มุกดา สุวรรณชาติ : 86 ปีรัฐธรรมนูญ… ควรเป็นเสาหลัก กลายเป็นกับดักที่ไม่ยอมให้รื้อทิ้ง

มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกปฏิรูปสังคมไทยและแก้ไขได้ (พัฒนา 15 ปี)

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ทำให้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งในปีนั้นเราได้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475

หลังจากนั้นก็ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2475

ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ระบอบประชาธิปไตยก็ได้ย่างก้าวเดินออกมา

นี่คือที่มาของวันรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย

แม้ในช่วงแรกจะมีอุปสรรคสำคัญคือกบฏบวรเดชในปี 2476 แต่ก็ผ่านมาได้ทำให้เกิดการปฏิรูปสังคมสยามขึ้นมาหลายด้าน

มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2475

มีการกำหนดภาคบังคับให้เรียนถึงประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อให้ประชาชนรู้หนังสืออย่างทั่วถึง จากนั้นก็มีการพัฒนาตั้งโรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนพาณิชย์ โรงเรียนสารพัดช่าง มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ฯลฯ

แต่แนวทางเศรษฐกิจของคณะราษฎรถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จึงยังไม่สามารถดำเนินการไปได้

กลายเป็นจุดโจมตีทางการเมือง การชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตย

ผ่านมาจนถึงปี 2481 เข้าถึงยุคผู้นำที่นิยมอำนาจเด็ดขาดแบบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่ออายุ 41 ปี

อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อายุเพียง 38 ปี หลวงสินธุสงครามชัยรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ อายุ 37 ปี นี่เป็นยุคผู้นำรุ่นใหม่ของสยาม

เดือนธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. จำต้องร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น

แต่อาจารย์ปรีดีก็ตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้นมาต่อต้านญี่ปุ่น

การต่อสู้ในทางการเมืองก็ค่อยๆ แบ่งแยกออกเป็น 2 แนว จนเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี 2488 รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ก็เริ่มทำการแก้ไขต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลอาจารย์ปรีดีจะได้แก้ไขสำเร็จในเดือนเมษายน 2489 ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 อยู่ได้ยาวนาน 13 ปีกับ 5 เดือน เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่มีอายุยาวนานมากที่สุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก ทำได้สำเร็จโดยระบบสภา เราจึงได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

คือกำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภาคือพฤฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา ซึ่งกำหนดให้ทหารและข้าราชการเป็นกลางทางการเมือง สมาชิกทั้งสองสภาและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแบ่งแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง

แต่รัฐธรรมนูญที่ดีนี้ถูกใช้ได้เพียง 1 ปีครึ่งก็ถูกฉีกทิ้งโดยการทำรัฐประหาร 2490 ของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีต้องหนีออกนอกประเทศ

 

ยุคเผด็จการที่มีรัฐธรรมนูญ 10 ปี
และไม่มีรัฐธรรมนูญ 15 ปี (ถอยหลัง 25 ปี)

คณะรัฐประหารได้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งจอมพล ป. ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าไม่ต้องการอำนาจจึงเชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ และนำธรรมนูญการปกครองชั่วคราวมาใช้แทนซึ่งเปิดโอกาสให้แต่งตั้งทหารและข้าราชการเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ (ให้ ส.ว. มีจำนวนเท่ากับ ส.ส.)

รัฐบาลนายควงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ.2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง แต่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ถึงแค่วันที่ 6 เมษายน ก็ถูกรัฐประหาร “เงียบ” นายควงลาออก จอมพล ป. เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ไม่มีการยุบสภา ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ

จากนั้นก็เป็นยุคจอมพล ป. ที่ปกครองแบบเผด็จการที่มีรัฐธรรมนูญไปจนถึงปี 2500 จอมพล ป. ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร จอมพล ป. ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ

การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในครั้งนี้ทำให้รัฐธรรมนูญเหมือนเศษกระดาษที่ถูกโยนลงถังขยะ

ระบบการปกครองเป็นเผด็จการแบบเต็มตัว ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา, ยุบพรรคการเมือง, ให้ ส.ส. และ ส.ว. สิ้นสภาพลงในทันที

จากนั้นก็ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งมีเพียง 20 มาตรา

มีการตั้งสภาที่เรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย สมาชิกสภาก็แต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทหาร

พอตั้งสภาเสร็จก็ลงมติให้จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ ทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผบ.ทบ. และอธิบดีกรมตำรวจด้วย ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญไปเริ่มประชุมครั้งแรกอีกสองปีต่อมา ด้วยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ที่สำคัญคืออเมริกา

จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ อยู่จนถึงเดือนธันวาคมปี 2506 ก็ป่วยและเสียชีวิตลง

จอมพลถนอม กิตติขจร รับตำแหน่งนายกฯ ต่อ บริหารต่อ ปราบคอมมิวนิสต์ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญต่ออีก 5 ปี…ในที่สุดรัฐธรรมนูญก็ร่างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2511 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และจะมาจากข้าราชการก็ได้ มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ทนอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ร่างเองได้ 2 ปีกว่า 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมกลับปฏิวัติตัวเอง ยุบสภาทิ้งไปเลย

แล้วตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นมาแทน จากนั้นก็ใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ระบบถนอม-ประภาสจึงปกครองต่อมาอีกเกือบ 2 ปี

 

หลัง 14 ตุลา การต่อสู้ของประชาชน กับการรัฐประหารหลายครั้ง
40 ปีที่คล้ายเดินหน้า แต่สุดท้ายก็ถอยหลังและกลายเป็นกับดัก

กว่าจะได้รัฐธรรมนูญอีกครั้งก็หลัง 14 ตุลาคม 2516 จากการต่อสู้ของประชาชนจึงได้รับรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร มีการแต่งตั้ง ส.ว. ได้ 100 คน แต่ข้าราชการมาเป็น ส.ว. ไม่ได้แล้ว มีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ.2518

แต่ใช้ได้เพียง 2 ปีก็เกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 การรัฐประหารครั้งนี้มีการปราบอย่างรุนแรงทำให้นักศึกษาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งได้หนีเข้าป่า ใช้วิธีติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล

จากนั้นรัฐธรรมนูญก็ถอยหลังไปสู่ระบบอำนาจนิยมเป็นใหญ่

เราได้รับรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 จึงมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบมาอีก 8-9 ปี ภายใต้รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นบริหารประเทศทำท่าเหมือนจะเปิดฟ้าประชาธิปไตยใหม่

แต่ก็ถูกทหารคณะ รสช. รัฐประหารในปี 2534 แต่การสืบทอดอำนาจไปไม่รอดเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อคณะ รสช. ถูกโค่นลงจากการต่อสู้ของประชาชน จึงผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก

ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เลือกโดยประชาชน มีบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ทำให้เกิดการสนใจนโยบายของแต่ละพรรค บัตรนี้จึงเหมือนบัตรเลือกฝ่ายบริหาร

แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ใช้งานมาได้เพียง 2 ครั้ง ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548

ในปี 2549 ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งและรัฐธรรมนูญที่คิดว่าดีที่สุดก็ถูกฉีกโดยพวกโง่กลุ่มหนึ่ง จากนั้นมารัฐธรรมนูญก็ถอยหลัง เป็นฉบับปี 2550 แต่การสืบทอดอำนาจก็ไปไม่รอด สุดท้ายก็ต้องมีตุลาการภิวัฒน์ 2551 และรัฐประหารปี 2557 ฉีกฉบับ 2550 ที่ร่างเองทิ้งไป ทำให้ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2560 โดยหวังว่าจะเข้าสู่อำนาจผ่านระบบเลือกตั้งได้

และเมื่อเห็น รธน. 2560 ก็สรุปได้ว่า 86 ปีที่เรามีรัฐธรรมนูญ จะได้ฉบับที่เป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นผลมาจากการต่อสู้ของประชาชน แต่ถ้าเป็นผลมาจากการรัฐประหาร ก็จะเอื้อประโยชน์กับผู้มีอำนาจขณะที่ร่าง

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
ต้องสร้างกระแสสังคมให้ยกเลิกทั้งฉบับ
แล้วร่างใหม่แบบปี 2540

มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แม้ไม่ดี แต่ไม่เป็นไร รับไปก่อน ให้มีเลือกตั้งแล้วไปแก้เอาวันหน้า พวกเขาหวังว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

แต่แก้ไขได้จริงหรือ??

รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างไว้ไม่ให้แก้ไขได้จริง

1. ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือ 1 ใน 5 ของ ส.ส. หรือ 1 ใน 5 ของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นรายชื่อร่วมลงชื่อเสนอการแก้ไข-เพิ่มเติม (ข้อนี้ไม่ยาก เสียงข้างมากทำได้)

– ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

2. วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการแก้ไข ไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของรัฐสภา (375) (ข้อนี้ยังไม่ยาก ถ้า ส.ส. ส่วนใหญ่เห็นด้วย)

แต่ต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียงจาก 250 เสียง (แต่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะมีใครมาเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจตัวเอง 8 คน ยังไม่รู้จะหาได้หรือเปล่า)

3. การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่า 375 เสียงของทั้งสองสภา

โดยในจํานวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ

(แสดงว่าถ้าเสียงข้างมากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล แล้วอยากแก้รัฐธรรมนูญ จะทำไม่ได้ ถ้าฝ่ายค้านไม่ร่วมมือถึง 100 เสียง ถ้า ปชป. กับเพื่อไทยรวมกันยังไม่แน่ว่าจะแก้ได้ ถ้ามีพรรคหนุน คสช. รวมกันได้เกิน 100)

4. วาระสาม ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียงของจํานวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด

จะมี ส.ว. สักกี่คน ที่ถูกแต่งตั้งจาก คสช. จะกล้าลงคะแนนอย่างเปิดเผยว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

5. ถึงแม้ว่าผ่านหมด ก็ยังมีกับดักสุดท้ายที่ให้อำนาจกับศาลรัฐธรรมนูญ

หาก ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือนายกฯ เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ที่ต้องการแก้ไข-เพิ่มเติม มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

สรุปว่า อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติถกเถียงกันมากี่วันก็ตาม ฝ่าด่านมา 4 ด่าน แต่สุดท้ายถ้ามีสมาชิก 10 เปอร์เซ็นต์แย้ง หรือนายกฯ แย้ง ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน กลายเป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญตามหน้าที่ของตัวเอง

(ถ้ามีคนอ้างว่า รอให้ถนนลูกรังหมดก่อนจึงจะแก้ไขได้ ก็จบ)

 

ถึงวันนี้ 86 ปีของการมีรัฐธรรมนูญ แต่กฎที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจทั้งสิ้น เพียงแต่จะแอบแฝงหรือเปิดเผย

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อาจแปลกที่สุดในโลก ที่จะมอบอำนาจให้กับเสียงข้างน้อยของสภาผู้แทนฯ ทั้งการเลือกนายกฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้กลายเป็นกับดักของผู้มีอำนาจที่วางไว้

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงต้องดำเนินต่อไป จนถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีผู้ล้มล้างประชาธิปไตยและฉีกรัฐธรรมนูญคนไหนได้รับการลงโทษ แม้จะกำหนดโทษไว้ในกฎหมาย แต่ฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยกลับเป็นผู้ได้รับโทษเสียเอง