“ทรงเจ้าเข้าผี” ไทย-อินเดีย? : ทบทวนความเข้าใจ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ช่วงนี้ข้อถกเถียงเรื่องทรงเจ้าเข้าผีกลับมาคุกรุ่นในบ้านเราอีกแล้ว สื่อเลยกลับมาถามผมอีกแล้ว เรียกว่าถามแล้วถามอีก วนไปเวียนมา

เจ้าทรงในเมืองไทย เป็นมาอย่างไร ไฉนมันจึงเยอะนัก

ผมก็ตอบเหมือนเดิมที่ตอบมานับครั้งไม่ถ้วนว่า ก็โบราณเรานับถือผี ในวัฒนธรรมของศาสนาผีมันมีพิธีทรงเจ้าเข้าผีอยู่แล้ว เช่น ทรงแม่สี นางด้ง เจ้าพ่อกวน ผีปู่ย่า ผีตายาย ผีครู ฯลฯ

การทรงผีแต่เดิมนั้น เป็นกิจกรรมของ “ชุมชน” คือชุมชนต้องการติดต่อกับผีบรรพชนหรือผีพื้นเมือง (หรือจะเรียกว่าเทพพื้นเมืองก็ได้) เพื่อขจัดปัดเป่าเภทภัยของลูกหลาน ประสานความเป็นเครือญาติ (ถือผีเดียวกัน) ทำให้เกิดสำนึกบางอย่างร่วมกัน แล้วก็ส่งผลไปยังเรื่องระบบศีลธรรมความประพฤติของคนในชุมชนนั้น

การทรงผีจึงไม่ใช่เรื่องของเอกชนแบบบ้านใครบ้านมัน ก็เช่นเดียวกับศาลพระภูมินั่นแหละครับ ที่แต่เดิมมีแต่พระภูมิเจ้าที่ของชุมชนหนึ่งๆ เช่น ศาลปู่ตาในดอนปู่ตา ต่อมาก็กลายเป็นพระภูมิเจ้าที่ของบ้านใครบ้านมันเช่นกัน

เมื่อวัฒนธรรมแบบชุมชนแตกสลาย กิจกรรมการทรงเจ้าเข้าผีก็กลายเป็นของใครของมัน

พร้อมๆ กับการเข้ามาของความรู้เกี่ยวกับเทพฮินดู โดยเฉพาะเรื่องเทวตำนาน และรูปแบบภายนอก เช่น การแต่งกาย ดนตรี เครื่องทรงอาภรณ์ ฯลฯ ทั้งจากหนังสือแนวเทวตำนานและภาพยนตร์ซีรี่ส์อินเดีย (ซึ่งผมคิดว่าเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับเทพอินเดียของคนไทยมากกว่าหนังสือเป็นไหนๆ) คนทรงยุคใหม่จึงกลายเป็นเจ้าทรงเทพฮินดูเสียมากต่อมาก

จะไปเข้าทรงเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ดูเล็กๆ น้อยๆ ทำไม จะทรงทั้งทีก็เน้นอลังการไปเลย มงลง ชฎาเครื่องเพชรวิบวับ ดนตรีจัดเต็มพิณแคนโซฮา

 

วัฒนธรรมเจ้าทรงจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ในปัจจุบันในเมืองไทยจึงเป็น “วัฒนธรรมใหม่” นะครับ ไม่ได้เก่าแก่อะไร และเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยจะเกี่ยวอะไรกับศาสนาฮินดูสักเท่าไหร่

จะบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของศาสนาผีก็คงจะใช่ เพียงแต่ก็เป็น “ผีใหม่” เหมือนกัน เพราะไม่ได้อยู่แนบแน่นกับ “รากเดิม” ของผีแบบเก่า

วัฒนธรรมเจ้าทรงในปัจจุบัน จึงเหมือนการเข้าทรง คือ ครึ่งๆ กลางๆ เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก ไม่ใช่ทั้งผี หรือพราหมณ์ หรือพุทธที่หนักไปสักทาง

ผมเดาเองคร่าวๆ ว่า ในประเภทเจ้าทรงต่างๆ (ภาษาในเครือข่ายเจ้าทรงเรียกว่า “สายญาน”) เทพฮินดู เทพจีน กุมาร ฤษี นาคราช เจ้าพ่อเจ้าแม่ท้องถิ่น ฯลฯ ประเภทที่น่าจะมีมากที่สุดคือเทพฮินดู

อาจด้วยเพราะความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและความเชื่อกระมัง เทพฮินดูจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

 

มักมีผู้ถามอีกว่า การเข้าทรงเทพเหล่านี้จริงหรือไม่จริง

คำถามที่ผมจะย้อนกลับไปคือ จริงไม่จริงนี่หมายถึงในมิติไหน ถ้าถามต่อว่า จริงไม่จริงที่เทพเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในร่างกายคน ผมก็ตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะผมจะไปทราบได้ยังไง

บางท่านเสนอสนุกๆ ว่า จะไปยากอะไร ก็ลองให้เจ้าทรงพูดกับคนอินเดียดูสิ ถ้ารู้เรื่องก็อาจจริงกระมัง หรือไม่ก็ลองพูดสันสกฤตดูเลย

ผมก็บอกไปว่า บางทีเจ้าทรงเข้าก็มักอ้างว่า ฉันเป็นเทพจะพูดภาษาอะไรก็ได้ พูดไทยก็ได้กลัวคนไทยไม่รู้เรื่อง หรือฉันมาสร้างบารมีในเมืองไทยนานแล้ว เป็นภาคที่อยู่เมืองไทยเลยไม่พูดอินเดีย นี่ก็ดิ้นไปอีกทาง จะว่ายังไงดีล่ะครับ

ดังนั้น หากมองจากจุดยืนของเสรีภาพทางศาสนา มันก็สุดแท้แต่เขาจะเชื่อ หากความเชื่อนั้นไม่ละเมิดใครหรือไม่ละเมิดกฎหมาย

ยิ่งไปกว่านั้น คนก็มักถามผมว่า แล้วในศาสนาฮินดู มีการทรงเจ้าเข้าผีไหม

 

มีครับ แต่ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานนะครับว่า ในอินเดียเองก็มีทั้งศาสนาฮินดูที่เป็นทางการ (วัฒนธรรมพระเวท และวัฒนธรรมอารยัน) กับฮินดูชาวบ้านหรือวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ฮินดูทางการหรือในวัฒนธรรมอารยันนั้น แทบจะไม่มีการทรงเจ้าเข้าผีเลยครับ เพราะไม่ใช่ประเพณีของชาวอารยัน ผมเข้าใจว่า เพราะในวัฒนธรรมอารยันนั้น เขาแบ่งเทพกับผีบรรพบุรุษไว้คนละพวก ไม่เอามาปะปนกัน อย่างในวัฒนธรรมบ้านเรา ที่เทพพื้นเมืองก็ถือเป็นบรรพชนด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นการติดต่อกับเทพเจ้าหรือบรรพชน ก็ไม่ใช่การทรงเจ้าเข้าผี แต่ใช้พิธีกรรมอย่างอื่น เช่น การถวายยัญญบูชา ถวายข้าวบิณฑ์ ฯลฯ หรืออย่างมากที่สุดที่ปรากฏในพระเวทคือ การดื่มน้ำโสมแล้วเมามายจนราวได้พบกับเทพ

ส่วนวัฒนธรรมฮินดูท้องถิ่นนั้นต่างออกไป ที่จริงวัฒนธรรมพื้นบ้านของอินเดียก็เหมือนอย่างในอุษาคเนย์ของเรา กล่าวคือ “ถือผี” ก่อนที่จะรับนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู (ในความหมายของวัฒนธรรมพระเวทและอารยัน) จากภาคเหนือ จนในที่สุดวัฒนธรรมพื้นเมืองเหล่านั้นก็ถูกบวชเป็นฮินดูไปหมด

เทพท้องถิ่นหรือเทพพื้นเมืองจึงอยู่ “นอกพระเวท” ทั้งนั้น เช่นเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ที่ชาวบ้านนับถือเป็นบรรพชนบ้างหรือเป็นบุคคลสำคัญในท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่ก็เป็น “เจ้าที่” แล้วก็มักเฮี้ยนมากๆ เช่น พระอัยยันนาร์ มธุไรวีรัน กัตตราวรายัน เจ้าแม่มาริอัมมา ติลไลกาลิอัมมา ฯลฯ

โดยมาก เทพเหล่านี้ถ้าเป็นชายเขามักให้ถือเป็นภาคดุร้ายของพระศิวะหรือไภรวะ ส่วนฝ่ายสตรีก็เป็นภาคของเจ้าแม่กาลี

ดังที่ผมเคยเสนอว่า ไภรวะและกาลีนั้นที่จริงไม่ได้หมายถึงเทพองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่หมายถึงภาวะดุร้ายของชายและหญิงที่เป็นเทพพื้นเมืองได้ทั้งหมด

แต่แม้จะบวชเป็นฮินดูแล้ว เทพเหล่านี้ยังคงมีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวบ้านอินเดียในแบบเดิมคือ เข้าทรงเพื่อมาขจัดปัดเป่าเภทภัยของชุมชน ทำนายทายทักบ้านเมือง

นี่แหละครับ หากถามว่าฮินดูมีการเข้าทรงไหม ก็คือเข้าทรงเทพพื้นบ้านเหล่านี้

 

แต่การเข้าทรงเทพฮินดูพื้นบ้านเหล่านี้ยังคงเป็นการจัดขึ้นโดย “ชุมชน” ไม่ได้เป็นเจ้าทรงตัวใครตัวมันอย่างไทยเรา และยังคงมีหน้าที่อยู่ในชุมชนแบบเดิม โดยมักเข้าทรงอย่างเป็นเทศกาล ไม่ได้ทำบ่อยๆ

นอกจากนี้ การเข้าทรงในวัฒนธรรมอินเดียยังมีลักษณะที่เป็นกึ่ง “นาฏกรรม” หรือกึ่งการแสดง เพราะเขาไม่ได้เข้าทรงแล้วนั่งสูบบุหรี่พูดจาอะไร แต่มักแสดงกิริยาอาการต่างๆ ตามตำนานของเทพพื้นเมืององค์นั้นๆ เช่น ร่ายรำแบกหม้อน้ำ ถืออาวุธกิ่งไม้ใบไม้ บางครั้งถึงกับจับเรื่องในเทวตำนานนั้นๆ เลย

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งหน้าหรือสวมหน้ากาก เช่นการเล่นรำทรงที่เรียกว่า Teyyam ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นการแสดงใส่หน้ากากหรือเขียนหน้าอย่าง “โขละ” หรือโขนโบราณของแขกเขา

ส่วนเทพฮินดูทางการหรือเทพในพระเวท เช่น พระพรหมา พระศิวะ พระแม่ลักษมี พระนารายณ์ พระแม่สุรัสวดี พระคเณศ ฯลฯ เท่าที่ทราบ ในอินเดียไม่มีการเข้าทรงเทพเหล่านี้

คำตอบก็เพราะเทพเหล่านี้มิได้อยู่ในวัฒนธรรมเข้าทรงอย่างเทพท้องถิ่นของคนทมิฬ หรือท้องถิ่นอื่นๆ ไม่ได้เป็นทั้งผีบรรพบุรุษ หรืออะไรแบบนั้น

ก็คนละประเพณี คนละความคิดทางศาสนาและวัฒนธรรมไงครับ

 

ที่จริงไม่ต้องไปถึงอินเดียก็ได้ แค่วัดแขกสีลมหรืออรุลมิกุ ติรุมาริอัมมัน โกวิล ก็แสดงให้เห็นวัฒนธรรมเข้าทรงในฮินดูท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร

หากเราลองพิเคราะห์ เราก็จะเห็นว่า การเข้าทรงเทพพื้นเมืองของอินเดียมีลักษณะเดียวกันกับทรงเจ้าเข้าผีอย่างเก่าของเรา ทั้งแง่ชุมชน แง่ของการแสดง และแง่ความเชื่อ

จึงน่าแปลกประหลาดที่เทพเจ้าฮินดูที่ไม่เข้าทรงในอินเดีย แต่มีร่างทรงจำนวนมากในไทย แต่ครั้นพอทราบแบบนี้แล้วจะลองไปเข้าทรงเทพท้องถิ่นของอินเดีย ก็ไม่ได้อยู่ในชุมชนหรือระบบเครือญาติแบบเขาอีก จะเชื่อมโยงกันยังไง จะถือเป็นเจ้าที่ก็ไม่ใช่ เป็นบรรพชนก็ไม่เชิง

พูดง่ายๆ คือ ต่อไม่ติด ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ไม่ได้รับมาหรือส่งผ่าน แค่เลียนแบบ “รูปแบบ”

ผมถึงเน้นว่า การทรงเจ้าเข้าผีเท่าที่เราพบเห็นในปัจจุบันเป็นวัฒนธรรม “ใหม่” ไงครับ

กระนั้นก็ควรแก่การศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์

เพื่อจะได้เข้าใจความเชื่อในสังคมไทยให้มากขึ้น