บทวิเคราะห์ : ‘บิ๊กตู่’ กระชับมิตร “อังกฤษ-ฝรั่งเศส” เหมือนแตะขอบฟ้า-แต่ยังไม่ผงาด!

หลังกลับจากเดินทางเยือนประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวคำว่าขอความร่วมมือสื่อมวลชน ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง

เพราะผู้นำรัฐบาลต้องการแรงสนับสนุน ทั้งจากประชาชน นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนจากสื่อมวลชน นับเป็นแรงเชียร์ที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการ

การเยือนครั้งนี้ สร้างความมั่นอกมั่นใจแก่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างดี เพราะถือว่ากลุ่มประเทศอียูยอมรับในสถานะและบทบาทของรัฐบาลไทย เหมือนกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมรับด้วยการเปิดทำเนียบขาวต้อนรับอย่างอบอุ่น

พล.อ.ประยุทธ์ใช้โอกาสเยือนอังกฤษและฝรั่งเศสเจรจาการค้าการลงทุน โปรโมตเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เชิญชวนนักลงทุนมาร่วมในบิ๊กโปรเจ็กต์ พร้อมเข้าพบเพื่อหารือกับผู้นำของสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนางเทเรซ่า เมย์ นายกฯ อังกฤษ และนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ภาพการจับมือกับ 2 ผู้นำจากประเทศอียู สร้างความเชื่อมั่นแก่นานาประเทศได้พอสมควร เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้นำรัฐประหาร ถูกกดดันอย่างหนักและต่อเนื่องจากอียูและสหรัฐ โดยมีข้อเรียกร้องหลักให้คืนประชาธิปไตยโดยเร็ว

แต่ผ่านไป 4 ปี แรงกดดันเหล่านั้นไม่สามารถทำอะไร “บิ๊กตู่” ได้ ซ้ำจะอยู่ยาวเข้าไปอีก ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐและอียูจึงต้องผ่อนปรน และมาตรการผ่อนปรนนี้เข้าทางรัฐบาลไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงยิ้มอย่างสบายอารมณ์ นำคณะโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจไปเจรจาการค้ากับ 2 ประเทศอียู ในคณะมีทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ

“บิ๊กตู่” ใช้โอกาสนี้บอกกับทั้งสองผู้นำว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในต้นปี 2562 และบอกกับคนไทยในสองประเทศว่า มีความจำเป็นต้องเข้ามา และจะสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง สมบูรณ์

บรรยากาศที่อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นไปอย่างราบรื่น พล.อ.ประยุทธ์และคณะได้รับการต้อนรับอย่างดิบดีจากเจ้าบ้าน ขณะที่คนไทยในลอนดอนและปารีสก็ยกโขยงกันมาต้อนรับเพื่อให้กำลังใจ บางคนถือป้ายขอให้เป็นนายกฯ นานๆ บางคนส่งเสียงบอกให้เป็นนายกฯ ต่อไป ทั้งหมดสร้างรอยยิ้มให้ “บิ๊กตู่” ได้มากทีเดียว

กระนั้นก็มีกลุ่มคนไทยที่ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาชุมนุมด้วยเช่นกัน ทว่าไม่ปรากฏเป็นข่าวมากนัก จึงทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น จะมีที่ไม่ราบรื่นก็แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

เพราะภายหลังสื่อมวลชนไทยนำเสนอข่าว พล.อ.ประยุทธ์หารือกับนางเทเรซ่า เมย์ ผู้นำอังกฤษ ได้ไม่กี่ชั่วโมง

สื่อมวลชนไทยกลับมาให้ความสนใจนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงลอนดอนเช่นเดียวกัน เพราะวันที่ 21 มิถุนายน นายทักษิณได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดครบ 51 ปีให้น้องสาว ที่ร้านอีสานเขียว กรุงลอนดอน

และขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์และคณะกำลังหารือกับนักธุรกิจเมืองผู้ดีอยู่นั้น เป็นเวลาเดียวกับที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศถึงสถานการณ์ในเมืองไทย โดยขอร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม

พร้อมกันนี้นายทักษิณยังวิดีโอคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยคุยโวว่า มั่นใจจะชนะทุกเขตในการเลือกตั้ง ยิ่งในภาคอีสานที่มีการดูด ส.ส.อย่างหนัก ยิ่งจะชนะทุกเขต และอยากจะทวิตเตอร์ขอบคุณคนที่ออกจากพรรคเพื่อไทยไป เพราะถือว่าได้เสียสละที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเป็นผู้แทน

ในวันเดียวกันนั้น มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง เพราะกลุ่มของนายสมชายล้วนเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้รวมตัวกันตีกอล์ฟ ปรึกษากันเกี่ยวกับปัญหาภายในพรรค เพราะถูกทหารดูดอย่างหนัก โดยเฉพาะในภาคอีสาน จนนายทักษิณต้องแสดงบทใจดีสู้เสือให้ลูกพรรคเห็น

และยังไม่ทันข้ามคืน เว็บไซต์นิตยสาร Time (ไทม์) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งชื่อเรื่องว่า “DEMOCRAT.DICTATOR. Which path will Thailand”S Prayuth Chan-ocha choose?” หรือ “นักประชาธิปไตยกับจอมเผด็จการ ทางใดที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือก” ซึ่งในบทความได้อธิบายถึงการใช้อำนาจของผู้นำไทย ที่บอกจะนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ทว่าแท้จริงแล้วเป็นการกระชับอำนาจตัวเอง นอกจากนี้ยังเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็น “สฤษดิ์น้อย”

การเปรียบ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “สฤษดิ์น้อย” นั้นถือว่าแรงมาก เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในสายตาของฝรั่ง คือผู้นำจอมเผด็จการขนานแท้

ไทม์เลือกวันและเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางเยือนอังกฤษและฝรั่งเศสเผยแพร่บทความซึ่งมีเนื้อหาโดยรวมวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเลือกจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้โชว์ศักยภาพของรัฐบาลว่าเป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจ แม้จะมาจากรัฐประหารก็ตาม จะเรียกว่าไทม์ต้องการดิสเครดิต “บิ๊กตู่” ก็ย่อมได้

ฉะนั้นแล้ว แม้ “บิ๊กตู่” จะวาดลวดลายอย่างสง่างามระหว่างพบแขกต่างประเทศ แต่ก็ดูเหมือนภาพปัญหาความขัดแย้งในเมืองไทยจะตามไปหลอกหลอนได้ทุกที่ เพราะแทนที่ประชาชนจะสนใจในภารกิจเดินทางเยือนต่างประเทศ กลับต้องมาสนใจในประเด็นการเมืองเหมือนที่แล้วมา

จึงไม่แปลกที่ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดถึงอาการหงุดหงิด มีการพาดพิงถึงใครบางคนที่หนีออกนอกประเทศ

“ขอร้องอย่าไปให้เครดิตคนไม่สร้างสรรค์ โจมตีประเทศตัวเอง ไปอาศัยประเทศคนอื่นเขาอยู่ แล้วเกิดมาเป็นคนไทยทำไม ไปอยู่เป็นคนชั้นสอง ขออาศัย ขออยู่อย่างนั้นน่ะเหรอ อย่าทำ มันไม่ควรทำ ถ้าคิดว่าไม่ผิด ให้กลับมาสู้คดี”

พล.อ.ประยุทธ์พูดขึ้นโดยไม่มีใครถาม

หลังกลับจากยุโรป “บิ๊กตู่” ขอความร่วมมือสื่อมวลชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะต้องการให้สื่อนำเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกัน อันหมายถึงอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศร่วมกับรัฐบาล

ความต้องการนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด ทว่ามีมานานแล้ว รัฐบาลพยายามเข้าหาสื่อ เพื่อจะได้เดินหน้านโยบายอย่างไม่ติดขัด เพราะสื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ถ้าสื่อเข้าใจรัฐบาล ประชาชนย่อมจะให้ความร่วมมือ

แต่ถ้าสื่อไม่อยู่ข้างเดียวกับรัฐบาล ก็จะเป็นเหมือนกรณีเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส แทนที่จะโฟกัสภารกิจการเยือน กลับมุ่งไปที่ประเด็นทางการเมือง

“บิ๊กตู่” ซึ่งกำลังจะแตะขอบฟ้าอยู่แล้ว แต่เจอยิ่งลักษณ์ ทักษิณ และไทม์เข้าไป เลยดูเหมือนโชคชะตาจะยังไม่เข้าใจ ให้ผงาดในยุโรป