วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่แตก (2)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่แตก (2)

 

ในยุคฟองสบู่แตก ลิขสิทธิ์และมาตรฐานตัวพิมพ์ที่เคยเป็นปัญหาถูกแก้ตกไปบ้าง ในขั้นแรกๆ เนคเทค หรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หันมาสนใจปัญหานี้ มีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการออกแบบ เช่น ความถูกต้องของอักขรวิธี การวัดขนาด และการแบ่งหมวดหมู่ของตัวพิมพ์

ที่สำคัญ ได้สร้างตัวพิมพ์แม่แบบขึ้น 3 ชุด ได้แก่ กินรี ครุฑ และนรสีห์ ซึ่งเรียกกันว่า “ฟอนต์แห่งชาติ”

ตัวพิมพ์ชุดนี้มีเป้าหมายที่ประกาศไว้อย่างชัดแจ้งว่าเพื่อให้เป็นสาธารณสมบัติ หรืออนุญาตให้ใครๆ นำไปใช้โดยอิสระ ทั้งนี้เพราะเนคเทคเล็งเห็นว่าต่อไปในอนาคตอันใกล้ ตัวพิมพ์จำนวนมากอาจจะต้องมีการจดลิขสิทธิ์

การมีตัวพิมพ์ปลอดลิขสิทธิ์สำหรับใช้ในงานพื้นฐาน เช่น เอกสารของราชการและสำนักงานทั่วไป น่าจะเป็นการทุเลาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

โครงการฟอนต์แห่งชาติดำเนินมาหลายปีก่อนจะถูกประกาศและเผยแพร่ออกไป และในขณะเดียวกัน บริษัทใหญ่ เช่น ไมโครซอฟท์และแอปเปิ้ลก็เริ่มมีบทบาทที่แข็งขันขึ้น

 

แต่ในขณะที่ความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ยังไม่ตรงกัน ในปี พ.ศ.2545 บริษัท พีเอสแอล สมาร์เล็ตเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบฟอนต์รายหนึ่ง ได้ส่งตำรวจไปจับโรงพิมพ์ในจังหวัดต่างๆ มีการส่งฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญา และกลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์

แม้ในระยะแรกเกิดผลในทางร้าย เช่น ถูกต่อต้านจากโรงพิมพ์หรือผู้ประกอบธุรกิจการพิมพ์ทั่วประเทศ และทำให้เนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ยุคนั้นออกมาปกป้องโรงพิมพ์เหล่านั้นด้วยตนเอง

โดยบอกว่าตัวพิมพ์ไทยไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะพ่อขุนรามคำแหงออกแบบมาให้คนทั่วไปได้ใช้

มีการถกเถียงและจัดสัมมนากันหลายครั้ง

เพราะในขณะที่เจ้าของแบบตัวพิมพ์อ้างว่าแบบตัวพิมพ์มีลิขสิทธิ์

โรงพิมพ์หรือผู้ใช้ก็มองว่าเป็นสมบัติของชาติ ไม่เป็นของใครคนหนึ่งคนใด และถ้ามีลิขสิทธิ์ ก็ยังมีปัญหาว่าในกระบวนการต่างๆ ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ซึ่งมีมากมาย เช่น การออกแบบ แยกสี และตีพิมพ์ ใครกันแน่ต้องรับผิดชอบ?

แต่ในระยะต่อมา กรณีนี้ได้ทำให้สังคมหันมายอมรับลิขสิทธิ์ของตัวพิมพ์มากขึ้น

บริษัทธุรกิจทั้งใหญ่และเล็ก ไม่ว่าจะด้วยยอมรับคุณค่าของตัวพิมพ์ หรือไม่อยากจะเสียหน้าด้วยข้อหา “ขโมย” ตัวพิมพ์ หันมาซื้อตัวพิมพ์ที่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้งออกแบบตัวพิมพ์ที่เป็นของตัวเองมากขึ้น

 

ในปีเดียวกันมีการจัดนิทรรศการ “10 ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย เอส ซี แมทช์บอกซ์ ซึ่งเป็นเอเยนซี่โฆษณาของบริษัท เอ ไอ เอส ที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนกันยายนก็มีสกู๊ปเรื่องเดียวกัน

นิทรรศการได้จัดแบ่งตัวพิมพ์ไทยตามยุคสมัย เพื่อบอกว่าตัวพิมพ์แต่ละตัวมีกำเนิดยุคไหนและออกแบบโดยใคร มีการค้นคว้าบริบททางสังคม ตั้งแต่ยุคแรกคือสมัยรัชกาลที่สามถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังเสนอว่า หัวใจของการออกแบบตัวพิมพ์รวมทั้งลิขสิทธิ์ของตัวพิมพ์อยู่ที่การยอมรับว่ามันเป็นผลงานสร้างสรรค์หรือไม่ และปัญหาที่ผ่านมาคือไม่มีการรวบรวมจัดระบบองค์ความรู้ทักษะและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้

 

ปลายปี 2545 กรณีพีเอสแอลยุติลงและมีผลทางกฎหมาย โดยมีคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกมา โดยบอกว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 2537 ถือว่าตัวพิมพ์อยู่ในรูปซอฟต์แวร์และมีลิขสิทธิ์

คดีนี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

หลังจากนั้นสำนึกเรื่องนี้จึงมีมากขึ้น และส่งผลให้ธุรกิจตัวพิมพ์ดีขึ้นตามลำดับ บริษัทออกแบบขนาดเล็ก เพิ่มจำนวนมากขึ้น

บริษัทที่ทำตัวพิมพ์ดิจิตอลอยู่แล้วก็เจริญเติบโตขึ้น เช่น ไพโรจน์ ธีระประภา แห่งบริษัทสยามรวย ซึ่งผลิตตัวพิมพ์ชุดเอสอาร์ออกมาหลายตัว เช่น ฟ้าทะลายโจร ซึ่งใช้สำหรับภาพยนตร์เรื่องฟ้าทะลายโจร

และมีการออกแบบอักษรโรมันขึ้นมาใหม่ให้เข้าชุดกันด้วย อีกตัวอย่างคือ อนุทิน วงศ์สรรคกร แห่งบริษัท Type Behavior ซึ่งออกแบบทั้งอักษรไทยและโรมัน และสามารถนำไปเปิดตลาดในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้น ยังเกิดชุมชนนักออกแบบตัวพิมพ์ เช่น ฟอนต์ ดอทคอม ซึ่งเป็นเวทีให้นักออกแบบฟอนต์เอาผลงานขึ้นไปโชว์ และอนุญาตให้ดาวน์โหลดตัวพิมพ์บางแบบไปใช้กันได้

 

ในปี พ.ศ.2550 มีการสืบต่อโครงการฟอนต์แห่งชาติ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) องค์กรมหาชนซึ่งสังกัดกระทรวงไอซีที สร้างฟอนต์ชุด TH ซึ่งมีทั้งหมด 13 แบบ และเกิดจากการประกวดผลงานซึ่งทำโดยบุคคลทั่วไป

ในช่วงเดียวกัน ปัญหาลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์ มีผลต่อโรงพิมพ์ทั่วประเทศที่มีจำนวนหลายพันแห่ง สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ และอีก 9 องค์กรที่เกี่ยวกับการพิมพ์และการจัดพิมพ์ จึงได้สร้างตัวพิมพ์ชุด TF Fonts โดยแถลงว่านี่เป็นตัวพิมพ์ปลอดลิขสิทธิ์และสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้ใช้ฟรี

ต่อมารัฐบาลมีมติให้หน่วยงานราชการฝ่ายบริหารทั้งหมดใช้สารบรรณ หรือ TH Sarabun PSK แทนที่ชุดเดิมของวินโดวส์ที่มีชื่อเป็นดอกไม้ เช่น Angsana New หรือ Browallia New โดยให้เหตุผลว่าฟอนต์ที่ใช้กันอยู่ในเอกสารทางราชการยังไม่มีมาตรฐาน อีกทั้งการใช้ของผู้อื่นอาจมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้

เอกสารราชการทั้งหมดก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้ชุดนี้ ที่เด่นคือ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2554 บางแห่งกำหนดไปเลยว่าเอกสารของหน่วยงานของตนจะต้องใช้ฟอนต์ดังกล่าว

กลายเป็นฟอนต์ที่แพร่หลายมากที่สุด