นาย ต. : “ดิสรัปต์” ปั๊มโชว์รูม

Disrupt เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงธุรกิจ ในความหมายที่บ่งบอกถึงการทำลายธุรกิจเดิมๆ จนหายไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะหมายถึงธุรกิจต่างๆ ที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและพฤติกรรมใหม่ของตลาด

ธุรกิจที่มักถูกยกตัวอย่างเสมอในเรื่องการถูกดิสรัปต์ คือธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมถูกดิสรัปต์ด้วยการสื่อสารแบบโซเชียล ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจแบงก์ไฟแนนซ์ ฯลฯ ตามลำดับ

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นถูกคาดการณ์ว่าจะถูกดิสรัปต์ในระยะกลางๆ ค่อนไปทางท้ายของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีรูปธรรมว่ารูปแบบที่จะมาทดแทนจะเป็นอย่างไร และระยะเวลาจะเมื่อไหร่ ยังเป็นเพียงคำพยากรณ์

เอารูปธรรมการดิสรัปต์จริงๆ วันนี้ ยังเป็นวันที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการคอนโดมิเนียมไปดิสรัปต์ธุรกิจประเภทอื่น

 

กลุ่มแรกคือธุรกิจปั๊มน้ำมันในเมือง

หลายปีมานี้ สังเกตให้ดีจะพบว่า ปั๊มน้ำมันในเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครค่อยๆ ปิดตัวไปทีละปั๊มสองปั๊ม ปั๊มน้ำมันใกล้ที่ทำงานที่เคยแวะเติมน้ำมันเป็นประจำมักจะหายไป ต้องไปเติมน้ำมันไกลขึ้น

สาเหตจากภายในธุรกิจปั๊มน้ำมั้นเอง เนื่องมาจากรายได้จากค่าการตลาดที่เกิดจากการขายน้ำมันนั้นไม่ได้มากมาย จนทำให้ทุกวันนี้ค่ายปั๊มน้ำมันใหญ่ อาทิ ปตท. ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจค้าปลีกให้บริการแก่คนเดินทางที่ทำรายได้มากกว่า จนปั๊มน้ำมันหลายแห่งกลายเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ดีๆ นี่เอง อนาคตอันใกล้บางแห่งอาจมีบริการที่พักอาศัยประเภทโรงแรมด้วย

แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เจ้าของปั๊มต้องเลิกกิจการและขายที่ดินไป ก็เนื่องจากความต้องการที่ดินเพื่อนำไปทำโครงการคอนโดมิเนียม ที่ดินที่ตั้งปั๊มน้ำมันในกรุงเทพฯ ชั้นกลางๆ ราคาตกตารางวาละ 1-2 แสนบาท เริ่มมีความเป็นไปได้ที่จะถูกขาย ยิ่งเขยิบเข้ามาในเมืองที่ตารางวาละ 4-5 แสนบาท หรือในย่านศูนย์กลางธุรกิจที่ดินตารางวาละ 1 ล้านบาทขึ้นไป โอกาสขายมีเต็มที่ รอแค่การต่อรองราคาเท่านั้น

ปั๊มน้ำมันจึงถูกดิสรัปต์หรือถูกแทนที่โดยโครงการคอนโดมิเนียม เพราะผลตอบแทนดีกว่ากำไรจากการขายน้ำมัน สู้ค่าที่ดินหลายร้อยล้านหรือพันล้านบาทไม่ได้

 

กลุ่มที่สองที่จะถูกคอนโดฯ แทนที่คือโชว์รูมรถยนต์

ทุกวันนี้ ธุรกิจขายรถยนต์ใหม่คงไม่ได้แย่ไปกว่าแต่ก่อนสักเท่าไหร่ แต่ความที่โชว์รูมรถยนต์มักตั้งอยู่ในทำเลดีๆ ริมถนนใหญ่ในเมือง หรือพื้นที่ชั้นกลางของเมือง เมื่อมีรถไฟฟ้าหรือโครงการรถไฟฟ้าใหม่ๆ เกิดขึ้น โชว์รูมรถยนต์ที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าจึงยิ่งมีความเหมาะสมที่จะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมชั้นดี

จึงไม่แปลกที่เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานข่าวว่า บริษัทสยามกลกาลจะตัดสินใจปิดโชว์รูมรถยนต์นิสสันที่มีทั้ง 13 แห่งไป 6 แห่ง เหลือไว้เพียง 7 แห่ง เพื่อขยับขยายไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะผลตอบแทนที่ดีกว่า

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจรถยนต์โดยสารที่วิ่งกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ก็ขายที่ดินอู่จอดรถย่านหลังหมอชิต ย่านซอยเสนานิคมให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กันไปเกือบหมดแล้ว ได้เงินกันไปหลายร้อยล้านบาท มากกว่ารายได้จากการวิ่งรถยนต์โดยสารที่ทำกันมา 20-30 ปี

การใช้ประโยชน์ที่ดินของเมืองมีการเปลี่ยนแปลงสม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่ช้าก็เร็ว ปัจจุบันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว และเห็นชัดเจน เป็นการเปลี่ยนจากการใช้ประโยชน์จากอาคารแนวราบไปเป็นอาคารแนวสูง และเปลี่ยนจากธุรกิจอีกประเภทหนึ่งไปเป็นอีกประเภทหนึ่ง

แม้แต่ศูนย์กลางธุรกิจของเมือง (CBD) ก็มีการพัฒนาเคลื่อนย้ายจากที่เดิม ดังที่เห็นกันทุกวันนี้ว่า ถนนสีลมซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจมากว่า 40 ปี ทุกวันนี้จะเห็นย่านถนนสุขุมวิทตอนต้น ย่านถนนรัชดา-พระราม 9 คึกคักมากกว่า ทั้งกลางวันและกลางคืน

กฎแห่งธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง

ใครคิดจะทำอะไรให้กลับเหมือนเดิม เลิกเหอะ เหนื่อยเปล่าๆ