะไร
ด้วยโวหารของภาพจากไทม์ คุณประยุทธ์กลายเป็นผู้มีอำนาจที่ไว้ใจไม่ได้, ไม่รู้ว่าเบื้องหลังของคุณประยุทธ์คือใคร รวมทั้งไม่ตรงไปตรงมากับสาธารณะ ซึ่งถึงที่สุดเป็นปัญหาที่พัวพันต่อความน่าเชื่อถือของคุณประยุทธ์ในฐานะผู้นำประเทศยิ่งกว่าประเด็นเผด็จการที่ไทม์ไม่ได้ใช้คำพูดชี้นำเลยด้วยซ้ำไป
อันที่จริงประเด็นเผด็จการคือข้อเท็จจริงที่ไร้ความหมายกับรัฐบาลไทย เพราะองค์กรระดับโลกอย่างสหประชาชาติ, นิวยอร์กไทมส์, แอมเนสตี้ ฯลฯ พูดเรื่องนี้มาสี่ปีโดยมีผลกับรัฐบาลน้อยมาก
แต่ความไม่น่าไว้ใจเป็นปัญหาแน่สำหรับผู้นำที่ถูกเชิญไปต่างประเทศครั้งแรกหลังตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี
เรื่องเปรียบเทียบคุณประยุทธ์เป็นสฤษดิ์น้อยอาจน่าตื่นเต้นสำหรับคนไทยที่มีภาพว่าจอมพลสฤษดิ์เลวร้ายอย่างไร แต่สำหรับผู้อ่านทั่วไปในต่างประเทศ ประเด็นว่าคุณประยุทธ์เหมือนจอมพลสฤษดิ์หรือไม่ก็อาจไม่สำคัญเท่าทำไมอังกฤษและฝรั่งเศสถึงกล้าเชิญคุณประยุทธ์ด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ ที่ไทม์ทำเรื่องคุณประยุทธ์พร้อมขึ้นปกลักษณะนี้ในเวลาเดียวกับที่คุณประยุทธ์เข้าพบผู้นำของสองประเทศมหาอำนาจแบบที่ใครๆ ก็เดาได้ว่าผู้นำไทยจะใช้ข่าวนี้โฆษณาเรื่องการเป็นที่ยอมรับของตัวเอง แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
น่าสังเกตว่าไทมส์นำเสนอคุณประยุทธ์ด้วยโวหารของภาพคล้ายวิธีนำเสนอจอมเผด็จการในอดีตสามราย
ตัวอย่างเช่น ไทม์ฉบับ 5 กุมภาพันธ์ 1945 ขึ้นปกจอมเผด็จการสตาลินแห่งสหภาพโซเวียตด้วยองค์ประกอบทางภาพเหมือนคุณประยุทธ์ไม่ผิดเพี้ยน เว้นแต่ในแง่ความเป็นผู้นำที่เชื่อถือไม่ได้และไม่น่าไว้ใจ
ในนิตยสารฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 1982 วิธีนำเสนอแบบนี้ปรากฏกับอยาตุลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำศาสนาของอิหร่านที่ปลดประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งได้ตลอดเวลา และฉบับวันที่ 7 มีนาคม 2011 ก็ปรากฏวิธีนำเสนอแบบนี้บนปกจอมเผด็จการกัดดาฟีแห่งลิเบียช่วงใกล้ล่มสลายด้วยเช่นเดียวกัน
ตรงข้ามกับความเข้าใจผิดที่รัฐสร้างว่าปกไทม์คือสัญลักษณ์แห่งการยอมรับ ปกไม่ใช่การแสดงเจตจำนง ผู้นำซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับจึงเป็นข่าวในสื่อได้เสมอ สื่อเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่นานกว่าผู้นำเผด็จการแทบทั้งหมด ความน่าสนใจจึงอยู่ที่สื่อมีวิธีเล่าเรื่องเผด็จการอย่างไรให้ลึกซึ้งกว่าการโจมตีเผด็จการว่าเผด็จการ
ในกรณีของไทม์ โวหารของภาพสื่อว่าคุณประยุทธ์มีปัญหายิ่งกว่าการได้อำนาจโดยมิชอบ นั่นคือการปราศจากคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นผู้นำที่ดี